หลายคนคิดว่า ผมเขียน (บ่น) ในเว็บไซต์นี้เพื่อความสะใจส่วนตัว เอามันเข้าว่า ซึ่งนั่นคือความเข้าใจผิดอย่างมาก ทุกถ้อยคำที่เขียนลง ณ ที่นี้ เป็นการกลั่นกรองเพื่อเสนอมุมมองในอีกด้านหนึ่ง ซึ่งอาจจะไม่ถูกใจบางคน (เพราะผมไม่ได้ยกยอท่านเหล่านั้น) มุมมองของความเป็นคนไทยที่มีหน้าที่ในการดูแลปกปักรักษาประเทศนี้ เฉกเช่นกับคนไทยคนอื่นๆ ด้วยความสำนึกที่ว่า เงินภาษีของผมที่จ่ายทุกบาททุกสตางค์จากการหารายได้ น้ำพักน้ำแรง จากเงินเดือนราชการ จากเงินรับจ้างจากหน่วยงาน องค์กรอื่นๆ ควรจะถูกใช้ให้คุ้มค่า เป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติ โดยเฉพาะต่อการจัดการศึกษา เพราะอาชีพหลักของผมคือ การเป็นครู
ช่วงหลายวันมานี้ มีวันหยุดหลายวัน และยังเป็นวันสำคัญที่พวกเราชาวไทยต่างเฝ้ารอคอย วันที่พ่อหลวงจะเอ่ยวาจาสั่งสอนลูกไทยทุกคน ได้รับเอาไปใส่เหนือเกล้าฯ ทำให้ผมได้มีเวลาคิดทบทวน ตรึกตรองถึงเรื่องราวต่างๆ ที่ผ่านมา โดยเฉพาะเรื่องราวทางการศึกษา ผมมีคำถามในใจแต่อยากบอกให้ฟังดังๆ ว่า พวกเราได้ทุ่มเทเพื่ออาชีพนี้มากน้อยเพียงใด ได้ยึดเอาหลักเศรษฐกิจพอเพียง ที่พ่อหลวงของเราได้พระราชทานลงมานานกว่า 25 ปี มาใช้กันมากน้อยเพียงใด การที่เราหลงอยู่ในวังวนของการปฏิรูปการศึกษามา 5-6 ปีนี้ เป็นเพราะเราไม่ได้ใส่ใจในเรื่องความพอเพียงนี้หรือไม่?
การพัฒนาต้องเกิดจากภายในจึงจะมีความมั่นคง : พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงใช้คำว่า "ระเบิดจากข้างใน" ซึ่งหมายถึง ความต้องการไปสู่การพัฒนา ความเจริญทั้งหลายทั้งปวงจะต้องเกิดมาจากภายในใจของคนทำงานในองค์กร แล้วค่อยๆ ปรากฏออกมาสู่ภายนอก มิใช่เกิดจากการสั่งการจากผู้หนึ่งผู้ใด เพื่อสนองความต้องการให้เกิดผล ได้หน้า ได้ตา โดยไม่คำนึงถึงพื้นฐานขององค์กรนั้นว่าจะสามารถทำได้มากน้อยเพียงใด จึงเกิดแรงต้านภายในจิตใจ หดหู่ ทำไปแบบซังกะตาย รายงานผ่านหน้ากระดาษสวยหรูในขณะที่ความเป็นจริงล้มเหลวตั้งแต่เริ่มคิดแล้ว
การพัฒนาต้องเกิดขึ้นเป็นลำดับขั้นตอน มิใช่กระโดดข้ามขั้น : เช่น ถ้ามีปัญหาทุกข์ร้อนเฉพาะหน้า ต้องแก้ปัญหานั้นก่อนเพื่อให้ร่างกายและจิตใจของเรามีกำลังที่จะพัฒนาเรื่องอื่นๆ ต่อไป เหมือนกับในโรงเรียนของเรา ถ้าเด็กกำลังหิวข้าว เราต้องมุ่งแก้ไขปัญหาในโครงการอาหารกลางวัน เพื่อให้หายหิวก่อนจึงจะเรียนรู้ได้ดี ไม่ใช่แก้ปัญหาด้วยการนำเอาคอมพิวเตอร์มาช่วยในการเรียนรู้ e-Learning อะไรมาก็พากันนิ่งสนิทหมดแหละครับ
ครูกำลังเดือดร้อนเรื่อง "หนี้สิน" ก็ต้องแก้ไขปัญหาหนี้สินให้ทุเลาเบาบางลงก่อน จึงจะมีกำลังใจคิดที่จะพัฒนาการเรียนการสอนได้ดี การแก้ไขปัญหาต้องดำเนินการ โดยยึดหลักเศรษฐกิจพอเพียง พิจารณาตน "ก้มหน้าดูดิน อย่ามองฟ้า" ไปเปรียบเทียบกับคนที่มีมากกว่า เพราะยิ่งจะสร้างทุกข์ อยากมี อยากได้อย่างเขา ทั้งๆ ที่เราไม่มีความจำเป็นเช่นนั้นเลย ถ้าลดละสิ่งฟุ่มเฟือยลงไปได้ ความสุขจะเกิดได้จากความพอเพียงในการดำรงชีวิต
ความสามารถพึ่งตนเอง คือ มาตรฐานขั้นต้นของความเจริญ : พระองค์ทรงแนะนำแก่นักพัฒนาว่า "ควรยึดหลักสำคัญว่า เราจะช่วยเขา เพื่อให้เขาสามารถช่วยตนเองได้" เปรียบได้กับ เราจะให้เครื่องมือและสอนวิธีหาปลาให้เขา มากกว่าจะให้ปลากับเขาทุกวัน การช่วยเหลือเพื่อนครูจึงไม่ใช่การปลดหนี้ที่มีทั้งหมด แต่ต้องช่วยเจรจาลดภาระหนี้สิน และช่วยพัฒนาศักยภาพในการทำมาหาเลี้ยงชีวิตด้วยอาชีพเสริมอย่างเพียงพอ ไม่ให้ถูกลบหลู่ดูหมิ่น ดูแคลน เพื่อนเราเองก็ต้องมองตนและปรับชีวิตความเป็นอยู่สู่ความพอเพียง ลดความฟุ้งเฟ้อ ฟุ่มเฟือยลงไป โดยเฉพาะการเสี่ยงดวงทั้งหลาย (ถ้าเหงื่อ... ไม่หยด อย่าคิดว่าจะได้เงินเขาง่ายๆ)
การศึกษาทดลองเพื่อหาวิธีการที่เหมาะสม โดยเริ่มจากขนาดเล็กก่อน เป็นสิ่งจำเป็นในระยะแรกๆ : พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเริ่มด้วยการค้นคว้าทดลองเป็นการส่วนพระองค์ โดยทรงหารือผู้เชี่ยวชาญในงานนั้นๆ และทรงแก้ไขดัดแปลงวิธีการอยู่ระยะเวลาหนึ่ง เมื่อทรงแน่พระทัยว่า โครงการนั้นได้ผลดี จึงทรงให้มีการดำเนินการอย่างแท้จริง
ผิดกับในวงการศึกษาบ้านเราที่มักจะทำโครงการอภิมหาโปรเจกต์ เพื่อให้มียอดงบประมาณสูงๆ และแน่นอนทีเดียวที่ ตาข่ายมักจะมีรูโหว่รูรั่วเสมอ เอายอดปริมาณเยอะๆ จะสำเร็จหรือไม่ไม่สนใจ แต่ใช้งบประมาณไปจนหมดแน่นอน
การพัฒนาที่ยั่งยืนต้องอนุรักษ์ และพัฒนาทรัพยากรธรรมชาติควบคู่กันไป : ทรัพยากรธรรมชาติ คือ ต้นทุนหลักของการสร้างความเจริญทั้งปวง ถ้าทำลายต้นทุนหลักลงเรื่อยๆ ความเจริญก็เกิดไม่ได้ จึงได้ทรงมุ่งมั่นทำนุบำรุงปรับสภาพของทรัพยากรธรรมชาติ เช่น ป่าไม้ แหล่งน้ำ เป็นต้น
แล้วโรงเรียนเราได้คิดทำกันบ้างหรือไม่? รั้วกระถินเก็บกินได้แทนรั้วลวดหนามหรือกำแพงคอนกรีต มองดูสบายตาลงทุนน้อย ปลูกไม้ผลกินได้ให้ร่มเงา สร้างภูมิคุ้มกันให้ผืนแผ่นดินด้วยการทำเป็นแบบอย่างแก่เยาวชน ได้แต่เสียดายป้ายคอนกรีตบะเริ่มเทิ่ม ทั้งหินอ่อนหินแก่และเซรามิกกระเบื้องเคลือบที่ตั้งโดดเดี่ยว โด่เด่อยู่กลางทุ่ง ท่ามกลางสนามหญ้าที่รกรุงรัง แห้งกรอบ
การพัฒนาที่ดี ต้องไม่ก่อให้เกิดมลภาวะแก่สภาพแวดล้อม : การพัฒนาที่ขาดความระมัดระวัง จะก่อให้เกิดผลข้างเคียงในทางเลวร้าย การพัฒนาอุตสาหกรรม และการเปลี่ยนสภาพจากชนบทเป็นเมือง ก่อให้เกิดน้ำเสียที่ผิวดิน และอาจลึกลงไปถึงแหล่งน้ำใต้ดิน อากาศเปนพิษ พื้นบริเวณสกปรกเกลื่อนด้วยขยะ และสิ่งรกรุงรังทางสายตา เมื่อเกิดภาวะเช่นนี้ขึ้น การปรับปรุงแก้ไขก็ถือเป็นการพัฒนาด้วยเหมือนกัน และควรทำอย่างยิ่ง
หันกลับมามองด้านการศึกษา สิ่งที่พวกเราคิดว่า กำลังพัฒนาไปนั้นสร้างผลกระทบในทางเสียหาย เด็กยุคใหม่ขาดความเอาใจใส่ในการเรียน ลุ่มหลงกับวัฒนธรรมต่างชาติ จนลืมความดีของวัฒนธรรมไทยเรา ส่งเสริมให้เขาเรียนรู้จากเทคโนโลยี ในขณะที่ครูของเรายังล้าหลัง และตามความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีไม่ทัน เมื่อเด็กลุ่มหลงติดพันก็หันไปโทษเทคโนโลยีแทนที่จะปรับตัวสร้างภูมิคุ้มกัน ชี้แนะในทางที่ถูกที่ควร การเข้าใจ เข้าถึง เรียนรู้ให้เท่าทัน และช่วยปรับปรุงแก้ไขให้เด็กและเยาวชนได้เปลี่ยนพฤติกรรมก็เป็นการพัฒนาอย่างหนึ่ง
การพัฒนาจะได้ผลดีต้องอาสัยหลักวิชา และเทคนิควิธีที่เหมาะสม : การแสวงหาหลักวิชา และเทคนิควิธีที่เหมาะสม จึงเป็นสิ่งจำเป็นในทุกเรื่อง หรือทุกด้านที่จะทำการพัฒนา และมิใช่ว่าจะได้มาจากตำราแล้วจะถูกต้องทั้งหมด ต้องอาศัยการคิด พินิจ พิเคราะห์ถึงความเป็นเหตุเป็นผล ต้องสังเกต และต้องปฏิบัติจนเกิดความแน่ใจด้วยตนเองว่า ทำได้ เกิดผลตรงตามที่ต้องการ
เช่นเดียวกับ "การปฏิรูปการศึกษา" ที่ลอกตำราเมืองนอกเมืองนามา จะใช้แล้วเกิดผลกับประเทศสยามนามว่าไทยแห่งนี้ บางเรื่องจะต้องทดลองทำ ปรับเปลี่ยน ให้เหมาะสม ทำได้จริงค่อยเผยแพร่ออกไป และหากทำได้ดีในที่หนึ่งก็จะทำได้ดีเหมือนกันทั่วประเทศก็หาไม่ ยังคงต้องปรับสภาพให้เหมาะสมเป็นการเฉพาะลงไป
หลายๆ เรื่อง หลายๆ วิธีในอดีตกาล ยังคงเหมาะสมกับสภาพสังคมไทย เพียงแต่ปรับปรุงให้เหมาะสมกับยุคสมัย ไม่ใช่ตัดทิ้งเพราะเห็นว่าเก่าคร่ำครึ เป็นของครูยุคโบราณ ซึ่งบางเรื่องยังทันสมัยใช้ได้ในปัจจุบันก็มีมากไม่อยากให้หลงลืมสิ่งดีๆ ของเรา อย่างการท่องบทอาขยานทำให้รู้และรักษ์ความงดงามทางภาษา ท่องสูตรคูณช่วยในการคิดคำนวณ ท่องศัพท์เป็นการเรียนรู้การใช้ภาษาอย่างหนึ่ง จดจำ แม่นยำ ย่อมเป็นฐานความรู้สู่การนำไปใช้แบบฉับพลัน
เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาได้ชมรายการโทรทัศน์หลายรายการ แต่ที่ทำให้ผมได้คิดตามและประทับใจมีอยู่ 2 รายการ รายการแรก ถึงลูกถึงคน ตอน วิถีเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งเป็นการพุดคุยกับนักธุรกิจหนุ่ม โชค บุลกุล ผู้พลิกฟื้นธุรกิจฟาร์มโชคชัยจากหนี้สิน 500 ล้านมาสู่ธุรกิจการเกษตรที่ยั่งยืนตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง ผมประทับใจตรงที่คุณโชคบอกว่า "ถ้าเราไม่เอาความโลภของตนเองไปเปรียบเทียบกับคนอื่นที่เขามี... ตกหลุมพรางของกระแสเห็นคนอื่นเขามีก็อยากมีบ้าง... หลักของเศรษฐกิจพอเพียง (1) การอยู่อย่างพอประมาณ คือ เราไม่ไปเปรียบเทียบสิ่งที่เราขาดกับสิ่งที่คนอื่นมี (2) ความมีเหตุมีผล คือ เราเอาความรู้และประสบการณ์ของเรามาพัฒนาต่อยอด และ (3) มีภูมิคุ้มกัน คือ เราอยู่อย่างพอเพียง รักษากระแสเงินสดในมือ ไม่กู้หนี้ยืมสินอีก"
ส่วนรายการที่สองคือ รายการ The ICON : ปรากฏการณ์คน ตอน วิกรม กรมดิษฐ์ เจ้าพ่อนิคมอุตสาหกรรมแสนล้าน ซึ่งผมประทับใจในวิธีการคิดในการดำรงชีวิตที่แตกต่างจากผู้อื่น ความจริงผมเคยอ่านหนังสือที่เขียนถึงอัตชีวประวัติของท่านผู้นี้แล้ว หนังสือเล่มนั้นชื่อ ผมจะเป็นคนดี ซึ่งให้แง่คิดมากมายน่าเอาเป็นแบบอย่าง แต่เมื่อมาฟังจากคำพูดของท่านเอง ก็ยิ่งทำให้ผมต้องทึ่งและประทับใจอีกคำรบหนึ่ง ลองคลิกไปชมดูรายการย้อนหลังผ่านอินเทอร์เน็ตได้นะครับ
เนื่องในปีมิ่งมหามงคลนี้ ขอเพียงแต่เพื่อนครูของเราได้หันกลับมาพิจารณาตนเอง น้อมนำเอากระแสพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ไปคิดพิจารณา ไตร่ตรอง ถึงการดำเนินชีวิตของเราที่ผ่านมา และวันข้างหน้าเราจะทำอย่างไร? จึงจะมีความสุขตามอัตภาพ ดำรงชีวิตอยู่อย่างพอเพียง และสร้างคุณประโยชน์แก่ประเทศชาติด้วยการพัฒนาการศึกษาไทย ขอเพียงตั้งใจทำงานในหน้าที่ของเราให้ดีที่สุด สอนลูกหลานให้เป็นคนดี เท่านี้ก็จะเป็นการถวายพระราชกุศลแด่พระองค์ท่านแล้ว ขอพระองค์ทรงพระเจริญ...
ครูมนตรี โคตรคันทา
บันทึกไว้เมื่อ : 9 ธันวาคม 2549
ยินดีต้อนรับสู่เว็บไซต์ของเรา ที่นี่ใช้คุกกี้ (Cookies) เก็บข้อมูล เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น อ่านนโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (Privacy Policy) และนโยบายคุกกี้ (Cookie Policy)