วันนี้มีโอกาสได้เข้าร่วมเป็นกรรมการจัดทำหลักเกณฑ์ "การประกวดสื่อคอมพิวเตอร์ช่วยสอน (CAI) ระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษา" สำหรับครูผู้สอน นักเรียนและบุคคลทั่วไป ที่โรงแรมแมกซ์โฮเต็ล กรุงเทพฯ ซึ่งจัดโดย สทร. แห่ง สพฐ. (ลองหาคำแปลตัวย่อเอาเองนะครับ) เลยมีเรื่องมาเล่าสู่กันฟังอีกครั้งหนึ่ง
ก่อนจะเล่าเรื่องการประกวดนี่ก็คงต้องขอย้อนไปที่ตัว สื่อคอมพิวเตอร์ช่วยสอน (CAI) กันเสียก่อนว่ามีที่มาที่ไปอย่างไร ถ้าเป็นนักเรียนฝึกหัดครูรุ่นผม ก็ต้องนับย้อนไปถึงบทเรียนช่วยสอนที่เป็นเล่มๆ มีการเรียงตามลำดับการเรียนรู้ก่อนหลัง ต้องทำแบบทดสอบก่อนเรียน-หลังเรียน อาศัยความซื่อสัตย์ของผู้เรียนที่จะไม่เปิดดูเฉลยก่อน เป็นสื่อช่วยสอนสำหรับผู้เรียนที่เรียนช้าไม่ทันเพื่อน
ต่อมาก็ถึงยุคคอมพิวเตอร์ได้มีการเปลี่ยนตัวสื่อใหม่จาก เอกสารสิ่งพิมพ์ มาเป็น สื่อมัลติมีเดีย ที่มีทั้งภาพและเสียง มีการตอบโต้กับผู้เรียนมากขึ้น แต่ลักษณะการทำงานก็ยังเหมือนกับบทเรียนช่วยสอนในอดีต (น่าจะดีขึ้นนะ ใช่ไหม?) ครับ... น่าจะเป็นอย่างนั้น เพราะตัวสื่อมันมีดีตั้งหลายอย่าง ตั้งแต่ภาพที่เคลื่อนไหวได้ เสียงที่สมจริงสมจัง แถมยังสามารถป้องกันการดูเฉลยก่อนเรียนได้ด้วย แต่ทำไมเจ้า CAI ถึงแจ้งเกิดในวงการศึกษาได้จริงๆ สักที?
พอดีในวงเสวนาของคณะกรรมการมีประโยคนี้แทรกขึ้นมาครับ "คนซื้อไม่ได้ใช้ คนใช้ไม่ได้ซื้อ (แต่ไม่ใช่โลงศพ) คืออะไรเอ่ย?" คำตอบคือเจ้าพวกสื่อ CAI นี่แหละครับ ผู้บริหารไปประชุมสัมมนามาทีก็หอบมาเป็นลัง (ไม่ได้ฟรี จ่ายเงินซื้อมา แพงมากและค่าคอมมิสชั่นก็มากด้วย) คนที่ซื้อมาไม่ได้ใช้ คนที่จะใช้ก็ไม่ได้ซื้อและไม่ได้เลือกด้วย (ก็น่าจะดีนะมีใช้แล้ว...) ยัง... เรื่องยังไม่จบแค่นี้...
เหตุผลสำคัญคงต้องย้อนถามก่อนว่า สื่อที่ซื้อมานี่จะเอาไปเปิดที่ไหน? จำเรื่องเหตุการณ์เกิดอุทกภัยในภาคต่างๆ ได้ไหมครับ มีหน่วยงานหลายหน่วยงานแห่แหนเข้าไปช่วยเหลือ ในจำนวนการช่วยเหลือนี้จะมีสิ่งของยอดฮิตอยู่ 5 สิ่ง ปลากระป๋อง ข้าวสาร อาหารแห้ง (บะหมี่แห้งหลากยี่ห้อ) น้ำ และหม้อ ชาวบ้านนั่งดูตาปริบๆ ครับ นั่งบนหลังคาบ้านไม่มีมีด ไฟ จะจัดการอย่างไรดี? สุดท้ายก็ต้องนั่งกินบะหมี่แห้งแกล้มปลากระป๋องที่ยังไม่ได้เปิด (ไม่มีอะไรจะเปิดได้นี่ครับ) มีข้าวและหม้อกับน้ำ แต่ขาดไฟ (ฟืน ถ่าน เตา ไม้ขีด) คล้ายกันกับสื่อ CAI ที่มีมาให้แต่แผ่นสื่อหาที่เปิดไม่ได้นั่นแล...
เดี๋ยวก่อน.. อย่าพึ่งแย้งผมซิครับ กำลังจะบอกผมว่า "สมัยนี้วีซีดี คอมพิวเตอร์ราคาถูกและมีกันค่อนข้างมากในโรงเรียนแล้วนี่" ใช่ไหมครับ? ถ้าใช่ ลองมาดูซิว่า ทำไมสื่อ CAI ถึงยังไม่เติบโตทั้งๆ ที่เกิดมานานแล้ว
มาถึงวันนี้ ก็คงต้องมองกลับมาที่เทคโนโลยีที่เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว ว่าเราจะยังส่งเสริมเทคโนโลยีที่กำลังเป็นพระอาทิตย์ตกดินนี้อยู่อีกหรือ? ถ้าจะส่งเสริมควรจะทำในรูปแบบใด เพราะปัญหาของการผลิตสื่อวันนี้ไม่ได้อยู่ที่เทคนิคการผลิตแล้ว แต่อยู่ที่ปัญหาลิขสิทธิ์ซอฟท์แวร์ ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่กว่า สื่อที่ทำจากซอฟท์แวร์ที่ไม่มีลิขสิทธิ์ก็เป็นปัญหามากต่อการเผยแพร่ และแจกจ่ายให้เกิดประโยชน์ มีคำถามจากผู้ร่วมประชุมว่า "บรรดาสื่อที่ผ่านการประกวดหลากหลายหน่วยงานนับร้อยชิ้นหายไปไหน? ใยไม่มีเผยแพร่และใช้งานกันเสียเลย" เป็นเพราะเบื้องหลังการผลิตสื่อเหล่านั้นเกิดจากการใช้ซอฟท์แวร์ที่ละเมิดลิขสิทธิ์ จึงเผยแพร่ไม่ได้
อ้าว! มาถึงบรรทัดนี้จะเล่าอะไรล่ะ เล่าไปหมดแล้วนี่... สำหรับท่านที่สนใจอยากร่วมชิงชัยผลิตสื่อ CAI ก็รีบๆ คิดพล็อต สร้างสรรค์งานกันได้ และติดตามข่าวการประกวดได้จากเว็บไซต์ของ สทร. และ สพฐ. กันได้เลยครับ
มากรุงเทพฯ เที่ยวนี้ถูกใช้งานสุดคุ้มครับ พุธ-ศุกร์ (9-11 มิถุนายน) อยู่โรงแรมแมกซ์โฮเต็ล เรื่อง CAI ส่วนวันอาทิตย์-พุธ (13-16 มิถุนายน) จะไปประชุมต่อที่โรงแรมแม่น้ำริเวอร์ไซต์ เรื่อง การจัดตั้งศูนย์กลางการเรียนรู้ผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ (e-Learning) หลังจากที่มันยังนิ่งอยู่อย่างที่ผมเคยเล่าให้ฟังเมื่อคราวประชุมในเดือนมีนาคมที่แล้ว รายละเอียดคงต้องเล่าให้ฟังในคราวหน้านะครับ
ครูมนตรี โคตรคันทา
บันทึกไว้เมื่อ : 11 มิถุนายน 2547
ยินดีต้อนรับสู่เว็บไซต์ของเรา ที่นี่ใช้คุกกี้ (Cookies) เก็บข้อมูล เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น อ่านนโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (Privacy Policy) และนโยบายคุกกี้ (Cookie Policy)