ความห่วงใยในการเปิดเรียนภาคการศึกษาใหม่ 1/2564 นี้ คงไม่มีอะไรมากไปกว่า "อันตรายจากโควิด-19" เป็นแน่แท้ โรคร้ายที่ลุกลามแผ่ขยายไปทั่วโลกอย่างรวดเร็วพร้อมกับการพัฒนาตัวเองให้แปรเปลี่ยน จากตัวเดิมเป็นสายพันธุ์ใหม่ๆ ที่ระบาดได้รวดเร็วและรุนแรงมากยิ่งขึ้น จะเห็นได้ว่า การระบาดในรอบที่สามในประเทศไทยกระจายตัวรวดเร็วมาก น่าจะมาจากนอกประเทศทางฝั่งทิศตะวันออกจากเซียนพนันในบ่อนชายแดน มาสู่สถานบันเทิงในกรุงเทพฯ แล้วกระจายตัวออกไปสู่ต่างจังหวัด พอดีกับช่วงหยุดยาวเทศกาลสงกรานต์ เพียงแค่ 2 สัปดาห์เท่านั้น แผนที่ประเทศไทยที่แสดงการติดเชื้อจากสีขาว ก็เปลี่ยนเป็นสีเหลือง เขียว ส้ม และกลายเป็นสีแดงในทุกจังหวัดจริงๆ
ต้อนรับการเข้ามารับตำแหน่งของรัฐมนตรีใหม่หมาดกระทรวงศึกษาธิการ ที่ต้องยอมรับในไม่ช้าว่า ต้องเลื่อนการเปิดภาคเรียนจากเดิม 17 พฤษภาคม ไปเป็นวันที่ 1 มิถุนายน ซึ่งก็ยังไม่แน่ว่าจะเปิดได้จริงไหม หรือจะต้องเลื่อนออกไปอีก เพราะสถานการณ์ในขณะที่เขียนบทความนี้คือมีรายงานการติดเชื้อมากขึ้นถึง 4,887 คน เสียชีวิตในวันนี้มากถึง 32 คน ด้วยวัยที่น้อยลงด้วย
เจ้ากระทรวงศึกษาธิการคนใหม่ จัดการแถลงการเตรียมความพร้อมก่อนเปิดภาคเรียน 1/2564 ผ่านทางเครือข่ายออนไลน์ Facebook, Youtube ให้ครู และผู้บริหารสถานศึกษาทั่วประเทศได้ทราบเพื่อการนำไปปฏิบัติ ตั้งแต่การเตรียมเว็บไซต์ "ครูพร้อม" เพื่อเป็นทางเลือกให้ ครู ผู้ปกครอง เด็กๆ และผู้ที่สนใจได้ศึกษาเนื้อหาความรู้ ระหว่างปิดภาคเรียน ในส่วนของการใช้งานออนไลน์ กระทรวงศึกษาธิการได้เตรียมสื่อการเรียนรู้ไว้บนเว็บไซต์ให้แล้ว และส่วนของการใช้งานแบบออฟไลน์จะเน้นกิจกรรมฝึกอาชีพ เรียนรู้การออม เป็นต้น (มีมาเรื่อยๆ ตามนโยบาย จำเว็บไซต์ชื่อ ลึกๆ Deep Deep ได้ไหมครับ นักเรียนรุ่นนั้นครูช่วยกันสมัครเข้าระบบให้ตอนอยู่ ม.2 และ ม.5 ตอนนี้จบไปเรียนที่อื่นแล้วยังเข้าใช้งานไม่ได้เลย 555 "ครูพร้อม" ก็อย่าให้เหมือนเดิมนะครับ เพราะท่านย้ำนักย้ำหนาว่า "เป็นทางเลือกในการเรียนรู้ตามอัธยาศัยของครูไม่ได้บังคับไม่มีผลต่อการประเมินครู" รอดูอยู่)
สำหรับวิธีการจัดการเรียนการสอนจะใช้การเรียนใน 5 รูปแบบเช่นเดิม ดังที่ได้เคยทดลองมาแล้วในช่วงการแพร่ระบาดเมื่อปีที่ผ่านมา นั่นคือ 1. On Site คือการเรียนที่โรงเรียน ซึ่งจะใช้ในโรงเรียนขนาดเล็กและโรงเรียนที่ไม่มีการระบาดของโรค 2. Online คือการเรียนผ่านระบบออนไลน์ 3. On Air คือการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม (DLTV) 4. On Demand คือการเรียนผ่านแอปพลิเคชั่นต่างๆ และ 5. On Hand เป็นการจัดใบงานหรือแบบฝึกหัดเป็นชุดให้นักเรียนนำไปเรียนรู้ด้วยตนเองที่บ้าน โดยมีครูคอยติดตามผลเป็นระยะ หากโรงเรียนใดสามารถจัดการเรียนในห้องเรียนปกติได้ ให้ใช้การเรียนที่โรงเรียนเป็นฐาน (On Site) แต่หากไม่สามารถสอนในห้องเรียนได้ ให้ดูความพร้อมและความต้องการของนักเรียนเป็นสำคัญ
และที่โดนบุลลี่หนักๆ (เรียก "ด่า" ดีกว่ามั๊ง) ตั้งแต่ไม่เริ่มคือ "การดึงติวเตอร์มาอบรมครู" ไม่ใช่ว่า บรรดาติวเตอร์เหล่านั้นเขาไม่เก่งนะครับ เขาเก่งในการสรุปเรื่องยากๆ มาให้ผู้เรียนรับรู้ (ท่องจำ) เอาไปตอบข้อสอบได้ แต่นั่นไม่ใช่กลวิธีหรือยุทธวิธีที่เรียกว่า "การจัดการเรียนการสอน" เพื่อให้ผู้เรียนได้พัฒนาความรู้ ทักษะ เกิดประสบการณ์ในการเรียนรู้ สามารถดำรงชีวิตได้ในสังคมอย่างเป็นสุข ผมมั่นใจว่า "ครูไทย" ในแวดวงเพื่อนร่วมอาชีพของผมนี่มีความรู้ ความสามารถที่จะดำเนินการสอนได้ เพียงแต่...
เพื่อนผมเหล่านี้มีภาระงานอื่นๆ ที่ไม่ใช่งานสอนมากมายเกินไป มากเสียจนไม่สามารถจะเตรียมการเรียนการสอนให้นักเรียนได้เลย ครูจำนวนมากต้องทิ้งห้องเรียนไปทำหน้าที่อื่นๆ ทั้งงานเอกสารธุรการ พัสดุ การเงิน ทำรายงานในเรื่องที่ไม่เกี่ยวกับหน้าที่ เป็นงาน 'กาฝาก' ของสำนักงานอื่นๆ ที่โยนมาให้ทำ และจี้จะเอาเดี๋ยวนี้ให้ได้ ทั้งๆ ที่รู้ว่า สิ่งที่ปรากฏในรายงานเป็นตัวเลขลวง ถูกเสกขึ้นมาลอยๆ แล้วก็เอาไปเสนอโกหกกันขึ้นไปเป็นลำดับชั้น "
ผมคงไม่ต้องพูดซ้ำในเรื่องนี้ เพราะมี อาจารย์อรรถพล อนันตวรสกุล อาจารย์คณะคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้โพสต์ข้อความเปิดผนึกผ่านทางเฟซบุ๊คเอาไว้ ลองไปหาอ่านกันเองนะครับ
ในห้วงก่อนเปิดภาคเรียนที่เลื่อนออกไปนี้ "สิ่งที่ครูและผู้บริหารโรงเรียน" ในแต่ละท้องที่ (กลุ่มโรงเรียน สพท.) น่าจะทำกันคือ "จัดประชุมออนไลน์แลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์ ถอดบทเรียนที่ได้จากปัญหาการจัดการเรียนการสอนในปีที่ผ่านมา" โดยมี ศึกษานิเทศก์ ในเขตพื้นที่ต่างๆ เป็นโปรโมเตอร์ดำเนินการ เราน่าจะได้อะไรมากมาย เพราะบริบทในแต่ละโรงเรียนแตกต่างกันบ้าง เหมือนกันบ้าง การจัดการที่ได้ผลดีในโรงเรียนหนึ่งก็จะเป็นประโยชน์สามารถนำไปใช้กับอีกโรงเรียนหนึ่งได้ โรงเรียนในตำบล อำเภอเดียวกันยังไม่เหมือนกัน และยิ่งโรงเรียนขอบชายแดนที่มีนักเรียนต่างชาติ ต่างภาษา ต่างวัฒนธรรมมาเรียนร่วมก็มี การแลกเปลี่ยนประสบการณ์กันเป็นเรื่องที่ดีมากๆ ดีกว่าจะไปนั่งฟังติวเตอร์ที่ไม่เคยสัมผัสกับเด็กในพื้นที่ที่แตกต่างเช่นนี้มาก่อน มาพล่ามทฤษฎีจากที่ไหนก็ไม่รู้ให้ฟังเสียเวลาเปล่าๆ
ความล้มเหลวในการจัดการศึกษาที่มองเห็นกันตอนนี้ เพราะโควิด-19 ทำให้การดำเนินการด้านการเรียนเราขาดประสิทธิภาพ สภาพทางเศรษฐกิจที่ย่ำแย่ก็ยิ่งส่งผลให้เห็นชัดเจนมากยิ่งขึ้น แผนการจัดการศึกษาของประเทศไทยแม้จะมีการวางโครงสร้างไว้แล้ว ก็มักจะเหลวไม่ได้ทำเพราะนโยบายรีบเร่งจะเอาหน้าของเจ้ากระทรวงแต่ละคน (เพราะไม่มั่นใจว่าจะนั่งเก้าอี้นี้อยู่ได้นานเท่าไหร่ ต้องมีผลงานสำเร็จไปอ้างให้ได้) ผมถึงได้บอกว่า
ไม่ว่าจะเปลี่ยน รมต.ศธ. อีกสักกี่คน แต่.. ถ้าไม่เปลี่ยน Mind Set ในการทำงานของคนในกระทรวงศึกษาธิการ เราก็คงจะต้องมานับหนึ่งใหม่แบบนี้อยู่ร่ำไป เราควรเปลี่ยน 'ทำแล้วจะได้ตำแหน่งอะไร' มาเป็น 'ทำแล้วเยาวชนของชาติจะได้อะไร?' มากกว่า "
ความหวังของเด็กๆ ที่จะได้กลับไปพบเพื่อนที่โรงเรียนอีกครั้งหนึ่ง เมื่อไหร่นะ?
และน่าจะเป็นข่าวดีอีกข่าวที่ "ครู" จะได้รบการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ในเร็วๆ นี้ ด้วยเหตุผลว่า ถ้าครูติดเจ้าโควิดนี้เสียเอง ถ้าไปทำงานในโรงเรียนก็จะกลายเป็นคลัสเตอร์การกระจายเชื้อขนาดใหญ่ลุกลามในทันที ปัญหามันอยู่ที่ วัคซีนโควิด-19 สำหรับเด็ก ยังไม่มีออกมานี่สิเราจะทำอย่างไรกัน ความเสี่ยงในการเปิดเรียนก็ยังมีอยู่ไม่ว่าจะเป็นโรงเรียนขนาดเล็ก ขนาดใหญ่ ในชนบทหรือในเมือง คุณครูทั้งหลายเมื่อได้รับโอกาสก็รีบฉีดอย่ารีรอนะครับ ฉีดเลย เชื่อท่านผู้ว่าฯ ลำปาง ที่ท่านพูดไว้นี้เถอะครับ
"วัคซีนที่ดีที่สุด คือ วัคซีนที่มีให้ฉีดเร็วสุด" ถ้าจะตายเพราะฉีดวัคซีนอย่างน้อยๆ ก็ได้สวด 7 วัน มีญาติมิตรเพื่อนฝูงมาร่วมงานมากมาย แต่ถ้าตายด้วยโควิด ต้องรีบเผาในทันทีไม่อาจได้สวดอภิธรรมแม้สักวันด้วยซ้ำ และถ้าญาติติดโควิดจากเราด้วยเลยโดนกักตัวรักษาในโรงพยาบาล ก็อาจไม่มีใครมาเผาเลย นอกจากเจ้าหน้าที่ที่สวมชุด PE มาส่งศพที่เมรุเท่านั้น
ขอให้เพื่อนครูทุกท่านและครอบครัวปลอดโรค ปลอดภัยครับ
ครูมนตรี โคตรคันทา
13 พฤษภาคม 2564
ยินดีต้อนรับสู่เว็บไซต์ของเรา ที่นี่ใช้คุกกี้ (Cookies) เก็บข้อมูล เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น อ่านนโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (Privacy Policy) และนโยบายคุกกี้ (Cookie Policy)