เฮ้อ! เหนื่อย ว่าจะไม่บ่นแล้วแต่ก็อดไม่ได้ ด้วยสาเหตุปีการศึกษา 2563 "วงการครูท็อปฟอร์ม" จริงๆ ไม่เชื่อผมใช่ไหมลองไปถามเพื่อนกู(เกิ้ล)ด้วยคำว่า "ครูฉาว" ดูสิครับ มีตั้งแต่ผู้บริหารโรงเรียนไปถึงครูอัตราจ้างเลย แล้วจะได้ไม่ให้นักเรียนและผู้ปกครองเขาหน่ายแหนงได้อย่างไรกัน
การพัฒนาวิชาชีพก็อีกเรื่องหนึ่ง การรับ "ครู" และ "ผู้บริหาร" เข้าไปทำงานเพื่อสร้างเยาวชนของชาติ เปลี่ยนแปลงคุณภาพการศึกษามันก็อีกเรื่องหนึ่ง ถ้าเราไม่สามารถคัดกรองคนได้ ปัญหาทั้งหลายที่ท่านไปค้นหาพบนั้น ก็คงจะไม่มีวันหมดไปแน่นอน ยิ่งอยู่ในสภาวะสังคมที่ปากกัดตีนถีบอย่างนี้ บางคนก็ห่วงแต่สร้างภาพพจน์ ติดหรูกัน มันก็ยิ่งเพิ่มเหตุแห่งปัญหาเข้าไปไม่จบสิ้น
แน่นอนว่า "ครู" ในวันที่ผมก้าวเข้ามาสู่อาชีพนี้ การแข่งขันไม่มากนัก มีตัวเลือกที่ดี คนที่เรียนเก่ง เรียนดีจนเป็นแบบอย่าง จะเลือกเรียน "ครู" ไม่ใช่หมดทางเลือกค่อยมาเรียนครู การเล่าเรียนในสถาบันการฝึกหัดครูยุคนั้น ก็ร่ำเรียนในศาสตร์หลายสาขา ทั้งความรู้ในวิชาสามัญทั่วไป วิชาเอกที่ตัวเองคิดว่าถนัดและชอบ นอกจากนั้นยังเรียน จิตวิทยาการศึกษา วิธีการสอน การดูแลนักเรียนจำนวนมาก หลายวิชาและหลายหน่วยกิตด้วย
นอกจากนั้น สถาบันการฝึกหัดครูยังคิดไปไกลอีกว่า "เมื่อไปทำงานอยู่ในโรงเรียนที่ขาดแคลน" ครูควรมีความรอบรู้ด้านอื่นๆ ด้วย เช่น สุขศึกษาและพลศึกษา เพื่อให้สามารถดูแลสุขภาพ ป้องกันโรคภัย ได้เรียนศิลปะ ซึ่งต้องมีสุนทรียะ รู้อารมณ์ศิลปืน สมัยผมเรียกไปเรียน "อาร์ตอัปรีย์" จริงๆ มันคือ Art Appreciation สุนทรีย์ศิลป์ ความชื่นชมในความงามศิลปะ รู้ประวัติศิลปินระดับโลกมากมาย รู้ยุคสมัยแห่งศิลปะ และแน่นอนต้องมีศิลปะไทยด้วย (จดจำได้เสมอกับการเคี่ยวเข็นของ อาจารย์จุลทัศน์ พยาฆรานนท์ (ราชบัณฑิต) ที่เคยสอนผมเขียนลายไทย การลอกลายจากจิตรกรรมฝาผนังวัดดังๆ ในอดีต)
ยังไม่พอ พวกเรายังต้องเรียนดนตรีสากล ดนตรีไทย ได้ฝึกฝน เรียนรู้ปฏิบัติ อย่างน้อยต้องสามารถสอบผ่านเครื่องดนตรี 1 ชิ้น เพื่อให้ไปสามารถสอนให้ความรู้นักเรียนได้บ้าง เรียนด้านอาชีพพื้นฐานตามที่จะเลือก อย่าง เกษตรกรรม เรียนปลูกพืช เลี้ยงสัตว์ ปุ๋ยและน้ำ อุตสาหกรรม เรียนช่างทั้งหลาย ช่างไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์ ช่างไม้ คหกรรม เรียนการทำอาหาร การดูแลรักษาเครื่องใช้ไม้สอยในบ้าน คือพร้อมที่จะไปเป็นครูในทุกศาสตร์เท่าที่จำเป็นและขาดแคลน
แต่ทุกวันนี้ ความรู้ในส่วนจิตวิทยาการเรียนการสอน การควบคุมชั้นเรียนมีน้อยมาก ไปมุ่งเน้นแต่วิชาเอกกันเสียมาก เพราะไปมองว่าจะไปเป็น "ครูผูสอนวิชาเอก...." ในโรงเรียนใหญ่ๆ แล้วโรงเรียนเล็กๆ ห่างไกลล่ะ มีไม่ครบเอกครบชั้นจะทำอย่างไร?
ขอเล่าตอนผมเป็นครูใหม่ๆ ช่วงแรกอยู่โรงเรียนประถมศึกษาไกลปืนเที่ยง (แบบว่า นั่งสองแถวรถประจำหมู่บ้านที่เขามาตลาด มาโรงพยาบาลตอนเช้า) เข้าไปต้องภาวนาอย่าให้ฝนตกระหว่างทาง สมัยนั้นถนนลูกรังแดงๆ ก็หรูล่ะ ที่ผมไปสอนนั้นอย่าว่าแต่สองแถวเลย มอเตอร์ไซค์ครูใหญ่ยังติดหล่ม ติดโคลนต้องจูง ต้องเข็นแทนการขี่ ถนนเป็นทางเกวียนมีทราย มีหล่มโคลนที่ต้องผ่านร่องน้ำ ผ่านห้วย ถ้าฝนตกก็มีแววว่า ทุกคนในรถจะต้องลงมาช่วยออกแรงเข็น ออกแรงฉุดกันเหนื่อยล่ะกว่าจะถึงหมู่บ้าน (ถ้าใครจำครูปิยะ นั่งหลังคารถโคตรทรหดในหนัง "ครูบ้านนอก" ได้ ก็แบบนั่นล่ะครับ) ที่นี่ได้รับมอบหมายให้สอน ป.5 (จบครู ป.กศ.สูง วิทยาศาสตร์มา) วิชานี้สนุกเพราะเรียนธรรมชาติวิทยา พานักเรียนศึกษาธรรมชาติรอบโรงเรียน เรื่อง กบและฮวก ปลาลูกครอก กะปอมก่า หาเห็ด และแหย่ไข่มดแดง ทั้งครูและนักเรียนได้ความรู้พร้อมกับอิ่มท้องในตอนเที่ยงวัน
ภาพยนตร์ "ครูบ้านนอก" ต้นฉบับ
วันไหนคุณครูแม่ ชั้น ป.1 ลา (ภรรยาครูใหญ่นั่นแหละ ไม่มาเพราะสามีไปประชุมอำเภอ ไม่มีใครมาส่งหนทางลำบาก ขนาดวันไหนมาด้วยกันใส่เสื้อกันฝนคลุมทั้งตัว ก็ยังเห็นโคลนติดที่ไรผมอยู่) ผมต้องลงไปช่วยสอน ป.1 ก็เลยได้เรียนรู้ว่า การสอนคนที่ไม่รู้อะไรเลยให้รู้จักตัวเลข ตัวอักษร ก.ไก่ ข.ไข่ นี่มันไม่ใช่เรื่องง่ายๆ เลย ต้องใจเย็นขนาดไหนที่จะค่อยๆ บอก ค่อยๆ สอน จับมือเขียนให้เป็น (สมัยโน้น สมุดเขียนตามรอยเส้นประ อย่าฝันว่าจะมีนะครับ) ครูต้องเขียนตัวโตๆ บนกระดานดำ ใช้ชอล์กสีทำลูกศรบอกแนวการลากเส้น โอ้ย! ยากมากจริงๆ กำลังสอนคนนี้อยู่ คนโน้นก็เรียกหาครูให้ช่วย อื้ออึงไปทั้งห้อง ที่เขาเขียนได้มาจนเรียน ป.5 ที่ผมสอนนี่บอกได้เลยว่า "ขอคารวะคุณครูแม่ๆ ทุกๆ คนที่ตั้งใจ เอาใจใส่มากจริงๆ ผมยอมแพ้พวกท่านจริงๆ ครับ"
สอนอยู่ได้ไม่กี่เดือน ผลการสอบบรรจุครูมัธยม กรมสามัญศึกษา สมัยนั้นออกมา สอบได้ที่ 1 ไปบรรจุโน่นในโรงเรียนมัธยมอำเภอเล็กๆ ห่างตัวจังหวัดไป 70 กิโล (คนสอบได้ที่ 2 เขาได้บรรจุโรงเรียนในตัวจังหวัด แทนอัตราเกษียณ ตอนเดือนพฤศจิกายน เป็นเศร้าน้อ! คนเก่ง 555) ไปโรงเรียนมัธยมก็ยังได้สอนแบบมัลติฟังก์ชั่นเหมือนเดิม (หลายวิชา) เพราะครูไม่ครบสาขาหรอกครับ นอกจากวิทยาศาสตร์ที่เป็นวิชาเอกแล้ว ต้องสอนภาษาอังกฤษ ช่างอุตสาหกรรม ศิลปะอีกวิชา แต่ก็ดีขึ้นเพราะเด็กๆ เขาได้ครูดีๆ จากระดับประถมศึกษาทำให้อ่านออก เขียนได้คล่องพอควร จริงๆ อยู่โรงเรียนขาดแคลนทำให้ผมได้ประสบการณ์เยอะอยู่นะ ทำมาหลายหน้าที่ทั้งฝ่ายปกครอง พัสดุ-การเงิน ครูโสตทัศนศึกษา (เพื่อนๆ เรียก "ครูโสตาย" เพราะงานหนักกว่าใครเขา เตรียมการก่อนอาจหลายวัน เวลามีงานสำคัญ ประชุม-สัมมนา ศึกษาดูงาน ไม่ค่อยได้กินกับเขาเพราะทำหน้าที่ทั้งถ่ายภาพ คุมเครื่องเสียง เป็นออการ์ไนซ์จัดการแสดงของครู-นักเรียน เมื่อจบงานคนอื่นเชาชื่นมื่นกลับบ้าน เราต้องเก็บของ เครื่องเสียง เก็บโต๊ะเก้าอี้ช่วยนักการภารโรงอีก)
ตามที่จั่วหัวด้านบนว่าให้ลองสอบถามเพื่อนกู(เกิ้ล) ด้วยคำว่า "ครูฉาว" แล้วจะได้คำตอบมาหลายสิบหน้า ตั้งแต่ "ครูอนาจารศิษย์" ซึ่งมีทั้งครูหนุ่ม ครูสาว และครูเฒ่าตัณหากลับมากมาย เป็นข่าวแทบจะทุกเดือนเลยทีเดียว ครูเหล่านี้ไม่รู้กฎหมายบ้างเลยหรือ จึงได้กระทำผิดโดยขาดสติยั้งคิดเช่นนี้ อยากให้รู้ ให้ยั้งคิดกันเลยยกมาให้อ่าน
การกระทำชำเราเด็กอายุไม่เกิน 15 ปีนั้น ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 277 วรรคแรก บัญญัติไว้ว่า ผู้ใดกระทำชำเราเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีซึ่งมิใช่ภริยาหรือสามีของตน โดยเด็กนั้นจะยินยอมหรือไม่ก็ตาม ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สี่ปีถึงยี่สิบปี และปรับตั้งแต่แปดพันบาทถึงสี่หมื่นบาท ...
.............................
ถ้าการกระทำความผิดตามวรรคหนึ่ง เป็นการกระทำแก่เด็กอายุยังไม่เกินสิบสามปี ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่เจ็ดปีถึงยี่สิบปี และปรับตั้งแต่หนึ่งหมื่นสี่พันบาทถึงสี่หมื่นบาท หรือจำคุกตลอดชีวิต”
จะเห็นได้ว่า เป็นกรณีที่กฎหมายให้ความคุ้มครองเป็นพิเศษแก่ผู้เยาว์ ดังนั้น แม้ผู้เสียหายยินยอมก็ยังเป็นการละเมิดอยู่ดี และถ้าหากการกระทำชำเรานั้น มีลักษณะเป็นการพาผู้เยาว์ไป หรือสั่งให้ผู้เยาว์ไป เพื่อกระทำชำเราแล้ว ก็จะเป็นการพรากผู้เยาว์อายุไม่เกิน 15 ปี ไปเพื่อการอนาจาร ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 317 วรรคสามด้วย โดยมาตรา 317 ดังกล่าวไม่นำ "ความยินยอมของผู้เยาว์" มาใช้พิจารณาเช่นเดียวกัน
ขอให้มีสติยั้งคิดกันหน่อยนะครับ อย่าคิดว่า "เด็กมันสมยอม ฉันจะไม่ผิด" มันไม่ใช่แค่เรื่องอับอายของผู้กระทำเท่านั้น หากคนทำมีครอบครัวผลนั้นก็จะมีผลไปยังสามีหรือภรรยา และบุตรที่จะถูกสังคมติฉินนินทา ถ้ายังเป็นโสด บรรดาญาติพี่น้องที่ใช้นามสกุลร่วมกันก็คงแทบเอาปี๊บคลุมหัวเดินแล้วละครับ
"ครูทำร้ายศิษย์" นี่ก็เยอะทั้งที่มีเจตนาและไม่เจตนา ซึ่งผมก็ไม่อยากปรักปรำนักว่า "ครูจอมโหด" ลงไม้ลงมือจนบาดเจ็บสาหัสทั้งต่อร่างกายและจิตใจ นั้นมาจากส่วนลึกภายในจิตใจของบุคคลนั้น ที่เป็นข่าวโหดร้ายอย่าง "ผอ.เอาปืนจ่อหัวนักเรียน" นี่คงไม่ธรรมดาแล้วล่ะครับ ขอคัดลอกความเห็นจากเพื่อนกัลยาณมิตรของผม "ครูวีระ สุดสังข์" ที่เขียนใน Facebook ไว้เมื่อ 27 มีนาคม 2564 ดังนี้
ผมพูดเรื่องนี้มาตลอด คนจะไปเป็นครูนั้น นอกจากสอบวัดความรู้ความสามารถแล้ว ต้องผ่านการตรวจโรคจากจิตแพทย์ด้วย หากป่วยด้วยโรคจิตอย่างใดอย่างหนึ่ง รักษาให้หายก่อนแล้วจึงเรียกบรรจุเข้ารับราชการครูได้ และเมื่อรับราชการครูแล้วต้องตรวจโรคจากจิตแพทย์ไปทุก 5 ปี หากปรกติก็ทำหน้าที่ต่อได้ หากไม่ปรกติให้รักษาจนกว่าจะหาย ระหว่างรักษาไม่ให้สอนนักเรียน ไม่ให้มีกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับนักเรียน มอบหมายหน้าที่อื่นให้ทำไปก่อน ถ้ารักษาแล้วรักษาอีก ไม่หายจริงๆ ต้องให้ลาออกจากราชการรับเงินบำเหน็จบำนาญไปตามอายุราชการ ตำแหน่งผู้บริหารก็เช่นเดียวกัน
การสอนเด็กเป็นเรื่องละเอียดอ่อนมาก เด็กมีหัวจิตหัวใจ มีอารมณ์ความรู้สึกนึกคิด มีฝัน มีจินตนาการ ความแตกต่างระหว่างเด็กซับซ้อนมาก ทั้งความแตกต่างระหว่างวัยหรือวัยเดียวกันก็ยังแตกต่าง ความแตกต่างระหว่างเพศ นอกจากนี้ยังแตกต่างสภาพทางร่างกาย สถานะความเป็นอยู่ สถานภาพทางสังคม เด็กๆ เหล่านี้ไม่ต่างจากคนป่วยเช่นเดียวกัน บุคคลที่จะอบรมดูแล ประสิทธิ์ประสาทวิชาความรู้แก่ผู้ป่วยได้ "ต้องมีสภาพจิตใจปรกติ" เท่านั้น "ไม่ใช่เอาคนป่วยทางจิตไปสอนคนป่วยทางจิต" ปัจจุบันเป็นอยู่เช่นนี้ สุดท้ายแล้วครูก็ทำร้ายร่างกายเด็ก ข่มขืนกระทำชำเราเด็ก ดั่งผีห่าซาตานเข้าสิงอย่างไรอย่างนั้น มันสยดสยองในความรู้สึก
ผู้บริหารก็เช่นเดียว การบริหารคน การบริหารงานต้องมีจิตวิทยาขั้นสูง เข้าใจความแตกต่างของมนุษย์ เข้าใจศักยภาพของมนุษย์ แต่ถ้าผู้บริหารเป็นโรคจิต หัวร้อน อารมณ์ก้าวร้าวรุนแรง ชอบขึ้นเสียงข่มขู่ ชอบพกพาอาวุธปืน "มันจะบริหารคน บริหารงานให้บรรลุผลสำเร็จได้อย่างไร?" ข่าวครูผู้บริหารทำร้ายเด็กถี่ขึ้นทุกวัน จนแทบจะเป็นข่าวรายวัน "ครูกลายเป็นบุคคลที่น่าหวาดกลัว น่าขยะแขยง น่ารังเกียจมีจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ" สงสารครูดีๆ ผู้บริหารดีๆ ที่ต้องได้รับความด่างพร้อยไปด้วย
"ไอ้ ผอ.ที่เอาปืนจี้หัวเด็กได้ มันไม่ใช่ครู ไม่ใช่ ผอ.อีกแล้ว มันไม่ต่างอะไรจากโจรผู้ร้าย ฆาตกร" มันเป็นอย่างนี้ เพราะมันป่วยทางจิต ลงโทษคนหนึ่งก็มีอีกคนหนึ่งโผล่ขึ้นมา ไม่รู้จบไม่รู้สิ้น ถ้ากระทรวงศึกษาธิการไม่เชื่อในแนวความคิดของผม อนาคตโรงเรียนอาจไม่มีเด็กสอน เพราะพ่อแม่ของเด็กไม่กล้าให้ลูกไปโรงเรียน การศึกษาถึงคราวล่มจมล่มสลาย คำว่า "ครูคือปูชนียบุคคล" จะพลอยถูกเหยียบย่ำไปด้วย จนไม่เหลือคุณค่าอะไรเลย
หน่วยงานจัดการด้านการศึกษาทั้งหลาย จะว่าอย่างไรกับเรื่องราวครูท็อปฟอร์มดังกล่าวนี้ โดยเฉพาะ รมต.ศธ. คนใหม่กับ รมช. อีก 2 ท่านก็เป็น "สุภาพสตรี" ไม่ลองเรียกประชุมพิจารณาเรื่องนี้กันหน่อยไหมครับ อีกด้าน "คุรุสภา" ที่เป็นองค์กรวิชาชีพครูนั่นก็ด้วย มาทบทวนงานที่พวกท่านทำหน่อยดีไหม ว่าจะสร้างความเข้มแข็งเชื่อมั่นให้กับผู้ปกครองและนักเรียนกันอย่างไร หรือคิดไม่ออก ทำไม่ได้เลย ก็แค่เรื่อง "ใบประกอบวิชาชีพครู" ท่านก็ยังไม่มีปัญญาทำระบบตรวจสอบให้มันง่ายๆ ได้เลย ถนัดแต่เรื่องเก็บแต่ค่าธรรมเนียม หาสินค้า หาหนี้มาให้ครูซึ่งถนัดกว่า อย่างนั้นหรือ?
ก็ขอเตือนมายังเพื่อนๆ ร่วมอาชีพนะครับว่า "ทุกวันนี้ ใครๆ ต่างก็มีเครื่องมือที่จะนำมาฟ้องร้องเอาผิดเราได้อยู่ในมือ" การจะคิด จะทำอะไรขอให้มีสติ คิดให้รอบคอบ นึกถึงบุคคลอื่นๆ ว่าจะมีความเดือดร้อนเพียงใด ถ้าเรากระทำเช่นนั้น อย่าให้มีเรื่องราวฉาวโฉ่อีกเลย มาย้อนรอยภาพยนตร์ไทยที่สะท้อนชีวิตครูจากปลายปากกาของ ครูคำหมาน คนไค กับ "ชีวิตครูปิยะ ครูบ้านนอก" เมื่อ 40 ปีก่อนกันหน่อย
ครูบ้านนอก - ความจริงไม่ตาย
ครูมนตรี โคตรคันทา
บันทึกไว้เมื่อ 18 เมษายน 2564
ยินดีต้อนรับสู่เว็บไซต์ของเรา ที่นี่ใช้คุกกี้ (Cookies) เก็บข้อมูล เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น อ่านนโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (Privacy Policy) และนโยบายคุกกี้ (Cookie Policy)