foto1
ความงดงามการศึกษาไทย
foto1
เพื่อ?
foto1
ไม่เข้าใจ?
foto1
วิทยากรที่กระทรวงศึกษาธิการ สปป.ลาว
foto1
ท่องทะเลทรายที่ดูไบ UAE


Friendly Links

เรียนรู้ภาษา html
isangate banner
easyhome banner
ipst banner
sakdibhornssup foundation
13 Thai free fonts
speedtest
e mil

Facebook Likebox

No. of Page View

change4kids

รากฏการณ์ "ชู 3 นิ้ว" ของนักเรียนทั่วประเทศในครั้งนี้ เป็นเรื่องที่เข้าใจได้ไม่ยาก ความอึดอัดมากมายต่างปะทุ พรั่งพรูออกมา บางเรื่องก็จริงพิสูจน์ได้ บางเรื่องก็เพราะความเข้าใจผิดที่ไม่มีใครอธิบาย หรือมีคนพยายามอธิบายแล้ว แต่ก็เป็นการเอาสีข้างเข้าถู (แถ-ลง) จนถลอกปอกเปิกก็ไม่มีใครเชื่อ แม้ใน "กลุ่มคุณครู" ด้วยกันเอง บทความที่จะนำเสนอต่อไปนี้ ไม่ได้มาเข้าข้างนักเรียน ไม่ได้มาเข้าข้างครู (เพราะเคยเป็นครู) แต่เพื่อมาทำความเข้าใจ หาเหตุผลว่าเกิดอะไรขึ้นในระบบการศึกษาของบ้านเราในวันนี้

สิ่งที่นักเรียนเรียกร้องหลายข้อนั้น แสดงให้เห็นว่า "การบริหารจัดการ การทำความเข้าใจในเรื่องหลักสูตรการเรียนในโรงเรียน ไม่กระจ่างชัดเพียงพอ จนทั้งครูและนักเรียนต่างก็ไม่เข้าใจว่า สิ่งที่ "นักวิชาการทางการศึกษา" ใส่ลงมาในหลักสูตรนั้นคืออะไรกันแน่ เพื่อประโยชน์อะไร และที่สำคัญที่สุด 'จะให้โรงเรียนและครูจัดการอย่างไร?' จึงจะได้ผลตามความต้องการที่แท้จริง" นี่คือสิ่งที่อยากอธิบายในวันนี้ ส่วนข้อเรียกร้องต่างๆ ทั้งหมดนั้น ท่านไปหาอ่านได้จากสื่อทั่วๆ ไปนะครับ มีเยอะ ส่วนที่ผมจะวิเคราะห์ให้ฟังมีเพียงด้านการจัดการเรียนการสอนเป็นหลัก

เอาตามป้ายในภาพประกอบหัวเรื่องข้างบน 3 เรื่อง คือ วิชา IS, กิจกรรมรักการอ่าน, กิจกรรมบำเพ็ญประโยชน์ ที่พวกเขาอยากยกเลิก เพราะอะไร? ทำไม? จึงอยากยกเลิก

IS (Independent Study) หรือ วิชาเลือกอิสระ

time2change 01

ชื่อวิชาเป็นภาษาอังกฤษนี่ทำเอาครูไทยมึนไปมิใช่น้อย วิชา หรือ หลักการแห่งวิชา นี้มีมานานแล้วครับ ในสมัยที่ผมยังรับราชการอยู่ในโรงเรียน ทำโครงการห้องเรียนพิเศษก็ได้เอาวิชานี้เข้ามาใช้ ก่อนที่หลักสูตรปกติจะนำมาบรรจุใช้เสียอีก เกิดจากกอะไรหรือถึงต้องนำมาใช้ จากการสนทนากับอาจารย์ผู้สอนในระดับมหาวิทยาลัยหลายๆ ท่าน หลายโอกาส เช่น

เมื่อผมเป็นอาจารย์ที่ปรึกษานักเรียนทำ "โครงการพัฒนาซอฟต์แวร์ขนาดเล็ก" และได้ร่วมเป็นกรรมการคัดเลือกโครงการในระดับภูมิภาค ซึ่งดำเนินการโดย เนคเทค (NECTEC) นั้นพบว่า "นักเรียน นักศึกษาของเรา ไม่เข้าใจในการเขียนข้อเสนอโครงการ (Proposal) เลย ไม่รู้ว่าตัวเองมีความต้องการทำอะไร ด้วยเหตุผลอะไร ศึกษาหาความรู้เพิ่มเติมมาวิเคราะห์ สังเคราะห์อย่างไร จนเกิดเป็นโครงการขึ้นมา" รวมทั้งเมื่อไปเรียนในระดับมหาวิทยาลัยซึ่งมี กระบวนการเรียนแบบศึกษาค้นคว้า ไม่ใช่นั่งฟังบรรยายอย่างเดียว เด็กของเราก็ตามคนอื่นๆ ไม่ทัน จึงหันไปคว้า คือ คัดลอก (Copy, Paste and Print) ที่ไม่เกิดองค์ความรู้อะไรเลย จบการศึกษามาด้วยความว่างเปล่า แล้วจะเอาอะไรไปแข่งขันในการสมัครทำงาน

[ อ่านเพิ่มเติมจากบทความนี้ ที่ผมเขียนไว้ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2548 ]

คาบแรกของการเรียนวิชา IS ครูประจำวิชามักจะถามนักเรียนว่า "มันย่อมาจากอะไร?" คำตอบ คือ Independent Study ถ้าแปลเป็นไทยคือ "การศึกษาอิสระ" แต่ถ้ามองย้อนกลับไปเมื่อคุณครูสอน หรือตอนที่นักเรียนได้เรียนวิชานี้ นักเรียนได้ค้นคว้าในสิ่งที่อยากรู้จริงๆ หรือเปล่า?

เท่าที่สังเกตในหลายปีที่ผ่านมา มันมีขั้นตอนที่ซับซ้อนมาก ทั้งการทำรูปเล่ม ทำรีเสิร์ช อ้างอิง หาภาพประกอบ นำเสนอ สรุปเนื้อหา หน้าชั้นเรียน ทั้งหมดทั้งมวลนี่เองที่ทำให้นักเรียนทุกคนต่างมองว่า หากเลือกหัวข้อที่มีข้อมูลในอินเตอร์เน็ตเยอะๆ หรือหัวข้อที่รู้กันอยู่ทั่วไป และมีคนเคยทำมาแล้ว ก็จะทำให้ง่ายต่อการผ่านวิชานี้ไปได้แน่นอน

และด้วยความที่เรื่องเยอะและซับซ้อนของวิชา IS (ที่ครูไปกำหนดกฎเกณฑ์มากมาย) จึงทำให้มันไม่อิสระดังชื่อวิชาอย่างแท้จริง หลายคนคงเดาได้ไม่ยากว่า หัวข้อที่นักเรียนส่วนมากเลือกทำจะไปในทิศทางไหน วิทยาศาสตร์, เรื่องเหนือธรรมชาติ, โรคภัย, ประโยชน์ของผักผลไม้, การลดน้ำหนัก บลาๆๆ

แล้วถ้าหากเราให้นักเรียนเหล่านั้นได้พูดถึงความสงสัยที่แท้จริงของตัวเองบ้างล่ะ อาจจะไปในทิศทางที่แตกต่าง และประหลาดสุดขั้วก็เป็นได้ เช่น

  • รักแท้มีอยู่จริงหรือเปล่า?
  • จะเกิดอะไรขึ้น ถ้าไม่กินเนื้อสัตว์เป็นเวลา 1 สัปดาห์?
  • หากเกิดสงครามโลกครั้งที่ 3 เราควรทำอย่างไร?
  • ถ้าไม่ซื้อ "เรือดำน้ำ" ประเทศไทยจะเป็นอย่างไร?
  • การเตรียมของสำหรับหนีออกจากบ้าน
  • ถ้าหากทุกคนเติบโตมาในสภาพแวดล้อมเหมือนกันทุกประการ ทุกคนจะใช้ชีวิตเหมือนกันหรือเปล่า?

คงไม่ปฏิเสธ​ว่า มีคนคิดแบบนี้ ทำแบบนี้ แต่..

สิ่งที่พวกเขาพบในคำตอบของ "ครู" คือ ทำมาทำไมเรื่องอย่างนี้ และเมื่อเรายังฝืนทำก็จะโดน บอกให้นักเรียนไปแก้ฟ้อนต์ รูปแบบการวางเนื้อหา ไปเคาะย่อหน้ากระดาษใหม่ ทำตามแบบงานปริญญานิพนธ์ของครู (ก็อีกนั่นแหละ ครูแต่ละคนก็จบมาจากคนละสำนัก วิธีการจึงแตกต่างกันไป) โดยที่ครูไม่ได้สนใจอะไรในหัวข้อที่นักเรียนนำมาเสนอเลย (ข้อนี้ไม่ได้โจมตีคุณครูผู้สอน เพราะเข้าใจว่าเป็นหลักสูตร)

แม้แต่ครูเองก็ยังไม่หลุดกรอบออกมา ก็ยากที่วิชานี้จะสำเร็จ การทำรายงานและการคิดตั้งคำถามเพื่อทำแบบสอบถามหาข้อมูล อาจจะยากก็จริง แต่ถ้าแลกกับความรู้สึกดีๆ ที่ได้ทำตามความอยากรู้ ความสงสัย (อุดมการณ์ของตัวเอง) ก็นับว่าไม่เลวนะครับ

วิชา IS นี้เป็นโอกาสที่เด็กจะได้ค้นคว้า วิจัย ทดลอง ในความสงสัย หรือสิ่งที่สนใจของตนเอง ไม่เคยมีใครบอกก็จริงว่า "ความสงสัยของเราต้องมีขอบเขต" แต่ว่าการตีกรอบด้วยรูปแบบต่างๆ ที่เคร่งครัดโดยครู มันเป็นเรื่องน่าเบื่อหน่ายและปิดกั้นการแสวงหาความรู้ "โดยอิสระของผู้เรียน" ตามชื่อวิชา ซึ่งอาจไม่ต่างกับพ่อแม่ที่อนุญาตให้ลูกออกไปเที่ยวเล่นนอกบ้านได้ในวันที่พายุฝนลมแรงเข้ามาแต่เช้า เพราะสุดท้าย ลูกจะยอมอยู่บ้านและไม่ได้ออกไปไหนอีกเลย

time2change 02

คุณครูอย่าโกรธนะครับ แต่จงพิจารณาว่า ”อันตัวเรานี้” ได้จัดการ วิชา IS หรือ Independent Study หรือ วิชาเรียนอิสระ ตรงตามความหมายที่ว่า “ใครอยากจะเรียนอะไร เพื่อนำไปใช้สร้างคุณค่าให้แก่ชีวิตตนเอง” ก็ให้มาปรึกษากับครู ถ้าเป็นสิ่งที่ดีมีประโยชน์ และมีจำนวนนักเรียนมากพอ ก็หาทางจัดกิจกรรมการเรียนการสอนให้ โดยเปิดเป็นชมรม เป็นกลุ่ม หรือจะเรียกว่าอะไรก็ได้ ที่ฟังดูเก๋ไก๋วัยรุ่น ถ้าเป็นแบบนี้เด็กๆ ก็พร้อมที่จะเรียน

แล้วโรงเรียน ก็ใช้หลักการ PLC เข้ามาจับเลย (School as Professional Learning Community โรงเรียนเป็นชุมชนแห่งการเรียนรู้) คุณครูหรือนักเรียนก็ได้พยายามมองหาปราชญ์ชาวบ้านอยู่ที่ไหน? มืออาชีพ “ที่ต้องการเรียนรู้ที่ตรงกับความต้องการของผู้เรียน” อยู่ที่ไหน ผู้ทรงคุณวุฒิอยู่ไหน? ไปหาท่าน ไหว้วานท่าน ขอร้องท่าน ขอความเมตตากรุณาจากท่าน มาช่วยกันสอนเยาวชน ”เพื่อการศึกษาของชาติ” ผมว่าทุกท่านเต็มใจ เสร็จงานแล้วก็มอบใบประกาศเกียรติคุณของท่านให้เป็นเกียรติยศสืบไป

ถอดบทเรียนดูเถิดว่า โรงเรียนได้ทำเช่นนี้หรือไม่? หรือกำหนดวิชาไว้แล้วว่า “ต้องเรียนตามที่จัดให้” อย่างนี้ไม่เรียกว่า วิชาอิสระ IS หรือ Independent Study ครับ เขาเรียกว่า วิชาเลือกเสรี Elective subject

ที่เตือนมานี้ อย่าคิดว่าผมอยู่เบื้องหลังชักใยเด็กนะครับ..ผมเปล่านะ..

สุทัศน์ เอกา
24 สิงหาคม 2563

มาถึงบรรทัดนี้คงมีคำถามว่า จะให้โรงเรียนและครูทำอย่างไร? ทางออกนะครับ...

ตามที่ท่านอาจารย์สุทัศน์ เอกา บอกไว้ข้างบนนั้นถูกแล้ว แต่ยังไม่จบครับ เรื่องนี้ต้องถึงมือ "ผู้บริหารโรงเรียน" ที่ท่านต้องจัดการทำความเข้าใจกับครูทั้งโรงเรียนในเรื่อง การจัดการเรียนการสอนรายวิชานี้ให้ถ่องแท้ คัดเลือกครูผู้ที่จะรับผิดชอบนวิชานี้มาให้ได้ก่อน (อย่าโยนให้ใครก็ได้ เพราะมันอิสระนะครับ) ครูผู้รับผิดชอบในรายวิชานี้ต้องเป็น "ผู้รอบรู้ในหลายๆ สาขาวิชา เปิดกว้างในทางความคิด สามารถบูรณาการกับครูผู้สอนอื่นๆ ในโรงเรียนได้" เพราะบางครั้งจำเป็นต้องได้รับความร่วมมือของเพื่อนครู บุคลากรในโรงเรียนท่านอื่นๆ (ไม่เว้นแม้แต่ นักการภารโรง แม่บ้าน คนทำอาหารในโรงอาหาร พนักงานขับรถ เพราะบุคคลเหล่านี้มีความรู้ที่จะมาช่วยเสริมเราได้) เข้ามาช่วยในการจัดกิจกรรมการเรียนการสอน ที่เราล้มเหลวจนเด็กบอกให้เลิก ก็เพราะ การคิดว่าวิชานี้ใครสอนก็ได้นี่แหละ

การศึกษาค้นคว้าทั้งหลายให้เป็นไปแบบอิสระ ในรูปของการตั้งคำถาม จดบันทึก สนทนา ลงมือปฏิบัติ นำเสนอให้เพื่อนและครูได้ทราบผลแห่งการศึกษาค้นคว้านั้น ด้วยการบันทึกสรุปด้วยรูปแบบ "รายงานหน้าเดียว" ก็เพียงพอแล้ว แนะนำให้อ่านนี้ด้วย

จิยู เค็งคิว 自由研究 (การค้นคว้าอิสระ) ของเด็กในญี่ปุ่น คลิกสิครับ!

time2change 06 

รักการอ่าน

เรื่องนี้ผมยิ่งสงสัยว่า "ครูเราไปบังคับอีท่าไหน เด็กถึงเกลียดจนอยากให้เลิก" เราบังคับให้เขาอ่านในเรื่องที่เขาไม่สนใจหรือเปล่า ความจริงแล้ว "การเรียนรู้จำเป็นต้องอ่านและบันทึก สรุปความเข้าใจ นำไปใช้ประโยชน์ในชีวิตประจำวัน" ถ้าครูเอาหลักการนี้ไปใช้ก็ไม่น่าจะมีปัญหาจนเขามาบอกให้เลิกหรอกนะ แล้วครูไปทำอีท่าไหนเขาถึงอยากเลิก ผมเลยไปลองคุยกับเด็กๆ มาสรุปได้ดังนี้

  • การอ่านเป็นเรื่องน่าเบื่อ เครียด ยาวเกินไป ไม่น่าสนใจ เพราะสิ่งที่ครูต้องการให้เขาอ่านไม่ใช่เรื่องที่เขาสนใจในชีวิตเวลานั้น ครูมักจะเอาเรื่องวรรณกรรม (ที่ครูสนใจ ชื่นชอบ มาเป็นที่ตั้ง) ให้นักเรียนอ่านซึ่งมีเนื้อหาที่ยาว เรื่องราวในอดีต ไม่ร่วมสมัยกับเขา แถมบังคับด้วยจำนวนว่า ต้องอ่านได้กี่เล่มจึงจะได้คะแนน (ตามความพึงพอใจของครู)
  • แหล่งที่ให้นักเรียนไปอ่านค้นคว้า เรื่องนี้ครูต้องเข้าใจนะว่า "ห้องสมุด" ในนิยามของครูกับนิยามของนักเรียนนั้นแตกต่างกัน ห้องสมุดเดิมๆ ในโรงเรียน ไม่ตอบโจทย์เด็กยุคสมัยนี้ เพราะหนังสือเก่า โบราณ เรื่องในอดีต ไกลตัวไปมาก (อย่าหลับตานึกถึงห้องสมุดประชาชนเชียวนะ เพราะแม้แต่ผมเข้าไปก็เจอทั้งหยักไย่ ไรฝุ่น หนังสือขาดๆ หรือภาพประกอบดีๆ ถูกตัดหายไป) ห้องสมุดของเด็กสมัยนี้คือ "สมาร์ทโฟน แท็ปเล็ต" ครับ

เราจะส่งเสริมให้เด็กรักการอ่านอย่างไร? น่าจะเป็นทางออกที่ดีกว่าครับ ต้องเริ่มตั้งแต่เด็กไม่ใช่มาเริ่มตอนเด็กโตแล้ว บังคับให้อ่าน ให้บันทึก เราจะโดนแรงต้านแน่นอนครับ "การอ่านของเด็กต้องเริ่มจากการฟังก่อน" เช่น ครูนำเรื่องที่น่าสนใจเหมาะกับวัยมาเล่าให้ฟัง เล่าให้เกิดความสนใจใคร่รู้ เล่าให้เกิดคำถาม แล้วคำถามนั้นจะช่วยให้เด็กไปแสวงหาคำตอบเอง จากการอ่านเพิ่มเติม ถ้าครอบครัวได้ฝึกตั้งแต่เป็นเด็กเล็กด้วยการอ่านนิทานให้ฟัง ฝึกให้เด็กเล่านิทานจากภาพ หาหนังสือนิทานที่น่าสนใจให้เด็กฝึกอ่าน จะดีที่สุดครับ หนังสือที่เด็กๆ ส่วนใหญสนใจที่เราเรียกว่า “หนังสืออ่านเล่น” ผู้ใหญ่ก็มองว่าไม่มีประโยชน์ เพราะไม่มีความรู้ อ่านไปก็เสียเวลาเปล่า เด็กๆ จึงขาดโอกาสซึมซับและพัฒนาความเพลิดเพลินจากการอ่าน

time2change 03

หนังสือการ์ตูนอย่าง "ขายหัวเราะ" "มหาสนุก" เป็นหนังสืออ่านสำหรับเด็กได้ดี มีประโยชน์ เพราะบันทึกประวัติศาสตร์ประเทศไทยช่วงหนึ่งๆ ไว้ ให้เราได้ค้นคว้าย้อนหลังได้ดีทีเดียว (แม้จะบันทึกไว้ในรูปความขบขันก็ตาม) ผมใช้หนังสือเล่มนี้สำหรับฝึกให้ลูกรักการอ่านมาตั้งแต่วัยเด็กได้ผลจริง

ผู้เชี่ยวชาญท่านหนึ่งบอกว่า “ไมเคิล จอร์แดน ไม่ได้เกิดมาพร้อมกับความเป็นนักบาสเก็ตบอล และ จิมมี แฮนดริก ก็ไม่ได้เกิดมาพร้อมกับความสามารถในการเล่นกีตาร์”  แต่พวกเขาถูกสร้างขึ้นด้วยแรงขับภายในที่ได้รับอิทธิพลในวัยเด็ก มันจึงไม่ได้เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ ดังที่นักวิทยาศาสตร์อีกท่านหนึ่งบอกว่า “การอ่านไม่มีอยู่ใน DNA ของมนุษย์” มันอยู่เหนือข้อกำหนดของ DNA มันเป็นสิ่งที่จะต้องสร้างขึ้น วิธีการสร้างนักอ่านที่ได้ผลดีที่สุดคือนำเสนอความสุขจากการอ่านให้ฟัง  เมื่อเด็กๆ เพลิดเพลินและชื่นชอบหนังสือมากพอ สมองของพวกเขาก็จะจดจำว่า "หนังสือเป็นของสนุก ทั้งภาพ ภาษาและเรื่องราว  เมื่อการจดจำนี้มั่นคงแล้ว การอ่านทุกครั้งก็จะเป็นการตอบสนองความต้องการภายใน ทำให้รู้สึกเพลิดเพลิน ผ่อนคลาย และเป็นความสุข ซึ่งพวกเขาจะทำซ้ำๆ ไปเรื่อยๆ"

เด็กๆ ที่ไม่ชอบอ่าน ไม่สนใจการอ่าน จึงเป็นผลจากเหตุหลายประการ ไม่ใช่เพราะพวกเขาอยากเป็นเอง ตั้งแต่ ไม่เคยมีใครอ่านให้เขาฟัง ทักษะการอ่านแย่ ทัศนะคติต่อการอ่านไม่ดี ได้รับการกระตุ้นส่งเสริมไม่เพียงพอ รวมทั้งผลของการทำงานที่ผิดพลาด ผิดทาง เช่น ทำให้เด็กรู้สึกว่าการอ่านเป็นภาระ หรือเป็นงานอันเหนื่อยยากตั้งแต่เริ่มต้น ไม่สนุกเหมือนทำอย่างอื่นๆ

time2change 04

วิชาบำเพ็ญประโยชน์

ก็คงด้วยเหตุผลเดียวกันกับวิชา IS อีกนั่นแหละ ที่มอบหมายให้ใครก็ได้ทำการจัดการเรียนการสอน ซึ่งเมื่อใครก็ได้ ก็ทำให้คิดว่า สอนอะไรก็ได้ ซึ่งแน่นอนว่า จะเกิดการตามใจครู และทำตามที่ครูเข้าใจ ผลสะท้อนกลับมาคือ นักเรียนเกลียด เนื่องจากมันไม่มีประโยชน์ดังชื่อหรือตามที่พวกเขามีความเข้าใจ ทำให้เกิดการต่อต้านและอยากให้ยกเลิกไปเสีย

ผู้บริหารต้องทำความเข้าใจกับครูให้ชัดแจ้งก่อน เรื่อง "การบำเพ็ญประโยชน์" คือ "การเสียสละ" การคัดเลือกครูผู้สอนจึงต้องเลือก "ครูผู้เสียสละ" ที่เป็นตัวอย่างให้เด็กเห็นชัดเจน ไม่ต้อง "ซ.ต.พ." มองปั๊บรู้ปุ๊บได้ทันที เพื่อสร้างแรงจูงใจในเบื้องต้น ก็จะสามารถสร้างการรับรู้และมองเห็นความสำคัญของ "การบำเพ็ญประโยชน์" ทำให้สนใจและเข้าร่วมกิจกรรมนี้อย่างจริงใจ

ทั้งๆ ที่ในเวลาปัจจุบันนี้ "กิจกรรมจิตอาสาพระราชทาน" เป็นกิจกรรมที่มีการร่วมแรงร่วมใจกันทำอยู่ในทุกภาคส่วนทั่วประเทศ มีผลเชิงประจักษ์ให้เห็นว่า ดี มีประโยชน์ต่อชาติบ้านเมือง และประชาชนทั่วไป ทั้งยามปกติสุขหรือมีภัยพิบัติต่างๆ โรงเรียน สถานศึกษา คงต้องทบทวนว่ามันเกิดจากสาเหตุอะไร (หรือ เพราะความเกลียดในการเรียกร้องทางการเมืองต่อสถาบัน ข้อนี้ผมยังไม่มีเวลาและโอกาสได้สอบถาม)

time2change 05

อย่างไรก็ตาม ผมยังเชื่อว่า สาเหตุหลักๆ คือ พวกเขาไม่ได้อะไรเลยจากกิจกรรม และวิชาเหล่านี้ จนมองว่า "เป็นการเสียเวลาและโอกาสในการเรียนรู้" เรื่องที่สำคัญมีผลต่อการศึกษาต่อ และอาชีพในอนาคตของพวกเขา

หมายเหตุต่อท้าย

ไม่ใช่เฉพาะ 3 เรื่องนี้เท่านั้น ที่ครูต้องทบทวนใหม่ ยังรวมถึงกฎระเบียบต่างๆ อีกมากมายที่พวกเขากล่าวถึง ไม่่าจะเป็น การแต่งกาย ทรงผม และอื่นๆ มันไม่ใช่เรื่องคอขาดบาดตายอะไรหรอกที่จะเปลี่ยนแปลงหรือให้คงอยู่ แต่มันต้องมีเหตุและผลที่ทุกคนตกลงร่วมกันได้ พูดคุยตกลงกันให้ชัดเจนว่า ทำไม? เพื่ออะไร? อย่าลมเพลมพัดทำตามอารมณ์หรือความกลัว หรือเหตุผลทางการเมืองเท่านั้น!!!!...

ครูมนตรี โคตรคันทา
26 สิงหาคม 2563

นโยบายความเป็นส่วนตัว Our Policy

ยินดีต้อนรับสู่เว็บไซต์ของเรา ที่นี่ใช้คุกกี้ (Cookies) เก็บข้อมูล เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น อ่านนโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (Privacy Policy) และนโยบายคุกกี้ (Cookie Policy)

Our Policy