ผ่านปีใหม่มาแล้ว 1 เดือน ข่าวคราวด้านการศึกษาของไทยก็ยังคงหนีออกจากหลุมดำไม่ได้ ไม่ว่าจะใช้คำว่า "ปฏิรูป ปฏิวัติ" ก็ยังคงย่ำอยู่กับที่ไม่หลุดพ้นไปไหน จะเรียกว่า "วังวน" หรือ "หลุมดำ" ทางการศึกษาก็คงจะไม่ผิดนัก นโยบายที่เพียงเป็นการตอบสนองความต้องการเจ้านาย และคำหวานที่โปรยออกมาแล้วก็ทำไม่ได้ สั่งเหมือนสั่งขี้มูกยังไงยังงั้น เอาตัวอย่างมาสิจะได้ชัดเจน "การสอบวัดผลระดับชาตินั่นปะไร ให้สอบตามความสมัครใจ ใครใคร่สอบ สอบ ใครไม่อยากวัดตัวเองก็ไม่ต้องสอบ" แต่... ในความเป็นจริง เจ้านายที่สิงสถิตย์บนสำนักเขตกลับต้องการ "ตัวเลขอันสวยหรูเพื่อรายงาน" จึงสั่งการลงมายัง ผอ.(ผัวอีอ้อย) ให้ดำเนินการให้ได้ปริมาณสูงสุด โรงเรียนใดไม่ทำการตามที่สั่ง การประเมินเลื่อนขั้นย่อมมีปัญหาตามมา ไม่บอกก็รู้ใช่ไหม?
นับตั้งแต่ "คุณโคขวิด" เอ้ย! "โควิด-19" มาแพร่ระบาดกันทั่วโลกนี่ก็เข้าปีที่ 3 แล้วยังไม่จางหายสักที นักเรียนไม่ได้เรียนกันตามปกติอย่างที่เคยเป็น ครูก็ไม่ได้สอนในชั้นเรียนตามปกติ บางแห่งนี่เหมือนโรงเรียนร้างไร้เสียงจอกแจก จอแจ มานานมากๆ บางแห่งก็ได้เปิดเรียนกันกระปริดกระปรอย ได้แค่สองสามวันก็ต้องปิดอีกเพราะการระบาดของไวรัสร้ายที่ไม่สิ้นสุดและรวดเร็วกว่าเดิม จนเซ็งกันทั้งครูและนักเรียน รวมทั้งผู้ปกครองที่เริ่มเบื่อหน่ายกันแล้ว ห่วงหน้าพะวงหลังทั้งการทำมาหากินที่ฝืดเคือง มีผลกระทบทั้งสินค้าขึ้นราคา ข้าวยากหมากแพง แล้วยังจะต้องห่วงในสุขภาพเด็กๆ กันอีก
จากการหยุดชะงักของการจัดการศึกษาในช่วง 2 ปีที่ผ่านมานี้ สะท้อนให้เห็นปัญหา ขยะที่สะสมอยู่ใต้พรมที่ถูกกวาดซ่อนไว้มาอย่างยาวนาน ได้ถูกพัดกระจัดกระจายปลิวว่อน แม้จะมีผู้พยายามจะเก็บซ่อนเอาไว้อย่างไรก็ไม่ทันการ ทำให้เกิดการเรียกร้องให้รีบทำการแก้ไขมาจากทุกภาคส่วน ทั้งจากตัวครูเอง ผู้ปกครอง นักเรียน นักศึกษา ตลอดจนนักวิชาการด้านการศึกษาทั่วประเทศ มีบทเรียนหลายอย่างที่เกิดขึ้นฉับพลัน ที่ทำให้เกิดการปรับตัวแบบพลิกฟ้าพลิกแผ่นดิน จากหน้ามือเป็นหลังมือ ชนิดที่เรียกว่า "ไม่ทำ ไม่ได้" จนทำให้สิ่งที่ผมเคยพยายามชักชวนเพื่อนๆ ครูกระทำในอดีตอย่างยากลำบาก กลับกลายมาเป็น "เร่งรีบ กระทำทันที" ก็คือ "การเรียนออนไลน์" นี่แหละครับ เดี๋ยวเรามาดูกันหน่อยว่า 2 ปีที่ผ่านมานี้ เกิดอะไรขึ้นบ้าง?
Oline Learning เป็นการพลิกฟ้าพลิกแผ่นดินในวงการศึกษาไทยเลยทีเดียว ไม่ว่าคุณครูท่านนั้นจะเป็น ครู Gen X, Y, Z หรือครูกลางเก่า กลางใหม่ หรือใหม่ถอดด้าม ต่างก็ต้องมาทำการสอนออนไลน์เสมอกันเลยทีเดียว ไม่สามารถอ้างได้ว่า "ฉันมันครูรุ่นโบ (ไม่ใช่ติด 'เทอร์โบ' นะ แต่เป็น 'โบราณ') ทำไม่เป็น ให้รุ่นน้องๆ สอนเหอะ" แบบนี้โดนไม่เลื่อนขั้นแน่นอน และเป็นยุคที่ครูเราพะรุงพะรังกันน่าดู จากที่เคยแต่งตัวสวยๆ สะพายกระเป๋าแบรนด์เนม ปัจจุบันน้าน...! ต้องมี กระเป๋าแล็ปท็อป ถุงผ้าที่ได้จากการที่ไปอบรมมา ม้วนกระดาษสื่อ อุปกรณ์ พร้อมสิ่งยังชีพต่างๆ (ปิ่นโต ข้าวห่อ น้ำชา/กาแฟ) ถ้าครูชายก็จะเท่ห์มากกว่าเพราะพี่แกจะมีเป้สะพายหลัง แต่ก็พะรุงพะรังมากพอๆ กันนั่นแหละท่านผู้อ่าน
จากเหตุการณ์นี้ทำให้คาดกันว่า "การพัฒนาการจัดการศึกษาออนไลน์" โดยเฉพาะทางฝั่งผู้สอน (ครู อาจารย์ สถานศึกษา) จะเป็นไปในทางที่ดีขึ้น มีความก้าวหน้าได้อย่างรวดเร็ว ความสนใจในการที่จะพัฒนาวิธีการสอน การสร้างสื่อการสอนในรูปแบบต่างๆ จะมีมากขึ้นแน่นอน ถึงแม้ว่าสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 จะลดลง โรงเรียนสามารถกลับมาจัดการเรียนการสอนได้ตามปกติแล้ว แต่ครูที่ผ่านสถานการณ์ของการจัดการเรียนการสอนออนไลน์มาคงจะเห็นหนทางในการเพิ่มวิธีการจัดการเรียนรู้แบบอื่นๆ ที่หลากหลายมากขึ้น รวมทั้งเป็นช่องทางในการทบทวนเนื้อหาสาระให้กับผู้เรียนที่เรียนไม่ทันในชั้นเรียนปกติได้ด้วย
เรื่องนี้คงไม่ต้องจินตนาการมาก "ครู" อย่างพวกเรานั้นได้ชื่อว่าเป็น "นักสำรวจดีเด่นระดับชาติ" ไม่ว่าใครต้องการข้อมูลอะไร ก็ล้วนส่งลงมาถึงมือครูดำเนินการทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็น จำนวนประชากร ข้อมูลสุขภาพ ยาเสพติด การเลือกตั้ง ฯลฯ แล้วยิ่งการสำรวจที่เกี่ยวกับผู้เรียน ทรัพยากร เพื่อการจัดการศึกษานั้น เราทำกันมาทุกภาคเรียน ทุกปีการศึกษา แต่... หน่วยเหนือก็เพียงให้สำรวจ สำรวจ และสำรวจ ก็ไม่เคยเห็นหน่วยเหนือที่ว่าดำเนินการแก้ไขปัญหาให้ได้อย่างไร? สำรวจแล้วเอาข้อมูลนั้นไปไหน ทำอะไร เพื่ออะไรกันหนอ
พอการระบาดของเจ้าโควิด-19 มากระทบเข้าจังๆ กับการจัดการศึกษาจึงทำให้รู้ว่า "ความขาดแคลนทรัพยากรจัดการศึกษา" นั้นมีมากมายมหาศาลเพียงใดไม่เฉพาะแต่ทางสถานศึกษา ครูผู้สอนเท่านั้น แต่รวมถึงผู้เรียนและผู้ปกครองด้วย
จนมีคำถามไล่หลังมาว่า "ที่ให้ครูสำรวจ รายงาน มามากมายหลายปีนั้น ไหนล่ะจานดาวเทียม โทรทัศน์ อินเทอร์เน็ต เพื่อใช้ในการเรียนการสอน มันอยู่ไหน?" สำรวจทำไม เพื่ออะไร เสียเวล่ำเวลามากี่ชาติแล้ว?
คำถามใหม่หมาดมาจากผู้ที่ไปสอบครูผู้ช่วยในคราวนี้ (ความจริงก็ทุกครั้งที่มีการสอบแข่งขันล่ะนะ) เมื่อนักการศึกษาทั้งหลายในโลกหล้าต่างก็ทราบว่า "คนเราไม่เท่ากันในทุกๆ เรื่อง แต่ละคนมีความสนใจใคร่รู้ แสวงหา เรียนรู้ในสิ่งที่ตนชอบ เชี่ยวชาญในสิ่งที่ตนสนใจ" แล้วทำไมตอนสอบแข่งขันเพื่อเข้าสู้ระบบราชการ จึงวัดด้วยเครื่องมือหรือเกณฑ์เดียวกันล่ะ?
เพราะ... ก็รู้ๆ กันอยู่ว่า คนที่สนใจด้านใดเป็นพิเศษก็มีความสามารถด้านนั้นๆ สูง ความรู้ด้านอื่นๆ ก็รู้บ้างแหละ แต่ก็ไม่ได้เชี่ยวชาญพอที่จะเอามาวัดแข่งขันกันให้สูงพอๆ กับคนที่เขาเรียนด้านศาสตร์วิชาการนั้นๆ มาเป็นแน่แท้ แต่การสอบคัดเลือกเข้าทำงานของประเทศไทยนี้มันเหมาะสมเพียงใด ฝากไว้ให้คิดกันหน่อยนะครับท่านผู้มีอำนาจทั้งหลาย
ยินดีต้อนรับสู่เว็บไซต์ของเรา ที่นี่ใช้คุกกี้ (Cookies) เก็บข้อมูล เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น อ่านนโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (Privacy Policy) และนโยบายคุกกี้ (Cookie Policy)