เมื่อวาน (29 สิงหาคม 2548) ผมได้เดินทางไปร่วมเป็นกรรมการตัดสินการแข่งขัน "Nation Sofrware Contest 2006 โครงการการแข่งขันพัฒนาโปรแกรมคอมพิวเตอร์แห่งประเทศไทย" หรือ NSC รอบคัดเลือกภูมิภาค ที่มหาวิทยาลัยขอนแก่น NSC เป็นโครงการที่ NECTEC ได้ริเริ่มจัดทำขึ้น เนื่องจากได้เล็งเห็นประโยชน์ในการสนับสนุน และส่งเสริมการเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์หรือซอฟต์แวร์ซึ่งมีต้นทุนไม่สูง เนื่องจากใช้กำลังสมองของมนุษย์เป็นส่วนสำคัญในการสร้างสรรค์ผลงาน และประเทศไทยเราก็มีศักยภาพในการแข่งขันได้กับต่างประเทศ และในการพัฒนาทักษะ ความคิดริเริ่ม
ในการพัฒนาโปรแกรมคอมพิวเตอร์ ยังจะเป็นรากฐานที่สำคัญยิ่ง ต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมด้านซอฟต์แวร์ของประเทศ ซึ่งทางเนคเทคได้ดำเนินโครงการนี้มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2537 โดยใช้ชื่อว่า "โครงการพัฒนาซอฟต์แวร์ขนาดเล็ก" โดยเนคเทค เป็นผู้ที่สนับสนุนเงินทุนเพื่อเป็นแรงจูงใจและกระตุ้นให้เยาวชน และผู้ที่สนใจได้เห็นความสำคัญ และทำการพัฒนาซอฟต์แวร์เพื่อประยุกต์ใช้งานในด้านต่างๆ รวมทั้งเปิดโอกาสและสร้างเวทีให้เยาวชนและผู้ที่สนใจได้แสดงความสามารถ ได้พัฒนาความรู้ และได้ประสบการณ์ในการประกวดแข่งขันพัฒนาซอฟต์แวร์ในระดับประเทศ อันจะเป็นการช่วยสร้างนักวิจัย และ/หรือ นักเขียนโปรแกรมระดับอาชีพต่อไป
ที่ต้องเอามาเล่าสู่กันฟังก็เพราะว่า จากการไปร่วมเป็นกรรมการตัดสินมา 3 ปี คณะกรรมการเรายังคงพบว่า นักเรียน นิสิต นักศึกษา ของประเทศเรายังเขียนข้อเสนอโครงการ (Proposal) ไม่เป็นเลย อ่านแล้วอ่านอีกบางโครงการพวกเรา (คณะกรรมการ) ก็ยังไม่สามารถเดาออกได้ว่า ผู้เสนอโครงการจะทำอะไรกันแน่? สาเหตุดังกล่าวเกิดจากเหตุใดและจะแก้ไขอย่างไร
ผมพยายาม "ถกหาสาเหตุ" กับหลายๆ ท่าน แล้วก็ไปสะดุดใจกับคำพูดของคณะกรรมการท่านหนึ่ง ที่บอกว่า "เพราะเราให้เด็กเขียนและอ่านน้อยไปในการเล่าเรียนหนังสือ ส่วนใหญ่จะเป็นการที่ครูบอกเล่า ให้นักเรียนลอกตาม" เมื่อถึงเวลาสอบครูก็มักจะใช้ข้อสอบแบบปรนัยเพราะตรวจง่ายกว่าแบบอัตนัย ซึ่งต้องอ่านลายมือไก่เขี่ยของลูกศิษย์ อย่างพินิจพิจารณาให้คะแนนยากมาก (และยังมักจะลำเอียงให้คะแนนดีๆ สำหรับคนลายมือสวย)
นักเรียนจึงเคยชินกับ "การลอกงาน" คนอื่นมาก และนับเป็นข้อเสียอย่างยิ่งยวดของโลกการใช้ "คอมพิวเตอร์" ที่สามารถทำให้การสำเนาไฟล์งานคนอื่น ทำได้ง่ายดายเกินไป พวกเรา (คณะกรรมการ) จึงได้เห็น รายงานข้อเสนอโครงการที่เหมือนกันมากๆ (ในกรณีที่ส่งมาจากสถาบันการศึกษาเดียวกัน) คือ หลักการและเหตุผล วัตถุประสงค์ เครื่องมือ และเทคนิคในการสร้างงาน ต่างกันเฉพาะชื่อผู้จัดทำกับชื่อโครงการเท่านั้น บรรดาข้อความที่พิมพ์ผิดๆ ก็ตำแหน่งเดียวกันเป๊ะๆ คำเดียวกัน ตกหล่นก็ที่ตำแหน่งเดียวกัน สุดท้ายอ่านแล้วก็ไม่รู้จะทำอะไรอีกเหมือนกัน ได้แต่ถอนหายใจ
จนกระทั่งกรรมการบางท่านเปรยออกมาว่า "อาจารย์ที่ปรึกษาโครงการ ได้อ่านก่อนลงนามรับรองกันบ้างหรือเปล่า?" เพราะบางครั้งมันสะท้อนให้เห็นว่า การทำโครงการต่างๆ เหล่านี้ นักเรียน นิสิต นักศึกษาทำกันเองโดยลำพัง อาจารย์ที่ปรึกษาเป็นเพียง 'ตรายาง' รับรองให้ครบกระบวนการเท่านั้น พวกเราอ่านกันแล้วก็มักจะพยายามจินตนาการ และยกประโยชน์ให้จำเลยอย่างมาก มีทั้งการคัดค้าน หรือสนับสนุนโครงการว่า จะให้ผ่านหรือไม่ผ่าน เพื่อรับทุนสนับสนุนในรอบแรก
จนถึงกับบอกว่า "ให้เขาผ่านเข้ามา เพื่อจะได้พัฒนาและนำมาเสนอต่อคณะกรรมการว่า ที่พวกเราเดาๆ กันนั้นถูกต้องหรือเปล่า?" ส่วนโครงงานที่ไม่ผ่านนั้น ส่วนใหญ่เป็นเพราะพวกเราจินตนาการไม่เห็นจริงๆ ว่ากำลังคิดจะทำอะไร จึงตกไป... ก็คงต้องฝากไปถึงคุณครูผู้สอนในวิชาภาษาไทย ภาษาต่างประเทศแล้วล่ะครับว่า ท่านคงจะต้องหาทางให้นักเรียนได้ฝึกฝนการเขียน การบรรยาย เล่าเรื่องต่างๆ ให้มากขึ้น การใช้ภาษา ความถูกต้องต่างๆ ต้องแม่นยำตรวจสอบกับพจนานุกรมบ้างก็จะเป็นการดีครับ
พอมีผลการสำรวจว่า "เด็กไทยอ่อนภาษาอังกฤษ" ออกมาทีหนึ่ง ก็มีการฮือฮากันในหมู่คนที่รับผิดชอบในวงการศึกษากันทีหนึ่ง ครั้งล่าสุดนี้ ก็มีการสำรวจการสอบข้อสอบภาษาอังกฤษ มาตรฐานที่ใช้กันแพร่หลายทั่วโลก 2 ชุด คือ โทเฟล (TOEFL-Test Of English as Foreign Language) และโทอิก (TOEIC-Test Of English for International Communication) ของคนไทยนั้น อยู่ในอันดับรั้งท้ายในบรรดาประเทศของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เคียงคู่กับประเทศกัมพูชา
ทีนี้ก็เลยต้องมี "การปรับปรุงการเรียนการสอนภาษาอังกฤษ" ของคนไทยใหม่อีกที (ครั้งที่เท่าไรในรอบ 4-5 ปีนี้ก็จำไม่ได้แล้ว) แต่คราวนี้ มีท่าทางน่าศรัทธาเชื่อถือมากกว่าคราวที่ผ่านๆ มา เนื่องจากความเลื่อมใสในตัวรัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการคนใหม่นี้ ในฐานะที่ท่านเป็นคนติดดิน คลุกคลีอยู่กับชาวบ้านมาโดยตลอด เคยเข้าไปอยู่ในป่ามาแล้วหลายปี ร้องเพลงลูกทุ่งเพราะ (ไม่รู้จะเกี่ยวหรือเปล่า?)
การที่เด็กไทยเรียนภาษาอังกฤษมาแล้วคนละ 12 ปีเป็นอย่างน้อย แต่ใช้การไม่ได้เลยนั้น ไม่ใช่ความผิดของเด็กหรอก หากแต่เป็นความผิดของบรรดาคนสร้างหลักสูตรการเรียน ผู้บริหารการศึกษาวิชาภาษาอังกฤษอย่างไม่มีข้อกังขาเลย ปัญหาการเรียนการสอนภาษาอังกฤษของเมืองไทยก็คือ ไม่รู้ว่าจะเอามาตรฐานของใครดี เนื่องจากยังเถียงกันไม่จบ เพราะมีคนไทยที่ไปเรียนภาษาอังกฤษมาจากประเทศต่างๆ ทั้งฝั่งอังกฤษ อเมริกา ออสเตรเลีย มีความเห็นไม่ลงรอยกันว่า จะสอนจะเรียนภาษาอังกฤษในเมืองไทยอย่างไร เลยไม่ได้มีการเริ่มเรียนกันอย่างจริงๆ จังๆ สักที
การแก้ปัญหา ต้องต้องยึดเอาแนวข้อสอบของ โทเฟล กับ โทอิก เป็นมาตรฐานของการเรียนการสอนภาษาอังกฤษ เนื่องจากภาษาอังกฤษนั้นมีความหลากหลายมาก แม้แต่ในเกาะอังกฤษเอง ก็มีการพูดการออกเสียงภาษาอังกฤษที่แตกต่างกันมากในแต่ละถิ่น แต่ละเมือง ยิ่งเป็นภาษาอังกฤษที่ใช้กันในสหรัฐอเมริกา สิงคโปร์ ออสเตรเลีย ฟิลิปปินส์ อินเดีย หรือไนจีเรีย ฯลฯ ก็ยิ่งเพี้ยนหนักและหลากหลาย ขนาดพูดกันไม่ค่อยรู้เรื่องเลยทีเดียว การจัดการเรียนการสอน เพื่อให้เกิดการเข้าใจตรงกันในการติดต่อสื่อสาร โดยใช้ภาษาอังกฤษของประชาคมนานาชาติ จึงต้องเป็นเป้าหมายของการเรียนการสอนภาษาอังกฤษของเมืองไทยเรา จะเอายังไงก็รีบทำเพื่อให้ไต่ขึ้นไปยังลำดับที่สูงขึ้นกว่านี้
สุดท้ายนี้ ขอแจ้งไปยังท่านที่สมัครเป็นสมาชิกร่วมขบวนการครูออนไลน์ ที่ยังไม่ได้รับบัญชีผู้ใช้งานและรหัสผ่าน สำหรับการสร้างบทเรียนออนไลน์นั้น ขอให้ท่านเข้าไปดำเนินการสมัครเป็นสมาชิกของระบบได้โดยตรง แล้วแจ้งชื่อบัญชีที่ท่านสมัครไว้แล้ว ไปให้ผมทางอีเมล์นะครับ จะได้ปรับสถานภาพของท่านจากผู้เรียนเป็นผู้สอนต่อไป ขณะนี้อาจจะมีปัญหาที่เครื่องเซิร์ฟเวอร์อยู่บ้างนะครับ ขอเวลาอีกนิดผมจะย้ายไปยังเครื่องใหม่ในเร็วๆ นี้ กำลังดำเนินการอยู่ครับ...
ครูมนตรี โคตรคันทา
บันทึกไว้เมื่อ : 30 สิงหาคม 2548
ยินดีต้อนรับสู่เว็บไซต์ของเรา ที่นี่ใช้คุกกี้ (Cookies) เก็บข้อมูล เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น อ่านนโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (Privacy Policy) และนโยบายคุกกี้ (Cookie Policy)