ผ่านไปแล้วครับสำหรับการออกอากาศรายการทาง ETV ช่อง 75 ไม่รู้ผลเป็นอย่างไร (ในทัศนะของผู้ชม) แต่คงมีผลตอบรับพอสมควร (เดาเอาจากโทรศัพท์ที่ได้รับสายหลังการออกอากาศ ทำตามและพยายามต่อมาจนจะมืดยังทำไม่ได้เลยค่ะ เอ๊ะยังไง?) คงจะไม่ได้เรื่องซะล่ะมั๊งเนี่ย
สาเหตุที่ทำตามไม่ได้ ก็เพราะเจ้าตัวอักษรภาษาไทยนี่แหละครับ ทำยังไงก็พิมพ์ออกมาเป็นตัวยึกยือ ก็ขอเฉลยกันตรงนี้เลยนะครับ ท่านต้องไปเสาะหาฟอนต์ภาษาไทยตระกูล DSE (ของคุณดุสิตทำแจกฟรี) มาติดตั้งครับ จึงจะสามารถพิมพ์ภาษาไทยได้สวยงามในโปรแกรมตกแต่งภาพ PhotoShop และ ImageReady ครับ
ท่านสามารถศึกษารายละเอียดเรื่องนี้ได้จากเว็บไซต์ของผมเองที่ Easyhome in Thailand ดูในเรื่องของการใช้งานโปรแกรมตกแต่งภาพ PhotoShop และ ImageReady ส่วนฟอนต์ที่ใช้กับโปรแกรมดังกล่าวนี้ DSE ก็สามารถดาวน์โหลดได้จากลิงก์นี้ครับ Font for PhotoShop คงจะช่วยท่านได้นะครับสำหรับท่านที่ติดตามเนื้อหาไม่ทัน
ก็อย่างที่จั่วหัวไว้นั่นแหละครับ ที่ผมคุยกันกับเพื่อนร่วมรายการ (อาจารย์ประเสริฐ จากพระปฐมวิทยาลัย) นั้นก็คาดเดาเอาเองว่า ผู้ชมจะสงสัยในเรื่องอะไร ก็ให้อาจารย์ประเสริฐถามผมก็ตอบไป โดยผู้ชมก็คือกล้องโทรทัศน์ 3 กล้องข้างหน้า (กล้องก็ไม่ถามอีกนั่นแหละ ยังดีที่ช่างกล้องกับผู้กำกับเวทียังคุยด้วยบ้าง ตอนที่ผมไปบันทึกรายการที่โรงเรียนวังไกลกังวล หัวหิน กับครูพูนศักดิ์นั้น ยิ่งพูดกับกล้องจริงๆ เพราะช่างกล้องแกก็เอาแต่เล่นเกมกด ต้องบอกให้ซูมไปโน่น แพนมานี่แกค่อยขยับอีกที) ไม่มันเหมือนสอนกับตัวผู้เรียนต่อหน้าจริงๆ หรอกครับ
ดังนั้น ถ้าท่านไม่เข้าใจตรงไหนอย่างไร? ก็สอบถามกันมาได้นะครับทางอีเมล์จะสะดวกที่สุด อันไหนที่ต้องตอบยาวๆ มีภาพประกอบก็จะทำเป็นหน้าเว็บนำเสนอไว้ที่เว็บ Easyhome เลยเพื่อให้คนอื่นๆ ได้เรียนรู้ร่วมกันได้ ลองไปชมเรื่องอื่นๆ ได้นะครับมีอีกมากทีเดียว
ใกล้จะเปิดเทอมกันแล้วนะครับ ผมยังไม่ได้ปิดเทอมกับเขาเลย ไปโรงเรียนทุกวัน ก็ช่วยเขาเตรียมการ และแก้ปัญหาเรื่องตารางสอน (หาครูมาช่วยเสริมทัพ) เพราะผมวางแผนว่าจะเปิดสอนให้กับทุกคน ทุกชั้น ทุกภาคเรียน (สัปดาห์ละ 1 ชั่วโมงเป็นอย่างน้อย) บางคนบอกว่า เอ็งกินดีหมี หัวใจเสือมาจากไหน ถึงได้กล้าตัดสินใจทำอย่างนั้น? ผมกินแค่หัวใจหมูเท่านั้นแหละครับ (ต้มตือฮวน) แต่ก็ทำเพื่อสนองความต้องการของหน่วยเหนือ ผู้ปกครองนักเรียนและนักเรียนที่ร้องขอกันมานาน พึ่งสบโอกาสทำตอนที่มีประกาศ ศธ. 26 ธันวาคม 2546 นี่แหละครับ เตรียมจัดการเรื่องห้องเรียนคอมพิวเตอร์ที่เพิ่มมากขึ้น และคงต้องเพิ่มอีกในปีต่อไปเพื่อให้เพียงพอและทั่วถึงจริงๆ
วางแผนการจัดระบบเครือข่าย (Re-Arange Network) เพื่อให้รองรับปริมาณการใช้งานในอนาคต เตรียมเครื่องเซิร์ฟเวอร์สำหรับระบบจัดการสอนออนไลน์ e-Learning และเพิ่มวงจรสายเช่า Lease line เพื่อให้ความเร็วของระบบโดยรวมดีขึ้น (เพราะถ้ารวมเครื่องในระบบทั้งหมดคงมากกว่า 350 เครื่อง) ผมฝันค้างรอสายจากกระทรวงมาสามปีแล้ว (ตอนหลังได้ข่าวว่า โยกอุปกรณ์ผมไปให้โรงเรียนในฝันก่อน แล้วยังมาสั่งให้ทำ e-Learning อีก)
ไม่อยากจะบอกเลยว่า เราสู้พัฒนาฝ่าฟันไปตั้งไกล นึกว่าจะสนับสนุนส่งเสริมเราพอมีกำลังใจบ้าง จะไม่น้อยใจเลยที่ท่านมาเก็บเกี่ยวเอาผลประโยชน์ และชื่อเสียงนั้นไปโพนทะนา (ได้หน้ากันไป) เพราะถึงอย่างไรเราก็จะทำเพื่อลูกหลานของเรา เมื่อได้รับการสนับสนุนจากผู้ปกครองนักเรียนอย่างต่อเนื่องและต่อไป
ช่วงนี้ข่าวคราวในวงการศึกษา ก็คงจะเป็นการเร่งพัฒนาครู (พัฒนาครูภาษาอังกฤษ ให้ฟุตฟิตฟอไฟ เสน็กๆ ฟิชๆ) ก็เห็นบ่นกันตรึมว่า มีการผลาญงบที่น่าละอายมากทีเดียว (ข้อมูลในเว็บบอร์ดสพฐ.) อบรมให้ครูรู้ทันไอทีเป้าหมาย 2,000 คน ไปอบรมที่ไหนก็ได้เลือกเอามีทั่วประเทศ (ตารางอบรมวันสุดท้ายมีตะลอนทัวร์ด้วย) แล้วยังมีการส่งครูโรงเรียนเล็ก ไปศึกษาดูงานที่สิงคโปร์ กลับมาแล้วมึนตึ๊บ "ฉันจะทำได้อย่างไร?"
สิงคโปร์ เขามองเห็นการศึกษาเป็นเรื่องสำคัญ ทุ่มเทพัฒนากันเต็มที่ ประชากรน้อยแต่รายได้ประชาชาติสูง คิดแล้วอัตราเฉลี่ยเครื่องคอมพิวเตอร์ 1 เครื่องต่อนักเรียน 2 คน (ทั้งประเทศมีโรงเรียนสามร้อยกว่าโรง) แล้วหันมามองของเราบ้างครับ อัตราส่วนเท่าไหร่? (ท่านไปคิดเอาเองนะครับ สำหรับผมคิดเสียว่าผมมีเครื่องให้นักเรียนใช้ 200 เครื่อง มีนักเรียน 5,000 คน เฉลี่ย 25 คน/เครื่อง) มันจะพอที่ไหนกัน
สำหรับเมืองไทยเรานี่นะครับ ต้องส่งครูไปอบรมด่วนที่สุด ที่ สำนักวัดเส้าหลิน เพื่อผนึกลมปราณให้สามารถเหาะเหิรข้ามไปยังหลังห้อง กลับมาหน้าห้องได้อย่างรวดเร็ว เพราะตอนนี้นักเรียนมันล้นห้องจริงๆ ครับท่าน 50-55 คนต่อห้อง (บางโรงมีถึงห้องละ 60 นะครับ) แล้วมันจะพัฒนาให้เป็นเลิศได้อย่างไรกัน อย่านึกว่าโรงเรียนเขาอยากรับนะครับ ครูก็ไม่อยากสอนมากขนาดนี้ (ผมว่าห้องละ 35 คนนี่ก็แย่แล้วครับ) แต่ท่านสั่งมา ยัดเยียดมาทั้งนั้นแหละ
สัปดาห์หน้านี้ ก็จะตะลอนไปร่วมมหกรรมการฝึกอบรมภาคฤดูร้อน ที่ โรงเรียนจุฬาภรณ์ราชวิทยาลัย มุกดาหาร (จัดกัน 4 จุดทั่วประเทศ ระหว่าง 2-4 พฤษภาคม) ผมรับผิดชอบในส่วนเนื้อหาการสร้างเว็บ เวลาอันจำกัดขนาดนั้นก็อาจจะไม่ได้อะไรมากนักนะครับ ถือว่าเป็นการไปสร้างแรงกระตุ้นให้ครูเราทันเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลง สมกับเป็นครูยุคปฏิรูปการศึกษา ต้องเดินหน้าฝ่าฟันวิกฤตที่กำลังคน (ครู) ลดลง (นี่ก็ได้ข่าวจะมีการให้ออก 5% อีก จะเหลือเท่าไหร่หนอรอบนี้) ภาระงานที่ไม่ใช่การสอนสารพัดได้ถาโถมมาลงที่ครู (เรียกว่า ใกล้บ้าเพราะเอกสารรายงาน ครับ) ขณะที่นักเรียนมากขึ้น มีเรื่องที่จะเรียนรู้มากขึ้น เราต้องหาตัวช่วยให้ผ่อนแรง การสร้างเว็บเพจ การทำบทเรียนออนไลน์จึงเป็นทางเลือกที่น่าสนใจในขณะนี้ครับ
ครูมนตรี โคตรคันทา
บันทึกไว้เมื่อ : 27 เมษายน 2547
ยินดีต้อนรับสู่เว็บไซต์ของเรา ที่นี่ใช้คุกกี้ (Cookies) เก็บข้อมูล เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น อ่านนโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (Privacy Policy) และนโยบายคุกกี้ (Cookie Policy)