เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 20 พฤษภาคม 2547 ที่ผ่านมา ผมได้รับเชิญจากรายการ IT Genius (ออกอากาศทุกวันพฤหัสบดี 17.50 น. ทางโมเดิร์นไนน์ทีวี) ให้ไปร่วมรายการเป็นแขกรับเชิญช่วง IT Expert ได้ไปเห็นการทำงานของทีมคนหนุ่มสาวไฟแรงรุ่นใหม่ (หนุ่ย - พงศ์สุข หิรัญพฤกษ์ นำทีม) แล้วมีความรู้สึกทึ่งและชื่นชม ได้พูดคุยกันหลากหลายเรื่องราว และมุมมองใหม่ๆ สำหรับคนไอทียุคนี้
และจะออกอากาศในวันพฤหัสบดีที่ 10 มิถุนายน 2547 เวลา 17.50 น. ก็พบกับครูมนตรีกันได้ ทางสถานีโทรทัศน์โมเดิร์นไนน์ ช่อง 9 อสมท. รายการ IT Genius ช่วง IT Expert ครับ เป็นแขกรับเชิญแนะนำความรู้และเทคนิคเล็กๆ น้อยๆ ให้กับนักเรียนที่มาร่วมแข่งขันในรายการ
ขอลอกอีเมล์จากคุณหนุ่ย (พงศ์สุข หิรัญพฤกษ์) ที่ติดต่อผมมา เพื่อให้ไปร่วมรายการดังกล่าวมาให้อ่านกันนิดหนึ่งนะครับ ว่าทำไมรู้จักผม
ผมพบเว็บไซต์ของครูโดยบังเอิญ พอดี Search หาคำราชาศัพท์น่ะครับ.. เลยไปพ้องกับ "ความรู้" ที่อยู่ในเว็บครูเข้า... ที่ E-mail มานี่ ก็เพื่ออยากจะบอกครูว่า.. หลังจากอ่าน "คำบ่น" และความรู้สึกของครูแล้ว... นึกชื่นชมสิ่งที่ครูทำ...
... ชอบคำว่า "ภูมิใจที่เกิดเป็นคนอีสาน" ของครูครับ... ถ้าคนไทยรู้จัก "รับความจริง" และพยายามพัฒนาตัวเอง ให้มากๆ แบบนี้... ประเทศไทยจะพัฒนาได้เร็ว กว่านี้มาก...
... หวังเป็นอย่างยิ่งว่าความตั้งใจของครู จะเป็นดั่ง "หนังสติ๊ก" ที่ดีดสังคมไทยไปให้ไกลยิ่งขึ้นนะครับ..."ด้วยความนับถือ
หนุ่ย.
บริษัท โชว์โนลิมิต จำกัด
รายการ IT Genius Modern 9 TV
มาต่อกันกับหลายๆ คำถามที่ผมได้รับก็ "อึ้งกิมกี่" ไปเหมือนกันครับ คล้ายๆ กับที่หลายๆ คนถามผมนั่นแหละ จัดตารางสอนยังไงให้เด็กได้เรียนวิชาหลักและคอมพิวเตอร์ตอนเช้า สอนอะไรบ้างเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์และไอที?
ปัญหาเรื่อง "การจัดตารางสอน" นี่ขออธิบายซ้ำอีกรอบนะครับ ในกรอบคือ พยายามจัดให้วิชาในกลุ่มที่ 1 อยู่ในช่วงเช้าเพื่อให้สมองปลอดโปร่งโล่งใจ ถ้าทำไม่ได้ก็จัดตามสภาพของเรา แต่พยายามให้อยู่ในห้วงเวลาดังกล่าวให้มากที่สุด ซึ่งพวกเราก็ทำตารางสอนอย่างนี้มานานแล้ว เวลาอ่านคำสั่งอะไรก็อย่าพึ่งขีดเส้นใต้ด้วยบรรทัดเหล็กซิครับ หัดใช้บรรทัดของช่างเย็บผ้ากันเสียบ้าง จะได้ขีดเส้นโค้งได้ หลักสูตรก็ให้ทำเองแล้ว ตารางสอนก็จัดเองตามความเหมาะสม และสถานการณ์เท่านั้นแหละครับ
มาถึงคำถามว่า สอนอะไรบ้างเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์และไอทีในโรงเรียน? ตอบได้คือการสอนความรู้พื้นฐาน ถ้าโรงเรียนไหนมีทรัพยากรเพียงพอ (ห้องเรียน ครูผู้สอน) ก็สามารถต่อยอดในวิชาอื่นๆ ได้ ไม่ว่าจะเป็นการออกแบบเอกสารสิ่งพิมพ์ (Desktop Publishing) การเขียนโปรแกรม การทำงานเกี่ยวกับงานกราฟิกขั้นสูง ซึ่งในประเด็นเนื้อหาหลังๆ นี้มีช่องทางต่อยอดออกไปสู่การประกอบอาชีพได้มากที่สุดในปัจจุบัน
ในมุมมองของคนไอทีรุ่นใหม่ ที่ได้สัมผัสกับการใช้งานด้านนี้มากอย่างคุณหนุ่ย (ในฐานะเจ้าของบริษัทที่รับงานด้านเปิดตัวบริษัทหรือเสนอสินค้าใหม่ๆ และรายการโทรทัศน์) ได้บอกกับผมว่า อยากให้โรงเรียนสร้างบุคลากรด้านการโปรแกรมและกราฟิกมากที่สุด เพราะตลาดมีความต้องการมากในขณะนี้ ไม่ว่าจะเป็นการสร้างงานด้านกราฟิกแอนิเมชั่นในวงการโทรทัศน์ ภาพยนตร์ เกมส์ ล้วนแต่ต้องการบุคลากรสาขานี้
ปัจจุบัน ตลาดด้านนี้กำลังขยายตัวมีหลายๆ บริษัทกำลังสร้างงานด้านเกมส์ออกสู่ตลาดโลก ต้องใช้ทั้งโปรแกรมเมอร์ในการเขียนโคีดคำสั่ง ศิลปินนักวาดภาพกราฟิกบนคอมพิวเตอร์ เพื่อใช้ประกอบในเกมส์ต่างๆ รวมทั้งการสร้างภาพยนตร์การ์ตูนเรื่องยาวออกสู่ตลาดโลกด้วยฝีมือคนไทย ซึ่งบริษัทของคุณหนุ่ยเองก็กำลังสร้างเกมส์ องค์บาก ของคนไทยสู่ตลาดโลกด้วย
เพราะเกมส์ออนไลน์ขณะนี้กำลังเป็นตลาดทำเงิน แต่ดูเหมือนว่า ประเทศไทยเราจะจ่ายเงินเพื่อนำเข้าเกมส์ต่างๆ มากกว่า โดยเฉพาะเกมส์ที่มาจากทางเกาหลีและญี่ปุ่น ในอนาคตอันใกล้นี้ "เกมส์ออนไลน์ของคนไทย" คงจะได้เผยโฉมออกสู่ตลาดโลกด้วยชื่อไทยเองเสียที (มีการผลิตเกมส์บนโทรศัพท์มือถือโดยฝีมือคนไทยจำนวนมากอยู่ในตลาดนานแล้ว แต่ไม่ได้เปิดเผยตัวว่าทำโดยคนไทย รวมทั้งภาพยนตร์การ์ตูนดังหลายเรื่องที่วาดภาพประกอบต่างๆ โดยคนไทย แต่สร้างและจำหน่ายโดยต่างชาติ)
นอกจากเรื่องงานกราฟิกแล้ว สิ่งหนึ่งที่ทาง สสวท. และพวกเราทีมวิทยากรแกนนำวิชาคอมพิวเตอร์ กำลังเร่งส่งเสริมอยู่ก็คือ การจัดการเรียนการสอนเรื่อง การโปรแกรมบังคับควบคุมหุ่นยนต์ ซึ่งจะเป็นแนวทางในการส่งเสริมการเรียนรู้เชิงวิทยาศาสตร์ เรียนรู้และเห็นจริงจากการปฏิบัติ สามารถนำไปประยุกต์ใช้กับการทำ โครงงานวิทยาศาสตร์ การเรียนรู้งานอิเล็กทรอนิกส์เบื้องต้น และนำไปสู่การแข่งขันกันการเขียนโปรแกรมควบคุมหุ่นยนต์ ระดับชั้นมัธยมศึกษา ที่ใช้อุปกรณ์ไมโครคอนโทรลเลอร์ในการควบคุมการทำงานทั้งหมด ได้มีการร่วมมือกับคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้ทดลองสร้างเครื่องต้นแบบ ที่โรงเรียนสามารถนำไปสร้างเองได้ เพื่อประหยัดงบประมาณ
สำหรับการแข่งขันในปีนี้ เปิดรับสมัครแล้ว สามารถสมัครเข้าร่วมการแข่งขันได้ตามศูนย์ในระดับภูมิภาค 10 ศูนย์ทั่วประเทศ ใบสมัครและรายละเอียดอื่นๆ อ่านได้ที่ http://oho.ipst.ac.th
ขอส่งข่าวไปยังเพื่อนครูวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์และคอมพิวเตอร์ ในภาคอีสานทุกท่าน ในระหว่างวันที่ 26 - 28 สิงหาคม 2547 นี้ขอเชิญเพื่อนร่วมอาชีพได้เข้าร่วม ประชุมสัมมนาทางวิชาการ วิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และคอมพิวเตอร์ สู่การปฏิรูปการเรียนรู้ครั้งที่ 2 จัดโดย สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาสาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) ร่วมกับโรงเรียนเบ็ญจะมะมหาราช ณ โรงเรียนเบ็ญจะมะมหาราช จังหวัดอุบลราชธานี (ใครอยากเจอครูมนตรีตัวเป็นๆ ก็ไปพบกันครับ)
ครูมนตรี โคตรคันทา
บันทึกไว้เมื่อ : 21 พฤษภาคม 2547
ยินดีต้อนรับสู่เว็บไซต์ของเรา ที่นี่ใช้คุกกี้ (Cookies) เก็บข้อมูล เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น อ่านนโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (Privacy Policy) และนโยบายคุกกี้ (Cookie Policy)