สืบเนื่องจากการประชุมร่วมกับคณะจากหลายหน่วยงาน ทั้งจากทางกลุ่มผู้ปฏิบัติ (โรงเรียน) และกลุ่มผู้สนับสนุน (สทร.) ในเรื่อง การประกวดสื่อ CAI และการจัดการเรียนการสอนผ่านระบบเครือข่าย ที่เราเรียกกันติดปากว่า e-Learning ไปแล้วนั้น
วันนี้คงต้องว่ากันถึงเรื่อง e-Learning กันต่อครับ ในวงสนทนาของพวกเรานั้น ทุกคนเห็นด้วยในหลักการที่จะดำเนินการ แต่วิธีการอาจจะต้องมีการปรับเปลี่ยนกันหน่อย เพราะเราต่างคนต่างก็ลงมือทำกันมาล่วงหน้าในระดับหนึ่งแล้ว มีผลจากการทดลองที่พอจะเป็นเหตุเป็นผลในการดำเนินงานมายืนยัน เรามีระบบการจัดการทั้งที่ออกแบบทำกันเอง จัดซื้อจากบริษัทผู้ผลิต และจากแหล่งซอฟท์แวร์ระบบเปิด Open Source ซึ่งก็มีหลายระบบที่แตกต่างกัน
ในที่ประชุมมีการแสดงความคิดเห็นกันมาก และค่อนข้างจะไปในทิศทางเดียวกัน (อาจจะมาจากที่พวกเรามาจากโรงเรียนที่มีพื้นฐานและรับทราบปัญหาหลายๆ อย่างร่วมกัน ทั้งขาดคนพัฒนา งบประมาณ แต่ก็สู้ไม่ถอย) หลังจากนี้ไม่นาน เราจะมีศูนย์กลางการทำงานในการประสาน และเป็นที่แลกเปลี่ยนข่าวสารคือ เว็บไซต์กลางของระบบ e-Learning ซึ่งจะไม่ยึดติดกับระบบใดระบบหนึ่ง (แต่ละหน่วยเลือกตามที่ตนถนัดและมีทรัพยากรอยู่ในมือ อย่างผมก็คงจะหยุดการพัฒนาเวอร์ชั่นในเว็บไซต์นี้ไปก่อน แล้วไปทำตัว ATutor เพื่อใช้ในโรงเรียนต่อไป อีกคณะหนึ่งก็จะพัฒนาบน Moodle ต่อไป) ชื่อและ URL ให้ทาง สทร. ไปดำเนินการ
ความจริงในช่วง 10 วันนี้ (20-30 มิถุนายน 2547) ผมต้องไปร่วมกับคณะ ในการดำเนินการจัดตั้งเว็บไซต์กลาง แต่ด้วยภาระงานที่โรงเรียนมีมาก เลยขออนุญาตไม่ไปร่วม (แต่ก็ได้ให้แนวคิดในการดำเนินการไปแล้ว ติดต่อกันทางเครือข่ายได้) ระหว่างนี้ก็อยู่ที่โรงเรียนดำเนินการทำเซิร์ฟเวอร์บริการ เพื่องานนี้โดยใช้ ATutor 1.4 เวอร์ชั่นล่าสุด บนเเครื่องเซิร์ฟเวอร์ใหม (ยังไม่ได้กำหนดชื่ออย่างเป็นทางการ) และคงจะได้แจ้งให้สมาชิกเครือข่ายได้ทราบต่อไป ปัญหาใหญ่ของพวกเรา (ทุกโรงเรียน) คงจะอยู่ที่การสร้างเนื้อหาและการจัดรูปแบบการสอน ที่เหมาะสมกับแต่ละเนื้อหาวิชา มากกว่าการทำระบบที่กล่าวมา
โอกาสของการจัดทำระบบเรียนออนไลน์นั้นมี ถ้าเรามองปัญหาทุกอย่างตรงกันได้ และร่วมมือกันหลายฝ่าย เพราะลำพังครูคนใดคนหนึ่ง ไม่มีทางจะทำได้สำเร็จแน่นอนครับ การจะสร้างบทเรียนออนไลน์สักเรื่องให้สำเร็จจะต้องดำเนินการอย่างไร?
ผมยังหลับตานึกถึงบทเรียนออนไลน์ที่ ผู้เรียนติดกันตรึมยิ่งกว่า "เกมออนไลน์" ทั้งหลาย ผู้เรียนต้องหาทางเก็บรหัสผ่านเพื่อไขประตูสู่ห้องเรียนรู้ ระหว่างการเดินทางในห้องเรียนรู้ มีการทำแต้มสะสมจากการค้นหาและตอบคำถามเด็ดๆ ต่างตั้งหน้าตั้งตาแย่งกันเก็บคะแนนสะสม เพื่อไปสู่ประตูชัยชนะข้างหน้า
ถ้าเรียนประวัติศาสตร์ อาจจะต้องมีการใช้เครื่องย้อนเวลา (Time machine) ซึ่งการได้ขึ้นยานนี้ต้องมีคะแนนสะสมถึงเกณฑ์ เพื่อเข้าไปในเกมย้อนประวัติศาสตร์ เกมฮิตอย่าง แร็กนะร็อก มิว หรือข่าน ต้องชิดซ้ายแน่ๆ เชียว เมื่อไหร่หนอเราจึงจะมีทีมที่แข็งขันอย่างนั้นบ้าง
ไม่ใช่เรื่องไกลเกินฝันที่จะทำ แต่ฝ่ายบริหารในกระทรวง ทบวง กรม ต้องมองปัญหาและวิธีการให้กระจ่าง อย่าคิดแต่จะใช้แรงงานครูไปเสียทุกเรื่อง (แค่สอนอย่างเดียวหน้าชั้นก็แสนสาหัส ยังมาแบกรับเอกสารรายงานจนหลังแอ่น วันนี้กำลังหางานให้เขาทำบทเรียนออนไลน์อีก) ทำงานใหญ่ๆ อย่างนี้ต้องมีค่าตอบแทนที่เหมาะสม สนับสนุนการทำงานเป็นทีม (ลูก เมีย (สามี) ครูไม่ได้กินแกลบนะครับ) ผมพูดแทนครูไทยใน พ.ศ. นี้ เพราะอึดอัดใจที่ ฯพณฯ ท่านทั้งหลายได้จ้อหน้ากล้องและไมโครโฟน พล่ามพรรณาเอาแต่ผลงาน โดยทิ้งภาระให้คนอยู่เบื้องหลังแบกจนหลังแอ่นอยู่แล้ว หรือนี่คือ ชะตากรรมของเรือจ้าง?
ครูมนตรี โคตรคันทา
บันทึกไว้เมื่อ : 23 มิถุนายน 2547
ยินดีต้อนรับสู่เว็บไซต์ของเรา ที่นี่ใช้คุกกี้ (Cookies) เก็บข้อมูล เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น อ่านนโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (Privacy Policy) และนโยบายคุกกี้ (Cookie Policy)