จากข่าวพาดหัวหน้า 1 หนังสือพิมพ์เมื่อสองสามวันก่อน มีคำถามตามมามากมายว่า สิ่งที่วัดนั้นได้ค่าถูกต้องมากน้อยเพียงใด ครูไทยอ่อนภาษาอังกฤษจริงหรือไม่? แนวทางพัฒนาที่หลายฝ่ายออกมาบอกนั้นจะทำได้มากน้อยเพียงใด? ข่าวพาดหัวมีดังนี้
ผลประเมินความรู้ภาษาอังกฤษแม่พิมพ์ไทยส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มอ่อนถึง 75% ได้คะแนนสูงสุดอยู่ที่ 91 คะแนน ต่ำสุด 2 คะแนน จากคะแนนเต็ม 100 คะแนน "
ดร.ศรีสมร พุ่มสะอาด ผู้อำนวยการสำนักพัฒนานวัตกรรมการจัดการศึกษา สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กล่าวว่า ตามที่ สพฐ.ร่วมกับมหาวิทยาลัยรามคำแหง จัดให้มีการประเมินความสามารถทางภาษาอังกฤษ ของครูผู้สอนภาษาอังกฤษ จำนวน 15,000 คน ใน 80 เขตพื้นที่การศึกษาของ 30 จังหวัดท่องเที่ยวเขตละประมาณ 200 คนนั้น ผลการประเมินพบว่า
"ครูมีความสามารถการใช้ทักษะภาษาอังกฤษทั้งฟัง พูด อ่าน และเขียน โดยจัดเป็นกลุ่มระดับต้นๆ หรืออ่อนประมาณ 75% ในระดับกลางประมาณ 15% และระดับสูงหรือเก่งประมาณ 10% จากคะแนนสอบเต็ม 100 คะแนน มีผู้สอบได้คะแนนเฉลี่ยสูงสุด 91 คะแนนและต่ำสุด 2 คะแนน ซึ่งในส่วนที่ครูได้คะแนนน้อยอาจเป็นเพราะบริบทของการสอบที่มีการประเมินกระทันหัน การใช้เครื่องมือที่ทันสมัย ครูบางคนต้องเดินทางไกลเพื่อมาสอบ และครูบางคนก็ไม่ได้จบในสาขาภาษาอังกฤษ โดยเฉพาะครูระดับชั้นประถมศึกษา ดังนั้นอาจทำให้คะแนนออกมาคลาดเคลื่อนได้ แต่ข้อมูลที่ได้จากการประเมินก็จะนำมาใช้ในการพิจารณา ตั้งงบประมาณให้ครูทุกกลุ่มได้รับการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง และตรงตามความต้องการของครู เพราะบางคนอ่านเขียนได้ดี แต่พูดและฟังไม่คล่อง เพื่อประโยชน์ในทางการเรียนการสอนต่อไป"
ในข่าวยังกล่าวถึงแนวทางในการพัฒนา อบรมครูอีกหลายเรื่องหลายประเด็น แต่นั่นผมจะยังไม่กล่าวถึง เรามาดูกระบวนการสอบครั้งนี้ก่อนว่าเป็นอย่างไร?
มาเริ่มกันก่อนว่า การสอบครั้งนี้ได้เตรียมการแจ้งให้ผู้เกี่ยวข้องทราบล่วงหน้าหรือไม่เพียงใด? ครูส่วนใหญ่รู้ตัวล่วงหน้าประมาณ 1 วัน สถานที่สอบอยู่ในตัวจังหวัด แต่ผู้เข้าสอบมาจากทุกเขตพื้นที่ บางคนต้องออกจากบ้านตั้งแต่ตีสี่-ตีห้า เพื่อให้มาถึงในตัวจังหวัดก่อนแปดโมงเช้า (ก็ห่างร่วม 150 กิโลเมตร) มีการย้ายสถานที่สอบกันอีกแบบกระทันหัน กว่าจะพบสถานที่สอบก็เกือบ 9 โมงเช้าแล้ว นี่หรือคือการเตรียมการทดสอบระดับชาติ
ไม่ทราบขอบเขตของการทดสอบว่า มีกรอบแค่ไหน ผลการทดสอบจะเอาไปทำอะไรต่อไป พวกเราส่วนใหญ่จึงไม่ค่อยได้ใส่ใจมากนัก ไม่แยกแยะออกมาว่าคนสอนระดับประถมจะวัดอะไร อย่างไร? ระดับมัธยมจะเอากันมากน้อยแค่ไหน? (ยังจำคำของใครไม่ทราบได้กล่าวว่า ความรู้เรียนมามากมาย แต่พอใช้สอนระดับไหนจำเจความรู้ที่มีก็พลอยหดหายเหลือเท่าระดับนั้น จริงหรือไม่ลองตรองดูนะครับ?)
ได้ทราบจากเพื่อนครูจากริมชายแดนที่เข้าสอบว่า ตนอ่านข้อความ อ่านที 2 - 3 Paragraph แล้วให้ตอบคำถาม แล้วครูแก่ ๆ อย่างเราจะมีสมาธิแค่ไหนสำหรับการจำ ความจำของมนุษย์พัฒนาเต็มที่ช่วงวัยรุ่น การสอบทั่วๆ ไปก็แจ้งล่วงหน้าเป็นเดือน เช่น การสอบบรรจุรับราชการเป็นทหาร ตำรวจ ปลัดอำเภอ ครู เสมียน แม้แต่สอบเอนทรานซ์ที่กำลังเป็นข่าวข้อสอบรั่ว มีการระบุเนื้อหาครบถ้วนว่าจะออกแค่ไหน อย่างไร นี่ไม่บอกอะไรเลย พวกที่สอนระดับชั้น ป.1 ก็เลยคิดเอาเองว่าจะออกเนื้อหาไม่เกิน ป.1 เพราะใช้สอนกันอยู่แค่นั้น ไม่จำเป็นต้องไปสื่อสารระดับสูงกับใครที่ไหน ผลจึงออกมาอย่างที่เห็นนี่แหละ
ครูที่ได้คะแนนต่ำ (ตามข่าวคือ 2/100) น่าจะไม่ใช่พวกจบปริญญาตรีวิชาเอกภาษาอังกฤษ แต่เป็นพวกจำใจต้องสอน เพราะไม่มีครูเอกภาษาอังกฤษเลยในโรงเรียน (และร้อยละ 70 ก็เป็นอย่างนี้ไม่ใช่หรือ? ยอมรับกันบ้างหรือเปล่า?) ไปสืบหาข้อมูลดูจะพบว่า ในโรงเรียนประถมศึกษาแต่ละโรง มีครูจบเอกภาษาอังกฤษกี่คน เราใช้ครูจบวิชาเอกประถมวัย (ครูบูรณาการตั้งแต่ตอนเรียนปริญญาตรี เก่งแบบเป็ด ว่ายน้ำได้ บินได้ แต่ไม่ชำนาญเหมือนปลาหรือนก แค่เดินก็ยังเซครับท่าน) ไปสอนทุกวิชา ซึ่งเป็นการสอนที่ผิดๆ มาตั้งแต่ชั้นอนุบาลมานานนับศตวรรษแล้ว ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของเราจึงเป็นเช่นนี้
ช่วงที่มีการประชาพิจารณ์หลักสูตร ทราบว่าจะมีการสอนภาษาอังกฤษตั้งแต่ช่วงชั้นที่ 1 (ก่อนนี้หลักสูตรเก่าไม่มีสอน) ได้มีการถามในที่ประชุมแล้วว่า จะแก้ปัญหาขาดแคลนครูภาษาอังกฤษในโรงเรียนประถมศึกษาอย่างไร มีอาจารย์ที่สอนอุดมศึกษาตอบว่า "บรรจุครูเพิ่มสิ" น่าอดสูใจจริงๆ ที่ไม่มีความรอบรู้เลยว่า เขาจำกัดอัตรากำลังข้าราชการช่วงฟองสบู่แตกอยู่ หากมีเงินบรรจุ ก็ต้องบรรจุอย่างน้อยโรงเรียนละ 2 คน เพื่อรับผิดชอบสอนคนละ 3 ระดับชั้น ถามว่าต้องใช้ครูกี่คน แต่จนบัดนี้มีการดำเนินการเรื่องนี้หรือไม่ (ปีนี้ประกาศให้สอนวิชาคอมพิวเตอร์อย่างเจาะลึกและเข้มข้น เออจะบ้าตาย เครื่องก็ไม่มี ครูก็ไม่มี สงสัยจะมาแบบเดียวกับครูภาษาอังกฤษนี่แหละ)
ผลการทดสอบครั้งนี้ไม่ควรจะนำมาเปิดเผย เพื่อให้สังคมวิจารณ์ สมเพช เวทนาครูอย่างนี้ แต่ควรจะนำเอาผลที่ได้ไปใช้ในการพัฒนา/แก้ไข เรียกว่าเกาให้ถูกที่คันกันดีกว่า อย่าว่าแต่พวกเราชาวครูประถมและมัธยมเลย ลองให้พวกเราออกข้อสอบ เอาอาจารย์ในสถาบันระดับสูงกว่าเรามาสอบแบบไม่บอกขอบข่ายแบบนี้ดูบ้างซิ จะได้รู้ว่าไม่ได้มีผลแตกต่างกันดอก จะดีกว่าหน่อยก็ตรงที่ท่านทั้งหลายส่วนใหญ่เรียนมาตรงเอกเท่านั้นแหละน่า?
เรื่องการพัฒนาครูในหน่วยงานของเรา (ทั้งกรมสามัญศึกษา สปช. ก่อนจะมารวมกันเป็น สพฐ.) นี่ก็แปลกมาก เวลาจะผลาญงบประมาณเกณฑ์ครูไปอบรมโดยให้หน่วยงานอื่นจัดให้นี่ไม่เคยอั้นเรื่องงบประมาณ (กรณีศึกษาเมื่อปลายปีที่ผ่านมาในโครงการพัฒนาครูด้านไอทีที่โอนงบประมาณไปให้ราชภัฏจัด ค่าหัวครูรายละ 3,000 บาท) หลักสูตรเขียนไว้โหว่ๆ ตำรา เอกสารประกอบการอบรมก็แบบตัดเล่มนั้นผสมเล่มนี้โรเนียวเย็บเล่ม อบรม 5 วันไม่ได้มรรคผลอะไรเลย (ยังไม่เคยประเมินโครงการด้วยซ้ำ) ครูกลับมาสมองกลวงเหมือนเดิม
ผมมีกรณีตัวอย่างที่น่าสนใจนำไปเปรียบเทียบ (กระทรวงศึกษารู้หรือไม่ว่าเขาทำอะไร?) การอบรมครูผู้สอนวิชาคอมพิวเตอร์ ที่ดำเนินการโดย สสวท. ด้วยรูปแบบที่มีมาตรฐาน คือ การสร้างวิทยากรแกนนำวิชาคอมพิวเตอร์ อย่างเป็นระบบ พัฒนาเพิ่มพูนความรู้ของกลุ่มวิทยากร ส่งผ่านไปยังครูผู้สอนในโรงเรียนด้วยการจัดอบรมขยายผลผ่านศูนย์อบรมที่อยู่ในจังหวัดต่างๆ โดยวิทยากรแกนนำเหล่านั้น สร้างคุณภาพในวงการศึกษามากมาย กลับไม่ได้รับการสนับสนุนด้านงบประมาณเลย (เว้นแต่งบประมาณจาก สสวท. ที่จัดมาให้) จึงทำให้ขยายผลได้จำนวนน้อยมาก
ในปีนี้ระหว่างวันที่ 29 มีนาคม - 7 เมษายน (10 วันเต็มไม่เว้นวันหยุด) จะเป็นการฝึกอบรม ครูผู้สอนวิชาเทคโนโลยีสารสนเทศ ระดับประถมศึกษา ใน 20 ศูนย์ทั่วประเทศ และ 29 มีนาคม - 2 เมษายน จะเป็นการอบรม ครูผู้สอนวิชาเทคโนโลยีสารสนเทศ ระดับมัธยมศึกษา ใน 10 ศูนย์ เป็นการเพิ่มพูนศักยภาพของครูผู้สอนในทุกระดับ แต่ละศูนย์รับผู้เข้ารับการอบรมได้เพียงศูนย์ละ 40 คนเพราะได้รับงบประมาณมาจำกัด แต่จำนวนครูที่สมัครเข้ามามากกว่านี้ 2-3 เท่า
สพฐ. น่าจะหันกลับมามองบ้าง เพราะนี่เป็นการลงทุนที่ต่ำ ด้วยคนของหน่วยงานตนเองที่มีคุณภาพทั้งนั้น ดีกว่านำไปตำน้ำพริกละลายแม่น้ำอย่างโครงการที่ผ่านๆ มา ไม่ต้องไปจ่ายค่าเครื่องบิน ค่าเช่าที่พักให้วิทยากรหญ่ายๆ ที่ไหน เงินส่วนนั้นนำมาพัฒนาครูเราได้อีกเยอะครับ คนรู้จริงในเรื่องงานที่เราทำก็ต้องคนของพวกเราไม่ใช่หรือครับ การปฏิบัติและทำได้จริงนี่มีค่ากว่าทฤษฎีลอกฝรั่งมานะครับ
แม้แต่การทำระบบเครือข่าย (Network) ในโรงเรียน การทำเครื่องแม่ข่าย (Server) ให้บริการอินเทอร์เน็ต ครูมัธยมอย่างพวกผมลุยมาตั้งนาน ทำเองทั้งนั้น ตั้งแต่การเข้าหัวสายแลน ติดตั้งระบบปฏิบัติการลีนุกส์ โดยการขัดเกลามาจากทางเนคเทค แต่แปลกพอจะให้งบประมาณติดตั้งระบบเครือข่ายในโรงเรียน ดันไปให้อีกหน่วยมาสอนเรา (เหอๆๆ เข้าหัวสายก็ไม่เป็น ระบบก็จ้างบริษัทมาทำให้ทั้งนั้น ไปลอกคู่มือฝาหรั่งมาบรรยายถูกๆ ผิดๆ ให้หัวเราะเยาะกันอยู่ได้) ทำไมไม่ใช้คนของเราเองครับท่าน น่าน้อยใจจริงๆ พับผ่า!....
ครูมนตรี โคตรคันทา
บันทึกไว้เมื่อ : 25 มีนาคม 2546
ยินดีต้อนรับสู่เว็บไซต์ของเรา ที่นี่ใช้คุกกี้ (Cookies) เก็บข้อมูล เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น อ่านนโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (Privacy Policy) และนโยบายคุกกี้ (Cookie Policy)