foto1
ความงดงามการศึกษาไทย
foto1
เพื่อ?
foto1
ไม่เข้าใจ?
foto1
วิทยากรที่กระทรวงศึกษาธิการ สปป.ลาว
foto1
ท่องทะเลทรายที่ดูไบ UAE


Friendly Links

เรียนรู้ภาษา html
isangate banner
easyhome banner
ipst banner
sakdibhornssup foundation
13 Thai free fonts
speedtest
e mil

Facebook Likebox

No. of Page View

school lunch

ข่าวที่น่าสงสารจับใจ... โกงกันได้แม้แต่ "อาหารกลางวัน" เด็กๆ ผู้ใหญ่กินกันจนพุงการ ไม่ละอายกันสักนิด คิดแล้วอนาถนักประเทศไทย เป็นข่าวไม่เว้นในแต่ละวันทีเดียวในช่วงนี้ เป็นในหลายที่หลายจังหวัด ในหลายสังกัดด้วย แต่ที่มีข่าวมากหน่อยกลับเป็นสังกัด อปท. (องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น) ที่น่าจะเกิดการมีส่วนร่วมของประชาชนในท้องที่ช่วยกำกับดูแล และมีส่วนร่วมในการดำเนินการก็ชื่อมันเป็นอย่างนั้น แต่... ในความเป็นจริงกลับเป็นองค์กรที่ได้ชื่อว่างุบงิบกันมากที่สุด (ไม่ใช่ว่าไม่มีดีนะ มีเหมือนกันแต่น่าจะเป็นข้อยกเว้นในไม่กี่พื้นที่ เพราะส่วนใหญ่การได้มาของฝ่ายบริหารองค์กรนั้นได้ชื่อว่า มาจากอิทธิพลในท้องถิ่น การซื้อเสียงมาแต่ต้นจนต้องมาถอนทุนทีหลัง ในสถานศึกษาก็ไม่เว้นเช่นเดียวกัน)

school lunch 01
หนูก็อยากมีอาหารกลางวันที่อิ่มอร่อยทุกมื้อ อย่าโกงเอาค่าอาหารหนูไปเลย...

ตั้งแต่ขนมจีนคลุกน้ำปลาที่พ่นพิษถึงกับผู้บริหารโดนไล่ออกจากราชการ มาจนถึงแกงจืดฟักวิญญาณไก่ และอื่นๆ อีกมากในช่วงนี้ ลองถามเพื่อนกู (Google) ดูซิครับคงพบไม่ต่ำกว่า 10 ข่าวทั้งในหนังสือพิมพ์ ข่าวโทรทัศน์ และในสื่อสังคมออนไลน์ มันสะท้อนถึงอะไรกันครับ ยิ่งในช่วงต้นเทอมที่ผ่านมามีการตีฆ้อง ร้องป่าว ให้ทุกโรงเรียนสอนจัดทำหลักสูตรยิ่งใหญ่ๆๆๆๆๆๆๆ ชื่อ "หลักสูตรต้านทุจริตศึกษา (Anti-Corruption Education)" แล้วนี่คือบทพิสูจน์ของการใช้หลักสูตรหรือ?

ไปดูมาแล้วครับ "หลักสูตรต้านทุจริตศึกษา (Anti-Corruption Education)" นี่ สุดยอดมากครับ โอ๊ว์ พระเจ้าจอร์จ มันยอดมาก ยกมานิดหนึ่งนะ

“สร้างสังคมไม่ทนต่อการทุจริต” ได้มุ่งเน้นให้ความสำคัญในกระบวนการปรับสภาพสังคมให้เกิดภาวะที่ “ไม่ทนต่อการทุจริต” โดยเริ่มตั้งแต่กระบวนการกล่อมเกลาทางสังคมในทุกระดับช่วงวัยตั้งแต่ปฐมวัยเพื่อสร้างวัฒนธรรมต่อต้านการทุจริต และปลูกฝังความพอเพียง มีวินัย ซื่อสัตย์สุจริต ดำเนินการผ่านสถาบันหรือกลุ่มตัวแทนที่ทำหน้าที่ในการกล่อมเกลาทางสังคม ปรับฐานความคิดทุกช่วงวัย ตั้งแต่ปฐมวัยให้สามารถแยกระหว่างผลประโยชน์ส่วนตนและผลประโยชน์ส่วนรวม "

แล้วก็โกงค่าอาหารพวกหนูกันตั้งแต่ช่วงปฐมวัยนี่นะ... สอนแต่เด็กเล็กอย่างหนู แต่ผู้ใหญ่โกงได้เช่นนั้นหรือ? คุณครูคะ... หนูไม่เข้าใจจริงๆ ถ้าผู้ใหญ่ไม่เป็นแบบอย่างที่ดีให้หนูเห็น หลักสูตรนี้ก็ไร้ราคาแล้วล่ะ หรือไม่จริง?

school lunch 02
จะต้องรอให้จัดการคนโกงอีกนานเท่าไหร่ กว่าพวกหนูจะหายหิวได้กินอิ่ม

การโกงกินกันแบบไม่อายเด็กนี่เกิดจากการจัดซื้อที่มีเงินทอนเป็นสำคัญ มันไม่ใช่แต่ผู้บริหารโรงเรียนทำการโกง แต่มีการทำเป็นทีมตามระเบียบ (อุ๊ตะ!) คือระเบียบการจัดซื้อจัดจ้างนี่มันรูปคณะกรรมการหลายคน ในหลายคนนี้ต้องร่วมมือกันมันถึงจะมีเงินทอนได้ ตั้งแต่เบิกจ่ายตามเอกสารมาไปซื้อมาไม่ครบหรือครบในรายการ แต่ขาดในน้ำหนัก/ปริมาณ จึงทำให้เกิดแกงฟักวิญญาณซี่โครงไก่ขึ้นมา ได้งบมา 10,000 บาทซื้อมา 5,000-6,000 บาท (ที่เหลือเป็นเงินทอน ทอนให้ใคร?) บางแห่งผู้บริหารหรือทางโรงเรียนไม่รู้เรื่อง เพราะกระบวนการเงินทอนนั้นมาจากต้นสังกัด ด้วยการประมูลจัดหาคนทำอาหารมาให้ โรงเรียนมีหน้าที่เซ็นรับอย่างเดียว เวลามีการร้องเรียนทางโรงเรียนก็รับเองไปเต็มๆ ตามข่าวที่ปรากฏในขณะนี้

พอโดนจับได้ไล่ทันก็อ้างว่า "ได้งบมาน้อย หัวละ 20 บาทเอง ไม่พอหรอก" อือม์ ที่อื่นพอกินอิ่มจนจุกแต่ที่นี่ถึงทำไม่ได้ ไม่พอล่ะ! มันเป็นปัญหาของการบริหารที่ไร้ประสิทธิภาพหรือเปล่า? คุณสมัครใจมาทำหน้าที่บริหารการใช้งบประมาณให้คุ้มค่า แต่คุณมาบริหารเพื่อให้เหลือเงินทอนเข้ากระเป๋าตัวเอง มันใช่หรือ?

เราได้เห็นโรงเรียนจำนวนมากที่สามารถบริหารจัดการเรื่องอาหารกลางวันนักเรียนได้ดี มีอาหารที่มีคุณค่าให้นักเรียนได้อิ่มอร่อยทุกมื้อ ไม่ซ้ำกันในแต่ละวัน บางแห่งด้วยงบประมาณจำกัดหัวละ 20 บาทต่อวัน เขายังสามารถจัดอาหารเช้าให้กับนักเรียนที่ไม่ได้รับประทานอาหารเช้ามาจากบ้าน ให้ได้มาอิ่มที่โรงเรียนได้ด้วย ก็ต้องขอปรบมือให้กับผู้บริหารโรงเรียนเหล่านี้ ด้วยความเคารพและนับถือในฝีมือของท่านเหล่านี้

"งบรายหัวที่ให้กับเด็กนักเรียน 20 บาท ต่อคนนั้น เพียงพออยู่แล้ว จะพูดได้ว่า “เหลือเฟือ” ด้วยซ้ำ" เป็นคำกล่าวของ ผศ.ดร.อุไรพร จิตต์แจ้ง อดีตนักวิชาการด้านโภชนาการชุมชน สถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล ที่พูดถึงโครงการอาหารกลางวันนักเรียน ขณะที่การจัดอาหารแต่ละสำรับให้กับเด็กนักเรียนที่ผ่านมาในอดีต ยอมรับว่า สารอาหารตามหลักโภชนาการนั้นไม่เพียงพอ แต่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็พยายามหาระบบการจัดการ เพื่ออำนวยความสะดวกให้แต่ละโรงเรียน โดยเฉพาะโครงการ "Thai School Lunch” คือระบบแนะนำสำรับอาหารกลางวันสำหรับโรงเรียน สามารถคำนวณคะแนนคุณภาพรวมของชุดสำรับอาหารกลางวัน ที่ประกอบด้วยอาหารจานหลัก ของหวาน ผลไม้ และขนม ที่เลือกใน 1 มื้อ ซึ่งมีรายละเอียดที่โรงเรียนต่างๆ ควรเข้าไปศึกษาและนำมาจัดการในโรงเรียน ตัวอย่างเช่น

 school lunch 04
เว็บไซต์โครงการ Thai School Lunch แนะนำให้โรงเรียนได้เข้าร่วมใช้งานกัน

  1. ใช้หลักการกำหนดเป้าหมายคุณภาพอาหารใน 1 มื้อเปรียบเทียบกับ ร้อยละ 40 ของข้อกำหนดความต้องการสารอาหารของคนไทยใน 1 วัน (กรมอนามัย: 2546) ใน 2 ช่วงชั้นได้แก่ ชั้นอนุบาล 3 -5 ปี และ ประถมศึกษา 6-12 ปี
  2. ฐานข้อมูล ซึ่งประกอบด้วย
    - ฐานรายการตำรับอาหาร กว่า 300 รายการ
    - ส่วนประกอบอาหารแต่ละตำรับ
    - ราคาวัตถุดิบอาหารต่อหน่วยจัดซื้อ
    - คะแนนสารอาหารของแต่ละตำรับ
    - คะแนนรวมของคุณภาพอาหารมื้อกลางวันสำหรับแต่ละช่วงชั้น
  3. สามารถปรับเปลี่ยนราคาอาหารต่อหน่วยจัดซื้อของแต่ละส่วนประกอบอาหาร ให้สอดคล้องกับราคาของแต่ละท้องถิ่นและแต่ละฤดูกาล
  4. มีการแสดงผลรายงานเป็นคะแนนคุณภาพอาหารของ พลังงาน โปรตีน ไขมัน แร่ธาตุเหล็ก ธาตุแคลเซียม วิตามินเอ วิตามินบีหนึ่ง วิตามินบีสอง วิตามินซี และใยอาหาร
  5. มีการแสดงผลรายงานของค่าเฉลี่ยคะแนนคุณภาพอาหารของชุดตำรับที่เลือก หรือจัด ใน 1 สัปดาห์ หรือมากกว่า
  6. มีการแสดงผลรายงานเป็นปริมาณส่วนที่ต้องซื้อหรือจัดหาของแต่ละส่วนประกอบอาหาร ในตำรับที่ถูกเลือกโดยคำนวณตามจำนวนเด็กที่รับบริการ
  7. มีการแสดงผลงบประมาณเฉลี่ยต่อคนต่อมื้อ

การจัดสำรับอาหารให้นักเรียน มีได้หลายรูปแบบ  เช่น

  • จัดเป็นอาหารจานเดียว ซึ่งโรงเรียนทั่วๆ ไปสามารถดำเนินการได้ เพราะจัดง่าย ราคาถูก คุณค่าทาง อาหารครบ ได้แก่ ข้าวผัด ข้าวคลุกต่างๆ ข้าวราดแกง ก๋วยเตี๋ยวผัดต่างๆ ก๋วยเตี๋ยว โดยจัดร่วมกับขนมหวาน หรือผลไม้ที่มีมากตามฤดูกาล
  • รูปแบบที่โรงเรียนจัดอาหารเป็นชุด ประกอบด้วยข้าวและอาหารคาว 1 – 2 อย่าง โดยจัดร่วมกับขนมหวาน หรือผลไม้ที่มีมากตามฤดูกาล

school lunch 03
อาหารง่ายๆ จานเดียวกับขนมหวานหรือสำรับอาหาร 1-2 อย่างกับขนมหรือผลไม้ตามฤดูกาล

โรงเรียนใหญ่ โรงเรียนเล็ก ย่อมได้รับงบประมาณที่มากน้อยแตกต่างกัน เพราะคิดตามรายหัว (จำนวนนักเรียน x 20 บาท) จึงได้งบมามากน้อยแตกต่างกันไป โรงเรียนเล็กๆ หลายแห่งที่มีผู้บริหารที่เป็นผู้บริหารจริงๆ สามารถทำให้นักเรียนทุกคนอิ่มหนำได้อย่างไรกัน นี่เป็นเรื่องที่น่าสนใจมากจริงๆ ที่โรงเรียนใหญ่ๆ มีงบเยอะๆ ควรไปศึกษาดูงานจริงจังแล้วเอามาปฏิบัติให้ได้บ้าง อย่าใช้แต่วิธีการประมูลที่มุ่งแต่ทำให้ราคาถูก จากหัวละ 20 บาท ประมูลมาได้ 13-15 บาท (เพื่ออะไร ส่วนต่างไปไหน กลับมาให้นักเรียนหรือเปล่า?) เท่าที่ไปเสาะหาข้อมูลโรงเรียนที่ประสบผลสำเร็จ พบว่า

school lunch 05
ตัวอย่างโรงเรียนที่ประสบผลสำเร็จในการจัดการอาหารกลางวัน โรงเรียนบ้านเนินจำปา

  • โรงเรียนร่วมมือกับชุมชน ในการช่วยเหลือกันตั้งแต่ การสนับสนุนวัตถุดิบในท้องถิ่นมาทำอาหารทั้งเช้า-กลางวันให้กับนักเรียน บ้างก็สนับสนุนแรงงานด้วยการจัดเปลี่ยนเวรกันมาช่วยกันทำอาหารเลี้ยงลูกหลานของตน ฯลฯ
  • โรงเรียนจัดทำโครงการเกษตรเพื่ออาหารกลางวัน อันนี้ดีมาก เพราะนอกจากจะได้อาหารปลอดภัยไร้สารพิษแล้ว ให้นักเรียนได้รับประทานกันอิ่มหนำแล้ว ยังเป็นการส่งเสริมการเรียนรู้ สร้างอาชีพให้กับนักเรียนในอนาคต นำความรู้ที่ได้ไปปฏิบัติที่บ้านทำให้ครอบครัวได้รับประโยชน์ด้วย
  • โรงเรียนแสวงหาความช่วยเหลือจากภาคเอกชน มีองค์กรเอกชนหลายแห่งในแต่ละท้องที่ต้องการทำ CSR (ประชาสัมพันธ์องค์กร) ให้เป็นที่รับรู้ของท้องถิ่น หรือรับรู้ในระดับชาติ ด้วยการช่วยเหลือทางการศึกษา เพราะนอกจากจะได้รับชื่อเสียงแล้ว กำลังทรัพย์ที่ลงทุนไปก็สามารถนำมาหักลดหย่อนภาษีได้ 2 เท่า โรงเรียนใดที่มีผู้บริหารที่มีความสามารถในการประสานงานก็จะได้ผลสำเร็จในเรื่องนี้

ฉะนั้น "ความสำเร็จในโครงการอาหารกลางวัน" สำหรับโรงเรียนจึงต้องยกเครดิตให้ "ผู้บริหารโรงเรียน" ที่มีวิสัยทัศน์ มองไกลถึงอนาคตของลูกหลาน มีความมุ่งมั่นในการพัฒนาการศึกษา เป็นตัวอย่างที่ดีได้ในหลักสูตรต้านทุจริตศึกษา ขอเป็นกำลังใจให้ทุกท่านนะครับ (ขอบคุณภาพประกอบจากน้องก้อย รายา ปัญจมานนท์ ผอ.คนเก่งจากจันทบุรีด้วยนะครับ)

school lunch 06
ความร่วมมือร่วมใจของคณะครู-แม่บ้าน-นักเรียนในการจัดการอาหารกลางวัน

อ่านเพิ่มเติม : ผลวิจัยพบผู้บริหารในวงการศึกษาทุจริตจนเป็นวัฒนธรรม

นโยบายความเป็นส่วนตัว Our Policy

ยินดีต้อนรับสู่เว็บไซต์ของเรา ที่นี่ใช้คุกกี้ (Cookies) เก็บข้อมูล เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น อ่านนโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (Privacy Policy) และนโยบายคุกกี้ (Cookie Policy)

Our Policy