ผมเจอข่าว "ครูทำร้ายเด็กนักเรียนอนุบาล" ตั้งแต่วันที่ 23 กันยายน จากการมีผู้โพสท์ลงใน twitter ก็อ่านผ่านตาพร้อมนึกในใจว่า "ครู" อีกแล้วเหรอ? ไม่ได้คิดจะมาเขียนบทความเลย แต่พอเรื่องมันลุกลามและแชร์คลิปต่อๆ กันมา รวมทั้งมีการตีข่าวในสื่อออนไลน์ละสถานีโทรทัศน์ ก็เลยย้อนกลับไปดูรายละเอียดอีกครั้ง อ้าว! ไม่ใช่อย่างที่คิดแล้วนี่นา มันเลวร้ายเกินไปกับการกระทำเยี่ยงสัตว์เลี้ยง (จริงๆ แม้สัตว์เลี้ยงของผมๆ ก็รักเลี้ยงดูและรักษาเขายามเจ็บป่วยจนถึงวาระสุดท้าย จนเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลสัตว์ยังพูดว่า "น้องจัมโบ้โชคดีนะ มีคนใส่ใจดูแลแม้ยามป่วยหนัก ถ้าเป็นคนอื่นเขาคงปล่อยให้ตายไปแล้ว" จะให้ทิ้งได้อย่างไรนะ เลี้ยงดูกันมา 8 ปี เขารักเราเหมือนเรารักเขา เพียงแต่เขาพูดบอกเราไม่ได้เท่านั้น) แต่นี่ "คน" เป็นเด็กตัวเล็กๆ อายุแค่ 3-4 ขวบ กับคนที่ได้ชื่อว่า "ครูอนุบาล" ที่ใครหลายๆ คนรวมทั้งพ่อ-แม่ของเด็กเหล่านั้นคงจะเชื่ออย่างสนิทใจว่า "จะดูแลลูกเขาเป็นอย่างดี ให้สมกับค่าเล่าเรียนที่จ่าย (ตามข่าวว่า อาจมีตัวเลข 5-6 หลัก)"
นอกจากเรื่องทำร้ายร่างกายและจิตใจเด็กแล้ว ยังมีข่าวเรื่อง "อาหารกลางวัน" ซ้ำเติมมาอีกนะ นึกว่าจะหมดปัญหาไปแล้ว (แต่เป็นคนละโรงเรียนกัน) มันสะท้อนปัญหาให้เห็นแล้วล่ะว่า "มาตรฐานวิชาชีพครู" ที่สังคมเคยคาดหวัง มันกำลังหดหายไปจากระบบการจัดการศึกษาไทย ได้เวลาที่จะต้องมีการปฏิวัติ ปฏิรูปกันจริงจังเสียที เรื่องนี้สะเทือนไปถึงกระทรวงศึกษาธิการ ความเชื่อมั่นของผู้ปกครองที่มีต่อโรงเรียนในระบบการศึกษาไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ก็เลยอยากหยิบประเด็นนี้มาวิเคราะห์กันสักเล็กน้อย
มาตรฐานวิชาชีพทางการศึกษา คือ ข้อกำหนดเกี่ยวกับคุณลักษณะและคุณภาพที่พึงประสงค์ในการประกอบวิชาชีพทางการศึกษา ซึ่งผู้ประกอบวิชาชีพทางการศึกษาต้องประพฤติปฏิบัติตาม เพื่อให้เกิดคุณภาพในการประกอบวิชาชีพ สามารถสร้างความเชื่อมั่นศรัทธาให้แก่ผู้รับบริการจากวิชาชีพได้ว่า เป็นบริการที่มีคุณภาพ ตอบสังคมได้ว่า การที่กฎหมายให้ความสำคัญกับวิชาชีพทางการศึกษาและกำหนดให้เป็นวิชาชีพควบคุมนั้น เนื่องจากเป็นวิชาชีพที่มีลักษณะเฉพาะ ต้องใช้ความรู้ ทักษะ และความเชี่ยวชาญในการประกอบวิชาชีพ ตามพระราชบัญญัติ รายละเอียดอ่านที่นี่ ซึ่งผู้ประกอบอาชีพนี้ต้องผ่านเกณฑ์ต่างๆ จึงจะสามารถเข้าทำงานในสถานศึกษาต่างๆ
กรณีที่เกิดขึ้นในโรงเรียนอนุบาลฯ ตามที่เป็นข่าวนั้น "ครู" ที่ทำร้ายเด็กตามที่เสนอกันในข่าวจริงๆ แล้วไม่ใช่ "ครู" แต่เป็นเพียงพี่เลี้ยงเด็กในโรงเรียนเท่านั้น แต่ทางโรงเรียนเอกชนแห่งนี้ก็ใช้คำว่า "ครู" เพื่อไม่ให้แปลกแยกกับครูจริงๆ ให้เด็กมีความเคารพเชื่อถือครูทุกคน และตามกฎหมายก็ไม่ได้ระบุให้ "พี่เลี้ยงเด็ก" ต้องมีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ ดังนั้น ความผิดทั้งมวล "โรงเรียน" ต้องรับผิดชอบไปเต็มๆ ในเรื่องการดูแลเอาใจใส่ในการจัดการเรียนการสอน การดูแลเอาใจใส่นักเรียน รวมทั้งให้การฝึกอบรมด้านความรู้ในการดูแลเด็ก จิตวิทยาเด็ก อย่างสม่ำเสมอ ยิ่งเป็นโรงเรียนชื่อดังเก็บค่าเล่าเรียนแพงๆ ย่อมจะต้องสร้างมาตรฐานในการดูแลเด็กนักเรียนให้สูงยิ่งขึ้น เหมาะสมกับที่บรรดาผู้ปกครองให้ความไว้วางใจหาเงินมาส่งลูกเข้าเรียน
ผมได้ลองสืบค้นข้อมูลเกี่ยวกับโรงเรียนดูแล้วพบว่า โรงเรียนนี้เป็นโรงเรียนในเครือข่ายโรงเรียนดังทีเดียว เรียกว่าเป็น แฟรนไชส์ หรือสาขาโรงเรียนดังในกลุ่ม "สารสาสน์" ที่ก่อตั้งมานานกว่า 50 ปี เป็นโรงเรียนสองภาษาไทย-อังกฤษ (Bilingual Programme) โรงเรียนแรกของประเทศอีกด้วย เมื่อเป็นสาขาก็ต้องพยายามให้มีคุณภาพมาตรฐานตามโรงเรียนแม่ เพื่อให้สามารถเก็บค่าเล่าเรียนแพงๆ ตามได้ แต่นั่นก็ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ ถ้าผู้บริหารสาขาไม่มีวิสัยทัศน์หรือมุมมองที่ดีในการบริหารจัดการ มุ่งแต่แสวงหาผลกำไร ผลที่ได้คือ ขาดมาตรฐานคุณภาพ ตั้งแต่การคัดเลือกครูผู้สอนให้เข้ามาทำงาน
ปัญหาใหญ่ของโรงเรียนเอกชนคือ "การขาดครูผู้สอนที่มีคุณภาพ" เพราะสถานการณ์ตอนนี้ของโรงเรียนเอกชนหลายๆ แห่งคือ "ที่พักรอการสอบบรรจุเป็นข้าราชการ" มีการหมุนเวียนเข้าๆ ออกๆ ตลอดปีการศึกษา ทำให้ครูผู้สอนไม่มีประสบการณ์และคุณภาพเพียงพอ ทั้งๆ ที่มุมมองของผมกลับมองว่า "ถ้าโรงเรียนเก็บค่าเล่าเรียนได้ในอัตราสูงๆ ก็น่าจะสามารถจ้าง "สุดยอดครูมากฝีมือเข้าประจำการได้" ให้การจัดการเรียนการสอนมีคุณภาพ ผู้ปกครองเชื่อถือ จำนวนนักเรียนมากยิ่งขึ้น" แต่เมื่อมุมมองของผู้บริหารคือ "กำไร" โดยไม่สนใจ "แบรนด์" ซึ่งก็คือ การสร้างคุณภาพในการจัดการศึกษาให้ดียิ่งขึ้นเรื่อยๆ การลดเงินค่าจ้าง การจ้างใครก็ได้โดยไม่สนใจตรวจสอบ หรือให้การฝึกอบรมเพิ่มเติมให้เป็นมืออาชีพ ผลที่ได้ก็คงมีแต่พังๆๆๆ ยากที่จะกู้ชื่อเสียงกลับมาแล้ว
ก่อนบรรจุแต่งตั้งให้เป็นครู ควรตรวจโรคจิตด้วย และต้องตรวจทุกสิบปี ถ้าป่วยก็รักษา, รักษาไม่หายต้องหยุดสอนเด็ก "
วีระ สุดสังข์, ครู นักคิด นักเขียน
เหตุที่ผมยกคำพูดของครูวีระ สุดสังข์ ข้างบนมากล่าวก็เพราะในข่าววันต่อๆ มา ที่บรรดาสื่อออนไลน์นักขุดทั้งหลายไปสอดส่องค้นหาแล้วบอกมาว่า "ครูมีปัญหาทางครอบครัว" ครับ ปัญหาของตัวเองต้องให้จบที่บ้านไม่ใช่มาลงที่ทำร้ายเด็ก เมื่อไม่สบายใจ เครียด ควรลางานพักผ่อนให้หายเครียด เมื่อไม่รักษาตัวเองปล่อยให้เป็นไปตามอารมณ์ สิ่งที่สะท้อนกลับมามันรุนแรงมากกว่าเป็นหลายร้อยเท่าทั้งต่ออาชีพของตนเอง และต่อเด็กๆ ผู้ปกครองดังที่เป็นข่าว
"ครูไหวใจร้าย" เป็นนิยาย กลายมาเป็นละคร ภาพยนตร์เพื่อสอนใจผู้คน แต่เหตุการณ์ต่างๆ ในชีวิตจริงมันไม่เหมือนละครนี่สิ ในอดีตการทำร้ายร่างกายเด็กก็มีทั้งที่รุนแรง และที่ไม่รุนแรงนัก ไม่เป็นข่าวคราวเพราะยุคนั้น "ครู" ไม่ได้มีความเครียดสารพัดแบบนี้ การลงโทษก็เพียงเพื่อสั่งสอนให้หลาบจำเท่านั้น ไม่ได้มีอารมณ์รุนแรงจะฆ่าแกงดังสมัยนี้ สภาพสังคมที่เปลี่ยนไปมากๆ จนผมเองก็ตามไม่ทัน ทำให้หลายๆ คนเครียด มองโลกในแง่ร้าย สะสม และไปลงเอยที่การระบายใส่คนอื่น เมื่อก่อนไม่เป็นข่าว เพราะเทคโนโลยีไม่ดีพอ แต่ทุกวันนี้ "กล้อง" ถ่ายภาพ/วีดิโอมีในมือของทุกคน รู้จักการใช้ตั้งแต่วัยเยาว์แล้ว ทำให้เหตุการณ์ต่างๆ ถูกบันทึกและส่งต่อได้อย่างรวดเร็วยิ่งกว่าไฟไหม้ฟางเสียอีก
เหตุการณ์แบบนี้ไม่ได้เกิดแต่ในโรงเรียนเอกชน โรงเรียนที่มีเด็กเล็กๆ แต่มันมียันไปถึงในระดับอุดมศึกษา ซึ่งมีความรุนแรงมากกว่านี้หลายร้อยเท่า ท่านคงได้เห็นข่าวผ่านตามาบ้างแล้วเมื่อไม่นานมานี้ ใครจะเป็นคนแก้ไข? กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงอุดมศึกษา มหาวิทยาลัย โรงเรียน ผู้บริหาร หรือครู ทุกฟันเฟืองมีส่วนเกี่ยวข้องที่ต้องกระทำไปพร้อมๆ กัน ซึ่งรวมไปถึงผู้ปกครองด้วยครับ
เพจ เข็นเด็กขึ้นภูเขา ของคุณหมอมิน "พญ.เบญจพร ตันตสูติ" จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น ให้ข้อคิดจากกรณีผู้ปกครองบุกโรงเรียนดังเมืองนนทบุรี แฉคลิปครูใจโหดทำร้ายเด็กอนุบาลจนเด็กหวาดกลัว ขอร้องผู้ปกครองไม่อยากไปโรงเรียนแล้ว โดยระบุว่า #ข้อคิดจากข่าวคุณครูทำรุนแรงกับเด็กอนุบาล วันนี้มีข่าวที่หมอเห็นแล้วรู้สึกเป็นห่วงและสะเทือนใจ หมอจึงอยากมาแบ่งปันข้อคิดเพื่อให้เรียนรู้ร่วมกัน
22 ข้ออาจจะยาวไปหน่อย ก็เลยสรุปมาเป็นแนวทางสั้นๆ เป็นเทคนิคให้พ่อแม่ทุกคนเก็บไว้ใช้ว่า เราจะถามลูกยังไง เมื่อเราสงสัยว่า เด็กอาจถูกทำร้ายหรือถูกทารุณกรรมมาจากโรงเรียนหรือที่อื่นๆ
จำไว้ว่า เด็กเล็กๆ เค้าไม่รู้ด้วยซ้ำว่าถูกทำทารุณ เค้าเล่าไม่ได้ ที่จดจำก็ปะติดปะต่อ ใช้ภาษาไม่ถูก การสอนให้เขาเล่า แบบเปิด (story telling) นอกจากจะช่วยให้เค้าบอกความต้องการ หรือฉอดเป็นแล้ว ยังเพิ่มทักษะให้ลูกด้วย อย่ารอให้มีเรื่องละค่อยมาถาม หัดถามหัดให้ลูกเล่าตั้งแต่ยังไม่มีเรื่อง และหวังว่าจะไม่มีเรื่องเลยจะดีกว่านะครับ
หลังจากเกิดกรณีทำร้ายเด็กออกสื่อครั้งนี้ ผลกระทบที่เกิดขึ้นทันทีคือ "โรงเรียนเอกชนทุกโรงในประเทศไทย" ที่อาศัยช่องโหว่ ช่องว่างจำนวนมากในการดำเนินการ ทั้ง การจ้างครูไม่มีวุฒิ ไม่่มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู การจ้างครูที่เป็นชาวต่างชาติที่ไม่มีใบอนุญาตในการทำงาน (Work permit) การเรียกเก็บเงินค่าเล่าเรียนและค่ากิจกรรมอื่นๆ เกินกว่าที่กฎหายกำหนด ซึ่งนี่ก็เป็นข้อดีของการดำเนินการแก้ไขปัญหาที่ทางกระทรวงศึกษาธิการ และคุรุสภา ต้องปฏิบัติอย่างเร่งด่วน เพื่อให้ผู้ปกครองมีความรู้สึกที่ดี สบายใจในการส่งบุตรหลานเข้าเรียน
การที่ "คุรุสภา" ซึ่งเป็นองค์กรดูแลการประกอบวิชาชีพของครู ออกมาบอกว่า มี "บุคลากรน้อย" ไม่เพียงพอที่จะทำการตรวจสอบ กำกับ ติดตาม ผู้ได้รับใบประกอบวิชาชีพครู เป็นเรื่องที่น่าผิดหวังกับองค์กรนี้มาก เพราะยุคสมัยดิจิทัล Thailand 4.0 ท่านสามารถทำระบบให้ผู้ปกครอง ผู้มีส่วนร่วม ผู้มีหน้าที่ในการกำกับติดตาม สามารถตรวจสอบได้ว่า บุคคลชื่อ-นามสกุลนี้ ทำงานในหน่วยงานใด มีใบประกอบวิชาชีพหรือไม่? ได้อยู่แล้ว ถ้าค้นหาแล้วเจอว่าไม่มี ก็ต้องมีช่องทางให้สามารถส่งเรื่องร้องเรียนได้โดยตรง เพื่อดำเนินการแก้ไขได้ทันท่วงที อย่าซื่อบื้อสิครับ!
คิดใหม่ ทำใหม่ เสียนะครับ พวกกระผม (ครู) เสียดายค่าธรรมเนียมต่างๆ ที่จ่ายให้องค์กรนี้จริงๆ หน้าที่ขององค์กรที่ไม่ควรทำอย่าง "หาสินค้ามาให้ครูเป็นหนี้ผ่อนส่ง" นั้นเลิกเสีย อย่าหาทำอีก!! กราบล่ะ...
ยินดีต้อนรับสู่เว็บไซต์ของเรา ที่นี่ใช้คุกกี้ (Cookies) เก็บข้อมูล เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น อ่านนโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (Privacy Policy) และนโยบายคุกกี้ (Cookie Policy)