foto1
ความงดงามการศึกษาไทย
foto1
เพื่อ?
foto1
ไม่เข้าใจ?
foto1
วิทยากรที่กระทรวงศึกษาธิการ สปป.ลาว
foto1
ท่องทะเลทรายที่ดูไบ UAE


Friendly Links

เรียนรู้ภาษา html
isangate banner
easyhome banner
ipst banner
sakdibhornssup foundation
13 Thai free fonts
speedtest
e mil

Facebook Likebox

No. of Page View

webmaster talk

เมื่อพวกเราคิดจะพัฒนาการศึกษาไทย แล้วใครควรเริ่มก่อน?

ถ้าตามข่าวสารกันจริงๆ ในเรื่องการศึกษาจะพบว่า เสียงประชาชนเริ่มมีอิทธิพลต่อการดำเนินงานของผู้จัดการศึกษามากขึ้นแล้ว ถ้าเป็นจริงได้อยากให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการจัดการศึกษาให้กับลูกหลานของเขาอย่างจริงจัง ไม่ใช่มีส่วนร่วมอย่างโก้หรูในแบบรายงานที่ส่งไปสู่เบื้องบนเท่านั้น กรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน ถ้าเราได้บุคคลที่มีวิสัยทัศน์ในทางการศึกษาเข้ามาร่วมมากๆ แทนที่จะเป็นอาเสี่ยรับเหมาหรือตัวแทนกลุ่มผลประโยชน์ ก็จะสร้างคุณูปการแก่การศึกษาและประเทศชาติได้ไม่น้อย

เพราะการจัดการศึกษาจะถูกกำหนดกรอบกติกาต่างๆ เพื่อชุมชน ทุกคนมีส่วนร่วมตั้งแต่การชำระภาษีการศึกษาให้กับท้องถิ่น การจัดหาและจัดสรรงบประมาณให้กับสถานศึกษาในชุมชน ขณะนี้ที่เราได้ยินกันเต็มสองหูมาว่า มีการกระจายอำนาจให้กับท้องถิ่นจัดการศึกษากันเอง แต่ก็ยังมีผู้หลักผู้ใหญ่หลายๆ คนในกระทรวงโบราณนั่นออกมาพูดอยู่เสมอว่า ห้ามการรับบริจาค ใครจะให้ก็ไม่รับ ถ้าขืนรับจะเอาให้ตายเข้าไปโน่นแนะ กรรมของเวรจริงๆ ลองถามย้อนกลับไปว่า เงินรายหัวที่น้อยนิด (ที่ส่วนกลางอุตส่าห์จัดหาให้) นั่นจะเอาไปบริหารการศึกษให้ก้าวหน้าทันสมัยได้อย่างไร?

ในเมื่อชุมชนเขาพร้อมที่จะเสียสละ เพื่อสถานศึกษาในท้องถิ่นของเขา กระจายอำนาจให้พวกเขาแล้ว (จริงหรือ?) กระทรวงศึกษาธิการ ควรคลายกฎระเบียบให้โรงเรียน สามารถระดมทุนได้โดยมีใบเสร็จ และไม่เป็นการบังคับผู้ปกครอง พวกท่านที่อยู่ข้างบนลงมานอนขวางคลองอยู่ทำไมมิทราบ? ตอบผมได้ไหมเอ่ย?

เรื่องของภาษีการศึกษานี่ผมเคยบ่นไว้ครั้งหนึ่งแล้วว่า จะเป็นการจัดสรรทรัพยากรของท้องถิ่นให้กับคนในท้องถิ่นอย่างแท้จริง ภาษีการศึกษาจะมีผลต่อการจัดการศึกษาของท้องถิ่นอย่างไร?

  • ต้องมีการกำหนดเขตพื้นที่ให้แคบลงเช่น เขตหมู่บ้าน เขตเทศบาล หรือเขต อบต. เพื่อให้สามารถจัดสรรทรัพยากรได้ทั่วถึงและเพียงพอ โดยไม่มีความเหลื่อมล้ำของประชากรในพื้นที่ ทุกคนต้องชำระภาษีการศึกษาเป็นรายปี และมีสิทธิในการรับบริการทางการศึกษาฟรีในเขตของตน (ตามทะเบียนบ้านและความเป็นจริง)
  • หากมีการสละสิทธิการศึกษาในพื้นที่ตน ย้ายข้ามเขตไปศึกษาที่อื่นจะต้องชำระภาษีการศึกษาของตนและต้องไปชำระภาษีการศึกษาในเขตอื่นที่ไปศึกษาอีก 2 เท่า เพื่อความเป็นธรรมต่อประชากรในเขตอื่นๆ ที่ถูกแย่งชิงที่นั่งและทรัพยากรที่จัดไว้เพื่อพวกเขาไป (ทุกวันนี้เราเห็นการแย่งชิงโอกาสนี้จากการย้ายทะเบียนบ้านเข้าไปในพื้นที่เพื่อสิทธิ แต่ไม่เคยอยู่จริง เมื่อได้สิทธิแล้วก็ย้ายกลับ ขายสิทธิให้บุคคลอื่นต่อ เกิดธุรกิจอิงแอบการศึกษาให้เห็นอยู่ทั่วประเทศ นี่ยังไม่นับพวกที่อาศัยสิทธิบารมีของนักการเมืองและข้าราชการชั้นผู้ใหญ่บีบบังคับฝากเด็กทางอ้อมเข้าไปอีก)
  • มีคณะกรรมการการศึกษาของท้องถิ่น ดำเนินการจัดสรรทรัพยากรทั้งหมดให้กับสถานศึกษาในเขตพื้นที่ ควบคุมดูแลการจัดการศึกษาให้ตรงกับความต้องการของท้องถิ่น โดยมีรัฐบาลกลางกำหนดกรอบนโยบายและอุดหนุนงบประมาณเพิ่มเติม

ยังไม่ได้ตอบปัญหาตามที่จั่วหัวไว้ข้างบนเลยว่า เมื่อพวกเราคิดจะพัฒนาการศึกษาไทย แล้วใครควรเริ่มก่อน? คงจะต้องเริ่มจากระบบบริหารรัฐมาก่อน ความจริงเราก็เริ่มมาบางส่วนแล้วมีความพยายามไปลอกเลียนรูปแบบของประเทศที่เขาประสบผลสำเร็จมาประยุกต์ใช้ แต่เรายังทำไม่หมด ไม่ครบถ้วน ลอกมาแบบครึ่งๆ กลางๆ ครับ และที่เรายังไม่เอามาใช้ก็เป็นกลจักรสำคัญในการหมุนฟันเฟืองการศึกษาเสียด้วย

  • เราต้องการนักบริหารการศึกษามืออาชีพ ณ วันนี้เรามีนักบริหารการศึกษาที่ต้องการความมีเกียรติยศแก่วงศ์ตระกูลสักครั้งหนึ่งเท่านั้น ความเป็นมืออาชีพหมายความว่า หน้าที่ของเขาคือรับผิดชอบต่อการศึกษาที่เขาดำรงตำแหน่งอยู่ (ไม่ใช่คอยพินอบพิเทานักการเมือง หรือผู้มีอำนาจให้เขาได้ดำรงตำแหน่งต่อไปเรื่อยๆ) การเข้ามาสู่ตำแหน่งของเขาต้องเกิดจากการคัดเลือกของชุมชน (ตัวแทนที่เป็นคณะกรรมการสถานศึกษา) มีเงื่อนไขเวลาการอยู่ในตำแหน่ง มีแผนงานและวิสัยทัศน์ที่สามารถวัดและตรวจสอบได้ โดยมีค่าตอบแทนที่เหมาะสมกับความสามารถนั้น มีสิทธิที่จะเป็นได้ต่อไปหรือถูกเลิกจ้างหากไม่มีผลงาน
  • เราต้องการครูมืออาชีพ (ยังไม่ได้บอกว่าครูทุกวันนี้ไม่ใช่มืออาชีพนะครับ) ครูมืออาชีพ หมายถึง อาชีพที่มีองค์กรวิชาชีพรองรับ ตรวจสอบ วัด ประเมินและรับรองมาตรฐานนั่น จะทำให้อาชีพนี้มีทั้งเกียรติยศและค่าที่ประเมินได้ เพื่อแลกเปลี่ยนต่อค่าครองชีพของพวกเขา ไม่ได้ประเมินจากเอกสารใดๆ แต่ประเมินจากผลผลิตของพวกเขา เทียบวัดกับมาตรฐานที่ควรจะเป็น ชุมชนที่ต้องการให้มาตรฐานการศึกษาของชุมชนเขาดี ย่อมแสวงหาครูมืออาชีพที่มีมาตรฐานสูง แม้ค่าจ้างจะแพงกว่าก็ตาม ผู้บริหารมืออาชีพที่ต้องการให้ผลงานของตนมีประสิทธิภาพ ก็ย่อมจะพัฒนากลจักรในองค์กรให้มีมาตรฐานสูงตามไปด้วย

ถ้ามองจากฐานความคิดนี้จะเห็นได้ว่า ชุมชน ต้องชำระภาษีการศึกษา เลือก คณะกรรมการการศึกษา ที่มีวิสัยทัศน์และมองประโยชน์ทางการศึกษาที่จะมีผลต่อชุมชนของตน จัดสรรงบประมาณ เพื่อพัฒนาการศึกษาโดยจ้าง ผู้บริหารการศึกษามืออาชีพ ที่มีวิสัยทัศน์และแนวนโยบายพัฒนาการศึกษาเพื่อท้องถิ่น เสนอให้ คณะกรรมการการศึกษา จัดหา ครูมืออาชีพ ที่มีการรับรองจากองค์กรวิชาชีพครู มาทำหน้าที่ในการสั่งสอนบุตรหลาน

และนี่คือฝันที่เรายังไปไม่ถึง เพราะอะไร? ผลประโยชน์ส่วนตน หรือผลประโยชน์เพื่อชาติต้องมาก่อน ถ้าทำได้จริงเราจะได้เห็นเสียทีว่า ครูคือผู้สร้างพลังของชาติ (สร้างคนคุณภาพในทุกสาขาวิชาชีพมานักต่อนัก) เป็นกลจักรที่สำคัญและยิ่งใหญ่ที่ไม่ต้องคอยเรียกร้องเงินเดือนอย่างที่เป็นข่าว ต้องคอยอ้าปากรอคนมาปลดหนี้ให้อย่างทุกวันนี้ เห็นแล้วสะท้อนใจอย่างบอกไม่ถูกจริงๆ ครับ

ครูมนตรี     
บันทึกไว้เมื่อ : 2 มีนาคม 2546

 

นโยบายความเป็นส่วนตัว Our Policy

ยินดีต้อนรับสู่เว็บไซต์ของเรา ที่นี่ใช้คุกกี้ (Cookies) เก็บข้อมูล เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น อ่านนโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (Privacy Policy) และนโยบายคุกกี้ (Cookie Policy)

Our Policy