คงจะจำกันได้นะครับกับการเขียนปรัชญาการศึกษาในหลักสูตร กำหนดการสอน แผนการสอน ที่บอกว่า "เพื่อให้ผู้เรียนคิดเป็น ทำเป็น แก้ปัญหาได้" ผ่านมาแล้วกี่ปี นักเรียนจบไปแล้วกี่รุ่น มีสักกี่คนที่มีผลสัมฤทธิ์ตามที่เรากำหนด เราจะมีโอกาสทำได้ไหม?
ถ้าคิดจะหาคำตอบสำหรับคำถามนี้ คงต้องพูดกันยาวแน่ครับ แต่ก็คงจะต้องพูดไม่งั้นก็คงไม่มีคำตอบและถูกปล่อยเลยไปกับสายลม นี่เป็นเพียง "กรอบความคิดของผู้เขียน" เท่านั้น จะผิดจะถูกอย่างไรก็ขอให้อยู่ในวิจารณญาณของท่านผู้อ่านก็แล้วกัน
เด็กจะคิดเป็น ทำเป็น แก้ปัญหาได้ ไม่สามารถสร้างได้ด้วยกลวิธีการสอนในโรงเรียน ต้องเริ่มจากครอบครัวและการเลี้ยงดู วิธีการอบรมสั่งสอนจากที่บ้าน จะต้องประสานไปในทางเดียวกันกับในโรงเรียน จึงจะสามารถทำให้เด็กมีวิธีการเรียงลำดับความคิด กล้าแสดงออก และมีความมั่นใจ ในสิ่งที่เขาคิด และนำเสนอออกมา
ลองหลับตานึกดูซิครับ ถ้าในครอบครัวหนึ่งเลี้ยงลูกด้วยการ แผดเสียงตวาด ดุดัน บังคับ ไม่มีการยอมรับฟังความคิด สิ่งที่เด็กได้รับคืออะไร? ในระหว่างรับประทานอาหาร ถ้าลูกมีคำถามเอ่ยขึ้น แล้วพ่อแม่ไม่ตอบ แต่ดุด่าว่า ถามไม่เข้าเรื่อง ไม่ใช่เรื่องของเด็ก เขาจะมีความรู้สึกอย่างไร? เรามักจะคิดว่าผู้ใหญ่ถูกต้องเสมอ เรื่องนั้นเป็นเรื่องของผู้ใหญ่ เรื่องนั้นเด็กไม่ต้องยุ่ง สังคมแบบนี้แหละที่มีและเป็นอยู่จำนวนมาก วิธีการเลี้ยงดูลูกหลานที่ไม่เคยเปิดโอกาสให้เด็กๆ ได้แสดงความเห็นหรือหยุดยั้งได้แม้กระทั่งการคิด
เราจึงได้เห็นการนั่งนิ่งไม่กล้าแม้สบตาครู เมื่ออยู่ในห้องเรียน จะถาม จะกระตุ้นต่อมใดๆ ก็ไร้ความหมาย จนกระทั่งทฤษฎีและแนวคิดสวยหรู ที่อุตส่าห์นำมาจากนักวิชาการเมืองนอกเมืองนาสิ้นกระบวนท่า ไร้ความหมาย เป็นได้เพียงถ้อยคำสวยหรูที่เขียนไว้ปรากฏในหลักสูตร และแผนการสอนที่ใช้สอนไม่ได้จริงๆ เท่านั้นเอง (เขียนยังไงก็ใช้ได้ไม่ถึงครึ่ง)
จากประสบการณ์ในการสอนมาหลายปี ผมได้พบว่า มีเด็กอยู่กลุ่มหนึ่งที่สามารถทำได้ในเรื่องนี้ และทำได้ค่อนข้างดี จนผมอดประหลาดใจไม่ได้ เด็กกลุ่มที่ว่านี้คือ เด็กนักเรียนที่ผมสอนเมื่อสองสามปีก่อน เป็นเด็กในโครงการพิเศษ โรงเรียนสองภาษา (miniEP และกลายเป็น EP=English Program ในปัจจุบัน) ในตอนแรกๆ ก็แปลกใจที่นักเรียนกลุ่มนี้ เวลาเรียนด้วยกระบวนการกลุ่มเขาจะกระตือรือล้น รู้จักแบ่งหน้าที่กันทำชัดเจน แสดงความคิดเห็นออกมาจากประสบการณ์ของตน ที่พบเห็นมาก่อน (วิชาเทคโนโลยีสารสนเทศ ช่วงชั้นที่ 3) ในขณะที่อีกกลุ่ม ที่เป็นนักเรียนปกติกลับทำไม่ได้ ครูต้องคอยกำกับตลอดเวลา เรียกว่าต้องให้กำลังใจทุกนาที กว่าจะเคี่ยวเข็ญจนได้คำตอบของกลุ่ม (โดยอิทธิพลการตะล่อมของครู)
ผมลองค้นหาคำตอบของประเด็นปัญหานี้ จึงพบว่า นักเรียนในโครงการพิเศษส่วนใหญ่จะมาจากครอบครัวที่มองเห็นความสำคัญของการศึกษาสำหรับลูกหลานมาก และมาจากครอบครัวของผู้ปกครองที่มีการศึกษาค่อนข้างดี หรือมีโอกาสมากกว่า เช่น ครอบครัวข้าราชการ พ่อค้า คหบดี ที่มีบุคคลในครอบครัวมีการศึกษาที่ดีอยู่ด้วย การเลี้ยงดูจึงให้ความสำคัญกับเด็กมาก ไม่ปิดกั้นการแสดงความคิดเห็น หรือได้รับการชี้แนะในสิ่งที่ถูกที่ควรแทนการดุด่าว่ากล่าว
ส่วนนักเรียนปกติทั่วๆ ไปที่มาเรียนในโรงเรียนนั้น จะมีที่มาสารพัดตั้งแต่ ครอบครัวแม่ค้าในตลาด กรรมกรผู้ใช้แรงงาน รวมทั้งข้าราชการ พ่อค้า คหบดี เรียกว่าแบบรวมมิตรก็แล้วกัน การเลี้ยงดูจึงมีทั้งที่ปิดกั้นความคิด และส่งเสริมให้คิดบ้าง แต่พอมาอยู่รวมกันอิทธิพลด้านปิดกั้นมีสูงกว่า การแสดงออกก็ลดน้อยถอยลง ยิ่งไปเจอกับคุณครูประเภท เอ้อ... จะบอกไงดี เอาเป็นว่า ประเภทหน้าตาขึงขัง (ทะเลาะกับสามี/ภรรยาเก็บกดมาจากบ้านแล้วสามชาติ) น้ำเสียงโกญจนาทดั่งพยัคฆา ตวาดก้อง "เธออย่ามาทำอวดรู้ ครูอาบน้ำร้อนมาก่อนเธอ" นี่แหละปัญหาซ้ำซ้อนที่กดดันการคิดเป็น ทำเป็นของเด็กๆ
แนวทางการแก้ปัญหานี้ไม่ง่ายอย่างที่คิดนะครับ เพราะปัจจัยตัวแปรหลักคือ พื้นฐานของครอบครัว ที่อบรมบ่มนิสัยมาก่อนหน้า ที่จะเข้าสู่ระบบโรงเรียนเป็นมาอย่างไร ได้มีการเปิดให้แสดงความคิดเห็น มีประชาธิปไตยในครัวเรือนมากน้อยเพียงใด หรือได้ปิดกั้นสร้างปมในใจของพวกเขา จนไม่กล้าที่จะแสดงออกอะไรได้อีก
ยิ่งสภาพสังคมและเศรษฐกิจในภาวะปัจจุบัน อยู่ในภาวะบีบรัดมากยิ่งขึ้น ในขณะที่ผู้ปกครองต้องสาละวนกับการทำมาหากิน จนขาดเวลาที่จะอบรมสั่งสอนบุตรหลาน ขณะที่ตัวบุตรหลานเองก็เจริญวัยมากับสื่อและสิ่งยั่วยุรอบข้าง ที่ขาดการกรองหรืออยู่ในสายตา ขาดการชี้แนะจากผู้ใหญ่ ความไม่เข้าใจกัน การขาดความสัมพันธ์ทางใจทำให้การปิดกั้นและไม่รับฟังความคิดเห็นของเด็กมีมากขึ้นตามไปด้วย จนนำไปสู่ความล้มเหลวในการปฏิบัติตามกรอบแนวคิดของการคิดเป็น ทำเป็น แก้ปัญหาได้ที่ยกมาข้างบน
คราวนี้อยากจะเล่าเรื่องของตนเองสู่กันฟังบ้างว่า ผมเลี้ยงลูกอย่างไร? (แม้ผมอาจจะไม่สามารถอวดอ้างว่า ลูกผมประสบผลสำเร็จในปรัชญาของการคิดเป็น ทำเป็น แต่ ณ วันนี้ ผมคิดว่าผมได้ให้สิ่งที่ดีกับลูก และพอจะเป็นแนวทางให้กับท่านอื่นๆ ได้อยู่บ้าง) ทุกวันนี้เวลาที่ผมเดินไปในห้างสรรพสินค้าผ่านแผนกของเล่น หรือเครื่องเขียน แล้วพบกับเด็กๆ ที่ร้องไห้ กระทืบเท้า ดิ้นตัวงอที่พื้นเพราะต้องการของเล่น ดินสอสี หนังสือวาดภาพ แต่ผู้ปกครองไม่ตอบสนองความต้องการนั้น ทำให้ผมย้อนมองที่ลูกๆ ของผมว่า ไม่เคยเกิดเหตุการณ์อย่างนี้มาก่อนจนกระทั่งเขาเติบโตเป็นหนุ่มสาว เหตุผลคืออะไร?
สิ่งสำคัญของการเลี้ยงลูกคือ "กติกา" ผมให้อิสระกับลูกทุกคนในการคิด การแสดงออก แต่ต้องอยู่บนพื้นฐานของกติกาที่เราตกลงกันไว้ (กติกาที่เราร่วมกันกำหนด อาจจะด้วยการวางกรอบของพ่อแม่ แต่ลูกก็ต้องเห็นด้วย) อย่างเรื่องของเล่นที่ว่านี่ก็เหมือนกัน ปกติผมจะให้เขาทั้งสองคนเก็บสะสมเงินในกระป๋องออมสินของเขาเอง จะมากน้อยแล้วแต่เขา จะทำได้แต่ต้องไม่ต่ำกว่าวันละบาท ถ้าจะไปห้างสรรพสินค้าหรือไปงานใดๆ ก็ตามผมจะกำหนดให้ว่าอนุญาตให้ลูกซื้อของเล่นที่ชอบได้ ในวงเงินคนละ 50 บาท ถ้าของเล่นชิ้นใดราคาเกินกว่านี้ เขาจะต้องจ่ายเพิ่มเองจากเงินสะสมของเขาเอง
ทำให้เขาคิดและวางแผนล่วงหน้า ผมจะแนะนำลูกเสมอว่า สิ่งที่ลูกอยากได้ในวันนี้ให้คิดก่อนว่า ถ้าได้เราจะเอาไปใช้ทำอะไรบ้าง ดีไหมถ้าจะรออีกหน่อย แล้วมีเงินสะสมมากพอที่จะซื้อสิ่งที่ดีกว่านั้น ถ้าลูกไม่ซื้อในวันนี้ กลับบ้านพ่อก็หยอดสมทบในกระป๋องออมสินลูก 50 บาท วันหนึ่งข้างหน้ามีโมเดลที่ดีกว่านี้ ลูกจะได้สิ่งที่ตรงกับความต้องการมากกว่า จึงไม่มีปัญหาเรื่องร้องไห้งอแง ดิ้นรนกระทืบเท้าจนเป็นที่สมเพชเวทนา บางทีพาลนึกเกลียดพ่อแม่ ที่ไม่สนใจใยดีลูก ทั้งๆ ที่ทุกครอบครัวต่างก็มีเหตุผลของตนเอง แต่การเลี้ยงดูสร้างเงื่อนไข กติกากับลูกด้วยการยอมรับของทุกคนในครอบครัว จะเป็นสิ่งที่สร้างความเชื่อมั่นและช่วยให้เขามองชีวิตกว้างออกไป
การเลือกเส้นทางการศึกษา วิธีการสั่งสอนก็มีส่วน ยามที่ผมกับครอบครัวเดินทางไปยังที่ต่างๆ ผมมักจะชี้ให้ลูกเห็นความสำคัญของการศึกษา เพราะผมไม่มีสมบัติพัสถานใดๆ ให้กับลูกนอกจากการศึกษา เมื่อผ่านตึกหรืออาคารที่เขากำลังก่อสร้าง ผมจะชะลอรถลง ชี้ให้ลูกดูและตอบคำถามให้ได้ว่ามีใครบ้างทำงานในนั้น และใครทำอะไร อย่างไร ใครได้ค่าจ้างมากกว่า
คนที่ทำงานหนักแบกถุงปูน หิ้วถังปูนคือคนที่การศึกษาน้อย คนที่ทำหน้าที่ก่ออิฐ/ฉาบปูนนั่นแม้การศึกษาจะน้อยแต่เขาก็เชี่ยวชาญเฉพาะ ส่วนคนสวมหมวกโลหะหนีบม้วนกระดาษเดินชี้นิ้วไปมานั่นคงมีการศึกษาดีจึงทำงานสบายกว่า ส่วนรายรับของคนสามกลุ่มนี้ จะมากน้อยต่างกันตามการศึกษา ไม่ใช่ภาวะงานที่หนักต่างกันที่เห็นด้วยสายตา ลูกจะเลือกเป็นใครในอาชีพทั้งสามกลุ่ม ถ้าอยากสบายในภายหน้าลูกต้องเรียนหนังสือเท่านั้น
ผมจึงมีความเชื่อมั่นกับลูกผมทั้งสองคนเต็มเปี่ยม ให้เขาเลือกเส้นทางอนาคตของเขาเอง โดยการแนะนำให้เขาไตร่ตรองก่อนตัดสินใจ ในวันนี้ลูกสาวอยู่ชั้นปีที่ 3 คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จากการตัดสินใจเลือกของเขาเองเมื่อสิ้นภาคเรียนที่ 1 ของ ม.4 และมุ่งฝึกปรือความสามารถเฉพาะทางเพื่อคณะนี้มาตลอด ส่วนลูกชายเขาเลือกที่จะเข้ามาเรียนในกรุงเทพฯ ในโรงเรียนที่เขาใฝ่ฝันคือ เตรียมอุดมศึกษา และวันนี้เขาก็สร้างความภูมิใจให้ครอบครัวกับการเป็นนักเรียนชั้น ม. 6 เป็นรองประธานนักเรียนเตรียมอุดมศึกษา และเป็นประธานในกิจกรรมอื่นๆ ความใฝ่ฝันของเขาคืออาชีพที่ต้องใช้ทักษะทางภาษาและพบปะผู้คน คงต้องรอว่าเขาจะทำได้หรือไม่ในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า
และนี่คือผลของการอบรมสั่งสอน ความรักที่ทุ่มเทกับลูกมาตลอด ผมไม่ใช่คนแก่ที่คอยบ่นแต่เป็นเพื่อนที่ลูกปรึกษาได้ เป็นคนที่คอยท้าทายให้เขาสู้เพื่อเอาชนะ แต่จะทำอย่างไรให้กระบวนการและแนวคิดเหล่านี้ลงไปสู่ครอบครัวอื่นๆ ในระดับรากหญ้า เพราะส่วนใหญ่มักจะโอนภาระหน้าที่การสั่งสอนเหล่านี้มาให้ครู ทั้งๆ ที่ครูอยู่กับลูกหลานของพวกเขาแค่วันละ 8 ชั่วโมงในหนึ่งวันและเพียง 5 วันในหนึ่งสัปดาห์เท่านั้นเอง เราจะทำอย่างไรดี? ที่จะให้ทุกครอบครัวได้ใส่ใจกับลูกหลานให้มากกว่านี้ เลี้ยงลูกด้วยความรักและเอาใจใส่ เปิดโอกาสให้เขาได้คิดและแสดงออกในทางที่ถูกต้อง นี่คือคำถามที่ทิ้งท้ายไว้ในวันนี้..
ครูมนตรี โคตรคันทา
บันทึกไว้เมื่อ : 8 พฤศจิกายน 2548
ยินดีต้อนรับสู่เว็บไซต์ของเรา ที่นี่ใช้คุกกี้ (Cookies) เก็บข้อมูล เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น อ่านนโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (Privacy Policy) และนโยบายคุกกี้ (Cookie Policy)