foto1
ความงดงามการศึกษาไทย
foto1
เพื่อ?
foto1
ไม่เข้าใจ?
foto1
วิทยากรที่กระทรวงศึกษาธิการ สปป.ลาว
foto1
ท่องทะเลทรายที่ดูไบ UAE


Friendly Links

เรียนรู้ภาษา html
isangate banner
easyhome banner
ipst banner
sakdibhornssup foundation
13 Thai free fonts
speedtest
e mil

Facebook Likebox

No. of Page View

webmaster talk

"วันครูโลก" ขอผมคิดด้วยคนได้ไหม?

เมื่อวันที่ 5 ตุลาคม ที่ผ่านมา องค์การยูเนสโก เขายกย่องให้เป็น "วันครูโลก" ผมว่าจะบ่นดังๆ ในวันนั้นแต่ก็มีงานอื่นที่ทำให้เลื่อนการบ่นมาเป็นวันนี้ แบบผมขอคิดด้วยคนบ้างนะครับ ไม่มีใครมาสัมภาษณ์ผมออกทีวีหรือลงในหน้าหนังสือพิมพ์ผมก็มีเวทีนี้อยู่เป็นเพื่อนคลายความอึดอัดได้ (ใครจะได้ยินไหมเนี่ย?)

student 02การพัฒนาส่งเสริม "ครู" ให้มีคุณภาพทั้งในหน้าที่การงาน และชีวิตความเป็นอยู่ ย่อมสะท้อนถึงการคุณภาพของ "ผู้เรียน" ครูอ๋อย (รมต.ศธ.) บอกว่า "การปฏิรูปการศึกษาจะสำเร็จต้องปฏิรูป "ครู" ก่อน"

อันนี้จริงแท้แน่เชียว ไม่ต้องอธิบายก็พอเข้าใจได้ แต่พื้นฐานของการเป็นครูในสมัยนี้กับสมัยก่อนนั้น ต่างกันมากนะครับ ในอดีต คนที่เรียนเก่งที่สุดของจังหวัดจะได้รับทุนส่งไปให้เรียนครู (สมัยโน้นก็ต้องวิทยาลัยครูบ้านสมเด็จเจ้าพระยา) แต่สมัยนี้ คนเรียนเก่งๆ เขาไม่อยากเป็นครู แต่อยากเป็นคนทำงานอาชีพอื่นๆ ที่มีรายได้สูงกว่า แม้แต่คนที่มีอาชีพครูอยู่เดี๋ยวนี้ ก็ยังไม่อยากให้ลูกหลานไปเรียนครู เพราะมันจนถาวรจริงๆ ขอรับ

อาชีพครูเป็นทางเลือกของเด็กที่เรียนปานกลาง ถึงเรียนอ่อน เมื่อไม่มีที่ไปก็ค่อยหันหน้ามาเรียนครู (จำใจมาเรียน เพราะไม่อยากไปทำนาอย่างพ่อแม่หรือเปล่าไม่แน่ใจ?) ทำให้ครูไทยยังไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร ทั้งๆ ที่อาชีพนี้จะต้องเป็นผู้ผลิตอนาคตของชาติ การยกฐานะวิชาชีพครูให้มีรายได้สูงขึ้น หรือมีความมั่นคงในชีวิตมากขึ้น มีเกียรติยศศักดิ์ศรีที่เด็กๆ ทุกคนใฝ่ฝันจะประกอบอาชีพนี้ได้โน่นแหละ จึงจะสามารถดึงเอาคนเก่งๆ มาเรียนทางสายครูนี้ด้วยความเต็มใจ

ส่วนครูไทยในวันนี้ ที่เข้ามาสู่วงการจะด้วยเจตนาหรือไม่ก็ตาม จะต้องเข้าสู่กรอบการพัฒนาให้ทันยุคสมัย ต้องลืมวิถีชีวิตในอดีตของตน แล้วหันมามองวิถีชีวิตในยุคปัจจุบันที่เต็มไปด้วยการแข่งขัน กลยุทธ์การโฆษณาประชาสัมพันธ์ ที่อาจทำให้ลูกหลานของเราติดบ่วง (แม้แต่ครูเองยังหลงติดกับดักเสียเอง เพราะหนี้สินที่มีอยู่ให้พวกเหลือบ สหกรณ์สหโกงรุมเหยียบอยู่นั่นไง?) ต้องหูกว้างตาไกล มองไปในโลกกว้าง ให้ไกลพ้นหมู่บ้านของตนให้ได้ ไม่อย่างนั้นเราคงจะสอนลูกหลานให้อยู่รอดปลอดภัยในยุคเศรษฐกิจทุนนิยมนี้ไม่ได้แน่ๆ

วันนี้เราคงจะต้องเน้นหนักในเรื่อง คุณธรรม จริยธรรม ให้มากกว่าในอดีต เพราะสภาพสังคมที่มากด้วยการแข่งขันทุกรูปแบบ ทำให้เกิดการเอารัดเอาเปรียบ ยิ่งฉลาดมากเพียงใดก็ยิ่งมีวิธีพิสดารมากในการเอาเปรียบผู้อื่น ถึงเวลาที่เราจะต้องทุ่มเทใส่จริยธรรม คุณธรรมให้กับลูกหลานไทยเราให้มากได้แล้ว และพอกันเสียทีนะครับสำหรับ "ผู้บริหาร" ที่คอยเป็นสมุนเดินตามก้นนักการเมือง คอยถือกระเป๋ารับใช้เขานั่นศักดิ์ศรีพวกคุณอยู่ที่ไหนกัน? ถ้าหัวเรือส่ายไปมาไร้สาระอย่างนี้ จะไปหวังอะไรกับการพัฒนาครูน้อยให้มีประสิทธิภาพ เก้าอี้เป็นเพียงหัวโขนที่ไม่จีรังยั่งยืน แต่ความดีของคุณต่างหากที่ผู้คนจะกล่าวขานถึงเมื่อพ้นวัยเกษียณหรือล่วงลับ

handupในขณะที่ครูส่วนหนึ่งพัฒนาตนเอง เพราะมองเห็นหนทางอนาคตข้างหน้าว่า จะพานพบเรื่องอะไรบ้าง อีกส่วนหนึ่งกลับท้อถอยไม่ยอมรับการพัฒนาใดๆ เคยสอนอย่างไรเมื่อสิบปีที่แล้ว ก็ยังคงวิธีการสอนอย่างนั้น แล้วก็มาบ่นว่า เด็กสมัยนี้ไม่สนใจการเรียนเลย โถ... คุณครูครับ เรื่องที่ครูสอนอยู่นั้นเด็กเขารู้แล้ว และเรียนผ่านเลยไปแล้วจากสื่อรอบข้างที่มีอยู่ ตำราเอกสารประกอบการเรียนแต่ละเล่มกว่าจะพิมพ์ออกมาได้ มันก็พ้นสมัยไปทุกทีครับเพราะใช้เวลาในการผลิต ตรวจทานนานเกินไป ตอนนี้ครูต้องพัฒนาตำราเรียนออนไลน์กันได้แล้วมันถึงจะทันการณ์

สองเดือนก่อน เราได้ข่าวคราวเรื่อง โน้ตบุ๊ค 100 เหรียญ จากนายกรัฐมนตรีที่จะจัดหามาแจกให้กับนักเรียน ฮือฮากันมากทีเดียวมีทั้งเห็นด้วยและคัดค้าน ตอนนี้ก็ยังมีการสำรวจความคิดเห็นกันอยู่ สำหรับผมนั้น ความเห็นเรื่องนี้ ไม่ได้อยู่ที่เรื่องความเป็นไปได้ของงบประมาณที่จะจัดหา แต่อยู่ที่ การสร้างประโยชน์และการเตรียมความพร้อมใช้งานต่างหากเป็นเรื่องสำคัญกว่า เพราะเราเคยมีการจัดหา และได้รับบทเรียนมาแล้วจากยุคสมัยหนึ่ง ที่มีการจัดสรรเครื่องคอมพิวเตอร์ให้กับโรงเรียนมาแล้วครั้งหนึ่ง และมีผลกระทบที่คนแจกและคนรับลืมคิดไปก็คือ "การเตรียมความพร้อม"

คงไม่มีใครปฏิเสธได้ว่า จากเหตุการณ์ในสมัยนั้นเอง ที่ทำให้ "ครู" ในโรงเรียนต่างๆ ทั่วประเทศ ตื่นตัวเรียนรู้เรื่องคอมพิวเตอร์กันมากขึ้น มีครูหลายๆ คนต้องกัดฟันกู้สหกรณ์ออมทรัพย์ครูจัดหาเครื่องมาใช้เองที่บ้าน เพื่อศึกษาเตรียมการไปสอนเด็ก และทำให้ผมต้องตะลอนไปหลายๆ จังหวัด เพื่อจัดการฝึกอบรมครู ทั้งที่อยากมาเรียนรู้ และถูกบังคับให้มาฟังเพราะโรงเรียนได้รับจัดสรรมา มีเรื่องตลกร้ายให้เล่ากันได้หลายเรื่องทีเดียว

แต่คราวนี้ ถ้ามีการจัดหามาแจกจริง สิ่งที่จะเกิดขึ้นอาจจะมีผลกระทบในวงกว้างพอสมควรทีเดียว ก่อนอื่นมาดูกันก่อนว่า เครื่องที่ว่านี้มีคุณสมบัติอย่างไร? มันทำอะไรได้บ้าง ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นคืออะไร?

labtop 4

เครื่องนี้พื้นฐานความต้องการคือ ราคาต่ำไม่เกิน 100 เหรียญสหรัฐ จึงใช้ชิพที่มีความเร็ว 500 MHz ของ AMD มีหน่วยความจำหลัก (แรม) 256 MB ความความจำสำรองเป็นแบบแฟลชรอมขนาด 1 GB (ไม่มีฮาร์ดดิสก์) จอเป็นแบบ Color LCD 12 นิ้ว มีการเชื่อมต่อแบบไวร์เลส ใช้ระบบปฏิบัติการลินุกส์ ใช้กับแบตเตอรี่ได้ (หากในท้องที่ไม่มีไฟฟ้า สามารถใช้การหมุนปั่นไฟเข้าไปเก็บในแบตเตอรี่ได้ ไม่ได้บอกว่าต้องหมุนกี่พันรอบแบตถึงจะเต็ม ข้อมูลเพิ่มเติมดูได้ที่ http://laptop.media.mit.edu)

คงมีคำถามในใจกันแล้วใช่ไหมว่า เราจะได้อะไรจากเครื่องคอมพิวเตอร์ 100 เหรียญ? ถ้าดูที่คุณสมบัติของเครื่องแล้วก็ต้องบอกว่า งานนี้ลงทุนมหาศาลแน่นอนครับท่าน ตั้งแต่การลงทุนด้านเครือข่ายไร้สาย ที่จะทำให้เครื่องสามารถเชื่อมต่อสู่อินเทอร์เน็ตได้เป็นด้านหลัก เพราะตัวเครื่องไม่มีที่จะบรรจุข้อมูลเพื่อการเรียนรู้ใดๆ ได้ ต้องอาศัยการอ่านเอกสารอิเล็กทรอนิกส์ (อีบุ๊ค อีเลิร์นนิ่ง) ครูต้องพัฒนาตนเองเพื่อสร้างผลงานเป็นสื่ออิเล็กทรอนิกส์ภาษาไทยให้ได้จำนวนมาก (ภาษาอังกฤษมีมากในโลกอินเทอร์เน็ต แต่เด็กเรายังด้อยเรื่องภาษาครับ) การสร้างสื่ออีบุ๊คไม่ใช่เรื่องยาก แต่ถ้าจะทำให้ดีก็คงไม่ใช่เรื่องง่ายๆ เช่นเดียวกัน

labtop 3

การเตรียมการรองรับในเรื่องนี้ ยังไม่เคยมีใครคิดและลงมือทำเลยนะครับ มีแต่โครงการที่จะจัดหานำเข้ามา ซึ่งแน่นอนว่า ผลประโยชน์จะตกอยู่ที่ใครก็เป็นที่รู้ๆ กันอยู่ อินเทอร์เน็ตผ่านดาวเทียม (อุ๊บ!) เครือข่ายไร้สายที่โรงเรียนจะต้องทุ่มทุนทั้งๆ ที่แบบมีสายก็ยังไปไหนไม่รอด ที่สำคัญและน่าคิดมากกว่า เด็กเรามีความพร้อมที่จะเรียนรู้จากเครื่องนี้แล้วหรือ? เขาอาจจะอยากได้มันมาเพราะคิดว่า มีเกมและสิ่งบันเทิงในนั้นมากมาย (หึหึ.. อย่าลืมมันคือลินุกส์นะ) บุคลากรทางการศึกษาของเรา โดยเฉพาะในโรงเรียน ครูที่สอนวิชาต่างๆ มีความพร้อมที่จะรองรับการใช้งานหรือปรับตัวเข้ากับเทคโนโลยีนี้อย่างไร?

นักเรียนอาจจะปรับตัวได้ง่ายกว่าครูด้วยซ้ำ แต่การเปลี่ยนจาก "หนังสือกระดาษ" มาเป็น "หนังสืออีบุ๊ค" นี่จะต้องสร้างความสนใจได้มากกว่าเดิม ดึงดูดให้อยากเรียน แล้วเรามี ซอฟท์แวร์เพื่อการสนับสนุนการดำเนินงาน เหล่านี้หรือยัง ครูได้อบรมเตรียมพร้อมแล้วหรือยัง? แค่คิดก็ปวดหมองแล้วครับท่าน... เทคโนโลยีมีเงินก็ซื้อหามาใช้งานได้ แต่การนำเอาประโยชน์จากเทคโนโลยีมาใช้ การเตรียมความพร้อมเป็นเรื่องสำคัญที่สุด ไม่งั้นสินค้า 100 เหรียญเราอาจจะได้ใช้จริงอยู่แค่เหรียญสองเหรียญมันน่าเสียดายนะครับ

คราวหน้าจะขอคิดด้วยคนในเรื่อง "สอนให้เด็กคิดเป็น ทำเป็น แก้ปัญหาได้" เรื่องที่พูดกันมานานแต่ไม่เคยทำได้ซักที ปัญหาอยู่ที่ตรงไหนเอ่ย? พบกันใหม่คราวหน้านะครับ

ครูมนตรี โคตรคันทา
บันทึกไว้เมื่อ : 11 ตุลาคม 2548

นโยบายความเป็นส่วนตัว Our Policy

ยินดีต้อนรับสู่เว็บไซต์ของเรา ที่นี่ใช้คุกกี้ (Cookies) เก็บข้อมูล เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น อ่านนโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (Privacy Policy) และนโยบายคุกกี้ (Cookie Policy)

Our Policy