การคัดลายมือเป็นค่านิยมของจีนโบราณ ซึ่งมีศาสนาพุทธ เต๋า และขงจื้อ มีอิทธิพลอยู่ในสังคมเอเชียมายาวนาน การจดบันทึกคำสอนของศาสนาพุทธ จึงถูกเขียนด้วยมือ และจัดเก็บไว้อย่างดี น้อยคนที่จะได้มีโอกาสอ่าน หรือนำมาใช้ได้ ซึ่งถ้าดูภาพยนตร์จีนกำลังภายใน จะเห็นว่าคัมภีร์หรือตำราวิทยายุทธต่างๆ นั้น จะเขียนด้วยมือ จึงทำให้ต้องต่อสู้แย่งชิงกันมาก เพราะหายาก มีน้อย และการที่นิยมเขียนด้วยมือ จึงถือว่าการคัดลายมือเป็นคุณค่าที่ดีงาม และจะใช้สำหรับการเขียนในสิ่งที่มีคุณค่าอย่างมาก
ขณะที่ในยุโรปนั้น ศาสนาคริสต์มีอิทธิพลมาก ซึ่งมีความเชื่อว่า การเผยแพร่คำสอนด้วยการพิมพ์ไบเบิล (Bible) จำนวนมาก แจกให้กับประชาชนเป็นบุญกุศลอย่างมาก การมีคัมภีร์ไบเบิลติดตัวเป็นคุณค่าของชาวคริสต์ สำหรับศาสนาอิสลามการท่องจำเป็นสิ่งที่มีคุณค่ามาก เพราะอยู่กับตัวตนได้ตลอดเวลา โดยเฉพาะการท่องคัมภีร์กุรอาน ซึ่งเป็นค่านิยมที่มีคุณค่าจนถึงปัจจุบัน
การคัดลายมือจึงถือได้ว่า เป็นค่านิยมของคนเอเชียมายาวนาน และคนที่เขียนหนังสือได้ อ่านหนังสือออก จะเป็นคนที่มีโอกาสในการรับราชการและมีชีวิตที่ดี เป็นเจ้าคนนายคน จนมีการกล่าวกันว่า “ลูกผู้ชายลายมือนั้นคือยศ”
แต่ต่อมาในระยะหลังนี้ การสอนคัดลายมือลดความนิยมลงไปมาก ทั้งนี้เป็นไปตามวิวัฒนาการความคิดทางการศึกษา และเทคโนโลยีการเขียน การพิมพ์ และการประดิษฐ์ตัวอักษร จึงทำให้ความสำคัญของการคัดลายมือลดลงไป จึงเห็นการแสดงการเสียดสีค่านิยมการเขียนลายมือดังนี้
ลูกผู้ชาย ลายมือ นั้นคือยศ
เขียนสวยสด เขาเห็น ให้เป็นเสมียน
เขียนให้พอ อ่านได้ เป็นนายทะเบียน
เขียนแล้วอ่าน วิงเวียน เป็นนายคน
ปรากฎการณ์ในสังคมที่เกิดขึ้น สนับสนุนการเสียดสีผู้ที่มีลายมือสวย หรือเขียนหนังสือสวย มักจะพบเห็นอยู่ในคนที่มีวิชาชีพชั้นสูงทั้งหลาย เช่น อาจารย์ในมหาวิทยาลัย แพทย์ วิศวกร นักกฎหมาย เป็นต้น บุคคลเหล่านั้นมักจะมีลายมือที่เขียนแล้วอ่านยาก หรือ มีลายมือไม่สวย และมีการขยายความต่ออีกว่า คนที่เขียนหนังสือตัวบรรจงก็เป็นแค่เสมียนเท่านั้นแหละ เพราะคนที่มีวิชาชีพชั้นสูงเป็นคนที่ทำงานใช้สมองมากกว่าใช้ฝีมือ ต้องเป็นคนที่มีสมองดี คิดเร็ว เลยต้องถ่ายทอดความคิดออกมาอย่างเร็วด้วยลายมือที่หวัดมากๆ จึงจะทันกับความคิดอันฉับไว จึงเกิดค่านิยมการเขียนหนังสือหวัด อ่านยากขึ้น
การหวนกลับไปให้ความสำคัญกับการเขียนลายมือ หรือคัดลายมือตัวบรรจงให้สวยงาม จึงไม่เป็นสาระสำคัญอันดับต้นๆ ถึงแม้จะรู้ว่า ยังมีความจำเป็นต้องใช้การเขียนตัวบรรจงด้วยมือในงานต่างๆ อีกมาก และจะหาคนที่มีความสามารถในการเขียนตัวหนังสือให้สวยงามด้วยมือนั้น ยิ่งหายาก... มากขึ้นทุกวันๆ แต่สังคมดูเหมือนจะแก้ไขด้วย การนำเทคโนโลยีการพิมพ์ และการเขียนมาใช้ประดิษฐ์ตัวอักษร แทนการเขียนด้วยมือ
อย่างไรก็ดี การคัดลายมือยังเป็นสิ่งที่มีคุณค่าดีงาม และยังมีการเรียนการสอนให้คัดลายมือ ในประเทศสหรัฐอเมริกา อังกฤษ และในยุโรปอีกหลายประเทศ และการเขียนตัวหนังสือให้อ่านง่าย สวยงาม สามารถเกิดขึ้นได้กับคนทุกอาชีพ และการเขียนหนังสือได้สวยงาม เป็นเสน่ห์อย่างหนึ่งที่สร้างความประทับใจให้กับผู้อ่าน ที่ได้อ่านลายมือในโอกาสสำคัญต่างๆ ที่ท่านต้องเขียนบรรยายความรู้สึกของท่านด้วยลายมือ กลับมาสอนคัดลายมือ และสร้างค่านิยมการเขียนหนังสือสวยกันดีกว่า
โดย รองศาสตราจารย์ ดร.กฤษมันต์ วัฒนาณรงค์
ที่มา : หนังสือพิมพ์ไทยรัฐออนไลน์ วันพุธที่ 19 พฤษภาคม พ.ศ.2553
เอามาให้อ่านเพราะช่างตรงใจผมเหลือเกิน เดี๋ยวนี้ตรวจการบ้านหรือตรวจกระดาษคำตอบของนักเรียนยากมาก และอยากจะบอกนักเรียนทั้งหลายว่า ที่ได้คะแนนน้อย หรือไม่ได้เลย ก็เพราะเรามักง่ายในการเขียน ครูอ่านไม่ออก พยายามแกะอย่างไรก็ไม่เข้าใจ สุดท้ายการลากปากกาเป็นวงกลม มันสะดวกกว่าเขียนตัวเลขคะแนนสองหลักมากนัก
ยิ่งการเขียนด้วยตัวอักษรประหลาดๆ จากการมีค่านิยมในญี่ปุ่น เกาหลีสไตล์ หรือแม้แต่ที่เรียกว่า ภาษาเอ็ม ภาษาบีบี ก็ยิ่งทำให้การใช้ภาษาวิบัติมากขึ้น คนนอกกลุ่มไม่เข้าใจเพราะเป็นคำเฉพาะ แต่เมื่อเคยชินก็นำมาใช้ในการตอบคำถามการเรียนรู้ ตัวอักษรแปลกๆ หัวโตๆ ตัวลีบๆ ที่เรียกว่า ตัวอักษรหัวถั่วงอก ก็ยิ่งไปกันใหญ่เข้าไปอีก
เห็นทีเราจะต้องกลับมารื้อฟื้นการคัดลายมือ กันอีกรอบจริงๆ แล้วล่ะ ถ้าคิดจะปฏิรูปการศึกษารอบสอง และเพื่อส่งเสริมให้เป็นจริง ครูผู้สอนก็ต้องยอมลำบากในการตรวจการบ้าน หรือข้อสอบแบบอัตนัยให้มากขึ้นกว่านี้ อย่าเอะอะก็ซื้อแต่แบบฝึก ของสำนักพิมพ์ต่างๆ มาใช้งาน (รู้นะ... มันมีค่าคอมมิสชั่นในการจำหน่ายจากราคาหน้าปกมากกว่า 30%)
ยินดีต้อนรับสู่เว็บไซต์ของเรา ที่นี่ใช้คุกกี้ (Cookies) เก็บข้อมูล เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น อ่านนโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (Privacy Policy) และนโยบายคุกกี้ (Cookie Policy)