คงจะไม่สายเกินไปนะครับ สำหรับการทักทายสวัสดีปีใหม่ในวันนี้ ช่วงหยุดยาวปีใหม่ผมแทบจะไม่ได้เฝ้าหน้าจอเลย รวมญาติๆ กันปีละครั้งทำตัวสบายๆ คลายเครียด ช่วงนี้ก็ทำงานตามปกติเปิดดูอีเมล์จากเพื่อนๆ ที่ส่งความปรารถนาดีมา พร้อมคำถามหลายเรื่องราว หลายท่านก็ส่ง SMS ให้ทางมือถือ และโทรศัพท์คุยกันบ้าง ทำให้มีเรื่องมาบ่นให้ฟังอีกแล้วครับท่าน ใครที่ถูกผมสมมุติเป็นตัวอย่างก็อย่าโกรธกันนะ ถ้าไม่พูดความจริงกันบ้าง มันก็จะเป็นอยู่อย่างนี้อีกนานเชียวล่ะ
เท่าที่ได้พบประสบปัญหาจากเพื่อนพ้อง น้องพี่ ในเรื่องการใช้งานคอมพิวเตอร์ คือการไม่ใส่ใจในสิ่งที่ปรากฏในหน้าจอ จะว่าอ่านไม่ออกก็ไม่เชิง เพราะคนที่ถามผ่านทางโทรศัพท์ที่รู้จักก็สอนวิชาภาษาอังกฤษ ก็ยังเกิดปัญหาได้เหมือนกัน ตกอกตกใจ ทำอะไรไม่ถูก กลัวยิ่งกว่าเจอโจรปล้นก็มี วันนี้ก็เลยจะต้องบ่นในเรื่องนี้สู่กันฟัง เพื่อเป็นแนวทางในการแก้ปัญหาเบื้องต้น เราต้องเป็นผู้ใช้งาน (User) ที่ดีไม่ใช่ผู้ใช้งานที่งงงิ่งเสียจนเซ่อ!
ถ้าอยากมีความสุขในการใช้งานคอมพิวเตอร์ ได้เรียนรู้มากขึ้น ลองปฏิบัติตามขั้นตอนต่อไปนี้ดูซิครับ อาจจะช่วยให้การใช้งานคอมพิวเตอร์ง่ายดายขึ้นกว่าที่คิด และท่านอาจกลายเป็น "เซียนคอมพิวเตอร์" ได้ในอนาคตก็ได้นะ... ขอบอก
นี่เป็นเพียงเคล็ดไม่ลับบางส่วนในการใช้งานคอมพิวเตอร์ (จะเพิ่มเติมไว้ให้ที่หัวข้อ เรียนรู้ใช้งานคอมพิวเตอร์) เคล็ดลับจริงๆ คือ ไม่กลัวการใช้งานคอมพิวเตอร์ การหมั่นฝึกฝนใช้งาน อ่านภาษาอังกฤษจากเมนูและกรอบหน้าต่างแจ้งเตือนต่างๆ ได้ เพราะโลกแห่งการสื่อสารสมัยใหม่ จำเป็นต้องพึ่งพาความรู้ด้านภาษาต่างประเทศ ยิ่งคุณมีความรู้ความสามารถในหลายๆ ภาษาก็ยิ่งจะได้เปรียบมากกว่าผู้อื่นในการเรียนรู้ บนเว็บไซต์ที่เป็นคลังความรู้มหาศาล เป็นห้องสมุดของโลก ข้อมูลความรู้ที่เป็นภาษาอังกฤษก็จะมีมากกว่าภาษาอื่นๆ ด้วย
มีเพื่อนคนหนึ่งโทรศัพท์มาถาม หลังจากที่ได้รับคำแนะนำจากผมว่า "ถ้าไม่ได้หอบหิ้วเครื่องไปไหนมาไหนบ่อยๆ ก็ซื้อเครื่องคอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะดีกว่า เพราะจะได้คุณสมบัติเครื่องสูงกว่า จอใหญ่กว่า ในราคาย่อมเยา" เพื่อนก็เลยถอยออกมา 1 ชุด พร้อมพริ้นเตอร์และลำโพงชุดใหญ่ (นัยว่า จะเอามาร้องคาราเกะกะในวันปีใหม่นี่แหละ) หลังจากหอบมาถึงบ้านกติดตั้งเปิดใช้งานตามที่ทางร้านแนะนำมา แต่...
"เฮ้ย! เปิดเครื่องแล้วมันบอกให้ ซี - ตุ๊บ ข้าต้องทำยังไงต่อไปหว่า"
ด้วยความงุนงง (ไม่เข้าใจ) "อะไรว่ะ... ซี - ตุ๊บ ไม่เคยได้ยิน"
"ก็... ไม่รู้ ถ้า....รู้แล้วจะถาม.... ทำไม? มันกระพริบอยู่กลางจอนี่"
งุนงง (ยกกำลังสอง) "เออๆ ไหนลองสะกดมาทีละตัวซิไอ้ ซี - ตุ๊บ ที่ว่านี่มันเขียนยังไง?"
"เออ... มันเขียนยังงี้ ตัว S E T U P ไม่มีบอกอะไรอีกเลย"
อยากด่าสวนไปว่า ไอ้โง่เอ้ย (กลัวเพื่อนเสียใจ) "ไม่มีอะไรหรอก เอ็งก็กดปุ่ม Enter ไปเรื่อยๆ จนมันหายไปจากจอ เป็นอันเรียบร้อย คราวหน้าไม่ถามอีก"
ท่านพอจะคาดเดาได้ไหมว่า เกิดจากอะไร? เฉลย ร้านขายเครื่องคอมพิวเตอร์ส่วนใหญ่ เขาจะทดลองเฉพาะการต่อตัวเครื่องกับเมาส์และคีย์บอร์ด ลำโพง เครื่องพิมพ์ให้ดูที่ร้าน ส่วนจอมักจะไม่แกะกล่องมาลองให้ดู เพราะคิดว่าจอใหม่ไม่มีปัญหาอะไร พอเพื่อนผมยกเครื่องกลับมาที่บ้านต่ออุปกรณ์ต่างๆ ครบแล้วเปิดเครื่องขึ้นมา คอมพิวเตอร์รับรู้ว่ามีฮาร์ดแวร์ใหม่มาต่อพ่วง (คือจอภาพ) ก็เลยถามหาไดรเวอร์ (ซึ่งมีอยู่แล้วในระบบวินโดว์) ก็เพียงแต่เคาะปุ่ม Enter ไปเพื่อยืนยันให้ระบบหาให้เองก็เรียบร้อย แต่เพื่อนผมมันอ่าน เซ็ทอัพ เป็น ซี - ตุ๊บ ผ่านทางโทรศัพท์ ก็เลยทำให้มีเรื่องตลกร้ายมาเล่าสู่กันฟังนี่แหละครับ
คงจะเห็นแล้วใช่ไหมครับว่า การใช้คอมพิวเตอร์ในโหมดภาษาอังกฤษนั้น จะช่วยในการเรียนรู้ได้มากมายเพียงไร ในการสอนในโรงเรียนก็เช่นเดียวกัน ควรจะสอนให้เด็กๆ ได้คุ้นเคยกับเมนูภาษาอังกฤษ อย่าไปกลัวว่าเขาจะใช้งานไม่ถูกต้อง ดูตัวอย่างในเรื่องเกมดูซิ ไม่เห็นต้องอ่านออกยังเล่นกันได้ระเบิดเถิดเทิง เด็กเหมือนผ้าขาว เราต้องให้ความรู้พื้นฐานภาษาเขาไปได้เลย ยิงปืนนัดเดียวได้ตั้งหลายต่อ (กลัวแต่ครูนั่นแหละจะอ่านไม่ออกแล้วไปปล่อยไก่จนได้) ตัวอย่าง ครูในโรงเรียนผมที่มาช่วยสอนคอมพิวเตอร์ ก็จะมีการติวเข้มก่อนการสอน แนะนำการสมัครและใช้งานอีเมล์ไป พอเข้าสอนนักเรียนชั้น ม. 1 คุณครูก็พูดเสียงดังฟังชัดเลยเชียวในการสอนนักเรียนสมัครอีเมล์ว่า "ให้นักเรียนคลิกที่คำว่า ซิงค์ - อัพ - นาว" นักเรียนก็ตอบสวนทันควันว่า "คุณครูครับ... มีแต่คำว่า ไซน์ - อัพ - นาว นี่ครับ" ในหน้าต่างเว็บ Hotmail.com, Yahoo.com, Gmail.com เขามีคำว่า Signup now เพื่อลงทะเบียนสมัคร นี่ก็แบบขำๆ เหมือนกัน
ขอแจ้งข่าวถึงเพื่อนครูผู้สอนใน กลุ่มการงานอาชีพและเทคโนโลยี สาระที่ 4 เทคโนโลยีสารสนเทศ จากการที่ผมไปร่วมทำงาน บรรณาธิการเอกสารฝึกอบรมกับทาง สสวท. ได้ดำเนินการสร้างหลักสูตรฝึกอบรมครูผู้สอนให้มีความรู้ ความสามารถและมีมาตรฐานเดียวกัน ทั้งในระดับชั้นประถมศึกษา และมัธยมศึกษา และจะจัดส่งหลักสูตรนี้ให้กับทางกระทรวงศึกษาธิการ และสำนักงาน ก.ค.ศ. รับรอง เพื่อใช้ในการพัฒนาวิชาชีพครู ซึ่งได้นำโครงสร้างหลักสูตร (ฉบับร่าง) มาเสนอแล้ว ลักษณะของการจัดอบรมจะเป็นการกำหนดศูนย์อบรมมาตรฐานที่ สสวท. รับรอง ครูที่สนใจสามารถเข้ารับการอบรมได้ตามวันเวลาที่กำหนด เก็บสะสมเนื้อหาให้ครบภายในระยะเวลา 3 ปี ก็สามารถขอรับใบรับรองวุฒิบัตรจาก สสวท. เพื่อเป็นครูผู้สอนในสาระนี้ได้ ไม่ว่าพื้นฐานเดิมของท่านจะจบวิชาเอกอะไรมาก็ได้ ลองคลิกไปอ่านดู เมื่อตัวหลักสูตรนี้ผ่านการรับรองแล้วจะนำรายละเอียดมาเสนอต่อไป
สวัสดีปีใหม่ ๒๕๕๐ มีความสุขกันตลอดปีนะครับ
ครูมนตรี โคตรคันทา
บันทึกไว้เมื่อ : 5 มกราคม 2550
ยินดีต้อนรับสู่เว็บไซต์ของเรา ที่นี่ใช้คุกกี้ (Cookies) เก็บข้อมูล เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น อ่านนโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (Privacy Policy) และนโยบายคุกกี้ (Cookie Policy)