เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา (22 เมษายน 2546) คณะรัฐมนตรีได้เห็นชอบกับแนวคิดของนายกฯทักษิณ ชินวัตร ให้จัดตั้ง "โรงเรียนในฝัน" ขึ้นทั่วประเทศ 795 โรงเรียน ผ่านโครงการที่ชื่อ "1 อำเภอ 1 โรงเรียนในฝัน" ของกระทรวงศึกษาธิการ เป้าหมายหลักของโรงเรียนในฝันก็เพื่อกระจายโอกาสทางการศึกษาให้นักเรียนในชนบททุกอำเภอได้มีโอกาสเรียนในโรงเรียนที่มีคุณภาพ เพื่อสกัดกั้นการหลั่งไหลของผู้ปกครองที่มุ่งหวังจะส่งลูกหลานเข้ามาเรียนในเมืองใหญ่
โครงการดีแต่จะทำได้แค่ไหนยังไม่ทราบ เพราะโครงการจะสำเร็จได้หรือไม่อยู่ที่การปฏิบัติของระดับล่าง ผู้บริหารโรงเรียน ครู-อาจารย์ ชุมชนต้องช่วยกัน ระเบียบปฏิบัติบางอย่างที่พันธนาการอยู่จะต้องถูกปลดออกก่อน และที่สำคัญต้องสร้างความเชื่อมั่นให้กับชุมชนให้ได้ว่า สิ่งที่กำลังจะทำนี้จะเกิดผลได้จริง เพราะโรงเรียนดังไม่ได้เกิดจากการทุ่มเทงบประมาณเข้าใส่ แต่เกิดจากการสั่งสมมานานด้วยผลสัมฤทธิ์ที่พิสูจน์ได้
นโยบายการรับนักเรียนของกระทรวงศึกษาธิการ นั่นคือ พันธนาการที่ต้องแก้ไขก่อน ยุทธการฝากเด็กเข้าเรียนที่เป็นข่าวอยู่ขณะนี้ จะมาแก้ด้วยการออกคำสั่งห้ามรับบริจาคไม่มีทางเป็นไปได้ ต้องเข้าใจความสำคัญของ Demand - Supply กันก่อนว่ามันมีปฐมเหตุจากอะไร ทำไมถึงได้มีการร้องเรียนกันมากมาย โรงเรียนเรียกร้องเงินบริจาคจริงหรือผู้ปกครองประมูลกันเอง? ผมในฐานะคนที่อยู่ในระดับล่าง คนปฏิบัติ เห็นอยู่ทุกปี บางปีก็เข้าไปนั่งอยู่ระหว่างกลางวงนั่นด้วย ก็อยากจะบอกท่านทั้งหลายว่า
ที่ว่ามายืดยาวนั่นก็เพราะจะเกี่ยวพันกับโรงเรียนในฝัน จริงๆ โครงการสวยหรูฝันกลางวันใต้ร่มมะม่วงเดือนเมษายนหน้าโรงเรียน เมื่อกิ่งไม้หักลงข้างๆ สะดุ้งตื่นแล้วจะรู้ความจริงว่า ฝันไป ถ้าแก้ปัญหาข้างต้นได้เรื่องโรงเรียนในฝันก็ทำได้ อย่างเตรียมอุดมศึกษาเปิดสอบคัดเลือกเข้าเรียน ผู้ปกครองส่งลูกหลานไปสอบ เมื่อสอบไม่ได้เขาก็กลับไปที่ตั้งเดิมไม่ได้โวยวายอะไร เพราะยอมรับในความสามารถของลูกตัวเอง แต่ถ้าเตรียมอุดมเปิดให้จับสลากเมื่อไหร่ ผมก็จะไม่ยอมเหมือนกัน ถ้าลูกเข้าเรียนไม่ได้ เพราะผมยังเชื่อมั่นว่าลูกผมต้องแข่งขันอย่างยุติธรรมได้
อีกเรื่องหนึ่งคือ โรงเรียนกวดวิชาจำเป็นหรือไม่? อันนี้หยิบประเด็นมาจากคำถามของผู้ปกครองนักเรียนที่ถามมาว่า หลักสูตรของโรงเรียนมัธยมศึกษาตอนนี้ไม่เพียงพอที่จะสอบเข้ามหาวิทยาลัยหรือ? จึงสู้โรงเรียนกวดวิชาไม่ได้ บางแห่งขนาดเปิดให้จองที่เรียนเพียงไม่ถึงสามนาทีเต็มแล้ว อือม์จะตอบอย่างไรดี?
แล้ววันนี้เราก็ยังคงถกกันอยู่ในเรื่องเดิม การปฏิรูปหลักสูตรการเรียนการสอนของการศึกษาขั้นพื้นฐาน จะไปทางไหนดี? ทำตามความคาดหวังของนักคิดที่วาดฝันถึงความสำเร็จ รุ่งโรจน์ ของเยาวชนในอนาคตข้างหน้า หรือจะทำตามความคาดหวังของผู้ปกครอง ที่ยังคำนึงถึงการเดินทางสู่ตักศิลามหาวิทยาลัย
ผมนั่งอ่านหนังสือพิมพ์ไทยรัฐเมื่อหลายวันก่อนก็ปลงครับ ขอลอกคำพูดของ นายจาตุรนต์ ฉายแสง มาให้อ่านเลย "ผมรู้สึกเป็นห่วงว่าถ้าไม่ดูแลให้ดี หลักสูตรยังไม่ชัดเจน ผู้สอนไม่เข้าใจ ความหวังในการปฏิรูปเด็กคงทำได้ยาก ทั้งหลักสูตรขั้นพื้นฐานจะต้องสัมพันธ์กับการสอบคัดเลือกเข้าศึกษาต่อในสถาบันอุดมศึกษาด้วย โดยต้องปรับระบบการคัดเลือกหรือระบบเอ็นทรานซ์ เพราะหากไม่ปรับระบบเอ็นทรานซ์ เมื่อเด็กเรียนถึง ม.5 ม.6 ก็จะกลับไปเรียนแบบเดิม คือเน้นเนื้อหาวิชาเพื่อจะได้ทำข้อสอบของทบวงมหาวิทยาลัยได้ ส่วนฝ่ายอุดมศึกษาก็เป็นห่วงว่า ในหลักสูตรใหม่ไม่ปรากฏวิชาฟิสิกส์ เคมี ชีววิทยา ซึ่งจะทำให้เกิดผลกระทบกับคณะแพทยศาสตร์ วิศวกรรมศาสตร์ ว่าจะดูผลการเรียนวิชาเหล่านี้จากที่ใด"
นายจาตุรนต์กล่าวและว่า "เรื่องการเอ็นทรานซ์ จะต้องให้ระดับอุดมศึกษาและขั้นพื้นฐานมาหารือร่วมกันอีกครั้ง เพราะที่ผ่านมาการคัดเลือกเด็กเข้าเรียนต่อ มหาวิทยาลัย เป็นไปตามความต้องการของระดับอุดมศึกษาฝ่ายเดียว"
ผลที่ตามมาก็คือ ครูจะไม่สามารถจัดการเรียนการสอนตามหลักสูตรสถานศึกษาตามที่คาดหวังได้เลย ถ้าฝ่ายตักศิลาไม่ยอมนั่งลงจับเข่าคุยกันในเป้าหมายให้เป็นที่ตกลงในจุดหมายปลายทางได้
ขอบ่นอย่างนี้นะครับ ตอนนี้หลักสูตรที่กระทรวงศึกษาธิการโดยท่านนักวิชาการทั้งหลายได้วางไว้เพื่อให้นักเรียนเรียนดีมีสุข คิดเป็น แก้ปัญหาได้นี่ รู้สึกว่าจะเดินเป็นเส้นขนานกับความต้องการในการคัดเลือกนักศึกษาเข้าสู่สำนักตักศิลาอยู่ครับ ถ้าอ่านความเห็นของท่านจาตุรนต์ข้างบนนั่นก็คงจะมองออก แอดมิสชั่นที่จะรับนักเรียนในปี 2549 เข้ามหาวิทยาลัยยังห่างไกลความฝันการปฏิรูปอยู่มากโข ลองไปอ่านจากที่นี่น่าจะมีคำตอบได้ครับ
ยินดีต้อนรับสู่เว็บไซต์ของเรา ที่นี่ใช้คุกกี้ (Cookies) เก็บข้อมูล เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น อ่านนโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (Privacy Policy) และนโยบายคุกกี้ (Cookie Policy)