ผมห่างหายไปจากการอัพเดทบทความไปร่วมปีเลยนะครับ เคยเขียนมาแล้วสัก 2-3 บทความแล้ว แต่ก็ไม่เผยแพร่ให้ใครได้อ่าน ลบทิ้งไปเฉยๆ เพราะมันก็เรื่องเก่าๆ ที่ไม่ว่าผมหรือนักวิชาเกินนอกราชการ นอกกระทรวงทั้งหลายต่างก็พูดและบ่นถึง ซ้ำแล้วซ้ำอีก ก็ไม่เกิดผลอะไรในทางปฏิบัติ สุดท้ายก็ยังอยู่วังวนเดิมๆ มีการปรับเปลี่ยนแต่เพียงเก้าอี้ของฝ่ายบริหาร เพื่อแบ่งปันยศฐาบรรดาศักดิ์ ที่ไม่ได้ก่อเกิดความเจริญงอกงามแก่การจัดการศึกษาแม้เพียงน้อยนิด การศึกษาไทยกลายเป็นปิรามิดกลับด้าน ที่ฐานอยู่ข้างบนกระจายบานออกด้วยตำแหน่ง แล้วเรียวเล็กลงมาหาคนปฏิบัติการ (ก็ "ครู" นั่นแหละ) ที่น้อยทั้งจำนวน ทั้งค่าตอบแทนและสวัสดิการต่างๆ ทำตามคำสั่งที่เบื้องบนบอกให้ "เสียสละ" เสียจนกระทั่งไม่มีอะไรจะเสียแล้วมั๊ง สูญเสียทั้งเวลาให้ครอบครัว เงินเดือนที่มีเพียงน้อยนิด ไปกับการพยายามสร้างการเรียนรู้ให้ลูกหลาน
2 ปีการศึกษาที่ผ่านมา "การศึกษาไทย" นับได้ว่ามีความล้มเหลวมากที่สุด เพราะการระบาดของเจ้าโควิดร้าย ทำให้การจัดการศึกษาในโรงเรียนหรือสถานศึกษาทั้งหลายต่างก็ได้ผลกระทบกันไปเต็มๆ ไม่ว่าจะเป็นระดับก่อนวัยเรียน ประถมศึกษา มัธยมศึกษา อาชีวศึกษา และมหาวิทยาลัย เกิดประสบการณ์ใหม่ของครูผู้สอนในทุกระดับ จากที่เคยเป็นพระเอก-นางเอกหน้าห้องเรียนก็กลายเป็นคนเหินห่างในจอเล็กๆ ที่มีคนดูบ้าง หลับบ้าง หรือพูดเรื่อยเปื่อยไปคนเดียวโดยไม่รู้ว่าปลายทางจะฟัง ทำความเข้าใจได้แค่ไหน จากที่เคยดุผู้เรียนว่า "เงียบๆ หน่อย ตั้งใจฟัง" คราวนี้เงียบสมใจได้พูดคนเดียว โดยไม่มีปฏิกิริยาตอบโต้ใดๆ จนถึงขั้นผู้สอนต้องกลายเป็นนักร้องหน้าเวทีคอนเสิร์ต "อ้าว! ส่งเสียงหน่อย!!!" แต่... ก็ยังเงียบเหมือนเดิม 😁😂🤣😭😭😭
สิ่งที่เกิดขึ้นในรอบ 2 ปีที่ผ่านมานั้น ทำให้ครู/บุคลากรทางการศึกษาเกิดการเรียนรู้ทางด้านเทคโนโลยีมากมายเกินคาด จากที่เคยผลัก เคยดัน มาตลอดเวลากว่า 10 ปีของผมในราชการนั้นไม่เคยทำได้สำเร็จ แต่ในห้วง 2 ปีที่ผ่านมานี้ "โควิด-19" กลับทำให้การศึกษาด้านเทคโนโลยีของครูไทยพลิกกลับด้านชั่วข้ามคืน มีหลายๆ คนมีความสามารถขั้นเทพเตรียมการจัดการเรียนการสอนได้อย่างมืออาชีพจริงๆ ทั้งเทคนิควิธีการสอน การออกแบบวิธีการสอนใหม่ๆ การสร้างจุดสนใจในรูปแบบต่างๆ ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน จากครูที่กลัวเทคโนโลยีกลายเป็นครูที่มีความพร้อมในการใช้ เลือกใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสมกับตนเองได้ ที่เคยกลัวคอมพิวเตอร์ก็สามารถใช้งานได้คล่องแคล่วขึ้นมากทีเดียว แต่... สิ่งหนึ่งที่ครูทุกข์ใจมากชึ้นคือ "ค่าใช้จ่าย" ที่แฝงเข้ามาที่ไม่รู้จะเบิกจ่ายจากใครได้ เงินเดือนที่น้อยนิดชักหน้าไม่ถึงหลัง ยังจะต้องถูกเบียดจ่ายมาใช้ในสถานการณ์ยากลำบากนี้อีก แต่ก็ดีใจนะที่เห็นครูเราหลายๆ คนสามารถพลิกแพลงใช้เครื่องมือง่ายๆ พื้นฐานมาใช้ในการจัดการเรียนการสอนออนไลน์ได แม้ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นไม่อาจจะคาดหวังว่า มันจะได้ผลสัมฤทธิ์ 100% ก็ตาม แต่มันก็ไม่มีทางเลือกมากนักในสถานการณ์เช่นนี้
ปีการศึกษา 2565 นี้ ความหวังของการศึกษาไทย (รัฐบาล, กระทรวงศึกษาธิการ, นักวิชาการ, อาจารย์ผู้สอน, ครู, ผู้ปกครอง และนักเรียน) ต่างก็มีความหวังว่า จะสามารถจัดการเรียนการสอนในชั้นเรียนปกติได้ตลอดรอดฝั่ง ไม่มีการสั่งปิดโรงเรียนเพราะการระบาดใหญ่ของโควิด-19 อีก ด้วยเหตุผลว่า ตลอด 2 ปีที่ผ่านมาในการจัดการเรียนการสอนออนไลน์นั้นได้ผลไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วย ด้วยความไม่พร้อมของทั้งตัวผู้เรียนและผู้สอนส่วนใหญ่ (น่าจะเกินมากกว่า 80% ขึ้นไป) ขาดทั้งทรัพยากรสำหรับสนับสนุนในการใช้งาน (เครื่องคอมพิวเตอร์ มือถือ แท็ปเล็ต สัญญาณอินเทอร์เน็ต โทรทัศน์ ฯลฯ) ไม่เฉพาะในชนบทนะครับ ในสังคมเมืองใหญ่ก็มีสภาพขาดแคลนเช่นเดียวกัน (คนยากจนในสังคมเมืองยิ่งน่าสงสารกว่าในชนบทเสียอีก)
พอจะเปิดเทอมก็มาเจอพาดหัวข่าวเช่นข้างบนนี้ จึงมีคำถามว่า "มันเกิดอะไรขึ้นอีกกับการศึกษาของประเทศนี้" เรื่องหลักสูตรเพื่อการพัฒนาการศึกษาของประเทศให้ "ก้าวหน้า เท่าทันโลกและเทคโนโลยี" มีการเตรียมการ พัฒนา ศึกษา วิจัยมานานกว่า 5 ปีแล้ว มีการทดลองในโรงเรียนต่างๆ มาพอสมควร เห็นผลกันบ้างแล้วว่า "มันถึงเวลาที่ต้องปรับเปลี่ยน เราย่ำเท้าอยู่กับที่มานานแล้ว ยิ่งมาเจอสถานการณ์การระบาดของโรคร้ายมาตลอดระยะเวลา 2 ปีที่ผ่านมาเราย่ำแย่ขนาดไหน ยังไม่พอที่จะปรับเปลี่ยนอีกหรือ?" จึงเป็นคำถามที่เซ็งแซ่ขึ้นมาทันทีอีกครั้ง เพียงเพราะความเข้าใจว่า "เปลี่ยนหลักสูตรต้องเปลี่ยนหนังสือแบบเรียน" จริงดิ?
"คนระดับนายกรัฐมนตรี ไม่จำเป็นต้องลงมาล้วงลูกเล่น สั่งการแบบนี้ครับ แปลกที่รองนายก วิษณุ บอกคำว่าหลักสูตรฐานสมรรถนะไม่รู้จัก ไม่รู้ความหมาย ถ้าท่านไม่รู้จักไม่รู้ความหมาย ก็ควรปล่อยให้คนที่รู้จักรู้ความหมายเขาพัฒนาไปเถอะครับ อย่าห่วงสำนักพิมพ์แบบเรียนมากกว่าคุณภาพการศึกษาของเด็กที่ต้องการให้ทันยุคสมัยครับ
เราควรทำคู่ขนานคือ เตรียมหลักสูตรฐานสมรรถนะพร้อมๆ กับการพัฒนาครับ (ไม่ใช่จับมาเข้าห้องอบรม หาเรื่องใช้เงินแบบเดิมๆ แล้วไม่ได้ผล) เน้นการพัฒนาวิชาชีพในสถานศึกษาที่มีพี่เลี้ยง มีครูเก่งๆ เป็นคนให้คำปรึกษาแนะนำ เพื่อให้ครูปรับเปลี่ยนการสอนแบบเดิมให้เป็นการเรียนรู้จากการปฏิบัติ เพื่อให้นักเรียนมีความรู้ ทักษะปฏิบัติได้จริง ทั้งนายก รองนายก ต้องปล่อยให้เป็นหน้าที่กระทรวงศึกษารับผิดชอบ
ท่านให้ข่าวแบบนี้ ก็ทำให้คนคัดค้านหรือเสียผลประโยชน์เอาไปอ้างอิงได้ครับ ผมคิดว่าคนเอาไปอ้างมิใช่ทำเพื่อเด็ก แต่เพื่อผลประโยชน์ของกลุ่มมากกว่าครับ เศร้ากับคุณภาพการศึกษาของเด็กไทย ที่ยังติดอยู่ในวังวนของกลุ่มผลประโยชน์"
Cr: เรื่อง รศ. ดร. เอกชัย กี่สุขพันธ์
"ขอพูดไว่ตรงนี้เลยว่า.. หากกระทรวงศึกษาธิการไม่สามารถ “สร้างหลักสูตรฐานสมรรถนะ (Competency Based Curriculum)" ออกมาใช้กับการศึกษาขั้นพื้นฐานได้ทันการ จะเป็นเรื่องที่น่าเศร้าใจที่สุดในประวัติศาสตร์การศึกษาไทย เพราะท่านผู้บริหารการศึกษาระดับชาติ ได้สร้างเหตุแห่งความถดถอยใน “สมรรถนะประชาชนไทย” ไว้ในวันนี้แล้ว
การนำเอาหลักสูตรเก่า “มาปรับใช้“ โดยสมมุติว่า ”เป็นหลักสูตรฐานสมรรถนะ” โดยไม่ปรับวิธีใช้, เวลาเรียน, การวัดผลประเมินผล, และรูปแบบการเรียนการสอน, “แบบสร้างสมรรถนะในตัวผู้เรียน Child centered" ให้ได้ผลจริงๆแล้ว ก็จะเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาศักยภาพของพลเมือง และเป็นอุปสรรคต่อความก้าวหน้าของประเทศชาติได้พอๆ กัน เพราะประเทศอารยะทั้งหลายล้วนแต่ใช้การศึกษา “ฐานสมรรถนะ” นำหน้าพาประเทศชาติของเขาไปสู่ความเจริญรุ่งเรือง ทั้งนั้น"
Cr. สุทัศน์ เอกา
มาถึงวันนี้ กับคำถามที่ว่า "ปัญหาของการปฏิรูปการศึกษาอยู่ที่ใคร?" ผมคงไม่ต้องตอบกระมัง ให้ทุกท่านได้ใช้ความคิด วิเคราะห์ ตอบคำถามกันเอง ผมได้แต่หวังว่า "ผู้มีอำนาจในประเทศนี้ คงไม่ใช้วิธีการกดหัวให้คนมีความไม่รู้ ไม่ทันยุคสมัย ให้ว่านอนสอนง่าย เพื่อจะได้ปกครองได้ง่ายๆ นะครับ"
ครูมนตรี โคตรคันทา
บันทึกไว้เมื่อ : 8 พฤษภาคม 2565
ยินดีต้อนรับสู่เว็บไซต์ของเรา ที่นี่ใช้คุกกี้ (Cookies) เก็บข้อมูล เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น อ่านนโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (Privacy Policy) และนโยบายคุกกี้ (Cookie Policy)