วันนี้ขอคุยกันเรื่อง การนำเอา ICT มาสู่การพัฒนาการศึกษาไทย ที่มีการกล่าวถึงกันมากที่สุดใน พ.ศ. นี้ หลังจากที่ไปร่วมการประชุมสัมมนา Thai e-Learning 2005 ที่มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต เมื่อเดือนที่แล้วและวันนี้ (7 มิถุนายน) ได้ไปร่วมการสัมมนาเรื่อง เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารในโลกการศึกษายุคใหม่ ที่ มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี ICT เหมือนกับอาหารชนิดใหม่ที่เขาลือเล่าอ้างว่า อร่อยและดีที่สุดน่าชิม แต่ดูเหมือนจะเป็นอาหารที่หลายท่านคงจะมีโอกาสชิมได้ยากสักหน่อย เพราะ...
ถ้าคนไทยสามารถใช้คอมพิวเตอร์ได้ง่ายๆ เหมือนเราใช้เครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้าน การพัฒนาด้าน ICT เพื่อการศึกษา ก็ไม่ใช่เรื่องยากเย็น การใช้งานอินเทอร์เน็ต หรือ เครือข่ายออนไลน์ก็จะมีสัดส่วนเพิ่มมากขึ้น การนำเอาระบบจัดการเรียนการสอนออนไลน์ (e-Learning) มาใช้งานก็จะสามารถทำได้สำเร็จเป็นมรรคเป็นผลอย่างที่เราหวังตั้งใจ
ทุกวันนี้ ความสนใจในเรื่องการจัดการศึกษาออนไลน์ มีแนวคิดขยายออกไปไกลตามเทคโนโลยี แต่ที่ติดขัดและยังไปไม่ถึงไหน ซึ่งเราเข้าไปแก้ไขโดยตรงไม่ได้ กลับกลายเป็นระบบสาธารณูปโภคพื้นฐานเอง (เครือข่ายโทรศัพท์ อินเทอร์เน็ต) ที่ยังรอการแก้ไขปัญหาจากนโยบายภาครัฐอย่างเร่งด่วน เพื่อให้ประเทศไทยเรานี้มีระบบ e-Government, e-Citizen, e-Education และอีกสารพัด e ที่จะก้าวมาทดแทนระบบเดิมๆ
เมื่อ ICT คืออาหารจานร้อน กลิ่นหอมชวนลิ้มลอง ในขณะนี้จึงมีบุคคล หรือคณะบุคคลที่มองเห็นช่องทางในการทำมาหากินเชิงธุรกิจ กำลังนำเอาระบบการจัดการต่างๆ มาเสนอขายให้กับโรงเรียนต่างๆ ทั้งในรูปบริษัท องค์กรการกุศล และหน่วยงานทางการศึกษา โดยจัดในลักษณะเชิญชวนเข้าร่วมการสัมมนาในสถาบันต่างๆ นำเสนอให้เห็นประโยชน์และช่องทางในการนำเอา ICT มาใช้ในการพัฒนาการศึกษา แล้วพ่วงท้ายด้วยการขายระบบเป็นของแถมไปด้วย
ผิดไหม? ที่เขาดำเนินการเช่นนั้น ต้องตอบว่า ไม่ผิดหรอกครับ แต่อยากจะชี้ให้หลายๆ ท่านมองเห็นกันหน่อยว่า ตัวระบบจัดการเรียนการสอนออนไลน์นั้น มีมากมายหลายระบบ ทั้งที่เป็นระบบพัฒนาขึ้นเองของหน่วยงาน สถาบันการศึกษา องค์กรของรัฐ ระบบแบบคอมเมอร์เชียล (ทำขาย) และระบบจ่ายแจกฟรี Open Source ต่างก็มีมาตรฐานในการพัฒนาไปสู่เป้าหมายเดียวกัน รองรับการแลกเปลี่ยนข้อมูลข้ามผ่านระบบที่เรียกว่า มาตรฐาน SCORM เป็นส่วนใหญ่ เราไม่อาจตัดสินได้ว่า ระบบใดดีกว่ากันชัดเจน แต่จุดที่เราควรมองคือ การลงทุนนั้นจะเสียเปล่าหรือไม่?
มีบางรายเสนอขายระบบการจัดการเรียนออนไลน์ พร้อมให้การอบรมการผลิตสื่อ และบทเรียนออนไลน์ราคาก็หลักแสนบาทขึ้นไป (ถ้าอ่านไม่ละเอียดจะคิดว่า ราคาถูกครับหลักสูตรละสามพันถึงห้าพันบาท แต่ถ้าดูให้ดีการอบรมเขาคิดราคาต่อคน เมื่อคูณเข้าไปนี่หมดไปหลายแสน ไม่รวมเครื่องคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์) พร้อมการดูแลคิดราคากันเป็นปี บางรายเสนอด้วยเงื่อนไขให้บริการใช้ระบบฟรีบนเครื่องแม่ข่ายของบริษัท เพียงแต่ครูในโรงเรียนต้องช่วยกันสร้างสื่อและบทเรียนออนไลน์ พอพ้นระยะเวลา 1 ปี จะใช้ระบบต้องคิดเงินในอัตราต่อหัวของจำนวนนักเรียน (ระบบนี้น่าตกใจมาก เพราะสิ่งที่คุณครูทุ่มเทผลิตสื่อและบทเรียนมากว่า 1 ปีนั้นลิขสิทธิ์ทั้งปวงตกเป็นของบริษัทไปเรียบร้อยแบบไร้ค่าตอบแทนใดๆ)
ในฐานะที่เป็นผู้หนึ่งในการพัฒนาระบบ และทดสอบการใช้งานระบบ LMS หลายๆ ระบบได้พบว่า ปัญหาที่แท้จริงนั้นอยู่ที่การพัฒนาคนเพื่อพัฒนาสื่อและเนื้อหาใช้ในระบบการจัดการนั่นต่างหากที่ยากยิ่งกว่า เพราะครูเราส่วนใหญ่ยังขาดความเชี่ยวชาญ ชำนาญในการใช้งานคอมพิวเตอร์ ที่ฝรั่งเขาเรียกว่าเราไม่มี Computer Literacy เราจึงต้องเร่งในการพัฒนาคนอย่างจริงจังก่อน เพื่อให้มีความสามารถในการใช้งานคอมพิวเตอร์ ทั้งด้านการใช้งานประจำวัน (การผลิตเอกสารการสอนและสื่ออย่างง่าย) การติดต่อสื่อสารออนไลน์ เพื่อก้าวไปสู่การจัดการเรียนการสอนออนไลน์ได้ในที่สุด
วันนี้ เราควรเริ่มต้นด้วยการส่งเสริมให้ "ครูใช้งานคอมพิวเตอร์เป็นประจำและสม่ำเสมอ" เพื่อให้หายจากความหวาดกลัว และเป็นมิตรกับคอมพิวเตอร์ เมื่อครูได้พบได้เห็นมากขึ้น ก็จะช่วยให้เกิดความอยากรู้และพัฒนาตนเองให้ก้าวหน้า เพื่อเป็นบันไดก้าวไปสู่การเป็นผู้สอนหรือเป็นครูออนไลน์ในอนาคตอันใกล้นี้
ผมอยากเห็นผู้บริหารการศึกษาในทุกวันนี้ได้เปลี่ยนแนวคิดใหม่ให้กว้างไกลไปกว่าเดิม เราจะพัฒนาครูก็ต้องพัฒนาตนเอง (ผู้บริหาร) ก่อน ผู้บริหารการศึกษาที่ใช้งาน ICT ได้ย่อมได้เปรียบกว่า เพราะมีข้อมูลเพื่อใช้ในการบริหารและตัดสินใจได้ดีกว่า ทันสมัย รอบด้าน รู้เขารู้เรา โลกตอนนี้หมุนไปอย่างรวดเร็ว ซึ่งการเดินทางของข้อมูลข่าวสารก็รวดเร็วตามไปด้วย การบริหารงานใดๆ ก็ตามถ้ามีข้อมูลเพื่อการวิเคราะห์ เปรียบเทียบ การตัดสินใจในการบริหารมักจะสำเร็จและมีผลสัมฤทธิ์สูง การศึกษาเรียนรู้ก็เช่นเดียวกัน
ณ วันนี้ นอกจากผู้เรียนจะต้องเรียนรู้ในสิ่งแวดล้อมใกล้ตัวแล้ว ยังจะต้องเรียนรู้ไปยังประเทศต่างๆ เพื่อศึกษาเปรียบเทียบ และดำรงชีวิตอยู่ในโลกนี้อย่างเป็นสุข ครูผู้สอนก็จะต้องก้าวตามทันยุคสมัย หนังสือแบบเรียนหรือคู่มือครูที่พิมพ์ออกมาในแต่ละครั้ง/แต่ละปี อาจจะมีเนื้อหาไม่ครอบคลุมในองค์ความรู้ที่เกิดขึ้นใหม่ๆ ในวันนี้ การศึกษาออนไลน์จึงมีบทบาทและช่วยลดขีดจำกัดในการเรียน และค้นคว้าผ่านเอกสารลงไปได้ แล้วเราจะมัวรีรออะไรอยู่ล่ะ?....
ครูมนตรี โคตรคันทา
บันทึกไว้เมื่อ : 7 มิถุนายน 2548
ยินดีต้อนรับสู่เว็บไซต์ของเรา ที่นี่ใช้คุกกี้ (Cookies) เก็บข้อมูล เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น อ่านนโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (Privacy Policy) และนโยบายคุกกี้ (Cookie Policy)