วันนี้ ไม่ค่อยสบายนักรู้สึกครั่นเนื้อครั่นตัว คงจะโดนละอองฝนที่ตกค่อนข้างหนักติดต่อหลายวัน แต่ก็อดที่จะลุกขึ้นมาเขียนมาบ่นไม่ได้ เพราะตอนนี้ข่าวที่น่าสลดใจในวงการศึกษาเรามีมากมายเหลือเกิน ด้านซ้ายมือนั่นผมยกกลอนจากท่านที่ใช้นามว่า ร่วง ที่เขียนไว้ในบอร์ด สพฐ. มานำเข้าสู่เรื่องราววันนี้
คงไม่ต้องเล่าถึง "ความเป็นมาของกลอน" นั้นนะครับ ในความรู้สึกลึกๆ ของผู้ที่อยู่ในวงการศึกษาคงรู้ปัญหาดี จะมีคนตาบอดหูหนวกในกระทรวงไม่กี่คนเท่านั้น ที่ไม่รู้เรื่องราวเลย ไปถามดูเถอะโรงเรียนไหนไม่ดิ้นไปเป็นหนี้เป็นสินเขาทั่วบ้านทั่วเมือง เพื่อสนองนโยบายนายฝันเฟื่อง ผมมีเพื่อนพ้อง ลูกศิษย์ลูกหาทำธุรกิจร้านคอมพิวเตอร์ที่ได้โทรศัพท์มาสอบถามเรื่อง "โรงเรียนนายฝัน" จะไปก่อหนี้ผูกพันกับเขา (โดยที่ยังยืนยันในเงินงบประมาณ ที่จะนำมาใช้คืนไม่ได้) เรียกว่า "ทอดผ้าป่า" กันจนญาติโยมและพระสงฆ์องค์เจ้าต่างพากันเบื่อหน่าย ก็ยังใช้หนี้เขาไม่หมด
การกำหนดนโยบายเป็นเรื่องที่ดี แต่นโยบายที่ดีคือนโยบายที่สามารถปฏิบัติได้จริง ด้วยความร่วมมือและความสามารถในการช่วยเหลือของชุมชน และการสนับสนุนอย่างจริงจังจากภาครัฐ ไม่ใช่กำหนดแต่นโยบายและกรอบเวลา แล้วปล่อยให้ทำตามยถากรรมเช่นนี้ แม้แต่เรื่องงบประมาณจัดการศึกษาในปัจจุบัน โรงเรียนได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐ ด้วยการกำหนดจ่ายตามจำนวนนักเรียนต่อปีที่เรียกกันว่า "เงินรายหัว" มันก็น่าจะเป็นผลดีและเป็นธรรมถ้าคิดกันด้วยวิธีคิดง่ายๆ แต่ในความเป็นจริงมันไม่ได้เป็นไปเพื่อการสนับสนุนการศึกษา แต่มันกำลังจะเป็นการหยุดยั้งการเจริญเติบโต ทำให้โรงเรียนทุกโรงแคระแกร็น และมีคุณภาพที่ด้อยทัดเทียมกันในที่สุด สมดังคำกล่าวที่เจ้ากระทรวงมักจะพูดเสมอในฤดูเปิดภาคเรียนแรกในทุกๆ ปีว่า "โรงเรียนทุกโรงมีคุณภาพเท่าเทียมกัน เรียนที่ไหนก็เหมือนกัน"
ผมอยากจะเปรียบเทียบระหว่างโรงเรียนขนาดเล็ก กับโรงเรียนขนาดใหญ่ หลายท่านคงจะบอกว่า เทียบทำไมโรงเรียนใหญ่ได้เปรียบแหงๆ ไม่จริงหรอกครับแย่ด้วยกันทั้งคู่ โรงเรียนเล็กๆ มีนักเรียนน้อยก็จะได้เงินรายหัวน้อย บางโรงเรียนจะได้ประมาณ 50,000 บาทต่อปี (ต้องหลับตาจินตนาการตามไปด้วย) จะเอาเงินจำนวนนี้ไปพัฒนาการศึกษาได้อย่างไร? ค่าไฟฟ้า โทรศัพท์ ค่ากระดาษและอุปกรณ์การศึกษาอื่นๆ ติดลบทุกปี
โรงเรียนใหญ่มีนักเรียนมากก็จะได้มากหน่อย แต่เมื่อเทียบกับจำนวนคนที่ช่วยกันใช้ทรัพยากรก็ไม่พออีก ทั้งค่าน้ำประปา ค่ากระแสไฟฟ้า ค่าโทรศัพท์ ค่าสาธารณูปโภคเหล่านี้ จะมากขึ้นตามจำนวนนักเรียนด้วย พอไปถึงอุปกรณ์สิ้นเปลืองอื่นทั้งค่ากระดาษ หมึกพิมพ์ สารเคมี อุปกรณ์การศึกษาอื่นๆ ติดลบเหมือนกันครับ
งบประมาณเงินรายหัว ที่ว่านี่ มันควรจะถึงมือโรงเรียนก่อนการเปิดภาคเรียนทุกภาคไป เพื่อให้ทันกับการจัดหาวัสดุอุปกรณ์ต่างๆ มาใช้ในการจัดการเรียนการสอน แต่ในความเป็นจริง โรงเรียนต้องไปเป็นหนี้สินร้านค้ากันทั้งนั้น เงินมาเอาตอนปิดเทอมทุกทีไป ทำให้ต้องซื้อของแพง (เพราะซื้อเชื่อเขา เอาของมาใช้ก่อน) งบที่มีอยู่จำกัดก็เลยยิ่งหมดไปอย่างไร้ประโยชน์ เรื่องอย่างนี้โรงเรียนเขาร้องเรียกหาคำตอบทุกปี แล้วมีเจ้านายหน่วยเหนือข้างบนรู้ปัญหาบ้างไหม? มีปัญหาสะท้อนทีไรก็พูดออกมาได้ว่า กรม กระทรวง ก็ส่งเงินอุดหนุนโดยตลอด มันไปตกท่ออยู่ที่ไหน? มิทราบขอรับเจ้านาย...
การทำงานในระบบราชการเดี๋ยวนี้ ถ้าเป็นบริษัทเอกชน เจ๊งไปนานแล้ว ใช้ทรัพยากรไม่คุ้มค่า การเมืองแทรกแซงไปทุกเรื่อง ตั้งแต่เรื่องการแต่งตั้งโยกย้าย ยันไปถึงเรื่องงบประมาณ มีระบบนายหน้าหากินกับงบประมาณแผ่นดิน (เหลือบ) มากมายเหลือคณานับ ที่บอกงบร้อยล้านพันล้านเพื่อการศึกษามันลงไปที่เด็กและเยาวชนจริงๆ สักกี่เปอร์เซนต์กัน (ดูกันง่ายๆ แค่นมโรงเรียนก็บูดแล้วบูดอีก) ผมบ่นเพราะผมเสียดายเงินภาษี ซึ่งมีผมชำระครบถ้วนไม่เคยเลี่ยงหลบอยู่ด้วย (ก็มันหลบไม่ได้นี่นา...)
บางโรงเรียนมีนักเรียน 24 คน 6 ระดับชั้น มีครู 3 คน เงินเดือนแต่ละคนสองหมื่นบาทขึ้นไป (บริษัทนี้ขาดทุนแล้ว) น่าจะยุบไปรวมกับโรงเรียนใกล้เคียงได้ ค่าจ้างครูเดือนละเจ็ดหมื่นบาท เอามาจัดรถรับ-ส่งนักเรียนกลุ่มนี้ไปเรียนในโรงเรียนข้างเคียงได้ ลงทุนน้อยกว่า ครูไปรวมกัน นักเรียนไปรวมกัน เงินรายหัวก็มากขึ้น ศักยภาพในการพัฒนาก็จะมีมากขึ้นด้วย ขอให้ทำอย่างจริงจังจะลดงบประมาณด้านบริหารจัดการลงได้มาก
แต่ทุกวันนี้ทำไม่ได้ เพราะขาดการให้ความรู้ความเข้าใจกับประชาชนในท้องถิ่น หรือถ้าทำได้แล้วก็ไม่รักษาสัญญา ที่บอกจะจัดรถรับ-ส่งก็ลืมๆ ไปง่ายๆ ยิ่งมีนักการเมืองเข้าไปวุ่นวาย รักษาแต่ฐานเสียงของตน สุดท้ายก็ขาดทุนบักโกรกต่อไป (ทั้งๆ ที่ปากก็พร่ำว่าตนนั้นซื่อสัตย์อยากช่วยเหลือบ้านเมือง แต่กลับมองปัญหาแต่ส่วนตน ประเทศชาติจะย่อยยับอับจนอย่างไรฉันไม่สนใจ)
สามสี่ปีที่ผ่านมา การปฏิรูปการศึกษาในความหมายคือ การปฏิรูปเก้าอี้ โยกตำแหน่ง ชิงดีชิงเด่นกันเท่านั้น ยังไม่มีอานิสงส์สิ่งใดที่จะบอกได้เลยว่า การศึกษาไทยพัฒนาก้าวหน้า มีแต่ทรงกับทรุดเท่านั้นเอง อยากให้การศึกษาไทยปฏิรูปได้จริงๆ ก็คงจะต้องแก้ไขพระราชบัญญัติการศึกษาให้ "กำหนดขนาดของโรงเรียน" ลงไปให้ชัดเจนว่าอย่างน้อยต้องมีนักเรียนเท่าไร? สูงสุดเท่าไร? จำนวนนักเรียนต่อห้องต้องไม่เกิน 25 คน ครูทำหน้าที่ปฏิบัติการสอน งานเอกสาร/ธุรการ/บริหารแยกออกไป หน้าที่ใครเอาให้ชัดเจน งบประมาณทันเวลา ทำงานตามแผนพัฒนาอย่างชัดแจ้ง ไม่ใช่มาขยันประชุมกันตอนเดือนสิงหากันยา (ใกล้จะสิ้นงบประมาณ ผลาญกันเข้าไป ประชุมที่โรงแรมใหญ่ๆ ไม่ได้อะไรมาสักอย่าง) แล้วตอนเดือนตุลา พฤศจิกา ธันวา ท่านทำอะไรกันอยู่ครับ...
ได้ระบายแล้ว ค่อยหายอัดอั้นตันใจหน่อย ก็ผมกำลังกังวลใจมากครับ ที่โรงเรียนผมนักเรียนห้องหนึ่ง 60 คน พวกเรากำลังจะถูกส่งไปอบรมที่วัดเส้าหลิน เพื่อที่จะได้มีวิชาตัวเบาทะยานไปหานักเรียนหลังห้องได้ทันท่วงทีนะซิครับ เห็นใจผมด้วย... จนกว่าจะมีเรื่องคุยกันอีกนะครับ เหนื่อยใจแล้ว...!!!
ครูมนตรี โคตรคันทา
บันทึกไว้เมื่อ : 18 กันยายน 2548
ยินดีต้อนรับสู่เว็บไซต์ของเรา ที่นี่ใช้คุกกี้ (Cookies) เก็บข้อมูล เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น อ่านนโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (Privacy Policy) และนโยบายคุกกี้ (Cookie Policy)