คราวที่แล้วได้พูดถึงข่าวโรงเรียนในฝันที่ปรากฏในหน้าหนังสือพิมพ์หลายฉบับ ปรากฏว่า มีผลสะท้อนกลับมาพอสมควรทีเดียวทั้งที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย บางครั้งการรับฟังเสียงที่กล่าวขานซึ่งเป็นกระจกเงาสะท้อนความจริงบางด้านออกมา น่าจะได้นำไปแก้ไขปรับปรุงกัน ดีกว่าจะมาตั้งข้อรังเกียจรังงอน เหมือนเหรียญสองด้านต่างมุมมอง
เมื่อเราพูดถึง โรงเรียนในฝัน ถ้าจะพูดกันแบบง่ายๆ มองภาพให้ออก ก็คือ โรงเรียนในจินตนาการ ที่ทุกคนปรารถนา อยากเข้าเรียนเพราะมีบรรยากาศที่ดี มองไปทางไหนก็สดชื่น ได้ข่าวว่าคุณครูใจดีสอนดีเหลือเกิน มีสื่อและวิธีการสอนที่ดีเหลือเกิน ผู้ปกครองและชุมชนให้การสนับสนุนการจัดการและพัฒนาโรงเรียน การกำเนิดของโรงเรียนในฝันจึงต้องมาจากความร่วมมือร่วมใจกันของทุกภาคส่วน จึงจะสร้างความฝันสู่ความจริงได้
เป้าหมายและวัตถุประสงค์ นั้นดีแท้แน่นอน แต่การปฏิบัติกลับถูกบิดเบือนออกไป เพราะมีคนพยายามสร้างกรอบการประเมินที่บีบคั้นบังคับ จะต้องมีนั่น มีนี่ มากมายก่ายกอง ในขณะที่การสนับสนุนงบประมาณล่าช้า หวังให้โรงเรียนดิ้นรนแสวงหาเอง จนเกิดปัญหาตามมาอย่างที่เห็น และในระยะยาวคือ เรื่องงบประมาณค่าสาธารณูปโภค ที่จะบานปลายออกไปอีก เพราะมีการตั้งเกณฑ์ความฝันว่า ความอลังการด้านไอที จะเป็นสูตรสำเร็จของทุกสิ่งซึ่งความจริงไม่ใช่แน่นอน
เรื่องแปลกแต่จริง ของการทำโครงการในแวดวงราชการ คือ การกำหนดวัตถุประสงค์และเป้าหมายไว้สูงมาก งบประมาณต่ำ และเขียนผลที่คาดหวังว่าจะได้รับหลังการดำเนินงานโครงการไว้แบบคลุมเครือ การรายงานผลโครงกา จะมีเฉพาะการได้ทำตามวันเวลาที่กำหนด และใช้งบประมาณไปหมดแล้ว น้อยนิดที่จะเห็นการกล่าวถึงผลที่ได้รับจากการดำเนินงานอย่างละเอียดละออ (ทั้งที่เป็นเรื่องจำเป็นมากที่สุด) และแน่นอนการเขียนรายงานผล จะไม่มีการกล่าวถึงด้านลบ ไม่มีการถกเถียงถึงปัญหาและวิธีการแก้ไขที่จะนำไปสู่การปรับปรุงในการทำงาน หรือดำเนินงานโครงการอื่นๆ
จุดอ่อนอีกอย่างหนึ่งของการเขียนโครงการแบบราชการ คือ การคิดคำนวณค่าใช้จ่ายไม่ครอบคลุมทุกด้าน ไม่เคยคิดถึงต้นทุนแฝง เช่น การให้ข้าราชการทำงานล่วงเวลา (ไม่มีค่าตอบแทน คิดว่ามีเงินเดือนอยู่แล้ว) ค่าใช้สถานที่และเครื่องมือของราชการ จะต้องนำมาคิดเป็นต้นทุนด้วย เพราะมีการเสื่อมสภาพ มีค่าใช้จ่ายแฝง (อย่างค่าไฟฟ้า ค่าน้ำประปา ในการใช้หอประชุม) จะทำให้เราเห็นงบประมาณที่แท้จริง เมื่อนำมาหักลบกับผลในการประเมินโครงการจะเห็นความคุ้มค่ามากขึ้น ถ้าเราต้องจ่ายเงินส่วนนั้นจริงๆ
การทำงานย่อมมีทั้งคำติและคำชมผ่านเข้ามา จงอย่าปลื้มแต่คำชม เมื่อมีการพูดถึงปัญหาแล้วนำไปสู่การแก้ไขเพื่อพัฒนางานให้ดีขึ้นย่อมได้รับ ประโยชน์มากกว่า เมื่อทุกคนทำงานแล้วมีจุดประสงค์เดียวกันคือ ต้องการให้เยาวชนของชาติได้รับความรู้ที่หลากหลายเพียงพอต่อการดำรงชีวิต เป็นคนดีของสังคมและประเทศชาติ ย่อมเกิดประโยชน์ต่อแผ่นดินแน่นอนครับ
คำถามนี้ คงตอบได้ยากหากมองหาผลที่เป็นรูปธรรมมาบอกกล่าว เพราะที่ผ่านมาเราปฏิรูปแบบพลิกฟ้าพลิกแผ่นดินเร็วเกินไป ทั้งๆ ที่เราน่าจะค่อยๆ ทำ เปลี่ยนแปลงไปทีละระดับ ก็จะใช้เวลาเท่าๆ กันกับที่เสียไปในตอนนี้ เรายังคงเห็นสภาพของการขาดคุณภาพของผลผลิต ผู้เรียนสำเร็จการศึกษาและได้รับประกาศนียบัตร (จบตามช่วงชั้น) แต่ไม่มีความรู้เพียงพอ ซึ่งเกิดปัญหานี้ในทุกระดับการศึกษา เห็นได้จากหลายๆ หน่วยงานมีความเข้มงวดในการทดลองงานมากขึ้น บางบริษัทต้องทำงานในสถานะเทรนนี่นานกว่า 6 เดือน และหลายๆ คนไม่ผ่านการทดลองงานก็มี แม้แต่การรับคนเข้าทำงานในภาคราชการหลายๆ หน่วยก็เกิดสภาวะเดียวกัน
นอกจากนี้ วิชาชีพครูอยู่ในเกรดต่ำ (ในกลุ่มอาชีพทั่วไป) คนเรียนเก่งๆ ไม่ค่อยอยากเป็นครู เพราะงานหนัก รายได้ไม่เพียงพอกับรายจ่าย ต้องเป็นหนี้สิน (ข่าวคราวก็ออกมาอย่างนั้น จนมีโครงการปลดหนี้สินมากมาย) เราก็ต้องยอมรับในเหตุผลข้อนี้ จะดูได้จากการเลือกสอบเข้าศึกษาต่อในสถาบันอุดมศึกษาได้เลย เด็กในยุคปัจจุบันนี้ ถ้าให้เลือกได้เขาจะไม่เลือกครุศาสตร์ หรือศึกษาศาสตร์ไว้ในอันดับต้นๆ
วิชาชีพครูเป็นวิชาชีพชั้นสูงตามกฎหมาย แต่ยังมีหลายเรื่องที่ไม่แล้วเสร็จ ตามกฎหมาย ไม่ว่าจะเป็นการออกใบอนุญาตประกอบวิชาชีพให้กับครู รวมทั้งการปรับบทบาทของ สถาบันพัฒนาครู คณาจารย์ และบุคลากรทางการศึกษา (สคบศ.) ซึ่งเป็นองค์กรที่เน้นการจัดการ ควรต้องทันสมัยทันต่อการเปลี่ยนแปลง ก็ยังไม่ขยับตัว
ในสังคมปัจจุบันเป็น สังคมอินเตอร์เน็ต และสังคมศูนย์การค้า สิ่งเหล่านี้ล้วนแต่เบี่ยงเบนความสนใจของเด็กไปจากการเรียน (จะมองได้ชัดเจนจากเด็กในเมืองใหญ่) พ่อแม่ไม่ดูแลลูกเท่าที่ควรจากสภาพบีบคั้นทางเศรษฐกิจ ยิ่งเมื่อลูกเรียนอยู่ในห้องเรียนขนาดใหญ่ ครูดูแลไม่ทั่วถึง ก็ยิ่งส่งผลต่อคุณภาพการศึกษาโดยรวมมากยิ่งขึ้น ครูจึงต้องปรับตัวอีกขนานใหญ่เพื่อให้รับมือกับสถานการณ์นี้ได้ ครูต้องอ่าน ต้องเรียนรู้และแสวงหาความรู้ใหม่ๆ มากขึ้น เพราะถ้าเราย่ำเท้าอยู่กับที่เมื่อไหร่เราจะตามเด็กไม่ทันแน่นอน
อีกสิ่งหนึ่งที่มีความจำเป็นที่จะต้องพัฒนาคู่กันไปด้วยสำหรับครู คือ เรื่องความสามารถด้านไอทีและภาษาอังกฤษ เพราะจากที่ได้สัมผัสในการอบรมพัฒนาคุณภาพครูในช่วงหลังๆ พบว่า ครูเรายังมีความรู้ในสองเรื่องนี้น้อย และต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐาน ทำให้การเสาะแสวงหาความรู้ใหม่ๆ ติดขัดมาก องค์ความรู้มากมายที่เปลี่ยนแปลงในทุกๆ วัน มีน้อยที่แปลเปนภาษาไทยครบถ้วนสมบูรณ์แล้ว เราจึงจำเป็นจะต้องอาศัยการค้นคว้าผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ต ซึ่งนั่นก็จะต้องพบกับการใช้ความรู้ทั้งสองด้านดังกล่าว
ครูมนตรี โคตรคันทา
บันทึกไว้เมื่อ : 19 พฤศจิกายน 2549
ยินดีต้อนรับสู่เว็บไซต์ของเรา ที่นี่ใช้คุกกี้ (Cookies) เก็บข้อมูล เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น อ่านนโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (Privacy Policy) และนโยบายคุกกี้ (Cookie Policy)