เมื่อวันที่ 25-26 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมาได้มีโอกาสไปร่วมงาน ICTED2004 ที่จัดโดย มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ร่วมกับ สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) ก็มีการนำเสนอผลงานด้านการพัฒนา การใช้สื่อและนวัตกรรมไอซีที เพื่อการศึกษาไทยหลากหลายเรื่อง เนื่องจากเวลาและสถานที่ในการจัดงาน มีความทับซ้อนกันเลยไม่ได้เข้าร่วมทุกรายการ ก็พอจะสรุปเป็นภาพกว้างๆ ได้ดังนี้
แม้เราจะยืนอยู่กับที่ไม่ขยับตามเทคโนโลยี แต่วันนี้เทคโนโลยีก็จู่โจมเข้าหาคุณอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เราจึงไม่อาจยืนตั้งรับได้อย่างเดิม ต้องหาทางตอบโต้ และรุกคืบเข้าไปใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีนั่นแล้ว หลายท่านได้เสนอแนวคิดการพัฒนาข้ามช็อทจาก e-Learning สู่ m-Learning กันแล้ว
e-Learning คงไม่ต้องอธิบายขยายความเพิ่มนะครับ แต่ m-Learning นี่คงต้องบอกนิดหนึ่ง อักษร m มาจากคำ Mobile หรือเคลื่อนที่ได้ครับ นั่นก็หมายถึงการจัดการศึกษาหรือการเรียนรู้ผ่านสื่อที่สามารถเคลื่อนที่ไปได้ทุกแห่งหน เช่น Mobile phone, PDA, Palmtop, Notebook ซึ่งตอนนี้แนวโน้มความเป็นไปได้ก็มีอยู่สูง (เทคโนโลยีทำได้ แต่เนื้อหายังตามไปไม่ทันซะมากกว่า)
สิ่งที่ได้ทดลองใช้และประทับใจจริงก็คือ Wi-Fi ครับ เป็นการทำเครือข่ายไร้สายหรือที่เรียกกันว่า Wireless LAN นั่นเองครับ ในมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เขามีระบบเครือข่าย KUWin ให้บริการสำหรับอาจารย์และนักศึกษาที่ใช้คอมพิวเตอร์แบบพกพา (Notebook) ที่มีระบบ/หรืออุปกรณ์ประเภทไวร์เลส ทั้งที่มีในตัวเครื่องอย่าง Centrino หรือการ์ดเสริมแบบ PCMIA สามารถเข้าถึงข้อมูลบนเครือข่ายอินเทอร์เน็ตได้ทุกที่ สะดวกรวดเร็วดีครับ ในสถานที่บางแห่งที่เป็นย่านชุมชนธุรกิจก็มีติดตั้งกันบ้างแล้ว (แต่ราคาแพงไปหน่อย ไปลองใช้ที่ร้านสตาร์บั๊คชั่วโมงหนึ่ง 90 บาท ยังไม่รวมค่ากาแฟนะครับ)
ถ้ารัฐบาลส่งเสริมจริงจังให้มีราคาที่ต่ำลง วางระบบเครือข่ายพื้นฐานกระจายให้ทั่วถึง ประชาชนทุกคน (หรือส่วนใหญ่ หรือในสถานศึกษา) ได้มีโอกาสใช้ รวมทั้งส่งเสริมการสร้างเนื้อหาสาระ (Content) ที่เอื้อต่อการศึกษาของไทย ก็จะเป็นประโยชน์ได้อย่างแท้จริง นั่นหมายความว่า ถ้าอยากให้การศึกษาไทยก้าวไปพร้อมกับเทคโนโลยี การสร้างเนื้อหาองค์ความรู้ที่ครอบคลุมในทุกๆ ด้าน ทั้งเรื่องราวความเป็นไทยในอดีต สิ่งที่ดำรงอยู่ในปัจจุบัน และที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในอนาคต จะต้องได้รับการสนับสนุนส่งเสริมให้สร้างขึ้นมากกว่านี้
การเข้าร่วมประชุมสัมมนา แสดงผลงานต่างๆ ของคนในแวดวงการศึกษาในงาน ICTED2004 จึงเป็นเรื่องที่ควรได้รับการสนับสนุนและส่งเสริมเป็นอย่างยิ่ง แต่ผมก็ประหลาดใจมากในวันเปิดงาน ที่ไม่มีเงาของคนระดับเสนาบดีในกระทรวงศึกษาธิการ ไปร่วมงานแม้แต่คนเดียว ทั้งๆ ที่งานครั้งนี้คือการเสนอผลงานของคนที่มีความตั้งใจจริง ที่จะพัฒนาการศึกษาของชาติ เสียสละทุ่มเท จนผมอยากจะตะโกนว่านี่คืองานยิ่งใหญ่ของคนบ้าเพื่อชาติโดยแท้
ครูมนตรี โคตรคันทา
บันทึกไว้เมื่อ : 29 กุมภาพันธ์ 2547
e-Learning กำลังเป็นประเด็นร้อนที่ดูเหมือนใครๆ ก็พากันกล่าวถึง บางคนก็พูดเพราะเข้าใจว่าคืออะไร แต่บางคนก็พูดเพราะอยากเป็นคนร่วมสมัย แต่ที่แน่ๆ ยังไม่มีคนที่กล้าพูดลงไปเลยว่าเราทำได้ ทำอย่างไร เชื่อถือได้แค่ไหน เราพร้อมเพียงใด?
แน่นอนครับ ผมก็ไม่กล้าฟันธงลงไปเลยทีเดียว เพียงแต่บอกว่าตอนนี้เราน่าจะทำได้แล้ว ด้วยสถานการณ์ที่จำเป็นและมีโอกาสเอื้ออำนวยพอที่จะทำให้เกิดผล ลองมาดูกันว่ามีอะไรบ้าง
1. กำลังคนและผู้เชียวชาญในระบบลดลง
จากนโยบายลดกำลังคนในองค์กรเพื่อการบริหารให้มีประสิทธิภาพ นโยบายจากกันด้วยดี ทำให้ครูผู้เชี่ยวชาญหลายๆ คนออกจากวงการไป
2. เทคโนโลยีก้าวหน้าเร็วและราคาถูกลง
อันนี้ปฏิเสธไม่ได้ครับ เพราะแค่ไม่ถึง 3 เดือนก็มีการเปลี่ยนแปลงชนิดหน้ามือเป็นหลังมือแล้ว ในช่วงปีที่ผ่านมาโครงการคอมพิวเตอร์ไอซีทีได้ทำให้ตลาดวงการคอมพิวเตอร์เปลี่ยนโฉมไปชนิดปั่นป่วนรวนเรถล่มทะลาย ราคาลดลงชนิดฮวบฮาบทำให้การมีคอมพิวเตอร์สักเครื่องในบ้านเป็นเรื่องไม่ยาก และมีนี้ยังมีโครงการเทรดอิน (เครื่องเก่าแลกเครื่องใหม่) มาถล่มตลาดอีก โทรศัพท์พื้นฐานและระบบอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงราคาถูกกำลังกระจายออกมา คิดว่าไม่นานน่าจะครอบคลุมพื้นที่ทั่วประเทศ
ขอเวลาอีกหน่อยจะร่ายให้ฟังเป็นฉากๆ ว่าจะทำอย่างไร ตอนนี้พักไว้ก่อนนะครับ (มันชุลมุนไปหมดนะครับ งานการตอนนี้)
ปรับปรุงเพิ่มเติม : 11 มีนาคม 2547
โรงแรมรอแยลเบ็ญจา กรุงเทพฯ
ยินดีต้อนรับสู่เว็บไซต์ของเรา ที่นี่ใช้คุกกี้ (Cookies) เก็บข้อมูล เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น อ่านนโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (Privacy Policy) และนโยบายคุกกี้ (Cookie Policy)