สวัสดีปีใหม่ ๒๕๖๗ ขอให้ทุกท่านมีสุขภาพแข็งแรง ปลอดโรค ปลอดภัย โชคดีมีชัยตลอดไปตลอดปีครับ สิ่งใดที่ผ่านพ้นร้ายๆ ก็ขอให้จบเสียในปี ๒๕๖๖ แล้วมาตั้งจิตอธิษฐานทำความดี สิ่งใหม่ๆ อันเป็นมงคลต่อชีวิตกันเถอะ เมื่อพูดถึงวงการ "ครู" หริอ "ครุ" ที่แปลว่า หนัก ก็ขอให้ผ่อนเบาลงโดยเฉพาะ "หนี้" นะครับ ถ้าปลอดหนี้ ก็จะมีความสุขมีพลังชีวิตในการให้ความรู้ ให้การศึกษาแก่ศิษย์ มีพลังในการทำงานให้เกิดผลสำเร็จต่อไป ประเทศไทยจะก้าวหน้าได้ก็ด้วยการสร้างเยาวชนคนรุ่นใหม่ให้มี "การศึกษา" ที่ดีนี่และ
บทความนี้เขียนตั้งแต่ช่วงต้นธันวาคมแต่ก็ไม่ได้ทำต่อจนวันสุดท้ายของปี วันนี้จะมาเล่าสู่กันฟังก่อนสิ้นปี ด้วยเรื่องที่กำลังเป็นที่กล่าวถึงมากที่สุดในช่วงนี้คือ "ผลการสอบ PISA ของนักเรียนไทย" ซึ่งทาง องค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา หรือ OECD (Organisation for Economic Co-operation and Development) ได้ประกาศผลของการสอบ PISA 2022 ออกมาแล้วปรากฏว่า นักเรียนไทยของเราไปอยู่ในอันดับท้ายๆ ของโลก ทำให้หน่วยงานทางการศึกษาออกมาแสดงความวิตก ห่วงใย รวมทั้งบรรดาสื่อมวลชนแขนงต่างๆ ออกมาตีข่าวกันอึกทึกครึกโครม (โจมตีนั่นแหละ แต่ไม่บอกทางออก ทางแก้นะ แล้วแต่มึงเลย) วันนี้ก็เลยหยิบเอามาเล่า มาบ่นให้ฟังกันสักหน่อยก็แล้วกัน
โปรแกรมประเมินสมรรถนะนักเรียนมาตรฐานสากล หรือ PISA (Programme for International Student Assessment) มีวัตถุประสงค์เพื่อประเมินคุณภาพของระบบการศึกษาในการเตรียมความพร้อมให้เยาวชนมีศักยภาพ หรือความสามารถพื้นฐานที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตในโลกที่มีการเปลี่ยนแปลง โดย PISA เน้นการประเมินสมรรถนะของนักเรียนเกี่ยวกับการใช้ความรู้ และทักษะในชีวิตจริง มากกว่าการเรียนรู้ตามหลักสูตรในโรงเรียนโดยใช้ข้อสอบของ PISA จะประเมินนักเรียนอายุ 15 ปี ซึ่งถือว่าเป็นวัยที่สำเร็จการศึกษาภาคบังคับ ในทุก 3 ปี อย่างต่อเนื่อง
สำหรับในประเทศไทย สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) ได้ดำเนินการจัดสอบเมื่อเดือนสิงหาคม 2565 ซึ่งมีนักเรียนกลุ่มตัวอย่างเข้าร่วมการประเมินจาก 279 โรงเรียน ในทุกสังกัดการศึกษา รวม 8,495 คน โดยนักเรียนทำแบบทดสอบและแบบสอบถามด้วยคอมพิวเตอร์ ผ่านทางแฟลชไดรฟ์ นอกจากนี้ยังมีการเก็บข้อมูลจากผู้บริหารโรงเรียนผ่านทางแบบสอบถามออนไลน์ด้วย
ผลการประเมิน PISA 2022 ในระดับนานาชาติ พบว่า นักเรียนจากสิงคโปร์มีคะแนนเฉลี่ยทั้งด้านคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และการอ่านสูงกว่าทุกประเทศ/เขตเศรษฐกิจที่เข้าร่วมการประเมินในครั้งนี้ สำหรับประเทศที่มีคะแนนสูงสุดห้าอันดับแรกในด้านคณิตศาสตร์ ซึ่งเป็นด้านที่เน้นในรอบการประเมินครั้งนี้เป็นประเทศ/เขตเศรษฐกิจในเอเชียทั้งหมด ได้แก่ สิงคโปร์ มาเก๊า จีนไทเป ฮ่องกง และญี่ปุ่น ส่วนประเทศสมาชิก OECD มีคะแนนเฉลี่ยด้านคณิตศาสตร์ 472 คะแนน ด้านวิทยาศาสตร์ 485 คะแนน และด้านการอ่าน 476 คะแนน ซึ่งเมื่อเทียบกับ PISA 2018 พบว่า ค่าเฉลี่ยของประเทศสมาชิก OECD ด้านคณิตศาสตร์และการอ่านลดลง ส่วนด้านวิทยาศาสตร์ถือว่าไม่มีการเปลี่ยนแปลงทางสถิติ
ประเทศไทยเรานั้นอยู่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยในทุกๆ ด้านดังตารางด้านบน และเมื่อนำมาแยกดูข้อมูลจากโรงเรียนและสังกัดหน่วยงานในประเทศไทยพบว่า นักเรียนที่อยู่ในโรงเรียนที่สังกัดต่างกัน เช่น โรงเรียนที่เน้นวิทย์ (อย่าง จุฬาภรณ์) โรงเรียนสาธิตในมหาวิทยาลัย โรงเรียนสังกัด สพฐ. กทม. และ อปท. มีผลลัพธ์ที่แตกต่างกันชัดเจนมาก
นี่ยังไม่นับรวมเรื่อง "ภาษาอังกฤษ" เข้าไปด้วยนะ ที่คนไทยเรายังแพ้ชาติอื่นๆ ในประเทศใกล้เคียงในกลุ่มอาเซียนด้วยกัน โดยเฉพาะป้าข้างบ้าน (แขมร์) ถึงกับเอามาขิงกันใหญ่ในโลกโซเชียล แต่ก็ยังดีที่ยังมีชาวแขมร์ด้วยกันออกมาดึงสติว่า "ดีกว่าแล้วไง ทำไมพัฒนาไม่ทันเขา บ้านเมืองสกปรก คนตกงาน ไร้อาชีพ ไม่มีนักท่องเที่ยว ดีแต่เกากำแพงไปวันๆ ไม่มีเงานักท่องเที่ยว พวกเรากำลังจะอดตาย" เห็นไหมว่า การศึกษามันต้องดีทุกด้านจึงจะพัฒนาได้ ปัญหามันอยู่ตรงไหนกัน?
คะแนนเด็กไทยตกต่ำ เพราะเด็กบ้านเราเรียนหนักเกินไป คือ มากถึง 1,200 ชั่วโมงต่อปี ควรลดชั่วโมงเรียนลง ฯลฯ บลาๆๆ"
ถ้าเราเทียบประเทศไทยกับประเทศสิงคโปร์คือ ไม่จริงครับ โดยทั่วไป เด็กชั้นประถมสิงคโปร์เข้าเรียนราว 07.30 น. เลิกเรียนราวบ่ายโมงครึ่ง เพราะบางโรงเรียนต้องใช้ห้องเรียนสำหรับนักเรียนในรอบบ่าย จึงจัดสรรเวลาให้ใช้โรงเรียนให้เต็มที่ เด็กชั้นมัธยมเรียนยาวกว่านั้น ค่าเฉลี่ยคือ 50 ชั่วโมง/สัปดาห์ (28 ชั่วโมงในชั้นเรียน ที่เหลือนอกชั้นเรียน) ภาคการศึกษาสิงคโปร์ยาวประมาณ 40 สัปดาห์ต่อปี ดังนั้นเด็กสิงคโปร์จึงเรียนประมาณ 2,000 ชั่วโมงต่อปี เรียนมากกว่าเด็กเราเกือบสองเท่า นี่ยังไม่นับชั่วโมงติววิชาต่างๆ นอกรอบ ซึ่งพ่อแม่เด็กต้องหาครูสอนพิเศษมาสอนอีกต่างหาก
ต่อมา ก็มาถึงเรื่อง "การบ้าน" หลายปีนี้ผมมักได้ยินคนเสนอให้ "เด็กไทยทำการบ้านน้อยลง" แต่ก่อนที่รัฐมนตรีหรือผู้ใหญ่ในกระทรวงศึกษาฯ จะสั่งให้แก้อะไร ลองดูตัวเลขของประเทศอื่นเทียบกันก่อนก็แล้วกัน ค่าเฉลี่ยทำการบ้านของโลกคือ 5 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ เด็กนักเรียนสิงคโปร์ทำการบ้าน 9.4 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ แต่เด็กจีนทำมากกว่านั้น คือ 13.8 ชั่วโมง ในเรื่อง "ภาษา" เด็กสิงคโปร์เรียนภาษาหลักคือ "ภาษาอังกฤษ" เป็นภาคบังคับ และต้องเรียนเพิ่มอีกหนึ่งภาษาด้วย ไม่ภาษาจีนก็ภาษามาเลย์ ดังนั้น ถ้าเปรียบเทียบกันในภาพรวมแล้ว เด็กไทยเราเรียนน้อยกว่าเด็กนักเรียนสิงคโปร์มากๆ
ในโลกของการศึกษานานาชาติ มีมาตรฐานอีกระบบหนึ่งสำหรับนักเรียนชั้นเตรียมอุดมหรือชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายบ้านเรา คือ การทดสอบ IB (International Baccalaureate) ซึ่งเป็นมาตรฐานสากล วัดผลเหมือนกันทั้งโลก เมื่อได้รับผลคะแนน IB นักเรียนก็สามารถนำไปสมัครเรียนที่ต่างประเทศได้เลย ไม่ต้องสอบเข้าให้เสียเวลา คะแนน IB สูงสุดคือ 45 ถ้าได้คะแนน 40 ขึ้นไป ก็สามารถเข้ามหาวิทยาลัยดีๆ ทั่วโลกได้แล้ว เด็กนักเรียนโรงเรียนอินเตอร์ฯ ในไทยมักได้ 40-44 เพียงไม่กี่คนต่อชั้น แต่เด็กสิงคโปร์กวาด 45 เต็มเกือบยกชั้น ดังนั้นจึงไม่แปลกใจที่ทำไมคะแนน PISA ของสิงคโปร์จึงสูงเกินมาตรฐาน ประเทศไทยเรามหาวิทยาลัยก็ควรใช้คะแนนสอบนี้ด้วยไม่ต้องมาวิ่งรอกสอบ GAT, PAT ส่ง Porfolio กันให้วุ่นวาย คือสร้างมาตรฐานมาแต่ต้นให้มันจบๆ ไป
เงินเดือนครูไทยต่ำมาก ครูจึงไม่ค่อยมีกำลังใจสอน หรือต้องเจียดเวลาไปทำงานพิเศษอื่นๆ จริงไหม? จึงสมควรที่เราจะสำรวจเงินเดือนครูสิงคโปร์บ้าง ว่าเงินเดือนพวกเขาสูงแค่ไหน จริงไหมที่เงินเดือนสูงมากจนทำให้มีแรงสร้างเด็กระดับคุณภาพ
เงินเดือนครูสิงคโปร์มีตั้งแต่ 1,000-8,000 $sg แต่ตัวเลขทั้งสองนี้ก็สุดโต่งเกินไป (ต่ำสุด-สูงสุด) โดยทั่วไป ครูสิงคโปร์ส่วนใหญ่ได้เงินเดือนระหว่าง 3,000-6,000 เหรียญสิงคโปร์ แล้วเงินเดือน 3,000 เหรียญ (ประมาณ 75,000 บาท) พอใช้ต่อเดือนไหม? คำตอบคือ "หืดขึ้นคอ" เพราะค่าครองชีพในสิงคโปร์สูงมาก เงินเดือน 3,000 เหรียญนี้พอแค่ให้ตัวเองอยู่รอดได้เท่านั้น จะเลี้ยงลูกเลี้ยงเมียยังยาก เพราะค่าครองชีพที่นั่นแพงระยับอันดับต้นๆ ของโลก ค่าเช่าบ้านก็อาจปาเข้าไป 1-2 พันแล้ว กินแบบประหยัดสุดๆ ต่อมื้อหนึ่งก็ราว 10 เหรียญ ต่อวันก็ 30 เหรียญ รวมค่ารถเมล์ รถไฟฟ้า ค่าใช้จ่ายอื่นๆ ก็หมด ไม่มีเงินเก็บแล้ว ถ้าได้เงินเดือน 6,000 เหรียญ (ประมาณ 150,000 บาท) จะค่อยยังชั่วหน่อย แต่ก็ไม่ได้ถือว่ารวย เป็นแค่คนมีรายได้ปานกลางเท่านั้น (ปัจจุบันค่าเงินดอลลาร์สิงคโปร์สูงขึ้นค่าเฉลี่ยราวๆ 25-26 บาท แต่ค่าครองชีพก็ทะลุเพดานเช่นกัน)
สรุปคือเงินเดือนครูสิงคโปร์โดยเฉลี่ยไม่ถือว่าสูง แล้วงานครูหนักไหม? คำตอบคือหืดขึ้นคอเหมือนกัน ครูสิงคโปร์ต้องเตรียมการสอน ต้องทำรายงานการสอน ฯลฯ ไม่ใช่ชีวิตสบายแน่นอน ไม่ว่าครูชาติไหนก็ลำบากทั้งนั้น และส่วนใหญ่ได้รับผลตอบแทนน้อยเกินไป บ้างจึงนำเงินอนาคตมาใช้กันจนเป็นหนี้สินพัวพันยุ่งเหยิงไปหมด หากถามผมว่า อาชีพใดควรได้รับค่าตอบแทนสูงลำดับต้นๆ คำตอบของผมคือ "อาชีพครู" เพราะเป็นอาชีพสำคัญมากต่อการพัฒนาประเทศชาติ สร้างคนมาเป็รนกำลังหลักให้กับประเทศ ไม่ใช่ ส.ส. หรือ ส.ว. (อะไรกัน ได้รับเลือกเป็นสมัยเดียว มีบำนาญกินตลอดชาติ นะนั่น ออกกฏเกณฑ์มาสนองตัวเอง แม่งเอย!)
ปัญหาและทางแก้ปัญหาทุกอย่างจะทุ่มลงไปที่ครูเพียงคนเดียวไม่ได้ มันต้องแก้ด้วยกันทั้งระบบ กับทุกคนให้มีส่วนร่วมด้วยกันไม่มากก็น้อยจึงจะแก้ปัญหานี้ได้ ตั้งแต่ การลดภาระงานอื่นๆ เพื่อที่ครูจะได้มีเวลาสอน เตรียมการสอนให้มากขึ้น ผู้ปกครอง สังคมทุกภาคส่วนต้องมีส่วนร่วมในการสนับสนุนให้เด็กรักการเขียน การอ่าน ให้รู้แตกฉาน คิดวิเคราะห์ได้อย่างเป็นระบบ การอ่าน-เขียนที่คล่องแคล่ว คิดวิเคราะห์ได้จึงจะสามารถเรียนรู้ในศาสตร์ต่างๆ ได้ รวมทั้งการสอบ PISA นี้ก็ด้วย
เราชะล่าใจเกินไปที่ให้เด็กหลงในวังวนสื่อโซเชียล ที่รับเอาความรู้ ความคิด การเขียนในภาษาไทยอันวิบัติแบบวัยสะรุ่น เฮโลสาระพากันไป แสดงความคิดเห็นโดยขาดการไตร่ตรอง มีอะไรไม่ถูกใจ ไม่ถูกจริตตัวเองก็แสดงความคิดแบบขาดการยั้งคิด สุดท้ายเมื่อเจอหมายศาล ฟ้องร้องดำเนินคดีก็บอก "รู้เท่าไม่ถึงการณ์" ไปถึงแค่นครปฐมล่ะสินั่น เราต้องช่วยกันครับ
ผมว่า ท่านผู้หลักผู้ใหญ่มีอำนาจในแวดวงการศึกษา โปรดหยุดคิดเรื่องผลาญงบประมาณด้วยการแจกแท็ปเล็ตเสียทีเถอะ เอางบลงมาเปลี่ยนหลักสูตรใหม่ให้ทันโลก ปลดภาระหน้าที่ที่ไม่เกี่ยวกับงานสอนของครู เอางบมาพัฒนาส่งเสริมการเรียนรู้ให้เด็กรักการอ่าน ก่ารเขียน ทั้งภาษาไทยของเราและภาษาอังกฤษให้คล่องก่อนเถิด ไม่ต้องไปกังวลเรื่องการเขี่ยจอแท็ปเล็ต สมาร์ทโฟน เด็กมันไปไกลกว่าท่านๆ ที่นั่งบนหอคอยงาช้างเสียอีก เชื่อผมสิ...
คะแนน PISA ไทยตกต่ำปีนี้ไม่ต้องกังวล มันตกมานานแล้วล่ะ ตูตกเลขคงต้องซื้อทีละ 3 กิโลใช่ไหม? จะได้ถูกกว่า😱😂😭"
ยินดีต้อนรับสู่เว็บไซต์ของเรา ที่นี่ใช้คุกกี้ (Cookies) เก็บข้อมูล เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น อ่านนโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (Privacy Policy) และนโยบายคุกกี้ (Cookie Policy)