เมื่อวันที่ 17-19 กุมภาพันธ์ 2547 ที่ผ่านมาได้รับมอบหมายให้เดินทางไปเข้าร่วมประชุมปฏิบัติการเรื่อง การจัดการเรียนการสอนทางไกลด้วยรูปแบบ e-Learning ที่โรงแรมแอมบาสซาเดอร์ กรุงเทพฯ ซึ่งมีเจ้าภาพคือ สำนักเทคโนโลยีเพื่อการเรียนการสอน (สทร.) เป็นผู้ดำเนินการ โดยมีโรงเรียนต่างๆ จำนวน 29 โรงเรียนจากทุกภาคของประเทศมาร่วมระดมความคิด
ผมเดินทางไปร่วมประชุมด้วยความหวังว่า อ๊ะ! คราวนี้เราคงไม่โดดเดี่ยวเดียวดาย มีเพื่อนร่วมทางหรืออย่างน้อยๆ ก็มีธงนำคือ หน่วยงานระดับกรม/กองเป็นแนวหน้า มีการตระเตรียมระบบหรือแนวทางไว้แล้ว คงจะต้องการเรื่องจัดการเนื้อหาต่างๆ จากโรงเรียนเป็นแน่แท้
แต่ผมคงจะคาดหวังมากเกินไปครับ ผลปรากฏว่า ยังไม่มีอะไรในกอไผ่ (ความจริงกอไผ่ก็ยังไม่มีอีกเหมือนกัน มีแต่ความว่างเปล่า) กลับกลายเป็นว่า กรม/กองหน่วยเหนือคาดหวังว่าโรงเรียนได้ดำเนินการไปมากมายแล้ว เชิญโรงเรียนมานั่งรวมหัวกันคิดจับโน่นจับนี่มาเสียบเข้าไป ให้ผู้เรียนเรียนกันไปตามขั้นตอน แล้ววัดผลให้เกรด ให้ใบประกาศนียบัตร (โอ้! พระเจ้านี่ผมฝันไปหรือนี่ ถ้ามันง่ายอย่างนี้ผมทำเสร็จไปนานแล้ว)
e-Learning มีอะไรมากกว่าทึ่คิดครับ ต้องเข้าใจกันก่อนว่า e-Learning นั้นมาจากคำว่า Electronics + Learning นั่นก็คือ การเรียนรู้โดยใช้สื่อที่เป็นอิเล็กทรอนิกส์ เราใช้การเรียนผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์มานานแล้ว เช่น
ในยุคปัจจุบันนี้ เท่าที่เห็นก็จะเป็นเพียงการใช้สื่อในรูปแบบเอกสารประกอบการสอน การบรรยายของครูในบางเรื่อง บางบท บางเนื้อหาเท่านั้น มีเพียงส่วนน้อยที่ก้าวไปถึงขั้นเป็นชุดวิชาออนไลน์มีสื่อและกิจกรรมครอบคลุมทั้งรายวิชา อย่างไรก็ตามชุดวิชาเหล่านี้ก็เป็นเพียงสื่อเสริม หรือสื่อประกอบกับการสอนปกติของครู ไม่สามารถวัดและประเมินผลโดยตรงได้จากสื่อในชุดวิชานั้นๆ ด้วยเหตุผลอะไรก็คงจะพอเดากันได้ไม่ใช่หรือครับ (คลิกไปอ่านเรื่องที่เกี่ยวข้อง ที่นี่)
ดังนั้น การที่ผู้หลักผู้ใหญ่ในกระทรวง/กรม/กอง ต้องการในวันนี้และขีดเส้นตายว่า ต้องดำเนินการให้ได้ในปิดภาคเรียนฤดูร้อนนี้ ต้องเปิดสอนในหลากหลายวิชา มีผลการเรียน (เกรด) และเป็นการเรียนข้ามโรงเรียน จึงเป็นยิ่งกว่าฝันกลางแดดของเดือนเมษายนเสียอีก เจ้าหน้าที่รับผิดชอบหลายๆ คนก็รู้ว่าทำไม่ได้ แต่น้ำท่วมปากต้อง Say Yes! เพื่อสนอง Needs นายร่ำไป
ทำไม? ตอบได้ง่ายมากครับ ณ วันนี้เรายังไม่มีระบบจัดการเรียนออนไลน์ (LMS : Learning Management System) ที่มีมาตรฐานพอ เอาแค่มองในระดับอุดมศึกษาเอง (ที่มีทั้งทุน นักวิจัย นักพัฒนา โปรแกรมเมอร์) ก็ยังไม่ประสบผลสำเร็จ ไม่ว่าจะเป็นระบบของ Chula Online, Max@ Learn (ม.เกษตร), CMU Online (ม.เชียงใหม่), V-Class (AIT), Education Sphere (รามคำแหง), Atutor (ประสานมิตร) ทุกระบบยังเป็นแค่สื่อเสริมสำหรับการสอนปกติ หรือเป็นแค่คอร์สฝึกอบรมสั้นๆ เท่านั้น
ระบบเหล่านี้ บางระบบเป็น OpenSourse ใช้ได้ฟรี นำมาพัฒนาต่อได้เลย แต่บางระบบต้องซื้อในราคาแพงมหาศาล แต่ทุกระบบก็มีปัญหาที่เหมือนกัน ก็คือการสร้างมาตรฐานของบทเรียน เนื้อหา แบบทดสอบและรูปแบบการวัดผลประเมินผล ซึ่งจะต้องมีการวิจัยและพัฒนาอีกมากมายจนกว่าจะยอมรับกันได้ แม้แต่สิ่งที่ผมกำลังทำบทเรียนออนไลน์อยู่นี่ก็เป็นเพียงสื่อสอนเสริมเท่านั้นเอง ไม่กล้าที่จะใช้ในการตัดสินผลการเรียนหรอกครับ
เรื่องการจัดหาระบบ LMS มาใช้ในการจัดการสอนออนไลน์ในที่ประชุมก็พอจะหามาใช้ได้ เอาแบบที่เขาให้ใช้ฟรีๆ อย่าง Moodle, ATutor ก็ไม่ใช่เรื่องยากเย็น เพราะมีคนได้ทดลองใช้แล้วบางส่วน หรือแม้แต่ระบบที่พัฒนาโดยทีมงานของผมนี่ก็พอจะแก้ขัดไปได้ แต่อย่าลืมว่างานนี้ไม่ได้มีการวางแผนไว้ล่วงหน้ามาก่อน เครื่องแม่ข่ายให้บริการอยู่ที่ไหนที่จะรองรับการเข้ามาใช้งานพร้อมๆ กันได้ จะใช้ระบบของโรงเรียนใดโรงเรียนหนึ่งจะใช้ได้หรือ? เพราะลำพังแค่รับการเรียกใช้งานเฉพาะโรงเรียนตัวเองก็แทบแย่แล้ว ช่องทางจราจรของเครือข่ายก็มีน้อยนิดไม่เพียงพอ จะขยายก็ไม่ได้เพราะขาดงบประมาณสนับสนุนจากกระทรวง/กรมเจ้าสังกัด
ผมยืนยันในข้อนี้เพราะผมพยายามต่อสู้กับเรื่องนี้มากว่า 4 ปี ได้รับงบประมาณในสายลม (จากปี 2545, 2546) จนป่านนี้ยังไม่ได้รับเลยครับ แต่ผลงานที่ออกมาก็ทำให้หลายหน่วยงานเอาไปใช้อ้างอิงอยู่บ่อยๆ ว่าโรงเรียนได้พัฒนาระบบไปก้าวไกล เรามีค่าใช้จ่ายในการเชื่อมต่อเครือข่ายประมาณปีละ 300,000 บาท ซึ่งยังไม่เพียงพอต่อการบริหารจัดการ (อุปกรณ์ทุกชิ้นมีอายุการใช้งานต้องการการบำรุงรักษา)
ณ วันนี้ ถ้าท่านผู้บังคับบัญชาในหน่วยเหนือ ได้บังเอิญเข้ามาอ่านบทความเหล่านี้ (หรือใครจะสำเนาให้ท่านได้อ่านกันบ้าง) ผมก็ขอเรียนด้วยความจริงใจว่า พวกเรามดงาน (ครูผู้น้อยผู้ปฏิบัติ) พร้อมจะสนองนโนบายท่านแน่นอน ถ้าได้รับการสนับสนุนจากท่านอย่างจริงจังในเรื่องของงบประมาณสำหรับอุปกรณ์ และการเชื่อมต่อเครือข่าย ไม่เอาอะไรมากหรอกครับ เครื่องแม่ข่ายไฮเอนด์สักตัววางบน IDC ที่จุดเชื่อมต่อหลักของประเทศ ที่เหลือก็จะเป็นการระดมพลสร้างเนื้อหาซึ่งคงไม่ยากเย็นนัก แต่ก็ต้องขอเวลาในการวิจัยและพัฒนาเพื่อให้ระบบมีมาตรฐานเชื่อถือได้ แล้วไม่แน่นะ เราอาจจะมีการจัดการเรียนการสอนออนไลน์ในระดับที่สามารถถ่ายโอนหน่วยกิตรายวิชาได้จริงๆ ก็อาจเป็นได้...
ครูมนตรี โคตรคันทา
บันทึกไว้เมื่อ : 31 มกราคม 2547
ยินดีต้อนรับสู่เว็บไซต์ของเรา ที่นี่ใช้คุกกี้ (Cookies) เก็บข้อมูล เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น อ่านนโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (Privacy Policy) และนโยบายคุกกี้ (Cookie Policy)