โดย สุทัศน์ เอกา
การควบคุม “คุณภาพและยกระดับการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 ด้วยวงจร PDCA” รู้ปัจจัยพื้นฐานเรื่องที่ 3 ก่อนการเรียนรู้แห่งศตวรรษที่ 21.
"วงล้อ หรือ PDCA Cycle" ตามแนวทางของ ท่าน Pro. Dr. William Edwards Deming คือแนวทาง “การปฏิบัติ” เพื่อยกระดับ และควบคุมคุณภาพการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 ให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน และสามารถ “พัฒนาต่อยอด Further Develop” ให้เจริญยิ่งๆ ขึ้นไป ประกอบด้วย 4 ขั้นตอน ซึ่งต้องปฏิบัติอย่างต่อเนื่อง ได้แก่
P –Plan วางแผน ผู้บริหารสถานศึกษา จะต้องเป็น “ผู้นำกิจกรรม” โดยการกำหนดวัตถุประสงค์ และตั้งเป้าหมาย กำหนดขั้นตอนวิธีการ และระยะเวลา การจัดสรรทรัพยากรที่จำเป็นทั้งในด้านบุคคล เครื่องมืองบประมาณ
แผนงานประกันคุณภาพนี้ชื่อว่า “การประกันคุณภาพการเรียนรู้ของศตวรรษที่ 21.” บอกชื่อสถานศึกษา บอกวัตถุประสงค์ของสถานศึกษาในแผนแม่บท ตั้งเป้าหมายที่เป็นรูปธรรม บอกตัวชี้วัด สำคัญที่สุดคือ บอกวัตถุประสงค์รายวิชา ตั้งเป้าหมายรายวิชาที่เป็นรูปธรรม บอกตัวชี้วัดที่ทุกคนสามารถ “ตรวจสอบได้”
แผนงานนี้มี 8.ขั้นตอน คือ 1. การเตรียมครู 2. การสำรวจชุมชน และหาแรงบันดาลใจ 3. การระดมความคิด 4. การจำแนกแยกแยะข้อมูลที่ถูกต้อง 5. การออกแบบการเรียนรู้ร่วมกัน 6. ลงมือปฏิบัติงาน 7. สรุปข้อมูล 8. ต่อยอดองค์ความรู้...
ระยะเวลาและการนัดหมาย ในการเตรียมการก่อนลงมือปฏิบัติงาน “การเรียนการสอนจริง” ควรเป็นช่วงเวลาปิดภาคเรียน กำหนดวันสรุปข้อมูลให้มีเวลาพอเหมาะแก่การชี้แจงของคุณครู และการต่อยอดองค์ความรู้ควรทำในรอบใหม่ของการเริ่มต้นวงจร PDCA ซึ่งเป็นช่วงปิดภาคเรียนภาคปลาย
การจัดสรรทรัพยากรที่จำเป็นคือ บุคคล และเครื่องมือ อุปกรณ์การเรียนรู้ต่างๆ ตลอดจนงบประมาณ และกำหนดนัดหมายต่างๆ นั้น ควรได้มีการปรึกษาหารือในที่ประชุม
D- Do ปฏิบัติ โดยการทำความเข้าใจ และลงมือปฏิบัติตามแผนที่ว่า เด็กเปลี่ยนวิธีเรียน เป็น Learning by Doing ครูเปลี่ยนวิธีสอนเป็น Teach Less...Learn More นั้นทำอย่างไร รายวิชาต่างๆ สอนอย่างไร เรียนอย่างไร วิชาทางสังคมศาสตร์ สอนอย่างไร วิชาเพื่อการพัฒนา เช่น วิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ สอนอย่างไร วิชาภาษาไทย ภาษาต่างประเทศสอนอย่างไร ทักษะชีวิต หรือ Life Skill ต้องสอนอย่างไร ระเบียบวินัยและการแก้ปัญหาระเบียบวินัย สอนอย่างไร ใช้ Approach Concept ของการเรียนรู้ Learning Approach กลุ่มใดเข้าไปใช้ได้บ้าง หรือต้องใช้แบบผสมผสานกัน สิ่งเหล่านี้คือ “แนวคิด หรือ Idea ในการออกแบบการเรียนการสอน Instructional Design” ของคุณครู และในการเรียนรู้ของศตวรรษที่ 21 เป็นการเรียนรู้แบบองค์รวม คุณครูต้องฉลาดที่ “จะเอาข้อดีของของวิชาหนึ่ง ไปบูรณาการ หรือ Integrated กับอีกวิชาหนึ่ง เพื่อทำให้เกิดการเรียนรู้ที่ดียิ่งขึ้น”
หัวใจของการเรียนรู้แห่งศตวรรษที่ 21 คือ “การเรียนรู้ด้วยตนเอง คือ Learning by Doing” นั่นเอง Do หรือ Doing คือการลงมือทำเอง เป็นแม่แบบ แจกลูกแจกหลานออกไปเป็นรูปแบบการเรียนมากมาย เช่น PBL หรือ การเรียนรู้โดยใช้โครงการ หรือ ปัญหาเป็นพื้นฐานการเรียนรู้ Problem or Project Based Learning การเรียนโดยใช้กิจกรรมเป็นฐานการเรียนรู้ Activity Learning การเรียนรู้โดยการสำรวจ Exploring Learning การเรียนรู้ด้วยการช่วยเหลือเกื้อกูล และ การเรียนรู้ร่วมกัน Cooperative and Collaborative Learning..ฯ และทั้งหลายแหล่ที่คุณครูสามารถออกแบบเอง จากตระกูลการเรียนรู้ใหญ่ๆ ทั้ง 3 ตระกูลคือ Behaviorism, Cognitivism และ Constructivism แล้วแต่กรณีและความเหมาะสม...
ในรายวิชาที่ต่างกัน ก็ย่อมมี “วิธีเรียน และ วิธีสอน Learning and Teaching” ที่แตกต่างกันด้วย ขอยกตัวอย่างกว้างๆ สัก 2 กลุ่ม เช่น
วิชาที่เกี่ยวกับภาษา ทั้งภาษาไทยและภาษาต่างประเทศ ก็มีการเรียนการสอนที่แตกต่างกัน เช่น วิชาภาษาอังกฤษ คุณครูผู้สอน มีความจำเป็นที่จะต้องให้ “ผู้เรียน” ได้เรียนรู้ไปตาม “วิธีธรรมชาติ Natural Way” คือ ฟัง พูด อ่าน เขียน หรือ เขียน-อ่าน เลียนแบบเด็กหัดพูดใหม่ๆ คือฟัง-พูด ซ้ำๆๆๆๆ บ่อยๆ ตลอดเวลา เมื่อฟังและพูดกันจนรู้เรื่องแล้ว จึงมาอ่าน และเขียน ซ้ำๆๆๆๆ กันอยู่อย่างนี้ จนสามารถ “เขียนตามคำบอก Dictation” ตามสำเนียงเจ้าของภาษา
ในการนี้มีผู้ช่วยตัวสำคัญคือ “เครื่องเล่น MP3” และเสียงอ่าน-เสียงพูดของเจ้าของภาษา “ฝึกกันให้ถึงกึ๋น” ฝึกฟังฝึกพูดกันให้เต็มที่ ชนิดที่ฟังแล้วเข้าใจได้ทันทีตามธรรมชาติของภาษา ไม่ต้องแปล การเรียนภาษาอังกฤษก็เกิดผลสัมฤทธิ์ภายในเวลาไม่เกินหนึ่งปีการศึกษา หลังจากฟังพูดอ่านเขียนได้แล้ว นั่นแหละจึงสมควรเริ่มต้นเรียนไวยาการณ์ และวรรณคดีซึ่งเป็นความงดงามของภาษา...
การเรียนภาษาต่างประเทศ กับภาษาไทยนั้นมีความแตกต่างกัน เพราะว่า “เด็กไทยนั้น พูดภาษาไทยมาตั้งแต่เกิด” ดังนั้น เด็กไทย จึงสามารถ เรียน เขียน-อ่าน หรือ อ่าน-เขียน ได้เลย และต้องทำซ้ำๆ “ฝึกฝน Practice” เชื่อได้เลยนะครับว่า เด็กไทย ที่อ่านหนังสือไม่ออก ละเขียนหนังสือไม่ได้นั้น ไม่ใช่เพราะเด็กโง่ หรือ ครูสอนไม่เก่ง แต่เป็นเพราะ “เด็กขาดการฝึกฝน หรือ ฝึกฝนไม่พอ” เท่านั้นเอง..
C คือ Check หรือ การตรวจสอบ เพื่อติดตามความคืบหน้า และดูผลสำเร็จของงาน เมื่อเทียบกับแผนที่วางไว้แล้วล่วงหน้าว่า “มีเป้าหมายอย่างไร แค่ไหน” เป้าหมายนี้ต้องมีตัวชี้วัด Indicators ที่เป็นรูปธรรม เข้าใจได้โดยคนทั่วไป เช่น เรียนขับรถ ก็สามารถขับรถได้ เรียนภาษาอังกฤษ ก็พูดภาษาอังกฤษ อ่านเขียน ได้คล่องแคล่วตามคุณวุฒิที่เรียนมา ส่วนจะเก่งหรือไม่เก่งก็อยู่ที่การฝึกฝนเพิ่มเติมในภายหลัง หากต้องการ การตรวจสอบนี้ คือ “การวัดผลเชิงประจักษ์ Empirical Evaluation” ซึงบุคลากรทุกคนในองค์กร เป็นผู้ตรวจสอบ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คุณครูผู้สอนจะต้องตรวจสอบและ “ประเมินตนเอง Self-Assessment” ตลอดเวลา เพื่อให้รู้ถึงข้อด้อยที่ควรปรับปรุงแก้ไข และพัฒนาข้อดีให้เกิดประโยชน์ต่อการเรียนรู้ยิ่งขึ้น..
A-Act หรือ Action จากขั้นตอนการตรวจสอบ ก็อาจพบความบกพร่องก็แก้ไขให้ถูกต้อง หากการปฏิบัติเป็นที่น่าพอใจ ก็จัดให้เป็นมาตรฐานเพื่อเป็นแนวทางให้ปฏิบัติต่อไป ผู้อำนวยการเป็นผู้ตรวจสอบในฐานะผู้ร่วมรับผิดชอบกับผู้สอน หากพบข้อบกพร่องอย่างใดก็ขอให้แก้ไขให้ถูกต้อง หรือ Corrective Action Request หรือ CAR ตามวิธีของมาตรฐาน ISO ก็จะดีไม่น้อย หลังจาการปรับปรุงแก้ไขให้เป็นมาตรฐานแล้ว ก็ย้อนกลับขึ้นไป “วางแผนเพื่อยกระดับคุณภาพให้สูงขึ้นไปเรื่อยๆ อย่างไม่หยุดยั้งที่จะดำเนินการ ตามแนวทาง PDCA นี้ องค์กรแห่งนี้ก็จะมีแต่ความเจริญยิ่งๆ ขึ้นไป เป็นแนวหน้าแห่งยุคสมัยของการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 และตลอดไป
ในวงจรการประกันคุณภาพ PDCA โดยรวมนั้น อาจมีวงจรประกันคุณภาพ PDCA เล็กๆ ของรายวิชาในระดับชั้นเรียนของตน เพื่อทำการสำรวจตรวจสอบการดำเนินงานย่อยๆ ลงไปอีก ก็ยิ่งจะดี เช่น PDCA วิชาประวัติศาสตร์ไทย ชั้น ม.1 หรือ PDCA วิชาภาษาอังกฤษ ชั้น ม.2 หรือ PDCA วิชาฟิสิกส์ ชั้น ม.5 เป็นต้น...
นี้เป็นตัวอย่าง การนำวงจรประกันคุณภาพไปใช้ในการ จัดการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 ซึ่งผู้เขียนหวังเป็นอย่างยิ่งว่า คุณครูทุกท่าน และผู้บริหารสถานศึกษา สามารถนำไปใช้ดำเนินงานได้ทันทีครับ....
ยินดีต้อนรับสู่เว็บไซต์ของเรา ที่นี่ใช้คุกกี้ (Cookies) เก็บข้อมูล เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น อ่านนโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (Privacy Policy) และนโยบายคุกกี้ (Cookie Policy)