ผ่านไปแล้วกับ โครงการพัฒนาบุคลากร ภาคฤดูร้อน "ทันยุคสู่การเปลี่ยนแปลง" ระหว่างวันที่ 2-4 พฤษภาคม 2547 ผมไปร่วมเป็นวิทยากรในหลักสูตรการจัดทำเว็บเพจ ที่จังหวัดมุกดาหาร มีผู้เข้าร่วมอบรมประมาณ 86 ท่าน (สมัคร 108 ท่าน) ใช้สถานที่อบรมที่วิทยาลัยการอาชีพนวมินทราชูทิศมุกดาหาร ถ้าถามความเห็นผมก็ต้องบอกว่า ไม่ประสบความสำเร็จตามที่ตั้งใจไว้ครับ ด้วยสาเหตุหลายประการ ที่อยู่นอกเหนือการควบคุมของทีมงานวิทยากร
ผมเคยร่วมงานในการจัดอบรมให้ความรู้กับคนหลากหลายอาชีพ หลากหลายหน่วยงาน แต่ก็มาผิดหวังทุกทีกับการจัดการอบรมของหน่วยงานที่ตนเองสังกัดนี่แหละครับ พูดกันตรงๆ ก็คือมันล้มเหลวตั้งแต่คิดโครงการขึ้นมาแล้ว เป็นโครงการเฉพาะกิจประเภทไฟลนก้น ทำเพื่อสนองความต้องการของใครบางคน เพื่อการใช้งบประมาณให้หมด ให้ได้ปริมาณผู้เข้ารับการอบรมเยอะๆ ผลที่เกิดจากการอบรมจะเป็นอย่างไรช่างมัน วิเคราะห์ที่กลุ่มที่ผมรับผิดชอบก็แล้วกันครับจะมองภาพได้ชัดขึ้น
คุณสมบัติของผู้เข้ารับการอบรม มีความห่างกันมากครับ หลายๆ คนยังไม่มีความรู้พื้นฐานในการใช้งานคอมพิวเตอร์ด้วยซ้ำ (การสร้างโฟลเดอร์เก็บไฟล์ รูปแบบของการตั้งชื่อไฟล์ การจัดเก็บไฟล์ การเปลี่ยนชื่อไฟล์หรือจัดเก็บไฟล์เดิมเป็นไฟล์อื่น) ที่สำคัญที่สุดคือเรื่อง "ภาษาอังกฤษ" ครับ การสร้างเว็บเพจนั้นใช้โปรแกรมเฉพาะ ที่เมนูโปรแกรมไม่ได้เป็นภาษาไทย เหมือนตระกูลไมโครซอฟท์ออฟฟิศ การพิมพ์คำหรือข้อความต่างๆ เป็นภาษาอังกฤษเป็นเรื่องที่ผู้เข้ารับการอบรมลำบากมากที่สุด (หาแป้นอักษรภาษาอังกฤษไม่เจอครับ) เลยทำให้การเรียนรู้หยุดชะงักไปหมด คนที่มีความรู้ไปได้เร็ว อีกกลุ่มตามไม่ทันผมต้องย้อนหลายรอบ (ก็ยังไม่ทันอยู่ดี)
สภาพของห้องอบรมไม่เหมาะสม เป็นเรื่องที่ดีที่มีจำนวนเครื่องเพียงพอ ต่อการอบรม 1 คน 1 เครื่อง แต่ไม่สามารถควบคุมเรื่องแสงสว่างได้เลยครับ ตอนเช้าๆ แดดจ้าเข้าไปในห้องอบรม จนไม่สามารถมองเห็นภาพบนจอฉายได้ (นี่ยังไม่นับแสงที่น้อยจากการใช้ผนังห้องแทนจอฉายอีกนะครับ งานนี้ผมต้องนำโปรเจกเตอร์ไปใช้งานเอง เพราะตัวที่จัดให้แสงสู้แดดไม่ไหวครับ) และห้องอบรมยังเป็นสองส่วน มีพื้นที่ว่างตรงกลาง (ขยับไม่ได้เพราะติดเรื่องปลั๊กและรางเน็ตเวอร์ก) กลุ่มหลังๆ จึงมองไม่เห็นเอาเสียเลย
หลักสูตรและเอกสารประกอบการอบรม เป็นเรื่องเหลือเชื่อที่เอาเรื่อง "การสร้างงานกราฟิก และการทำเว็บเพจ" มาสอนให้กับผู้เข้ารับการอบรมที่ไม่มีพื้นความรู้มาก่อน ให้ทำให้ได้ในสามวัน (ความจริงแค่ 2 วันเศษนิดๆ เพราะโดนพิธีเปิด/ปิดกินเวลาไปเสียครึ่งวัน) เอกสารประกอบการอบรมก็ไม่มีให้ผู้เข้ารับการอบรม (เพราะประสานงานอะไรไม่ได้ ไม่รู้จะติดต่อใคร) จนสุดท้ายผมต้องแก้ไขด้วยการนำเอาไฟล์เอกสารประกอบการอบรม ที่ผมมีอยู่เป็น PDF ไปติดตั้งไว้ในเครื่องให้อ่านบนหน้าจอประกอบการอบรม
อย่างไรก็ตาม ก็ยังสามารถทำให้หลายๆ คนได้รับความรู้ใหม่ๆ มองเห็นหนทางที่จะนำไปพัฒนาต่อไปได้อีก บางส่วนที่เคยอบรมจากหลักสูตรอื่นๆ มาบ้างแล้วก็สามารถพัฒนางานต่อยอดไปได้ ก็ได้แต่ให้กำลังใจกับผู้เข้ารับการอบรมทุกๆ ท่านให้เรียนรู้ต่อไปอีก ถือว่าผมเพียงให้แนวทางแล้วให้ท่านคิดและเรียนรู้ต่อไปอีก มีปัญหาก็ปรึกษากันได้ครับ
จากการจัดอบรมครั้งนี้ ทำให้ผมต้องย้อนกลับไปดูมาตรฐานของวิชาชีพครู ที่มุ่งหวังว่า ยุคการปฏิรูปนี้เราต้องการอยากจะได้ "ครู" ที่มีลักษณะอย่างไร? พอดีผมได้ไปอ่านพบเรื่อง มาตรฐานด้านเทคโนโลยีสารสนเทศสำหรับผู้ใช้คอมพิวเตอร์ทั่วไป เห็นว่า เป็นเรื่องที่ดีที่ น่าจะเอามาเล่าสู่กันฟัง ถ้าบุคคลทั่วไปใช้มาตรฐานนี้ ครู จะต้องมีมาตรฐานที่สูงกว่านี้แน่นอน เพื่อการถ่ายทอดความรู้ และวิชาการสู่ลูกหลานไทย มาตรฐานดังกล่าวมีจำนวน 7 ข้อดังนี้
ก็คงต้องขอให้คุณครูทุกท่านได้หันกลับมามองว่าเรา อยู่ตรงไหนของมารตฐานทั้งเจ็ดข้อ นี่เป็นเพียงมาตรฐานของบุคคลทั่วไปนะครับ ถ้าเป็นครูคงต้องลงลึกมากกว่านี้แน่ๆ ไม่อย่างนั้นคงจะตามไม่ทันเทคโนโลยีและลูกหลานของเราที่เขายังวัยละอ่อนกว่าและรับเทคโนโลยีได้เร็วกว่า ระวังจะตกยุคนะครับ (ยิ่งเข้าสู่ยุคของการปรับอัตรากำลังคน มาตรฐานนี้อาจมีส่วนทำให้ท่านต้องเข้าสุ่กลุ่มต้องประเมินและปรับปรุงได้ครับ)
ครูมนตรี โคตรคันทา
บันทึกไว้เมื่อ : 5 พฤษภาคม 2547
ยินดีต้อนรับสู่เว็บไซต์ของเรา ที่นี่ใช้คุกกี้ (Cookies) เก็บข้อมูล เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น อ่านนโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (Privacy Policy) และนโยบายคุกกี้ (Cookie Policy)