เรื่องนี้จะไม่พูดก็ไม่ได้ พราะเขาปิดกันให้แซดครับ คือไปไหนมาไหนเจอหน้าพี่น้องชาวโรงเรียนเป็นอันบ่นให้ฟังกันเลยทีเดียว จะเรื่องอะไรล่ะ! ก็สุดยอดโปรแกรมแห่งศตวรรษล่าสุดของกระทรวงศึกษาธิการ SMIS อันลือลั่นสนั่นทุ่ง ไปที่ไหนวงแตกที่นั่นเลยเชียว
สารพันนับร้อยกระทู้ในบอร์ด สพฐ. ต่างก็สรรเสริญเยินยอ สดุดีบรรพบุรุษของผู้คิดโครงการนี้ขึ้นกันยกใหญ่ทีเดียว ชนิดเล่าให้ฟังกันสามเดือนไม่มีซ้ำ ด้วยความสามารถอันล้นเหลือของโปรแกรมนี้ ที่ยังไม่มีบทสรุป เป็นเบต้าของเบต้าที่ไม่มีคำอธิบายของโปรแกรมเมอร์ แต่เหล่าผู้ได้ใช้งาน และได้สัมผัส ต่างก็ขุดคุ้ยความสามารถของโปรแกรมออกมาตีแผ่ หาวิธีการแก้ไขปัญหากันยกใหญ่ ทั้งๆ ที่ไม่ใช่หน้าที่ ปี 2549 นี่ต้องตกรางวัลโบนัสให้คนละหกเดือน ในฐานะที่ทำงานเกินเลยหน้าที่ของตน แล้วยึดคืนเสียคนละห้าเดือนครึ่ง เพราะไม่ไปสอนหนังสือมัวแต่มาบ้ากับโปรแกรมห่วยๆ นี้ไม่รู้จักวาง
ก็พึ่งเคยพบเคยเห็นนี่แหละครับ โปรแกรมที่ไม่เคยผ่านการทดลองใช้งาน มีการลงทุนนับสิบล้านบาทได้ตัวโปรแกรมเบต้า มาจัดอบรมบังคับให้โรงเรียนทั่วประเทศกรอกข้อมูลซ้ำๆ ซากๆ หลายคนคงเคยได้ยินชื่อกันมาแล้ว AIS, ONPEC, EIS, TERM, STUDENT ทั้งหมดนี้บางตัวก็ทำงานได้ดีระดับหนึ่ง บางตัวก็ไม่สามารถทำงานได้จริงสมดังคำร่ำลือ ล้มลุกคลุกคลาน อัพเดทกันเป็นรายสัปดาห์ รายเดือน และค่อยๆ มลายหายไป โปรแกรมเหล่านี้มีที่มาที่ไปแตกต่างกัน ใช้ฐานข้อมูลคนละพรรค คนละพวก และไม่ค่อยสมานสามัคคีกันเลย คือ ถ่ายโอนข้อมูลกันไม่ได้ ทั้งๆ ที่มาจากกระทรวงเดียวกันแต่อยู่คนละชั้นของตึก
แต่ทั้งหมดนั้น ก็ยังไม่แสบเท่าโปรแกรมใหม่ล่าสุดนี่เลยครับ เพราะอะไรหรือ? โอ๊ว! จอร์จ... พระเจ้ามันช่างไม่น่าเชื่อเลย... จริงๆ นะป้าออเดร... ลองฟังเหตุผลนี้ดูซิ
ปัญหาจากโปรแกรมนี้ยังไม่มีบทสรุปนะครับ... คนที่เกี่ยวข้องก็เงียบ ไม่เห็นชี้แจงหาทางแก้ปัญหาให้ครู ผมสงสารนักเรียนที่ขาดแคลนครูอยู่แล้ว ก็ต้องยิ่งขาดแคลนหนักเข้าไปอีก เมื่อครูต้องไปสาละวนกับงานนอกเหนือหน้าที่มากเข้าไปอีก ถ้ามันยากเย็นนัก ก็ให้เขากรอกในโปรแกรมสำนักงานธรรมดาอย่างพวก Speadsheet จะค่ายไหนก็ได้ เจ้าของเรื่อง เจ้าของงานก็ไปหาทางอิมพอร์ตเข้าสุดยอดโปรแกรมนี่เองก็แล้วกัน เท่านี้ครูก็จะมีเวลาไปสอนให้ความรู้กับนักเรียนแล้วล่ะครับ
ข่าวในแวดวงการศึกษาอีกข่าวหนึ่ง ก็คือ การยกเลิกการแยกแผนการเรียนสายวิทย์ - สายศิลป์ ก็มีทั้งผู้ที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย ในมุมมองของผม (ซึ่งอาจจะถูกหรือผิดก็ได้... โปรดใช้วิจารณญาณของท่านเอง) มองว่า การไม่แยกสาย จะทำให้ทั้งโรงเรียนและนักเรียนลำบากในการจัดการเรียนการสอนแน่ ในสถานการณ์ของการขาดแคลนครูผู้สอน ถ้าเราไม่แยกแผนเลยให้ทุกๆ คนเรียนเหมือนกันทั้งหมดนั่นหมายความว่า ทุกคนต้องเรียนคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ (เคมี-ชีวะ-ฟิสิกส์) เหมือนกัน ครูมีน้อยในสาขาเหล่านี้ จะทำอย่างไรกับคาบเรียนที่เพิ่มขึ้น นักเรียนที่ไม่สันทัดในการคำนวณเลย จะไปรอดไหมกับการเรียนแบบนี้ และที่สำคัญ ทาง มหาวิทยาลัยคิดอย่างไรกับการรับนิสิต-นักศึกษาในสาขาต่างๆ มันไม่ใช่เรื่องที่คิดจะทำง่ายๆ เหมือนขายหวยบนดินนะครับ...
แม้จะไม่แยกว่าเป็น สายวิทย์ - สายศิลป์ แต่การจัดการเรียนเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้เรียน ก็จะต้องดำเนินการในเชิงแยกอยู่แล้ว โดยการจัดกลุ่มการลงทะเบียนให้กับผู้เรียนที่อยากเน้นเรียนทางด้านวิทย์-คณิตมาก และกลุ่มที่อยากเรียนทางด้านภาษามากกว่า (เอ้ามันก็มาทำนองเดียวกันอีกนั่นแหละ) เพียงแต่เปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้เลือกเอง ตามความสนใจในกรอบที่เขาพอจะเรียนได้จนจบ สามารถไปศึกษาต่อได้
การประกาศนโยบายอะไรออกมามัน ต้องคิดวิธีการดำเนินการว่าจะเป็นไปได้แค่ไหน อย่างไรก่อน ค่อยประกาศก็ไม่สาย ส่วนกลุ่มที่ นายว่า ขี้ข้าพลอย ก็ลองออกมาเสนอแนวทางการจัดการหน่อยซิ เอาให้ชัดเจนปฏิบัติได้ คิดถึงโรงเรียนที่มีนักเรียนเยอะๆ แต่ขาดครูสายหลักด้วย อย่าไปเที่ยวอ้างเอาข้อมูลกับโรงเรียนที่มีนักเรียนเพียง 100-200 คนมาเป็นตัวอย่างนะ เอาแบบโรงเรียนที่ผมทำงานนี่ก็ได้ไม่มากไม่น้อย 16 ห้องเรียนๆ ละ 55 คนก็พอ เพราะตอนนี้ผมมืดแปดด้านว่า จะทำอย่างไรอยู่เหมือนกันที่จะปรับกลุ่มหลัง 6 ห้องเรียนมาเรียนเหมือนกลุ่มแรก
ครูมนตรี โคตรคันทา
บันทึกไว้เมื่อ : 29 มิถุนายน 2548
ยินดีต้อนรับสู่เว็บไซต์ของเรา ที่นี่ใช้คุกกี้ (Cookies) เก็บข้อมูล เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น อ่านนโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (Privacy Policy) และนโยบายคุกกี้ (Cookie Policy)