การนำเสนอ ช่วยหรือฉุด
สัปดาห์นี้ ขออนุญาตมาเล่าให้ฟังถึงเรื่องเล็กๆ ที่สำคัญ แต่เรามักจะมองข้ามกันนะครับ นั่นคือเรื่องของ การนำเสนอ หรือ Presentation โดยเฉพาะอย่างยิ่งงานนำเสนอที่ต้องอาศัยโปรแกรมคอมพิวเตอร์ ไม่ว่าจะเป็น Powerpoint, Keynote หรือโปรแกรมใดก็ตาม ถ้าท่านผู้อ่านสังเกตดีๆ จะพบว่าในชีวิตการทำงานของเรานั้น จะต้องพึ่งพาอาศัยเจ้าโปรแกรม Powerpoint หรือโปรแกรมที่ใช้ในการนำเสนองานกันค่อนข้างมากเลยนะครับ และถ้าสังเกตดูดีๆ ก็จะพบว่า เรานับวันมีแต่จะพึ่งพาโปรแกรมในการนำเสนอเหล่านี้มากขึ้นทุกขณะ
ทีนี้ ปัญหาในจุดเล็กๆ ที่เรามักจะมองข้ามกันก็คือ โปรแกรมนำเสนอเหล่านี้เป็นสิ่งที่ดี ช่วยอำนวยความสะดวกให้กับทุกคน ในเวลาเสนองาน บรรยาย หรือสอนหนังสือ แต่ลองสังเกตดูหน่อยนะครับว่า การที่ท่านใช้โปรแกรมเหล่านี้ได้ช่วยทำให้ท่านนำเสนอได้ดีขึ้นหรือไม่? ทำให้ผู้รับฟังเข้าใจมากขึ้น หรือว่าเป็นไปในทางกลับกัน ผมเชื่อว่าความผิดพลาดเหล่านี้ ไม่ได้อยู่ที่ตัวโปรแกรมหรอกครับ แต่อยู่ที่วิธีการคิด การออกแบบ และเทคนิคการใช้โปรแกรมเหล่านี้ของพวกเรามากกว่า
หลายๆ ท่าน ชอบใส่คำบรรยายเยอะๆ จนลานตาลงไปในโปรแกรมเหล่านี้ แล้วเวลาขึ้นไปนำเสนอก็อาจจะขึ้นไปยืนอ่านตามคำบรรยายที่เขียนไว้ในจอ หรือพูดในประเด็นอื่นๆ ไป ถ้าท่านทำไปในลักษณะดังกล่าว ก็ต้องเรียนว่า ท่านกำลังทำร้ายทั้งตัวท่านเองและผู้ฟังของท่านนะครับ เนื่องจากการขึ้นไปยืนอ่านสิ่งที่ท่านใส่ไปใน Powerpoint ของท่าน คำถามที่จะอยู่ในใจของผู้ฟังก็คือ แล้วตัวท่านเองมีประโยชน์อะไร? (ที่มายืนโด่เด่ตรงนี้) เนื่องจากท่านเพียงแค่ฉาย Powerpoint ของท่านขึ้นไป แล้วบอกให้ผู้ที่จะฟังท่านได้อ่านไปในใจก็มีค่าเท่ากัน (นั่นแล)
หรือถ้าท่านเขียนบรรยายยืดยาว เยอะแยะ ลงไปในการนำเสนอบนจอ และในขณะเดียวกัน ตัวท่านก็เล่าหรือพูดให้ฟังเรื่องอื่นๆ ไปด้วย ท่านผู้อ่านก็ลองคิดดูนะครับว่า ผู้ฟังเขาจะสามารถนั่งอ่านคำบรรยายของท่านบนจอไปพร้อมๆ กับฟังท่านพูดได้อย่างมีสมาธิ รู้เรื่อง และเข้าใจหรือไม่?
ถ้าเราย้อนกลับไปดูประวัติของโปรแกรมนำเสนอเหล่านี้ เราจะพบว่า Powerpoint 1.0 นั้น ได้รับการพัฒนาขึ้นมาตั้งแต่ปี 1987 โดย Robert Gaskins และ Dennis Austin เพื่อใช้ในการนำเสนอสำหรับเครื่อง Mac และภายหลังทั้งคู่ ก็ได้ขายลิขสิทธิ์ในโปรแกรมตัวนี้ให้กับ Microsoft ซึ่งหลังจากนั้นเชื่อว่า ท่านผู้อ่านก็คงทราบดีว่า Powerpoint ได้กลายเป็นสิ่งที่คนทำงานและเรียนหนังสือในปัจจุบัน ไม่สามารถขาดมันได้
อย่างไรก็ดี จากพัฒนาการของเจ้า Powerpoint โดยเฉพาะในด้านเทคโนโลยีและการใช้งาน ก็ส่งผลกระทบต่อความสามารถในการคิด และนำเสนอของเรามากขึ้น จริงอยู่นะครับว่า Powerpoint ทำให้ความสามารถในการนำเสนอของเราดีขึ้น ดูมีสีสันขึ้น สนุกสนาน มีลูกเล่นมากขึ้น (ดีกว่าการย่างแผ่นใสในอดีต) แต่ในขณะเดียวกัน Powerpoint ก็ไปตีกรอบความสามารถในการคิดของเรามากขึ้น ท่านผู้อ่านลองนึกถึงตัวท่านเอง หรือคนรอบๆ ตัวซิครับว่า เวลาใช้ Powerpoint นั้น มักจะใช้ในรูปแบบใด ส่วนใหญ่แล้วก็จะนึกถึงหน้าที่มี Bullet Point หรือหัวข้อไล่ลงมาเรื่อยๆ
เนื่องจากเจ้า Bullet Points นั้น เป็นรูปแบบที่ง่ายในการคิด จดจำได้ง่าย และนำเสนอได้ง่าย แต่ในขณะเดียวกัน ก็ทำให้ผู้นำเสนอมักจะไปยึดติดกับกรอบเดิมๆ ขาดความคิดสร้างสรรค์ และกลายเป็นการนำเสนอที่น่าเบื่อ และเต็มไปด้วยข้อความสำหรับผู้ฟัง
ในช่วงหลัง ได้เริ่มมีเสียงที่แสดงถึงความไม่พอใจ หรือไม่เห็นด้วยกับรูปแบบ หรือแนวทางการใช้โปรแกรมนำเสนอเหล่านี้มากขึ้น ผมเองจะอ่านเจอคำว่า "Death by PowerPoint" มากขึ้น หรือในปี 2001 Seth Gordin นักการตลาดชื่อดัง ได้เขียนหนังสืออิเล็กทรอนิกส์เล่มเล็กๆ ขนาด 10 หน้าเล่มหนึ่งชื่อ Really Bad Powerpoints แล้วได้กลายเป็นหนังสืออิเล็กทรอนิกส์ที่ขายดีที่สุดของ Amazon ในปีดังกล่าว โดยในการนำเสนอส่วนใหญ่นั้น มักจะเป็นไปอย่างไม่มีประสิทธิผล ซึ่งไม่ใช่เกิดจากการขาดความสามารถ หรือความคิดสร้างสรรค์ของผู้นำเสนอ แต่ส่วนใหญ่เกิดขึ้นจากพฤติกรรม ความเคยชิน ความคุ้นเคย ที่ผู้นำเสนอจะถูกตีกรอบจากตัวโปรแกรม PowerPoint
นอกจากกรอบของ PowerPoint ที่ทำให้การนำเสนอขาดประสิทธิผลแล้ว เรายังมีความเชื่อ หรือความเข้าใจที่ผิดๆ อยู่พอสมควรเกี่ยวกับการนำเสนอด้วย PowerPoint โดยการพยายามที่จะนำเสนอข้อมูล หรือภาพทั้งหมดให้อยู่ใน PowerPoint เพียงไม่กี่หน้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งความพยายามของหลายๆ ท่าน ที่จะทำให้ PowerPoint หนึ่งหน้ามีความสลับซับซ้อน ต้องอาศัยสมาธิ และสติปัญญา ในการพิจารณาและทำความเข้าใจ
มีงานวิจัยเกี่ยวกับการรับรู้จำนวน มากที่ระบุไว้เลยนะครับว่า การที่ผู้ฟังจะรับรู้ข้อมูลทั้งจากการฟังและการอ่านพร้อมๆ กันนั้นเป็นไปได้ยาก ดังนั้น อาจจะดีกว่าสำหรับผู้ฟังนะครับ ถ้าท่านปล่อยให้ผู้ฟังอ่าน PowerPoint เสียเอง ถ้าท่านออกแบบ PowerPoint มาให้สลับซับซ้อน ที่ผู้ฟังจะต้องฟังและอ่านไปพร้อมกัน
ก่อนจบขอฝากคำกล่าวของ Leonardo da Vinci ที่ระบุไว้ว่า Simplicity is the Ultimate Sophistication
พอดีไปอ่านเจอมา เลยเอามาเล่าสู่กันฟังนะครับ คงจะได้ข้อคิดในการนำไปใช้งานจริง ส่วนคำกล่าวของ ดาวินซีนั้นถ้าจะเอาแบบสุภาษิตจีน (นิยายกำลังภายใน) ก็ต้องบอกว่า "สูงสุด คืนสู่สามัญ" แปลว่า กระบวนท่าไม้ตายของจอมยุทธคือความนิ่ง สงบ เหมือนคนธรรมดา การนำเสนอที่หวือหวา ก็แค่เด็กฝึกหัดทำเท่านั้นเอง ตื่นตาแต่ไม่เข้าใจ...
โปรดอ่านต่อตอนต่อไป ถ้าคุณอยากเป็นนักนำเสนออย่างมืออาชีพ... (เขาทำกัน)
การนำเสนอที่ไม่ตอบสนอง | 10 เทคนิคการนำเสนออย่างมืออาชีพ | การนำเสนอให้ได้เกรด A
ตามคำขอสำหรับสไลด์ตัวอย่างเรื่อง The Best Presentation ที่ผมใช้บรรยายในการฝึกอบรม "สร้างการนำเสนออย่างมืออาชีพ" ไม่ใช่สื่อนำเสนอที่ดีที่สุดใน 3 โลกนะครับ แต่เป็นสื่อที่พอจะช่วยให้ท่านนำไปศึกษาสร้างงานให้ยอดเยี่ยมใน 3 โลกได้ในโอกาสต่อไป คลิกดาวน์โหลดที่นี่เลยครับ เป็นไฟล์แบบ PDF นะครับ
ยินดีต้อนรับสู่เว็บไซต์ของเรา ที่นี่ใช้คุกกี้ (Cookies) เก็บข้อมูล เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น อ่านนโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (Privacy Policy) และนโยบายคุกกี้ (Cookie Policy)