ได้ยินข่าวนี้มานานแล้วล่ะครับ แต่ไม่มีเวลาจะมาเขียนความคิดเห็น พอดีวันนี้ได้อ่านความคิดเห็นของผู้มีส่วนร่วมในการพัฒนาภาษาไทยบนโอเพน ซอร์ส ได้ให้ข้อเสนอแนะติติงออกมาเลยขออนุญาตนำมาเสนอ ณ ที่นี้อีกครั้งหนึ่ง เพื่อให้กระจายความรู้เรื่องนี้ให้ทราบโดยทั่วกัน เอาไปใช้กันเลยครับแจกให้ฟรีๆ
ความเดิม : ครม. เห็นชอบโครงการฟอนต์มาตรฐานราชการไทย
ครม. เห็นชอบให้หน่วยงานภาครัฐทุกหน่วย ดำเนินการติดตั้งฟอนต์สารบรรณและฟอนต์ อื่นๆ ทั้งหมด จำนวน ๑๓ ฟอนต์ ของสำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) (สอซช.) หรือ Software Industry Promotion Agency เรียกโดยย่อว่า SIPA และกรมทรัพย์สินทางปัญญาเพิ่มเข้าไปในระบบปฏิบัติการ Thai OS (Thai Operating System) และใช้ฟอนต์ดังกล่าวแทนฟอนต์เดิม ตามที่กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารเสนอ
สาระสำคัญของเรื่อง กระทรวง เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ทก.) รายงานว่า ปัจจุบันส่วนราชการจำนวนมากมีการใช้ฟอนต์ที่หลากหลายไม่มีมาตรฐานในเอกสาร ทางราชการ อีกทั้งยังมีหน่วยงานราชการหลายแห่งใช้มาตรฐานฟอนต์ของบริษัทเอกชนที่ผูกขาด ลิขสิทธิ์ของระบบปฏิบัติงานทำให้จำกัดสิทธิ์ต่างๆ ที่จะมีมาตรฐานเอกสารเป็นเสรี ไม่ขึ้นกับระบบปฏิบัติการใดๆ เช่น Angsana อาจมีปัญหาเรื่องการฟ้องร้องละเมิดลิขสิทธิ์ได้ จึงได้มีการพัฒนาและมีการประกวดแข่งขันฟอนต์ ซึ่งเป็นการส่งเสริมให้เกิดการใช้ Open Source Software ที่เป็นซอฟต์แวร์เสรีให้ส่วนราชการไทยประกาศมาตรฐานเอกสารดิจิทัลและรูปแบบ ของฟอนต์ที่ไม่ขึ้นกับระบบปฏิบัติการและลิขสิทธิ์ของบริษัทใดๆ เพื่อความ ภาคภูมิใจในความเป็นชาติและเอกลักษณ์ของความเป็นชาติไทย ซึ่งในขณะนี้มีฟอนต์ที่ส่วนราชการไทยสามารถเป็นเจ้าของและพร้อมแจกจ่ายให้ กับผู้ประสงค์จะใช้งานรวม ๑๓ ฟอนต์ ซึ่งเป็นลิขสิทธิ์ สอซช. และกรมทรัพย์สินทางปัญญาเพื่อแจกจ่ายให้ใช้อย่างเสรีปราศจากปัญหาด้าน ลิขสิทธิ์
ดังนั้น เพื่อให้เอกสารต่างๆ ของภาครัฐ เป็นไปอย่างมีมาตรฐานปราศจากปัญหาลิขสิทธิ์และไม่ได้ขึ้นกับระบบปฏิบัติการ ระบบใดระบบหนึ่งและเพื่อเป็นการเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในวโรกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๘๔ พรรษา จึงเห็นควรให้หน่วยงานราชการปฏิบัติดังนี้
๑. ดำเนิน การติดตั้งฟอนต์สารบรรณและฟอนต์อื่นๆ ทั้งหมดจำนวน ๑๓ ฟอนต์ ของสำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) และกรมทรัพย์สินทางปัญญา เพิ่มเข้าไปในระบบปฏิบัติการ Thai OS และใช้ฟอนต์ดังกล่าวแทนฟอนต์เดิม และให้ถือเป็นมาตรฐานของหน่วยงานภาครัฐทุกหน่วย
๒. ให้ ติดตั้งและใช้งานให้แล้วเสร็จก่อนวันที่ ๕ ธันวาคม ๒๕๕๓ และให้รายงาน ทก. เมื่อได้ดำเนินการแล้วเสร็จ โดยมีชื่อที่สงวนไว้สำหรับโปรแกรมคอมพิวเตอร์ฟอนต์นี้
TH Sarabun PSK, TH Sarabun PSK Italic, TH Sarabun PSK Bold, TH Sarabun PSK Bold Italic
TH Chamornman, TH Chamornman Italic, TH Chamornman Bold, TH Chamornman Bold Italic
TH Krub, TH Krub Italic, TH Krub Bold, TH Krub Bold Italic
TH Srisakdi, TH Srisakdi Italic, TH Srisakdi Bold, TH Srisakdi Italic Bold Italic
TH Niramit AS , TH Niramit AS Italic , TH Niramit AS Bold , TH Niramit AS Bold Italic
TH Charm of AU , TH Charm of AU Italic, TH Charm of AU Bold, TH Charm of AU Bold Italic
TH Kodchasal, TH Kodchasal Italic, TH Kodchasal Bold, TH Kodchasal Bold Italic
TH K2D July8, TH K2D July8 Italic, TH K2D July8 Bold, TH K2D July8 Bold Italic
TH Mali Grade 6, TH Mali Grade 6 Italic, TH Mali Grade 6 Bold, TH Mali Grade 6 Bold Italic
TH Chakra Petch, TH Chakra Petch Italic, TH Chakra Petch Bold, TH Chakra Petch Bold Italic
TH Baijam, TH Baijam Italic, TH Baijam Bold, TH Baijam Bold Italic
TH KoHo, TH KoHo Italic, TH KoHo Bold, TH KoHo Bold Italic
TH Fah Kwang, TH Fah Kwang Italic, TH Fah Kwang Bold, TH Fah Kwang Bold Italic
นั่นคือที่มาจาก มติ ครม. เมื่อวันที่ 7 กันยายน 2553 ที่ผ่านมา ฟังดูดีแต่ยังขาดอีกมาก ลองอ่านต่อจากความเห็นของคุณเทพพิทักษ์และคุณสัมพันธ์ ดูนะครับ
ความเห็นที่หนึ่งจากคุณเทพพิทักษ์
โดย : Theppitak Karoonboonyanan
ถึงจะช้าไปหน่อย (ทราบข่าวหลายวันแล้ว แต่เพิ่งมีเวลาเขียน) แต่ก็ขอเขียนถึง ฟอนต์สารบรรณและ ๑๓ ฟอนต์ "แห่งชาติ" ของ SIPA และกรมทรัพย์สินทางปัญญา ที่ ครม. ได้มีมติเห็นชอบให้หน่วยงานภาครัฐติดตั้งเพื่อใช้เป็นฟอนต์มาตรฐาน
ก่อนอื่นต้องขอชื่นชมกับก้าวสำคัญก้าวนี้ ที่หน่วยงานรัฐจะสลัดหลุดจากการบังคับใช้ฟอนต์เอกชนเจ้าใดเจ้าหนึ่ง มาเป็นฟอนต์ที่ใช้ได้ฟรีทุกแพลตฟอร์ม แต่ในความชื่นชมก็มีความผิดหวังที่อยากให้ได้รับการแก้ไข
ข้อแรก คือการทำแบนเนอร์ "๑๓ ฟอนท์แห่งชาติ" นั้น ทำให้เกิดความสับสนกับโครงการเดิมที่มีอยู่ คือ โครงการฟอนต์แห่งชาติ ของเนคเทค ซึ่งปัจจุบัน TLWG กำลังดูแลอยู่ในฐานะส่วนหนึ่งของโครงการ ThaiFonts-Scalable ผมคิดว่าถ้าโครงการใหม่นี้ไม่ใช่การสานต่อโครงการเก่า ก็ไม่ควรจะใช้ชื่อซ้ำกันให้เป็นที่สับสน น่าจะใช้ชื่ออื่น เช่น ชื่อที่จั่วหัวในเว็บ f0nt.com ว่า ฟอนต์มาตรฐาน ก็เป็นชื่อที่ดีครับ
ข้อสอง คือปัญหาเรื่อง license ของฟอนต์ชุดนี้ ซึ่งผมเคยเขียนถึงไปหลายครั้งแล้ว (เช่น DIP-SIPA Fonts License, Thai Fonts Siampradesh (non-free), Postcardware) จะทำให้ฟอนต์ชุดนี้ไม่สามารถผลักดันให้เข้าสู่ distro กระแสหลักได้ กล่าวคือ มันจะเป็นได้อย่างดีที่สุดก็ national ไม่มีทางไปสู่ international หรือ "worldwide development" ตามเจตน์จำนงของ license ได้ และมันก็จะต้องติดแหง็กอยู่ที่ ThaiOS ของ SIPA ไปตราบชั่วฟ้า SIPA สลาย คือโครงการปิดเมื่อไรก็จบกัน ไม่มีใครสามารถจะแก้ไขปรับปรุงฟอนต์ชุดนี้ต่อไปได้อีก
ขอทบทวนปัญหาของ license อีกครั้ง เพื่อเตือนความจำว่าทำไมมันถึงจะเป็นเช่นนั้น
ปัญหาที่หนักที่สุดอยู่ที่เงื่อนไขข้อ 2 ของ license ของฟอนต์:
2. If you wish to adapt this Font Computer Program, you must notify copyright owners (DIP & SIPA) in writing.
ปัญหาคือ:
ปัญหาของ license ข้อนี้ มีคนทำผิดพลาดบ่อยจนเขามีศัพท์เฉพาะสำหรับเรียก ว่า Postcardware และไม่ถือเป็นซอฟต์แวร์เสรีหรือโอเพนซอร์สครับ ถ้าเป็นไปได้ก็ขอเสนอให้ตัดข้อนี้ออก
ปัญหาอีกข้อหนึ่งของ license นี้คือเงื่อนไขที่ไม่ตรงกันระหว่างฉบับภาษาอังกฤษกับภาษาไทยในเงื่อนไขข้อ 3:
No adapted version of Font Computer Program may use the Reserved Font Name(s), ...
ซึ่งฉบับไทยได้แปลไว้ว่า:
เมื่อดัดแปลงโปรแกรมคอมพิวเตอร์ฟอนต์นี้แล้ว ห้ามผู้ดัดแปลงใช้ชื่อฟอนต์เดิม ...
กล่าวคือ ฉบับภาษาอังกฤษบอกว่า เมื่อดัดแปลงฟอนต์แล้ว "ห้ามใช้ชื่อที่สงวนไว้" แต่ฉบับไทยแปลว่า "ห้ามใช้ชื่อฟอนต์เดิม" ซึ่งความหมายต่างกัน และมีนัยสำคัญในทางปฏิบัติ เช่น ฟอนต์เริ่มแรกชื่อ A นายสมชายดัดแปลงแล้วเปลี่ยนชื่อเป็น B ต่อมานายสมศักดิ์เอาฟอนต์ B ของนายสมชายไปดัดแปลงต่อ ถ้า "ห้ามใช้ชื่อที่สงวนไว้" นายสมศักดิ์จะยังสามารถใช้ชื่อฟอนต์ B ต่อไปได้ เพราะไม่ใช่ชื่อที่สงวนไว้ แต่ถ้า "ห้ามใช้ชื่อฟอนต์เดิม" นายสมศักดิ์จะใช้ชื่อฟอนต์ B อีกไม่ได้ เพราะเป็นชื่อฟอนต์เดิมที่มีการคุ้มครองไว้โดย license และถ้าใครดัดแปลงต่อจากนายสมศักดิ์อีก (เช่น อาจจะเป็นโครงการ Fedora ที่จำเป็นต้องสามารถแก้บั๊กให้ผู้ใช้ได้) ก็จะต้องใช้ชื่อที่ต่างจากนายสมศักดิ์อีก เป็นอย่างนี้ทุกครั้งไป
การแก้ไข: ควรแก้คำแปลภาษาไทยให้เป็น "ห้ามผู้ดัดแปลงใช้ชื่อที่สงวนไว้" ให้เหมือนฉบับภาษาอังกฤษ
ผมไม่ทราบว่าเขียน blog ไว้แบบนี้ จะไปถึงผู้ที่เกี่ยวข้องโดยตรงหรือเปล่า เพราะผมก็ได้เคยพยายามแจ้งทางเมลตรงแล้ว สุดท้ายก็ไม่มีการตอบสนองอะไรจากผู้มีอำนาจตัดสินใจ จึงได้แต่เขียนบันทึกไว้เพื่อใช้อ้างอิงต่อไปครับ
ผม (ครูมนตรี) ขอเสริมนิดหนึ่งครับ เดี๋ยวจะงงกันไปใหญ่ ThaiOS ก็คือระบบปฏิบัติการสุริยันเดิมมาแปลงร่างใหม่ พัฒนามาจาก Ubuntu 10.04
ความเห็นที่สองจากคุณสัมพันธ์
โดย : สัมพันธ์ ระรื่นรมย์
๒๒ กันยายน ๒๕๕๓
เรื่อง ฟอร์แมตเอกสารมาตรฐานราชการไทย
เรียน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร
อ้างถึง มติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ ๗ กันยายน ๒๕๕๓[๑]
เนื่องจากปัญหาตามในมติ ครม. ว่า “หน่วย งานราชการหลายแห่งใช้มาตรฐานฟอนต์ของบริษัทเอกชนที่ผูกขาดลิขสิทธิ์ของระบบ ปฏิบัติงานทำให้จำกัดสิทธิ์ต่างๆ ที่จะมีมาตรฐานเอกสารเป็นเสรี ไม่ขึ้นกับระบบปฏิบัติการใดๆ เช่น Angsana อาจมีปัญหาเรื่องการฟ้องร้องละเมิดลิขสิทธิ์ได้” ทำให้ ครม.ได้เห็นชอบกับโครงการฟอนต์มาตรฐานราชการไทย ซึ่งกำหนดให้ใช้ฟอนต์สารบรรณของสำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่ง ชาติ (องค์การมหาชน) และกรมทรัพย์สินทางปัญญา เป็นฟอนต์มาตรฐานของหน่วยงานภาครัฐทุกหน่วย ภายในวันที่ ๕ ธันวาคม ๒๕๕๓ ด้วยเจตนารมณ์ที่ระบุไว้ใน มติ ครม. ว่า “เพื่อให้เอกสารต่างๆ ของภาครัฐ เป็นไปอย่างมีมาตรฐานปราศจากปัญหาลิขสิทธิ์และไม่ได้ขึ้นกับระบบปฏิบัติการระบบใดระบบหนึ่ง”
เมื่อ วิเคราะห์เจตนารมณ์ของมติ ครม. นี้ จะเห็นว่ารัฐบาลต้องการให้ไฟล์เอกสารของภาครัฐ มีมาตรฐานเอกสารเป็นเสรี ไม่ขึ้นกับระบบปฏิบัติการใด เช่นการกำหนดให้ใช้ฟอนต์ Angsana ของ Microsoft ทำให้ต้องใช้ระบบปฏิบัติการ Microsoft Windows เท่านั้น จึงจะสามารถเปิดไฟล์เอกสารขึ้นมาเพื่ออ่านและแก้ไขได้อย่างถูกต้องเหมือน ต้นฉบับ ทำให้ผู้ใช้ไม่สามารถเลือกใช้ระบบปฏิบัติการแบบโอเพนซอร์ส หรือของบริษัทอื่นเช่น Apple หรือ Google ได้
ตาม พรบ. ข้อมูลข่าวสารของราชการ ข้อมูลข่าวสารของราชการย่อมเปิดเผยต่อประชาชนทั่วไปได้เสมอ การที่ไฟล์เอกสารของภาครัฐมีข้อจำกัดในการเข้าถึงได้เฉพาะผู้ที่ใช้ระบบ ปฏิบัติการของบริษัทหนึ่ง จึงขัดกับหลักประกันการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารของราชการตามเจตนารมณ์ของ รัฐธรรมนูญ การกำหนดให้หน่วยงานภาครัฐเปลี่ยนไปใช้ฟอนต์ที่สามารถนำไปติดตั้งได้ในหลายๆ ระบบปฏิบัติการ จึงเป็นการแก้ปัญหาไปได้ส่วนหนึ่ง
อย่างไรก็ ตาม ตราบใดที่หน่วยงานภาครัฐยังคงนิยมใช้ฟอร์แมตไฟล์เอกสารของ Microsoft ซึ่งไม่ใช่มาตรฐานเปิด (Open Standard) เช่นไฟล์ที่มีนามสกุล doc xls ppt docx xlsx pptx[๒] ไฟล์เอกสารเหล่านั้นก็จะใช้งานได้เฉพาะประชาชนที่ใช้ Microsoft Office ซึ่งทำงานได้เฉพาะบน Microsoft Windows[๓] เท่านั้น นอกจากนี้ ซอฟต์แวร์ทั้งสองยังมีราคาแพงมากพอที่จะซื้อเครื่องคอมพิวเตอร์ได้หนึ่ง เครื่อง ซึ่งขัดกับเจตนารมณ์ของ พรบ. ข้อมูลข่าวสารของราชการ ที่คำนึงถึงการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อย ทั้งยังส่งผลให้ประชาชนหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐเอง ที่ไม่มีไลเซนส์ของซอฟต์แวร์เหล่านั้น จะต้องใช้ซอฟต์แวร์ทั้งสองอย่างละเมิดลิขสิทธิ์ ซึ่งเสี่ยงต่อการถูกดำเนินคดีตาม พรบ.ลิขสิทธิ์
ด้วยเหตุนี้ จึงขอเสนอให้รัฐบาลกำหนดให้หน่วยงานภาครัฐทุกหน่วยใช้ฟอร์แมตไฟล์เอกสารที่เป็นมาตรฐานเปิดเท่านั้น ซึ่งจะสามารถเปิดได้ด้วยซอฟต์แวร์มากมายบนทุกระบบปฏิบัติการ เพราะมีมาตรฐานที่เปิดเผยให้ผู้พัฒนาซอฟต์แวร์ทุกรายนำไปพัฒนาซอฟต์แวร์ได้ ต่างจากฟอร์แมตที่ไม่เป็นมาตรฐานเปิดซึ่งจะมีเพียงบริษัทเดียวเท่านั้นที่ สามารถพัฒนาซอฟต์แวร์ให้ทำงานกับฟอร์แมตนั้นได้อย่างถูกต้อง มาตรฐานเปิดสำหรับฟอร์แมตไฟล์เอกสารที่มีซอฟต์แวร์รองรับจำนวนมากมี ๒ ฟอร์แมตคือ
๑) ISO 32000 – Portable Document Format (PDF) สำหรับไฟล์ที่ต้องการให้ผู้รับอ่านได้เพียงอย่างเดียว
๒) ISO 26300 – Open Document Format (ODF) สำหรับไฟล์ที่ต้องการให้ผู้รับอ่านและแก้ไขได้[๔]
ปัจจุบัน มีรัฐบาลอย่างน้อย ๑๘ ประเทศที่บังคับว่าไฟล์เอกสารราชการจะต้องเป็น ODF คือ มาเลเซีย ญี่ปุ่น สหราชอาณาจักร ฝรั่งเศส เยอรมนี บราซิล รัสเซีย เบลเยียม โครเอเชีย เดนมาร์ก เนเธอร์แลนด์ นอร์เวย์ โปแลนด์ สโลวาเกีย แอฟริกาใต้ สวิตเซอร์แลนด์ อุรุกวัย และ เวเนซุเอลา
การใช้ ฟอร์แมตไฟล์ที่เป็นมาตรฐานเปิด นอกจากจะมีข้อดีในแง่เป็นหลักประกันการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารราชการของ ประชาชนโดยไม่แบ่งแยกซอฟต์แวร์และระบบปฏิบัติการที่ใช้ ยังมีข้อดีด้านอื่นคือ
๑) เป็นหลักประกันว่าไฟล์เอกสารจะสามารถเข้าถึงได้ตลอดไป โดยไม่ขึ้นกับซอฟต์แวร์ที่ใช้ตราบใดที่มาตรฐานยังมีอยู่ ต่างจากฟอร์แมตที่ไม่ใช่มาตรฐานเปิดซึ่งหากไม่มีซอฟต์แวร์เวอร์ชันที่ใช้ สร้างเอกสารนั้นแล้ว อาจไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลได้เลย หรือได้แต่เพี้ยนจากต้นฉบับเดิม
๒) ลดการละเมิดลิขสิทธิ์ หน่วยงานภาครัฐมักจะส่งไฟล์เอกสารที่ไม่ใช่มาตรฐานเปิดไปให้ประชาชนอ่านหรือ กรอกในฟอร์มแล้วส่งกลับ ส่งผลให้ประชาชนต้องเลือกระหว่างจ่ายเงินซื้อไลเซนส์ราคาแพงกับการละเมิด ลิขสิทธิ์ ประเทศไทยมีอัตราการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์สูงถึง ๗๕% หน่วยงานภาครัฐสามารถช่วยลดตัวเลขนี้ได้โดยการใช้ฟอร์แมตไฟล์ที่เป็นมาตรฐาน เปิดเท่านั้น
๓) ลดค่าใช้จ่ายด้านซอฟต์แวร์ของหน่วยงานภาครัฐ การใช้ฟอร์แมตไฟล์ที่ไม่ใช่มาตรฐานเปิดทำให้หน่วยงานภาครัฐมีซอฟต์แวร์เพียง บริษัทเดียวให้เลือก ทำให้ปราศจากอำนาจในการต่อรองและต้องซื้อไลเซนส์ในราคาแพง การเปลี่ยนมาใช้ฟอร์แมตไฟล์ที่เป็นมาตรฐานเปิดอย่าง ODF จะทำให้หน่วยงานภาครัฐมีทางเลือกจำนวนมาก[๕] ไม่ว่าจะใช้ Microsoft Office ที่คุ้นเคยเช่นเดิม[๖] หรือเปลี่ยนมาใช้ซอฟต์แวร์โอเพนซอร์สอย่าง OpenOffice.org ซึ่งไม่มีค่าไลเซนส์ และมีเวอร์ชันทั้งสำหรับ Microsoft Windows, Apple Mac OS X และระบบปฏิบัติโอเพนซอร์สตระกูล Linux ท่านสามารถพิจารณาตัวเลขจากกรณีศึกษาในประเทศต่างๆ ได้จากตาราง ODF Cost Savings Case Studiesข้างล่าง
๔) หน่วยงานภาครัฐจะมีอิสระในการกำหนดทิศทางนโยบายสารสนเทศของตัวเอง จากเดิมที่บริษัทผู้เป็นเจ้าของฟอร์แมตไฟล์จะเป็นผู้กำหนดว่าเมื่อใดทุกคนจะ ต้องเปลี่ยนไปใช้ฟอร์แมตเวอร์ชันใหม่ ซึ่งจะเปลี่ยนไปเรื่อยๆ ทำให้หน่วยงานต้องอัปเกรดซอฟต์แวร์ตาม แล้วเมื่อแลกเปลี่ยนไฟล์ฟอร์แมตเวอร์ชันใหม่กับหน่วยงานอื่นก็จะทำให้หน่วย งานอื่นต้องอัปเกรดตามไปด้วย
ดังนั้น เพื่อให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ที่ระบุไว้ใน มติ ครม. ข้างต้นคือ “เพื่อให้เอกสารต่างๆ ของภาครัฐ เป็นไปอย่างมีมาตรฐานปราศจากปัญหาลิขสิทธิ์และไม่ได้ขึ้นกับระบบปฏิบัติการระบบใดระบบหนึ่ง” อย่างสมบูรณ์ จึงเสนอให้รัฐบาลกำหนดให้ไฟล์เอกสารของภาครัฐที่สร้างขึ้นใหม่ต้องใช้ ฟอร์แมตที่เป็นมาตรฐานเปิดและมีซอฟต์แวร์รองรับจำนวนมากคือ PDF และ ODF เท่านั้น โดยกำหนดวันที่จะบังคับใช้ไว้ล่วงหน้า แล้วให้ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ ซึ่งรับผิดชอบงานวิจัยเกี่ยวกับโอเพนซอร์สและมาตรฐานเปิด เป็นผู้ศึกษาและวางแผนขั้นตอนการเปลี่ยนแปลงในหน่วยงานภาครัฐให้เป็นไปอย่าง ราบรื่น และให้สำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) ให้ความสนับสนุนกับหน่วยงานภาครัฐโดยบริหารจัดการให้มีการอบรมและสนับสนุน ทางเทคนิคอย่างเพียงพอ
จึงเรียนมาเพื่อโปรดพิจารณา
ด้วยความเคารพ
สัมพันธ์ ระรื่นรมย์
Thai Native Language Project Lead, OpenOffice.org Project
This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.
หมายเหตุ
[๑] มติ ครม. ๗ กันยายน ๒๕๕๓ http://www.chinnaworn.com/index.php?lay=show&ac=article&Id=539150907&Ntype=1
[๒] ไฟล์ที่มีนามสกุล docx xlsx pptx ใน Microsoft Office 2007 และ 2010 เป็น OOXML ที่ทำตามร่างของ ISO 29500 ไม่ใช่ตาม ISO 29500
[๓] Microsoft Office บน Apple Mac OS X เป็นซอฟต์แวร์คนละตัวกับ Microsoft Office บน Microsoft Windows เพียงแต่ใช้ชื่อเดียวกัน จึงมีปัญหาในการแลกเปลี่ยนไฟล์เอกสารระหว่างกันในลักษณะเดียวกับการ แลกเปลี่ยนไฟล์เอกสารระหว่าง Microsoft Office คนละเวอร์ชัน
[๔] นอกจาก ISO 26300 ยังมี ISO 29500 (Office Open XML) ของ Microsoft ที่เป็นฟอร์แมตไฟล์เอกสารที่เป็นมาตรฐานเปิด แต่ปัจจุบันยังไม่มีซอฟต์แวร์ตัวใดในโลกที่รองรับฟอร์แมต ISO 26300 แม้แต่ Microsoft Office ซึ่งทำตามร่างของ ISO 29500 ที่ Microsoft ส่งเข้ากระบวนการของ ISO และถูกแก้ไขหลายจุดก่อนจะออกมาเป็นมาตรฐาน ISO 29500 อย่างไรก็ตาม แม้ OOXML ที่เป็นร่างของ ISO 29500 ก็มีเพียง Microsoft Office ที่เปิดได้โดยปราศจากความเพี้ยนจากต้นฉบับเดิม
[๕] http://www.odfalliance.org/resources/App-Support-ODF-Dec2008.pdf
[๖] Microsoft Office ตั้งแต่เวอร์ชัน 2007 SP2 ขึ้นไปสามารถใช้งาน ODF ได้ทันที ส่วนเวอร์ชันก่อนหน้านั้นสามารถติดตั้งส่วนขยายเพิ่มเติมได้โดยไม่มีค่าใช้ จ่าย
[๗] http://www.odfalliance.org/resources/Cost-Savings-ODF-2008-August-table.pdf
เอกสารฉบับนี้สร้างขึ้นด้วยซอฟต์แวร์ OpenOffice.org 3.2.1 และบันทึกด้วยฟอร์แมต ODF (Open Document Text – odt) และ PDF
ฟ้อนต์ชุดนี้ดาวน์โหลดได้ที่เมนู ดาวน์โหลดฟรี นะครับ
ยินดีต้อนรับสู่เว็บไซต์ของเรา ที่นี่ใช้คุกกี้ (Cookies) เก็บข้อมูล เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น อ่านนโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (Privacy Policy) และนโยบายคุกกี้ (Cookie Policy)