ขอมาอัพเดทความคิดความเห็นการศึกษากันสักเล็กน้อยนะครับ การศึกษาไทยเรานั้นอยู่ในขั้นวิกฤติด้านการบริหารจัดการ สร้างภาวะความเครียดให้ทั้งกับครูผู้สอน นักเรียน ไปจนถึงผู้ปกครองโดยทั่วไป แต่เราดูข่าวแล้วมักจะพบว่า "บรรดาท่านผู้กุม(มี)อำนาจทั้งหลายเวลามีไมโครโฟนจ่อปากก็จะตอบฉาดฉาน ไม่กระดากปากแม้แต่น้อยว่า 'การเรียนออนไลน์ได้ผลดี' จนประชาชีฟังแล้วท้อใจ ถามกลับเบาๆ ในใจว่า 'จริงหรือ?' ท่านคงมีคำตอบในใจนะครับ"
เราได้รับบทเรียนจากการสั่งปิดโรงเรียน สถานศึกษา จากการระบาดโควิด-19 รอบแรกมาแล้ว ได้เห็นความไม่พร้อมในการจัดการต่างๆ เห็นความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาในทุกระดับ ที่เมื่อก่อนจะมองว่า คนชนบทห่างไกลจะมีความเหลื่อมล้ำมากที่สุด แต่พอการระบาดของไวรัสร้ายมากระทบจึงทำให้เห็นว่า คนในสังคมเมืองใหญ่นี่แหละมีความเหลื่อมล้ำมากกว่า เดือดร้อนมากที่สุดด้วย ยกตัวอย่างง่ายๆ
ปิดเรียน ให้อยู่บ้าน เรียนที่บ้าน : บ้านนอกบ้านนา ยังมีปู่ย่า ตายาย คอยดูแลได้แม้จะไม่มากนัก แต่ดีกว่าชุมชนเมือง ที่เด็กถูกทอดทิ้งทันที พ่อแม่ยังต้องดิ้นรนออกไปทำมาหากิน เด็กอยู่อย่างไร?
ปิดเรียน ไม่ไปโรงเรียน ขาดอาหาร : บ้านนอกบ้านนาหรือในเมืองก็ตาม เด็กจะได้รับการช่วยเหลือเรื่อง อาหารกลางวัน นมโรงเรียน ในชนบทเด็กอาจจะกระทบในระยะแรก แต่ก็มีการปรับตัวภายหลังเรื่อง การแจกจ่ายอาหาร และนมโรงเรียนจากองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น ในขณะที่เด็กๆ ในเมืองเกิดสภาวะชงักงัน จนเดี๋ยวนี้ก็ยังไม่สามารถแก้ปัญหาได้
ปิดเรียน ให้เรียนออนไลน์ ขาดเครื่องมือและอุปกรณ์ : กรณีนี้เด็กทั้งในเมืองและชนบทเจอปัญหาพอๆ กัน แต่เด็กในเมืองน่าจะน้อยกว่าในเรื่องปริมาณของความพร้อม แต่เด็กในชนบทนั้นขาดในระดับความพร้อมของอุปกรณ์ขั้นพื้นฐานไปเลย ทั้ง เครื่องคอมพิวเตอร์ มือถือ โทรทัศน์ โครงข่ายสื่อสาร ระบบไฟฟ้า ที่ต้องบอกว่า บางแห่งไม่มีโดยสิ้นเชิงทีเดียว
ผมคงไม่ต้องแจกแจงไปมากกว่านี้ แล้วทำไมบรรดาผู้มีส่วนในการจัดการศึกษาจึงออกมาประสานเสียงกันว่า "การเรียนออนไลน์ได้ผลดี" ตอบง่ายๆ ได้ว่า ท่านเหล่านั้นอยู่ในบริบทสิ่งแวดล้อมที่มีความพร้อม เห็นลูกหลานของตัวเองและคนใกล้ชิดมีอุปกรณ์การเรียน และเรียนออนไลน์กันคึกคัก แต่... ในแต่ละวันท่านไม่เคยเดินเข้าไปในตรอก ซอก ซอย แหล่งชุมชนแออัดในเมืองใหญ่เลยว่า เขาอยู่ในสภาพเช่นไร?
พอมีการระบาดครั้งที่ 2 เกิดขึ้น พวกท่านก็ "มโน" ในเรื่องเดิมๆ อยู่นั่นแหละ ทั้งๆ ที่ชาวบ้านจำนวนมากทั้งในเมืองและชนบทต่างก็เรียกร้องว่า เขาขาดแคลน แต่ไม่มีใครได้ยิน สิ่งที่พวกเขาพยายามช่วยตนเอง จัดหามาให้มีใช้ได้ในรอบก่อนหน้า แต่พอรอบนี้กลับใช้ไม่ได้ เฮ้ย! มีด้วยเหรอ?
มีสิครับ DLTV ในโทรทัศน์ระบบดิจิทัลภาคพื้นดิน นั่นไงที่หายไป "
ระบบรัฐาธิปัตย์บ้านเรานั้น บริหารแบบแก้ผ้าเอาหน้ารอดไปวันๆ คือไม่ได้คิดและวางแผนกันในระยะยาว แก้ปัญหาที่มาเคาะประตูหน้าบ้านให้หมดไป ก็เลิกไม่เคยคิดต่อว่า ถ้าปัญหานั้นมันมาอีกครั้ง จะทำอย่างไร? เรื่อง DLTV นี้ก็เช่นกัน ปกติระบบนี้เป็นการเผยแพร่ผ่านเครือข่ายดาวเทียมเป็นการจัดสอนทางไกล โดย มูลนิธิการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม ในพระบรมราชูปถัมภ์ มีเว็บไซต์ของโครงการที่จัดให้มีการสตรีมมิ่งรายการผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ตด้วย ก็มีการเรียกร้องว่า ในบางพื้นที่อินเทอร์เน็ตเข้าไม่ถึง หรือถึงแต่ความเร็วต่ำทำให้ดูไม่ได้ การออกอากาศทางโทรทัศน์ผ่านดาวเทียมก็เหมาะกับครอบครัวที่มีชุดเครื่องรับผ่านดาวเทียม ครอบครัวที่ไม่มีก็รับไม่ได้เพราะดูผ่านโครงข่ายทีวีดิจิทัลภาคพื้นดินอย่างเดียว จะทำอย่างไร?
ทาง กสทช. ผู้ที่มีอำนาจในการบริหารจัดการเกี่ยวกับการออกอากาศผ่านช่วงคลื่นความถี่ จึงขอความร่วมมือผู้ให้บริการโครงข่ายโทรทัศน์ดิจิทัลภาคพื้นดิน (ซึ่งมี 3 รายคือ NBT, TV5, ThaiPBS ให้สนับสนุนการจัดสรรคลื่นความถี่ เพื่อทดลองออกอากาศ DLTV จำนวน 17 ช่อง อ่านข่าวเก่า) ทำการเชื่อมโยงสัญญาณออกอากาศเป็นเวลา 6 เดือน โดยที่ไม่มีใครคาดคิดว่า เจ้าโควิด-19 มันจะระบาดยาวนานแค่ไหน เมื่อพ้นระยะเวลา 6 เดือน การออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ดิจิทัลภาคพื้นดินจึงหายไปจากจอ พอมีการปิดเรียนในโรงเรียน สถานศึกษา ในรอบที่ 2 จึงมีความโกลาหลเกิดขึ้น
มีคำถามว่า "ทำไม ไม่ออกอากาศต่อไปล่ะ?" ผมขอตอบแทนบริษัทผู้ลงทุนทั้ง 3 รายได้ว่า "ไม่มีบริษัทไหนเป็นพระเวสสันดร ลงทุนหลักหมื่นล้านแล้วเอามาให้ใครใช้ฟรีๆ หรอกครับ" ค่าใช้จ่ายต่อเดือนแพงนะครับ ถ้าใครอยากจะทำโทรทัศน์ดิจิทัลภาคพื้นดินต้องมีทุน เฉพาะค่าเช่าใช้โครงข่ายต่อเดือนในระบบความคมชัดมาตรฐาน (SD) เดือนละ 4.6 ล้านบาทต่อช่อง (ถ้าความคมชัดสูง (HD) ตกเดือนละ 13.8 ล้านบาทต่อช่อง) แล้วนี่ใช้มากถึง 17 ช่อง ก็ตกเดือนละ 78.2 ล้านบาท ใครจะจ่าย? กระทรวงศึกษาธิการตั้งงบเพื่อการนี้ไหม? นี่คือคำตอบนะครับ
ผมดูข่าวในโทรทัศน์แต่ละวันก็ได้แต่ถอนหายใจ "โชคดีนะที่ ครูมนตรีเกษียณอายุราชการแล้ว" ไม่งั้นคงได้เล่นใหญ่เหมือนๆ เพื่อนครูหลายๆ คน ที่ต้องออกมาแสดงบทบาทสมมุติ เรียกร้องความสนใจจากลูกหลานให้ใส่ใจในการเล่าเรียนออนไลน์กัน มีบางคนก็กระแนะกระแหนว่า "เล่นใหญ่ไปนะ" "ต้องทำขนาดนี้เลยเชียวหรือ?" ต้องบอกว่า ผมให้กำลังใจทุกท่านนะครับ ถ้าไม่งัดกลยุทธ์ออกมาความสนใจในการเรียนของลูกหลานคงไม่ขนาดนี้ ไม่เฉพาะแต่นักเรียน ผู้ปกครอง แม้แต่ครูเองก็ยังสนใจอยากเข้าไปดู เพื่อจะได้นำมาเป็นบทเรียนเพื่อใช้ประโยชน์ในอนาคต
ทำให้ผมย้อนนึกไปถึงตอนที่ ไวรัสร้ายนี้ยังไม่ระบาด แล้วครูหลายๆ คนได้พยายามจะกระตุ้นและเสริมสร้างกำลังใจให้ครู ได้พัฒนาการเรียนการสอน ในรูปแบบใหม่ๆ โรงเรียนไหนพร้อมก็สอนทางออนไลน์ควบคู่กันไป แม้จะมีปัญหาและอุปสรรคมากมายก็สู้ไม่ถอย ในขณะที่ครูอีกฟากหนึ่งก็ไม่ยินดี ทั้งทำเป็นไม่รู้และไม่ชี้ในแนวทางการพัฒนานี้ นอกจากจะไม่ใส่ใจสนับสนุนแล้ว ยังขัดขวางในการเรียนรู้ด้วยเทคโนโลยีใหม่ๆ นี้อีกด้วย ตั้งแต่ ยึดโทรศัพท์มือถือนักเรียนเอาไว้ ประกาศห้ามหน้าเสาธงใหญ่โต มีจัดอบรมในเรื่องการพัฒนานวัตกรรมฉันก็ไม่เอาด้วย แต่อยากได้ใบประกาศนียบัตรเหลือเกิน ไปลงเวลาเข้าอบรมกินเบรคแล้วก็หาย มาอีกทีตอนรับใบประกาศนียบัตร ถ่ายรูปกับโพเดียม เต๊ะท่าทำตัวเป็นวิทยากร เพื่อ... จะได้ตำแหน่ง อาจารย์ 2 อาจารย์ 3 ครูชำนาญการพิเศษ ครูเชืี่ยวชาญสร้างภาพ
แล้ววันนี้... สบายดีกันไหมครับ
ยินดีต้อนรับสู่เว็บไซต์ของเรา ที่นี่ใช้คุกกี้ (Cookies) เก็บข้อมูล เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น อ่านนโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (Privacy Policy) และนโยบายคุกกี้ (Cookie Policy)