กลับมาจากร่วมสัมมนาเรื่อง การพัฒนาสื่อการเรียนออนไลน์ด้วย ระบบ Open Source LMS "ATutor" ที่มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ประสานมิตร มายังไม่ได้อัพเดทเล่าสู่กันฟังเลย ก็ต้องเดินทางอีกรอบไปที่บ้านผู้หว่าน นครปฐม เพื่อร่วมประชุมปฏิบัติการ เรื่อง การพัฒนาแผนเทคโนโลยีการเรียนรู้และการนำแผนสู่การปฏิบัติ ในฐานะโรงเรียนเครือข่ายการใช้ ICT เพื่อการเรียนรู้ ของ สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) ระหว่างวันที่ 29-31 มกราคม 2547 ที่ผ่านมา จึงขอยกมาเล่าสู่กันฟังทั้งสองเรื่องเลยครับ
เริ่มกันที่ ATutor เป็นระบบการจัดการสอนออนไลน์ (LMS : Learning Management System) ที่เป็นระบบเปิด (OpenSource) ที่ผมกล้าการันตีได้เลยว่า ดีและฟรี (อีกแล้วครับท่าน!) การใช้งานค่อนข้างจะครอบคลุมระบบการจัดการสอนทุกเรื่อง ตั้งแต่ระบบสมาชิก (ผู้เรียน/ผู้สอน) การสร้างรายวิชา บทเรียน แบบทดสอบทั้งปรนัย/ถูก-ผิด/อัตนัย การเปิดปิดวิชาเรียนได้ 3 ระดับคือ สำหรับบุคคลทั่วไป (Public) สำหรับสมาชิกในองค์กร (Private) และสำหรับผู้ลงทะเบียนกลุ่มเฉพาะ (Protect)
ภาพข้างบนคือหน้าตาของโปรแกรม ATutor ท่านที่สนใจอยากจะลองทดสอบดูหน้าตาและการทำงานของระบบได้ที่เว็บไซต์ผู้พัฒนา www.atutor.ca หรือ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ และที่เว็บไซต์ โรงเรียนเบ็ญจะมะมหาราช
การเดินทางรอบที่สองไปที่บ้านผู้หว่าน สวนสามพราน จังหวัดนครปฐม ที่นี่เป็นการไปรับฟังแนวคิดและจัดทำแผนพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการเรียนรู้ ระยะ 3 ปี (2547 - 2549) ได้รับความรู้จากวิทยากรหลากหลายท่าน แต่ที่เก็บเป็นประเด็นมาเล่าสู่กันฟังก็มาจากท่าน ร.ศ.ยืน ภู่วรวรรณ "เรามักจะเริ่มเทคโนโลยีเมื่ออาทิตย์อัศดง" วาทะเด็ดที่ผมเก็บตกมาขยายต่อจากอาจารย์ยืน ความหมายนี้คือ เมื่อโลกเราเกิดการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีเราจะยังหลับใหลอยู่ (เพราะเราชอบตื่นสาย) กว่าเราจะรู้ว่าว่ามันฮอตฮิต (ร้อนแรง) ก็ตอนเที่ยงวันพอดี อย่างระบบ e-Learning ที่เรากำลังฮิตอยู่นี่แหละ เราสนใจก็เริ่มคิดวางแผนจะทำบ้างปรากฏว่า กว่าเราจะได้ลงมือจริงๆ ตะวันก็ตกดิน (เรียกว่า เมื่อเราเริ่มต้นอาทิตย์ก็อัศดงเสียแล้ว อย่างที่กล่าว) ถูกใจครูมนตรีเหลือเกิน จนอดที่จะเอามาขยายต่อไม่ได้ครับ เห็นด้วยไหมครับ?...
หนังสือที่นายกรัฐมนตรี (พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร) มักจะเอ่ยถึงอยู่เสมอ คือ เมื่ออนาคตกำลังไล่ล่าคุณ As the Future catches You. อยากแนะนำให้เพื่อนครูได้หามาอ่านเพื่อเปิดวิสัยทัศน์สู่โลก ICT วางแผนอนาคตเพื่อการเรียนรู้สำหรับเยาวชนไทย
พอพูดถึง ICT พวกเรามักจะนึกถึงแต่เครื่องคอมพิวเตอร์เท่านั้น ความจริงแล้วกระบวนการ ICT ที่เราจะทำนั้นจะสัมฤทธิผลต้องขึ้นอยู่กับกระบวนการ (Process) มากกว่าตัวอุปกรณ์ เพราะแม้จะมีอุปกรณ์ดีเลิศเพียงใดแต่หากขาดกระบวนการในการถ่ายทอดนำเสนอ ผลที่ได้ก็ไม่น่าจะแตกต่างจากการบอกเล่าด้วยวิธีการเดิม "มือซ้ายถือตำรา มือขวาถือชอล์ค ถ้าไม่เขียนตามคำบอก ก็ให้ลอกจากกระดานดำ"
ถ้าครูเรามัวแต่จะคิดว่า ฉันจะเริ่มเมื่อฉันมีคอมพิวเตอร์ก่อน ผมว่าเราจะได้เริ่มใช้งานตอนเที่ยงคืนซะละมั๊งเนี่ย เริ่มทันทีวันนี้เลยดีกว่าไหมครับ คิดไม่ออกบอกไม่ถูกก็อีเมล์มาถามไถ่ปรึกษากันได้ ไม่คิดค่าปรึกษาครับ อย่างน้อยเราก็น่าจะเริ่มกันได้ตอนบ่ายโมงคงจะดีไม่น้อย...!
เราคงจะต้องปรับกระบวนทัศน์ใหม่ คิดใหม่ ทำใหม่ คือ การรีดีไซน์ (design) ใหม่ ขั้นมโหฬารเกี่ยวกับการคิดใหม่ หาวิธีใหม่สำหรับกระบวนการทำงาน (work process) และกระบวนการคิดเพื่อให้ได้ผลงานที่ดีขึ้น ตรงกับความต้องการมากขึ้นปรับปรุงดัชนี ที่ใช้วัดผลงาน (Performance) ที่สำคัญในโลกปัจจุบัน ซึ่งได้แก่
ต้นทุน (cost) คุณภาพ (quality) บริการ (service) และความเร็ว (speed) โดยที่การปฏิรูปกระบวนการทำงาน ด้วยการคิดใหม่ ทำใหม่นี้ จะก่อให้เกิดผลพวงติดตามมาคือ การปฏิรูปความคิด การปฏิรูปการดำเนินการ การปฏิรูปจิตสำนึกของเรา ในที่สุด
ครูมนตรี โคตรคันทา
บันทึกไว้เมื่อ : 31 มกราคม 2547
ยินดีต้อนรับสู่เว็บไซต์ของเรา ที่นี่ใช้คุกกี้ (Cookies) เก็บข้อมูล เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น อ่านนโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (Privacy Policy) และนโยบายคุกกี้ (Cookie Policy)