"ทิศทางการศึกษาไทยในวันนี้" คำถามที่ไม่มีคำตอบ (ที่ตรงกัน) แม้จะถามกับคนเดียวกันในต่างวันกัน คำตอบที่ได้ก็ไม่เหมือนเดิมด้วยเหตุผลต่างๆ นานา แม้แต่จะมาจากการตอบของเหล่าเสนาบดี ผู้มีอำนาจในการกำหนดทิศทางการศึกษา นักวิชาการ ผู้รู้ในแวดวงการศึกษาไทย เพราะอะไรหรือจึงเป็นเช่นนั้น? เพราะ "อัตตา" ไงครับเชื่อตามๆ กันมาบ้าง คิดว่ามันไม่ถูกต้องถ้าทำแบบนั้น ก็เลยมีนโยบายรายวันที่เปลี่ยนไปตามการเปลี่ยนของผู้มีอำนาจในขณะนั้น คนทำไว้ก่อนแม้จะดีเพียงใดก็ไม่ใช่นโยบายของเรา เราต้องเปลี่ยน โดยลืมไปว่า "การจัดการศึกษาไม่สามารถทำให้เกิดผลได้ในเร็ววัน" อย่างน้อยๆ มันไม่ส่งผลให้เห็นได้ภายในปี หรือสองปี ที่ท่านเป็นผู้มีอำนาจกุมนโยบายดอก แล้วสิ่งที่ทำนั้นมันวุ่นวายสับสนจนคนปฏิบัติ (ครูในโรงเรียน) จะเป็นบ้าตายเสียก่อน ตายเพราะรายงานที่ท่านทั้งหลายต้องการนั่นแหละ
กล้วยไม้มีดอกช้า ฉันใด
การศึกษาเป็นไป เช่นนั้น
แต่ออกดอกคราวไร งามเด่น
การศึกษาปลูกปั้น เสร็จแล้วแสนงาม "มล.ปิ่น มาลากุล
ภาพประกอบหัวเรื่องนี้จึงเป็นคำตอบได้ดี ทั้งที่เจอทางสามแพร่ง ทั้งวงเวียนที่ต้องเดินวนเวียนไม่รู้จบ แล้วปัจจุบันกำลังสับสนต่างคนต่างเดิน เพื่อไปสู่เป้าหมายที่ไม่ทราบว่า มันอยู่ที่ใด คืออะไร ยิ่งมาเจอยุคแห่งการระบาดของไวรัสไปทั่วโลก ก็ยิ่งสะท้อนให้เห็นอะไรหลายๆ อย่างที่ต่างคนต่างทำ แล้วไม่ประสบผลสำเร็จอะไรเลย จนต้องมีการออกมาเรียกร้องของบรรดานักเรียน นักศึกษา ในยุคนี้นั่นเอง
ความเหลื่อมล้ำยิ่งชัดเจนขึ้นเมื่อโควิด-19 มาเคาะประตูหน้าบ้าน "
เมื่อก่อนการระบาดของโควิด-19 จะมาถึง แม้เราจะพูดถึง "ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา" กันมาก แต่หลายๆ คนก็มองไม่เห็น และแม้ว่าจะมองเห็นบ้างก็กลบเกลื่อนว่า มันมีไม่นากนักหรอกพอที่เราจะจัดการกันได้ และโบ้ยไปถึงสาเหตุแห่งการขาดงบประมาณ การกระจายลงไปไม่ทั่วถึงในชนบทที่ห่างไกลเท่านั้นเอง
ในความจริงแล้ว มันเหลื่อมล้ำขาดแคลนไปทุกหนแห่ง และชัดเจนขึ้นมาทันทีเมื่อมีการล็อกดาวน์ปิดเมือง ปิดประเทศ ผู้คนถูกสั่งให้หยุดการเคลื่อนที่ รวมกลุ่มใหญ่ อันจะนำมาซึ่งการระบาดของโรคภัยไม่สิ้นสุด โรงเรียน สถานศึกษา เป็นเป้าหมายของการล็อกดาวน์ในทันที แล้ว "ระเบิดเวลาแห่งความเหลื่อมล้ำ" ก็ตูมทำงานจนเละเป็นโกโก้ครั๊ํนซ์ไปในทันที
กระทรวงศึกษาธิการ ตั้งธงไปที่การจัดการเรียนการสอนออนไลน์ การสอนผ่านรายการโทรทัศน์ดาวเทียม (DLTV) ซึ่งสำหรับประชากรที่มีความพร้อมก็คงไม่ยากนัก แต่ไม่ใช่ทุกคน เราจะเห็นว่าในสังคมเขตเมืองเองก็มีคนที่ไม่พร้อมอยู่เป็นจำนวนมาก และอาจจะมากกว่าในชนบทเสียด้วยซ้ำ เราจึงเห็นข่าวการดิ้นรนของผู้ปกครองที่ต้องหาเงินมาเพื่อลูกหลาน ในการจัดหาเครื่องมือเรียนออนไลน์ ทั้งโทรทัศน์ที่รับสัญญาณดาวเทียม หรือรับระบบดิจิทัลได้ โทรศัพท์ที่เป็นสมาร์ทโฟนรับสัญญาณอินเทอร์เน็ตได้ เท่านั้นยังไม่พอ ใครจะอยู่ดูแลลูกหลานที่อยู่บ้านตอนเรียนออนไลน์ ใครจะให้คำแนะนำในการเรียน เพราะผู้ปกครองก็ตองออกไปทำงานประกอบอาชีพกันนอกบ้าน
ยังไม่จบอีก เมื่อก่อนเด็กไปโรงเรียนมีครูคอยดูแล มีอาหารกลางวัน นมโรงเรียน จากงบประมาณของรัฐช่วยเหลือจุนเจือ พอไม่ได้ไปโรงเรียนพวกเขาจะได้อาหารจากไหน อยู่กันอย่างไร ปัญหานี้ไม่เคยมีใครคิดถึงมาก่อนเสียด้วยซ้ำ
ผลกระทบจากวิกฤติโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อการศึกษาไทย อนาคตโรงเรียนคงต้องหันมาสู่ "การเรียนออนไลน์" มากขึ้น แต่อีกมุมหนึ่งก็ยังมีครอบครัวจำนวนมากที่ได้รับผลกระทบด้านเศรษฐกิจ การเรียนในโรงเรียนดังหรือมหาวิทยาลัยต่อ คงจะไม่ใช่ทางเลือกที่ดีในเวลานี้ นี่คือโจทย์ใหญ่ที่รัฐบาลต้องขบคิด ปัญหาปากท้องของผู้คนจำนวนมาก ที่รัฐบาลพยายามหางบประมาณมาอุดหนุนให้รอดในภาวะวิกฤต กับปัญหาหนักคือ "การว่างงาน" ที่มีทั้งจากการถูกเลิกจ้างเพราะธุรกิจเจอปัญหากระทบ และอีกส่วนหนึ่งว่างงานเพราะจบการศึกษาออกมาไม่มีตำแหน่งงานรองรับเข้าไปอีก
มาถึงวันนี้เราคงจะพอมองภาพการศึกษาไทยในอนาคตข้างหน้าอันใกล้นี้ต้อง "พัฒนาการเรียนรู้สู่อาชีพในวันข้างหน้า" เพราะสิ่งที่เราคิดและทำมานานแสนนาน ทั้งการปฏิรูปหรือปฏิวัติการศึกษาที่ผ่านมานั้น ล้วนไร้ผลจริงๆ ในทางปฏิบัติ เรามีผู้สำเร็จการศึกษาเป็นจำนวนมากที่เชี่ยวชาญเฉพาะทาง แต่ไม่ตอบโจทย์ต่อการทำอาชีพในปัจจุบัน ซึ่งการประกอบอาชีพทุกแขนงในปัจจุบันนั้นต้องการคนที่รอบรู้ในศาสตร์หลายๆ สาขามาประกอบกัน ยกตัวอย่างง่ายๆ อาชีพเกษตรกร ที่นอกจากจะเชี่ยวชาญในการเพาะปลูก เลี้ยงสัตว์แล้ว ต้องมีความรอบรู้ด้านการปรับปรุงพันธุ์ การผลิตอาหารเสริม (ให้สัตว์) ผสมดิน (ให้พืช) เพื่อเพิ่มความเจริญเติบโต มีความรู้ในการรักษาสุขภาพให้ทั้งสัตว์และพืช (โรคและการป้องกัน) ผลิตมาแล้วยังต้องมีความรู้เรื่องการตลาด การจำหน่าย การเพิ่มมูลค่าด้วยการแปรรูป (ราคาตกต่ำต้องยืดระยะเวลาจำหน่าย) รู้ทันเทคโนโลยีเพื่อเข้าสู่การค้าขายในโลกออนไลน์ และการพยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตรกรรม
เอิ่ม! ในขณะที่เกษตรกรส่วนใหญ่มีแค่โทรศัพท์รุ่นอาม่า ไม่รู้จักเฟซบุ๊ค หรือ ไลน์ ไม่เคยเล่นเคยใช้คอมพิวเตอร์ พอบอกให้ขายออนไลน์คงใบ้กินกันไปครึ่งค่อนประเทศ ดังนั้น เกษตรกรยุคใหม่จะมีความรู้แค่ปลูกได้ ทำเป็นตามที่พ่อแม่เคยทำ รอฟ้าฝนให้ตกต้องตามฤดูกาล ผลผลิตเสียหายรอคอยแต่การช่วยเหลือจากรัฐบาลไม่ได้อีกแล้ว อาชีพของคนยุคใหม่เปลี่ยนไปมากจริงๆ เราจึงต้องปรับการศึกษาให้สอดคล้องกับโลกใหม่ใบนี้
ผมติดตามข่าวการศึกษาในประเทศไทยแต่ละวันแล้วก็ได้แต่ถอนหายใจ ทำไมนะ?
โรงเรียน คือ คำตอบของความสำเร็จของการจัดการศึกษาแน่หรือ?
ในสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ที่ผ่านมาทำให้ผมมองโลกของการเรียนรู้ในโรงเรียนต่างออกไป ในช่วงล็อกดาวน์ปิดโรงเรียน สถานศึกษากันทั่วประเทศ ทำให้เกิดปัญหาตามมามากมายดังที่ทราบๆ กัน มีผู้คนตกงานเป็นจำนวนมากและส่งผลกระทบไปถึงลูกหลาน เช่น ที่เคยเรียนโรงเรียนเอกชนชื่อดัง ค่าเล่าเรียนราคาแพง หรือระดับมหาวิทยาลัย อาจจะต้องหยุดเรียนไปเลย หรือหยุดพักการเรียนไป แม้ผู้ปกครองจะเห็นความสำคัญของการศึกษาเล่าเรียนเพียงใด แต่ผมก็ไม่เห็นด้วยที่จะต้องไปกู้หนี้ ยืมสินเพื่อมาส่งลูกเรียนด้วยเงินจำนวนมากเช่นนี้ การกินอยู่ดำรงชีวิตมีความสำคัญกว่า
เป็นไปได้ไหมว่า เราจะสนับสนุนการเรียนแบบตามอัธยาศัย เรียนนอกโรงเรียน เรียนในสิ่งที่ชอบ แล้วสอบเทียบโอนให้มีวุฒิการศึกษา ยิ่งถ้าเป็นการเรียนในระดับอุดมศึกษาหรือสายอาชีพ ถ้าสามารถเรียนไปด้วย ทำงานไปด้วย ในสถานประกอบการก็ยิ่งจะตอบโจทย์การศึกษาที่มีอาชีพรองรับได้
การปฏิรูปการศึกษา หลักสูตร ที่ผ่านมาตอบโจทย์ได้หรือไม่?
กี่สิบปีมาแล้วที่เรายังหลงอยู่ในวังวงการของการปฏิรูปการศึกษา ที่บรรดานักการศึกษา เจ้ากระทรวง ผู้เกี่ยวข้องทั้งหลายตีฆ้องร้องป่าวให้ครูทำ การลองผิด ลองไม่เคยถูก มาเนิ่นนานจนคำว่า "ปฏิรูปการศึกษา" หมดความขลังไปแล้ว การคิดและทำแบบเดิมๆ นั้นไม่เกิดผลจริงๆ ด้วยสาเหตุของการเปลี่ยนแปลงทางด้านเทคโนโลยีสารสนเทศที่รวดเร็วเกินกว่าที่เราคาดไว้มากนัก
พ่อ-แม่ยุคใหม่เลี้ยงลูกด้วยแท็ปเล็ตกับมือถือตั้งแต่การมองเห็นโลก เพื่อให้ลูกเงียบไม่งอแง (แม้จะไม่ใช่ทุกครอบครัว) แต่ปรากฏการณ์นี้ทำให้การจัดการศึกษาในวันนี้มีปัญหา ตั้งแต่การมีสมาธิสั้น สนใจประเดี๋ยวประด๋าว สนใจเรื่องใหม่ๆ ไม่สิ้นสุดที่ีท้าทาย ในขณะที่ครูผู้สอนยังสอนตามหนังสือ (ตำราเรียน) ที่ครูมี โดยไม่เข้าใจว่า "หลายๆ เรื่องที่ครูพล่ามอยู่นั้นเด็กได้พบจากอุปกรณ์ไฮเทคพวกนั้นมาแล้ว มันจึงไม่ท้าทาย น่าเบื่อ" แล้วครูก็ได้แต่โทษเด็กๆ ว่า ไม่ใส่ใจในสิ่งที่ครูสอน
เมื่อสัปดาห์ที่แล้วทีมงานของ "ธนาคารโลกประจำประเทศไทย" ได้แถลงข่าวเกี่ยวกับ "สถานภาพทางการศึกษาของประเทศไทย" มีประเด็นที่น่าสนใจหลายๆ ประเด็น ผมขออนุญาตนำมาเผยแพร่ต่อดังนี้
ผู้แทนธนาคารโลกเริ่มด้วยการหยิบยกตัวเลขเก่า ที่เราได้ยินได้ฟังมาแล้วหลายหนขึ้นมาเกริ่นนำว่า จากการประเมินทักษะนักเรียนอายุ 15 ปี จากทั้งหมด 79 ประเทศ ตามมาตรฐานสากลหรือ PISA พบว่า เด็กไทยอยู่ในอันดับท้ายๆ ของภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก นั่นก็คือ อันดับที่ 68 ด้านการอ่าน อันดับที่ 59 ด้านคณิตศาสตร์ และอันดับที่ 55 ด้านวิทยาศาสตร์ (มันก็ข้อมูลเก่ามาตั้งแต่ปี 2561 นั่นแหละ)
ผู้แทนธนาคารโลกระบุด้วยว่า สาเหตุที่ทักษะเรียนรู้ของเด็กไทยตกต่ำส่วนหนึ่งเกิดจาก "นักเรียนมีอัตราการขาดเรียนสูง" ซึ่งมันมีสาเหตุมากมายนับตั้งแต่ ความยากจนในครอบครัว (หาเช้ากินค่ำ หาค่ำกินตอนสว่าง) รัฐยังไม่มีมาตรการช่วยเหลือที่ดีพอ แม้จะใช้คำว่า "เรียนฟรี 15 ปี" แต่ความจริงแล้วสิ่งที่ให้ฟรีนั้นเพียงพอไหม ครอบครัวยังต้องช่วยเรื่องค่าเล่าเรียนอื่นๆ อีกเป็นจำนวนมาก เรื่องเด็กถูกกลั่นแกล้งในโรงเรียน (Bully) โรงเรียนและครูไม่ใส่ใจในปัญหานี้ ทำให้ไม่อยากไปโรงเรียน เราเห็นตัวอย่างมากมายที่ชี้ให้เห็นว่าเป็นเช่นนั้นจริงๆ เสียด้วย "โรงเรียนไม่ใช่สถานที่แห่งความสุขของเด็กๆ" ซึ่งอาจจะไม่เป็นเช่นนี้ทุกแห่งหรอกนะ
นอกจากการนำเสนอในประเด็นเก่าที่ว่านี้แล้ว ผู้แทนธนาคารโลกยังมีการประเมินตัวเลข "ค่าใช้จ่ายด้านการศึกษาของนักเรียนไทย" ตั้งแต่ระดับชั้น ป.1 จนถึง ม.3 ว่ามีมูลค่าเฉลี่ยต่อหัวถึง 27,271 $US (ประมาณ 818,000 บาทต่อคนต่อปี) ซึ่งถือว่า ประเทศไทยใช้เงินลงทุนทางด้านการศึกษาค่อนข้างสูง เมื่อเทียบกับจำนวนนักเรียน แต่ผลสัมฤทธิ์กลับสวนทางกับการลงทุน (จ่ายมากได้น้อย ไม่รู้มันไปรั่วที่ไหน แต่เท่าที่ผมตรวจสอบลงลึกเงินจำนวนนี้มากกว่า 70% เป็นค่าจ้างครูและสาธารณูปโภค เป็นงบพัฒนาผู้เรียนเพียงเศษเสี้ยวเท่านั้น)
ปัจจัยสำคัญที่อยู่เบื้องหลังประการหนึ่งก็คือ การกระจายทรัพยากรไม่ถูกจุด รวมถึงปัญหาการขาดแคลนครู และการเข้าไม่ถึงอุปกรณ์การเรียนที่เหมาะสม ยังมีระบบอุปถัมภ์ในการบริหารการศึกษา งบประมาณจึงลงไปยังบางจุดจนเป็นที่ผิดสังเกต เกิดภาวะการใช้งบประมาณไม่คุ้มค่า นำไปสู่ปัญหาการทุจริตในวงการศึกษาที่ "ครู" เป็นแพะรับกรรม อย่างกรณีสนามฟุตซอลที่มีครูผู้ปฎิบัติงานด้านงบประมาณบางส่วนถูกให้ออกจากราชการ นั่นไง!
คณะผู้แทนธนาคารโลกจึงเสนอว่า "โรงเรียนขนาดเล็กในพื้นที่ใกล้เคียงกันควรมีการควบรวม หรือสามารถใช้คณะบุคลากรและอุปกรณ์การศึกษาร่วมกันได้ เพื่อให้การจัดสรรงบประมาณมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น"
สิ่งเหล่านี้ เจ้ากระทรวงจะมองเห็นอย่างไร ผมไม่อาจทราบได้ แต่มันก็สะท้อนออกมาว่า ประเทศไทยเรานั้นทำผิดพลาดมานานแล้วในหลายๆ เรื่อง โดยเฉพาะเราทำนโยบายการศึกษาลมเพลมพัดตามนักการเมือง ที่ไม่มีความรู้ในศาสตร์การจัดการศึกษา จะเห็นได้จากที่ยุคหนึ่ง การตั้งโรงเรียนใหม่เกิดขึ้นในพื้นที่หาเสียงของนักการเมือง (ทั้งๆ ที่จุดนั้นมีโรงเรียนมากเพียงพออยู่แล้ว แต่ต้องการทำให้ที่ดินข้างเคียงมีราคา ให้ลูกหลานมีตำแหน่ง) แล้วต่อมาก็เกิดการขาดแคลนตัวป้อน (นักเรียน) ด้วยการแย่งชิงกันเอง หรือคุณภาพลดลง หรือคนเกิดน้อยลง ไม่ยืนยัน แต่ผลคือ "ต้องยุบทิ้งไป" เพราะความแคระแกรนที่มีดังที่เป็นข่าว
เรื่องของ “ความยากจน” ก็เป็นสาเหตุสำคัญประการหนึ่ง ที่ทำให้สมรรถนะของเด็กนักเรียนไทยต่ำกว่ามาตรฐาน ตามเกณฑ์สากลที่ใช้ในการประเมินจนต้องหล่นไปอยู่อันดับท้ายๆ ของการสำรวจ เพราะความยากจนทำให้ขาดทั้งโอกาส ขาดการสนับสนุนส่งเสริม ลำพังแค่อาหารประทังชีวิตก็ยากแค้น จะหาสื่ออุปกรณ์การเรียนให้เหมาะสมกับการเล่าเรียนได้เพียงใด ทั้งในเมืองและในชนบทก็มีปัญหาแทบไม่ต่างกัน พอมาเจอโควิด-19 รอบแรกปัญหานี้ชัดเจนทันที แล้วยิ่งแจ่มชัดขึ้นเมื่อเจอการระบาดรอบสองในรอบเดือนธันวาคมนี้ ที่มีการปิดโรงเรียนในหลายๆ โรงเรียน แล้วผู้มีอำนาจก็สั่งว่า "ให้เรียนออนไลน์" ที่ผมวิตกมากในวันนี้ว่า จะมีเด็กจำนวนไม่น้อยที่เสียโอกาสในครั้งนี้ซ้ำเติมอีกครั้ง
เบอร์กิต ฮานสล์ ผู้จัดการธนาคารโลกประจำประเทศไทย เปิดเผยว่า “วิกฤตการณ์โควิด-19 ทำให้เกิดความไม่เท่าเทียมกันในระบบการศึกษาทั่วโลกรวมถึงประเทศไทยด้วย... เยาวชนที่ด้อยโอกาสได้รับผลกระทบมากที่สุด โรงเรียนทุกแห่งควรมีทรัพยากรที่จำเป็นเพื่อให้นักเรียนทุกคนมีโอกาสที่เท่าเทียมกันในการเรียนรู้และประสบความสำเร็จ”
ช่องว่างกว้างในการเข้าถึงแหล่งเรียนรู้ดิจิทัล ระหว่างโรงเรียนในชนบทและในเมือง และระหว่างรัฐบาลและโรงเรียนเอกชน ที่ทำให้ความไม่เท่าเทียมกันในการศึกษาแย่ลง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในช่วงที่มีการปิดโรงเรียนเป็นเวลานาน ซึ่งเกิดจากการระบาดของโควิด-19 เพราะในขณะที่นักเรียนที่มีฐานะค่อนข้างร่ำรวยเกือบร้อยละ 90 มีคอมพิวเตอร์ประจำบ้าน และเกือบทั้งหมดมีอินเทอร์เน็ต ขณะที่ในกลุ่มนักเรียนที่มีสถานะทางเศรษฐกิจและสังคมต่ำ มีเพียงร้อยละ 20 เท่านั้นที่มีคอมพิวเตอร์ที่บ้าน และร้อยละ 61 มีอินเทอร์เน็ตที่บ้าน (คงหมายถึงอินเทอร์เน็ตในมือถือที่ค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูง)
ธนาคารโลกยังแนะนำประเด็นสำคัญ 3 ประการ ที่ผู้กำหนดนโยบายและนักการศึกษาสามารถแก้ไขเพื่อปรับปรุงผลการเรียนรู้ของนักเรียน:
ไม่เพียงแต่เด็กระดับอายุ 15 ปีที่มีการวัดผลจาก PISA ในระดับต่ำดอกนะครับ ระดับคนที่จบปริญญาตรีนี่ก็แทบไม่ต่างกันมากนัก ถ้าลองเอาไปวัดเปรียบเทียบกับประเทศอื่นๆ เราก็คงเป็นรองเขาอยู่มาก โดยเฉพาะทักษะการสื่อสารด้านภาษาต่างประเทศ อย่าใช้คำว่า "เราไม่เคยเป็นเมืองขึ้นฝรั่ง" มากดทับตัวเองไว้ครับ เพราะโลกเปลี่ยนแล้ว การศึกษาให้เท่าทันโลกเราจำเป็นต้องมีความสามารถในการสื่อสารที่สูงขึ้นจึงจะแข่งขันกับชาติอื่นได้
ยินดีต้อนรับสู่เว็บไซต์ของเรา ที่นี่ใช้คุกกี้ (Cookies) เก็บข้อมูล เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น อ่านนโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (Privacy Policy) และนโยบายคุกกี้ (Cookie Policy)