foto1
ความงดงามการศึกษาไทย
foto1
เพื่อ?
foto1
ไม่เข้าใจ?
foto1
วิทยากรที่กระทรวงศึกษาธิการ สปป.ลาว
foto1
ท่องทะเลทรายที่ดูไบ UAE


Friendly Links

เรียนรู้ภาษา html
isangate banner
easyhome banner
ipst banner
sakdibhornssup foundation
13 Thai free fonts
speedtest
e mil

Facebook Likebox

No. of Page View

coding4child

ราม่าการศึกษาไทยวันนี้เกิดจากความไม่เข้าใจในเนื้อหา และอคติทางการเมืองที่เป็นประเด็นที่ไม่ถูกใจฉัน ฉันต้องค้าน ต้องถล่ม ติติง สร้างความเข้าใจผิด เพื่อให้ได้ใจสาวกให้ปลื้มปริ่ม ปรบมือ กรีดร้อง กับวาทะคนรุ่นใหม่ค้นหาจากกูเกิ้ลได้ แต่... ถามจริงๆ เหอะวาทกรรมที่พบเห็นในโลกออนไลน์ กลับเป็นกลุ่มคนที่ไม่เคยศึกษาค้นคว้าจากที่ใดๆ เลย กูก้งกูเกิ้ล เป็นแค่วาทกรรมเท่ๆ ที่เอาไว้หลอกสาวกเท่านั้นเอง

คุณหญิงกัลยา โสภณพณิช  รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ แถลงหนุนกระทรวงศึกษาธิการสอนเด็กไทยได้เรียน 3 ภาษา พร้อมหนุนให้มีการเรียนการสอนภาษาคอมพิวเตอร์ เชื่อสามารถลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาได้ "

ประเด็นมันอยู่ตรงนี้แหละ "เด็กไทยได้เรียน 3 ภาษา พร้อมหนุนให้มีการเรียนการสอนภาษาคอมพิวเตอร์" 2 ภาษาแรกคงพอเข้าใจกันได้คือ ภาษาไทยของบรรพบุรุษของเราเอง และภาษาสื่อสารสากลคือภาษาอังกฤษ ส่วนภาษาที่สามนี่แหละประเด็น "ภาษาคอมพิวเตอร์" พอได้ยินเข้าหูปุ๊บก็ฟันธงปั๊บว่า "นั่นไงต้องมีการจัดสรรงบประมาณมาซื้อคอมพิวเตอร์อีกหลายหมื่นล้าน วางแผนโกงกินกันอีกแน่ๆ แล้วจะมีครูที่ไหนมาสอน? บลาๆๆๆ..." เดี๋ยวๆ ฟังก่อนเพ่...!!!

tablet otpc 1

คงฝังใจกับการผลาญงบประมาณจาก "ใครคิด ใครทำ" มาล่ะมั๊ง ไอ้ "กระดานชนวนจีน" นั่นไง ที่ไถหน้าจอยังไงก็ไม่ไป ซื้อมาจากบริษัทห้องแถวที่ไหนก็ไม่รู้ ไม่ทันไรก็พังก็พังเสียแล้ว ชาร์จไฟไม่เข้า ส่งซ่อมก็ไม่รู้จะส่งที่ไหน เพราะห้องเช่าบริษัทสูญหายไร้ร่องรอย เมื่อส่งซ่อมไม่ได้ก็กลายเป็นเศษขยะในห้องพัสดุโรงเรียนทั่วประเทศ (ของหลวงตกน้ำไม่ไหล ตกไฟไม่ไหม้ สูญหายมีเดือดร้อนอีก) ในขณะที่กระแสข่าวเงินทอนสะพัดนับพันล้านเข้ากระเป๋าใครไม่รู้ คงจดจำกับเรื่องนี้กันมาแน่ๆ เลยชิมิ

การเรียนรู้ภาษาคอมพิวเตอร์ หรือ การเรียน Coding นั้นไม่ใช่การเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ดังที่หลายๆ คนเข้าใจ แต่การเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์นั้น จำต้องมีความรู้ในภาษาคอมพิวเตอร์ หรือ Coding ในระดับทะลุปรุโปร่งจึงจะทำให้โปรแกรมนั้นทำงานได้ดี การเรียนภาษาคอมพิวเตอร์ไม่จำเป็นต้องใช้คอมพิวเตอร์ เอ๊ะ! ยังไงกัน ชักจะงงงิ่งๆๆ กันไปแบบ Go so big ซะแล้ว มาฟังท่านผู้รู้ปรมาจารย์ด้านนี้อธิบายดีกว่า (ผู้ที่ทำให้ผมสนใจคอมพิวเตอร์ จากการอ่านตำราของท่านเป็นเบื้องต้น จนได้มาเรียนรู้กับท่านในช่วงหลังตอนที่ได้ร่วมการทำงานด้านหลักสูตรคอมพิวเตอร์ ที่ สสวท.) ท่านอาจารย์ยืน ภู่วรวรรณ

โค้ดดิ้ง Coding

"มมีโอกาสเดินทาง ไปจัดกิจกรรมอบรม ครู และนักเรียน ในเรื่องเกี่ยวกับแนวคิด และเป้าหมายของวิชาวิทยาการคำนวณ จึงอยากทำความเข้าใจ เกี่ยวกับคำว่า โค้ดดิ้ง

coding4child 1 

โค้ดดิ้ง (Coding) เป็น Broader term ส่วน คอมพิวเตอร์ โค้ดดิ้ง (Computer coding) หรือ โปรแกรมมิ่ง (Programming) เป็น Narrow term คือมีความหมายที่แคบกว่า หรือเป็น Subset

โค้ด คือรหัส หรือการทำสัญลักษณ์ การโค้ดดิ้งคือ การเขียนสัญลักษณ์ เพื่อการบอกลำดับขั้นตอน ลำดับความคิด เพื่อสื่อสารให้เข้าใจกัน "

การแต่งเพลง วางลำดับตัวโน๊ตดนตรี จึงเป็นการโค้ดดิ้ง การออกแบบท่าเต้น ลำดับท่าเต้น ท่ารำ ก็เป็นการวางโค้ด การเขียนกลอน การเขียนแผนธุรกิจ ลำดับการวางแผน การเขียนลำดับความคิด เช่น Mind map ก็เป็นการโค้ดดิ้ง เด็กๆ จะเขียนบอกเพื่อน ถึงขั้นตอนการทอดไข่เจียว ก็ใช้หลักการโค้ดดิ้ง หรือแม้แต่การเขียนสื่อสารลำดับขั้นตอนการทำงานใดๆ เช่น การทำโครงงาน ก็เป็นการเขียนเป็นผังงานหรือโค้ดได้ โค้ดดิ้งจึงเกี่ยวพันกับชีวิต การวางแผน การคิด และการแก้ปัญหา

coding4child 2

คอมพิวเตอร์โค้ดดิ้ง หรือ การเขียนโปรแกรม หมายถึงการเขียนลำดับขั้นตอน การวางคำสั่ง การสั่งงานให้ คอมพิวเตอร์ทำงาน ซึ่งมี ข้อตกลง รหัส หรือภาษาสั่งการที่สร้างขึ้นมาเฉพาะ มีกฎเกณฑ์ไวยากรณ์ Syntax ที่กำหนดความหมาย (Semantic) ที่แน่นอน ไม่ให้กำกวม

คอมพิวเตอร์โค้ดดิ้ง จึงเป็นคำที่มีความหมายที่แคบกว่า
เพราะเน้นเฉพาะใช้กับคอมพิวเตอร์ "

coding4child 3

ตามหลักสูตรใหม่ 2560 ได้เปลี่ยน วิชาเทคโนโลยีสารสนเทศ จากหมวดการงาน มาเป็น วิทยาการคำนวณ ในหมวดวิทยาศาสตร์ ที่ประกอบไปด้วย วิทยาการคำนวณ เทคโนโลยีดิจิทัล และ การอ่านออกเขียนได้ทางสือและสารสนเทศ โค้ดดิ้งเป็นเพียงส่วนหนึ่งของวิชาวิทยาการคำนวณ

การเรียนโค้ดดิ้ง ในวิชาวิทยาการคำนวณ เน้นที่จะพัฒนาความคิดที่เป็นระบบ การแก้ปัญหา การใช้เหตุผล หลักการวางลำดับขั้นตอนการคิด กระบวนการ เพื่อบูรณาการกับชีวิต และศาสตร์อื่นๆ โดยต้องการให้นักเรียน คิดแบบเป็นระบบ รู้ลำดับขั้นตอน (อัลกอริทึม) การวางทางเลือก การทำงานที่เป็นกระบวนการ มีเหตุผล รู้แนวทางการแก้ปัญหา เข้าใจความซับซ้อนของปัญหา

การเรียนการสอนโค้ดดิ้ง จึงทำได้หลากหลาย ที่ให้นักเรียน คิด ใช้ได้ทั้งวิธีที่ใช้คอมพิวเตอร์เป็นเครื่องมือ Plugged และ Unplugged ได้ให้ตัวอย่างการคิดแก้ปัญหา

coding4child 4

ทั่วโลก มีการพัฒนาเครื่องมือช่วยในเรื่องการเรียนรู้ หลักการโค้ดดิ้ง แน่นอนว่า การใช้คอมพิวเตอร์ทำได้ง่าย และสนุกตรงใจเด็ก และได้ผลดียิ่ง ที่เห็นการเรียนโค้ดดิ้งกันทั่วโลกจึงนิยมใช้เครื่องมือช่วยการเรียนรู้หลักการ โดยใช้คอมพิวเตอร์เป็นเครื่องมือ เพราะถูกใจ เพื่อให้เด็กสนุกโดยให้เห็นเป็นของเล่น รูปธรรม เช่น ไมโครบิต KidBright นอกจากนี้ มีการพัฒนาเครื่องมือการเขียนโค้ดแบบง่ายๆ สำหรับเด็ก เช่น Logo, Scratch, การเขียนเป็นบล็อก และยังมีการสร้างแพลตฟอร์มการเรียนรู้บนเว็บอีกมากมาย เช่น code.org, Khan academy เป็นต้น

การโค้ดดิ้งในวิชาวิทยาการคำนวณ จึงไม่ไช่ การที่จะสร้างนักเรียนไป เป็น โปรแกรมเมอร์ทุกคน แต่การโค้ดดิ้งคือการเตรียมนักเรียน เพื่อการใช้ชีวิตในอนาคต ไม่ว่าเขาจะประกอบอาชีพใด"

coding4child 5

บทความและภาพประกอบจาก FB: ยืน ภู่วรวรรณ

มาถึงบรรทัดนี้แล้ว ก็คงไม่ต้องถกเถียงกันอีกแล้วว่า "การจัดการเรียนภาษาคอมพิวเตอร์ด้านการ Coding ว่าจำเป็นหรือไม่ ที่จะต้องมีอุปกรณ์ที่ชื่อ “คอมพิวเตอร์” ความจริงก็คือ การฝึกทักษะด้าน Coding ในระยะเริ่มต้นนั้นไม่จำเป็นต้องมีคอมพิวเตอร์ก็ได้ และเชื่อว่าเมื่อ 20 ปีก่อน ครูหลายคนก็คงเคยเข้าห้องสอบด้วยการเขียนโค้ด หรือตอบเป็น Flow chart ลงบนกระดาษมาแล้วเช่นกัน

coding4child 6
ขอบคุณภาพประกอบจาก ครูศศิกานต์ บรรเทา

ความท้าทายในการสอนภาษาคอมพิวเตอร์ในโรงเรียนคือ เราจะสร้างครูผู้สอนให้มีทักษะในการสอนโค้ดดิ้งอย่างไร ที่จะทำให้เด็กสนุก ไม่เบื่อ มีความท้าทาย สามารถนำไปแก้ปัญหาได้ในชีวิตประจำวัน เพราะเมื่อเด็กสนุกกับการคิดแก้ปัญหาบนกระดาษได้แล้ว เมื่อเรียนในชั้นที่สูงขึ้นสามารถใช้ทักษะในการแก้ปัญหาด้วยภาษาคอมพิวเตอร์กับเครื่องคอมพิวเตอร์จริงๆ นั้นเป็นการท้าทายมากทีเดียว เพราะคงไม่ใช่เรื่องง่ายนักที่จะจับคนที่มีประสบการณ์เป็นศูนย์กับการเขียนคำสั่งต่างๆ (จากรูปแบบ Flowchart) มาเริ่มเขียนโปรแกรมบนหน้าจอคอมพิวเตอร์เลย แล้วคอมไพล์คำสั่งกันให้รู้ดำรู้แดงกันไปเลย ดีไม่ดีพาลจะทำให้ท้อใจและเลิกเรียนกันไปก่อนเปล่าๆ เหมือนใครหลายๆ คนในยุคของพวกเรา (จำได้สมัยเรียนภาษา Pascal บนระบบปฏิบัติการ DOS ยุคก่อน งงมากๆ แต่ก็ผ่านมาได้แบบทุลักทุเล)

เราสามารถฝึกทักษะการ Coding ง่ายๆ ด้วยการให้เด็กลองแก้โจทย์ปัญหาที่เหมาะสมกับวัยของพวกเขา บนกระดาษขนาด A4 ด้วยดินสอสี ตามตัวอย่างโจทย์ข้างล่างนี้ จากเว็บไซต์ coffeefueledclassroom.com ก็ได้

coding4child 7

จากโจทย์ในภาพ เด็กๆ จะต้องพาตัวละครเอกไปหาทองคำให้ได้ โดยไม่ให้ชนกับก้อนหินจนหกล้ม หรือถูกสัตว์ป่ากินเสียก่อน สิ่งที่เขาจะได้จากโจทย์ในลักษณะนี้ก็คือ การคิดแบบเป็นตรรกะว่า "จะต้องทำอย่างไรจึงจะบรรลุเป้าหมายนั้นๆ" ที่สำคัญ วิธีการที่เด็กชายแดง ได้มากับวิธีการของเด็กหญิงมะลิ อาจจะต่างกันก็ได้ ไม่จำเป็นต้องตอบเหมือนกันตามรูปแบบเดิมๆ ที่เราคุ้นเคยในระบบการศึกษาไทย (ที่มักจะทำตามที่ครูบอก ด้วยกลัวไม่ได้คะแนน)

ความท้าทายของการเรียนด้าน Coding ในเด็กๆ ในประเทศไทยในวันนี้ อาจไม่ใช่อยู่ที่การมีคอมพิวเตอร์หรือไม่มีคอมพิวเตอร์เลยเสียทีเดียว เพราะอีกส่วนหนึ่งอยู่ที่สังคมแวดล้อม เช่น โรงเรียน ครูผู้สอน และพ่อแม่ ผู้ปกครองทั้งหลายว่า จะมองภาพการเรียน Coding ได้อย่างถูกต้องตามที่ควรจะเป็นหรือไม่ ดังเช่นที่เป็นดราม่าในชุมชนออนไลน์ ทั้ง Facebook, Twitter, Line ในทุกวันนี้ เห็นคนที่ทำงานในด้านไอทีในหน่วยงานราชการ เอกชนหลายแห่ง พูดกันว่า "เราจะสอนเด็กไทยให้เป็นโปรแกรมเมอร์ทุกคนโดยไม่มีคอมพิวเตอร์ได้อย่างไร?" ผมเห็นเพื่อนครูหลายคนสนใจเรียกร้องจะเอาแต่ "คอมพิวเตอร์" ให้ครบทุกคนในห้องเรียน เพื่อ... สอนอะไรบ้างหนอ? ไม่เช่นนั้น Coding ก็อาจกลายเป็นอีกหนึ่งวิชาที่น่าสลดใจ เหมือนที่เราเคยสลดใจมาแล้วกับการสอนภาษาไทยแบบ “โอ-คอ=โค” หรือ “เอ-ปอ-ออ=เปอ” ในตำราของโรงเรียนเอกชนแห่งหนึ่งเท่านั้น

coding4child 8อกจากนั้น การเตรียมความพร้อมแค่ด้าน Coding เพียงอย่างเดียว อาจไม่ตอบโจทย์ของเด็กทุกคนได้ เพราะในอีกด้านหนึ่งยังมีเด็กที่ไม่พร้อม เด็กที่เจ็บป่วย เด็กที่มีปัญหาด้านการเรียนรู้ ฯลฯ เด็กเหล่านี้ก็จำเป็นต้องมีทักษะในยุคดิจิทัลที่เหมาะสมกับชีวิตของตนเองเช่นกัน พวกเขาไม่จำเป็นต้องไปเป็นโปรแกรมเมอร์ แต่พวกเขาควรมีทักษะชีวิตด้านดิจิทัลในยุค 4.0 ติดตัวเอาไว้ เช่น

  • การเสิร์ชหาข้อมูลจากอินเทอร์เน็ต การค้นหาสถานที่จากแผนที่ออนไลน์
  • การทำ e-Payments เช่น การโอนเงินผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ e-Banking, QR Code ซึ่งนับวันจะเข้ามาในชีวิตเราเร็วกว่าที่คิด
  • การใช้ e-mail ติดต่อกับผู้อื่น การสมัครงาน การขอรับบริการในยุคสมัยใหม่
  • การสื่อสารผ่านแอปพลิเคชั่นในมือถือ

นอกจากนั้น พวกเขายังต้องได้เรียนรู้วิธีการตั้งรหัสผ่านต่างๆ (Password) ให้ปลอดภัย การวิเคราะห์ข่าวจากสื่อทั้งวิทยุ โทรทัศน์และสังคมออนไลน์ว่า ข่าวใดเป็นข่าวปลอม (Fake News) การป้องกันตัวจากการกระทำร้ายผ่านสื่อสังคมต่างๆ (Cyber Bullying) และการใช้รหัสผ่านส่วนบุคคลเพื่อเข้าถึงบริการและสวัสดิการต่างๆ ที่ทางรัฐบาลจัดเตรียมไว้ให้ในอีกไม่นานนี้ด้วย เหล่านี้น่าจะเป็นทักษะดิจิทัลที่จำเป็นสำหรับเด็กไทยไม่แพ้กัน อย่าให้เป็นดังภาพประกอบนี้เลย (นี่เรื่องจริงๆ.. ในคนเรียนจบใหม่ที่ไร้ประสบการณ์ นอกจาก "หนี้ กยศ." ที่ละลายไปกับเบียร์และหมูกระทะ แถมได้ลูกน้อยพ่วงมาอีกคน)

ก่อนจะจบบทความนี้ ก็อยากจะบอกกับบรรดาท่านที่ก่นด่าว่า รมต.ช่วย ศธ. คนนี้โบราณ จะไปรู้เรื่องอะไรเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ แหมมาออกนโยบายนี้เพื่อหาส่วนแบ่งเงินทองซื้อคอมพิวเตอร์ซะมากกว่า ก็อยากจะเรียนให้ทราบว่า คุณหญิงกัลยา โสภณพณิช ท่านไม่ได้ไก่กานะจ๊ะ ไปค้นหาใน Google ไม่เป็นล่ะซิ นี่เลยเอามาให้อ่านกันเล่นๆ ครับ

kalaya soponpanichดร.กัลยา โสภณพนิช จบการศึกษาระดับปริญญาตรี วิทยาศาสตรบัณฑิต (เกียรตินิยม) จากคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในปี พ.ศ. 2504 และได้ทุนโคลัมโบ ไปศึกษาต่อระดับปริญญาโท และได้รับทุนต่อเนื่องในระดับปริญญาเอก สาขานิวเคลียร์ฟิสิกส์ ที่ วิทยาลัยอิมพีเรียล ในเครือ มหาวิทยาลัยลอนดอน (Imperial College of Science and Technology, University of London) ของสหราชอาณาจักร และสำเร็จการศึกษาปริญญาเอก ด้าน High Energy Nuclear Physics เมื่อปี พ.ศ. 2513 ทำงานเป็น

  • อาจารย์ประจำคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
  • เป็นกรรมการและเป็นหนึ่งในผู้ก่อตั้ง ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ หรือ NECTEC ขึ้นในปี พ.ศ. 2529
  • เป็นกรรมการและเลขานุการ โครงการสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน โดยพระราชประสงค์ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 9)
  • เป็นที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในปี พ.ศ. 2521
  • เป็นผู้ก่อตั้งและประธานศูนย์ฝึกเด็กที่มีปัญหาทางสมอง “ประภาคารปัญญา” มูลนิธิช่วยคนปัญญาอ่อนแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชินูปถัมภ์
  • เป็นผู้ก่อตั้งและกรรมการเลขาธิการ มูลนิธิสถาบันราชพฤกษ์ ใน ปี พ.ศ. 2524
  • และตั้งแต่ปี พ.ศ. 2529 จนถึงปัจจุบัน เป็นกรรมการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีแห่งชาติ
  • เป็นนายกสภามหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิตและคณะกรรมการสมาคมแห่งสถาบันพระปกเกล้า
  • เคยเป็นอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ในรัฐบาลของ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ

Coding คือภาษาของอนาคต Coding ต้องเรียนแต่ประถม อนุบาลเลยยิ่งดี Coding คือภาษาหนึ่งภาษา การเรียนภาษาต้องเรียนตั้งแต่ยังเล็กๆ ”

ศาสตราจารย์ ดร.บัณฑิต เอื้ออาภรณ์

coding4child 9
ภาพประกอบจาก Parentsone.com

โลกตระหนักความสำคัญ “การเขียนโค้ด” ญี่ปุ่นดันเป็นวิชาบังคับในระดับประถม เริ่มตั้งแต่ปีการศึกษา 2020 หวังกลุ่มคนรุ่นใหม่ได้นำไปพัฒนาประเทศในอนาคต

สำนักข่าว Nikkei รายงานว่า ญี่ปุ่นประกาศให้วิชาการเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ (Computer programming) เป็นวิชาบังคับในระดับชั้นประถมศึกษาทั่วประเทศ (เริ่มที่ ป.5) โดยจะเริ่มปฏิบัติจริงตั้งแต่เดือนเมษายนปี 2020 เป็นต้นไป

โดยเนื้อหาเริ่มต้น เช่น สอนให้นักเรียนวาดรูปทรงเหลี่ยมต่างๆ ด้วยระบบดิจิทัล และเขียนคำสั่งง่ายๆ ให้หลอดไฟ LED กะพริบ อย่างไรก็ดี เป้าหมายของการสอนเขียนโค้ดยังมีมากกว่าการเข้าใจเทคโนโลยี เพราะถือเป็นการสอนเรื่องการคิดอย่างมีตรรกะให้กับเด็กๆ ผ่านการลองผิดลองถูก

เหตุผลสำคัญของการบรรจุให้วิชาการเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์เป็นวิชาบังคับ นอกจากจะเป็นการปรับตัวทางด้านการศึกษาให้สอดคล้องกับยุคสมัยของโลกแล้ว อีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญคือ เพื่อช่วยแก้ไขปัญหาการขาดแคลนแรงงานของญี่ปุ่น

ข้อมูลจากกระทรวงเศรษฐกิจการค้า และอุตสาหกรรมของญี่ปุ่น คำนวณไว้ว่า ในปี 2030 แรงงานสายไอทีญี่ปุ่นอาจเหลือเพียง 590,000 คน ดังนั้นจึงต้องเร่งสร้างแรงงานไอทีตั้งแต่ระดับชั้นประถมศึกษาเพื่อพร้อมรับมือกับความท้าทายของตลาดแรงงานในอนาคต

ทั้งนี้ วิชาการเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์เป็นส่วนหนึ่งของวิชาไอทีของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาในญี่ปุ่นมาตั้งแต่ปี 2012 แล้ว

ที่มา : สำนักข่าว Nikkei

what is coding

รื่องนี้ยังไม่จบ ยังถกเถียงกันมากมายจนหาทางลงไม่เจอ แต่หลักสูตร "วิทยาการคำนวณ" ที่ทาง สสวท. จัดทำนี้มีมาก่อนรัฐบาลปัจจุบัน (ประยุทธ์ 2) เราได้วางจุดประสงค์ และมีเป้าหมายที่ชัดเจน ในการพัฒนาทักษะ ความคิดของเยาวชนไทย ให้สามารถคิดวิเคราะห์แก้ปัญหาได้ในชีวิตจริง ไม่ได้มีเป้าหมายให้เด็กไทยทุกคนเป็น "โปรแกรมเมอร์" ผู้เชี่ยวชาญพัฒนาแอพพลิเคชั่น หรือโปรแกรมคอมพิวเตอร์แต่อย่างใด แต่ถ้าหากเป็นหนทางที่ช่วยประเทศพัฒนาได้ มันก็คุ้มค่ามิใช่หรือ ลองอ่านบทความนี้ดู อาจช่วยให้การถกเถียงกันเรื่องโค้ดดิ้งมีทางยุติได้บ้าง "FAQ ตกลงว่าอะไรคือ coding?"

เพิ่มเติม เบื้องหลังของการพัฒนาหลักสูตร "วิทยาการคำนวณ"

เรื่อง "โค้ดดิ้ง (Coding)" ยังไม่จบเสียที ยังมีการเข้าใจผิดกันเป็นจำนวนมาก มีการแสดงความคิดเห็นกันในสื่อต่างๆ ทั้งทางวิทยุ-โทรทัศน์ สื่อสิ่งพิมพ์ และในสื่อสังคมออนไลน์ด้วย ผมจึงอยากให้ทุกท่าน (คุณครู ผู้ปกครอง และผู้ที่ห่วงใยในการศึกษา) ได้ลองอ่านมุมมองอีกมุมจากทีมพัฒนาหลักสูตร "วิทยาการคำนวณ" ครับ ว่าหลักสูตรนี้เรา (สสวท. และผู้เกี่ยวข้อง) ได้วางแผนและทำมาหลายปีแล้ว ทำมาก่อนที่คุณหญิงกัลยา โสภณพณิช จะมาเป็น รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เสียอีก เรื่อง Coding ที่แตกต่างจากมุมที่หลายๆ คนเข้าใจครับ

ict academy 1

ประชาพิจารณ์ หลักสูตร ict ของ สสวท.

บอกตรงๆ เลยนะ ไม่คิดว่าจะผ่าน เนื้อหาไม่ค่อยได้เปลี่ยน แต่จะเปลี่ยนวิธีคิด และการดำเนินการกับคนจำนวนมากมันเป็นเรื่องยาก

ก่อนอื่น ต้องบอกว่า มีทีมงานร่างหลายหลาก ยืน ภู่วรวรรณ เป็นประธาน และมีอาจารย์มหาลัยหลากหลายแห่ง และ ครูผู้สอนจากทั่วประเทศ มาช่วยกันปล้ำจนเป็นรูปร่างได้

หลักสูตรนี้ ตั้งบนพื้นฐานที่ว่า "เปลี่ยนให้น้อย แต่อยากได้ผลที่มาก" เราไม่อยากปรับตำรา ปรับชั่วโมงเรียน ปรับการใช้ชีวิตของทั้งครูและนักเรียนเลย เพราะว่า ปรับเยอะ ก็คงไม่มีใครเอา

ทีนี้ปรับน้อยคือยังไง เราพยายามเปลี่ยนวิธีคิดว่า เราจะไม่เรียนคอมพิวเตอร์ แต่เราจะสอน "วิธีคิด"

แทนที่ ให้เด็กประถมต้นทำ PowerPoint แสดงแผนที่บริเวณบ้าน เราอยากให้เด็กอธิบายได้ว่า "เส้นทางกลับบ้านเป็นอย่างไร เลือกเส้นทางนี้เพราะเหตุใด และนำเสนอได้ ไม่ว่าเส้นทางนั้นจะมีขนม หรือ ของเล่นขาย หรือ เป็นเส้นทางที่ปลอดภัย" เด็กควรจะคิดได้ และอธิบายเป็นขั้นตอน ไม่ต้องเขียน ไม่ต้องใช้คอมพ์ พูดเอาก็พอแล้ว... แต่ถ้าใช้เครื่องมือได้ก็ดีขึ้นอีกหน่อย

ict academy 3
ในวันฝนตกพรำ วิทยาการคำนวณ ป.๑ หาทางไปโรงอาหารตามความคิดของแต่ละคน
ขอบคุณภาพจากน้อง Sunantha Putpan โรงเรียนบ้านน้ำอ้อม ค้อวัง ยโสธร

ดังนั้น แค่นี้แหละครับ ถ้าอยากจะบอกว่า "ประถมต้น เรียน ict แล้วได้อะไร ก็ได้วิธีคิดและอธิบายทุกอย่างเป็นขั้นตอนในชีวิตประจำวัน"

ผมขอให้ keyword ของประถมต้นว่า "Unplugged" ซึ่งก็คือ "เรียน ict กับชีวิตจริงเป็นหลัก" (แน่นอนว่า ถ้ามีเครื่องจะเสียบปลั๊กก็ไม่ได้ว่าอะไร)

ประถมปลายนี่ เด็กเริ่มใช้เน็ตเป็น เล่นไลน์ ค้นเน็ต ลอกการบ้านจาก วิกิ ส่งครูได้ การเข้าใจเครื่องมือที่มีไม่ว่า จะ I(nternet) หรือ C(omputer) หรือ T(elecomm) ก็จะเริ่มแถวๆ นี้แหละ แต่เราจะให้เด็กคิดว่า "อะไรควรหรือไม่ควร" เนื้อหาบางอย่างได้สอดแทรกเข้าไปเช่น logical fallacy เพื่อให้เด็กสามารถมีตรรกะที่จะต่อต้านข่าวปลอม หรือ พฤติกรรมไม่เข้าท่าในเน็ต เด็กเราจะได้ไม่โดนแชร์ลูกโซ่ หรือ โดนหลอกบริจาคทั้งที่บ้านไม่จนได้

ผมให้ keyword ของประถมปลายว่า "Daily" ซึ่งหมายถึงการใช้ ict กับชีวิตประจำวัน ไม่ว่าในการเรียนวิชาต่างๆ การเขียนบล๊อกหรือส่งเมล์ควรเรียนในภาษาไทย การคำนวณด้วยคอมพิวเตอร์ควรอยู่ในคณิตศาสตร์/วิทยาศาสตร์ การทำภาพกราฟิกควรอยู่ในวิชาศิลปะ

ict academy 2
าพกิจกรรม Coding Unplugged ของนักเรียน ภาพจากน้อง Preeyada Tapingkae

ทีนี้ มัธยมต้น สิ่งที่ต้องการและอยากมากให้เด็กไทยทุกคนทำได้คือ "สร้างข้อมูลปฐมภูมิเองได้" เด็กมีข้อมูลปฐมภูมิเอง ก็จะมีความรู้เป็นของตนเอง นั่นคือเขาจะสร้างความรู้ขึ้นมาเองได้ และเขาจะเข้าใจเองได้ว่า "สิทธิของข้อมูลคืออะไร" คนเราไม่เคยเป็นเจ้าของอะไร ก็ไม่รู้หรอกว่าทำไมถึงหวง เช่น ถ้าให้เด็กทดลองการทำอาหารจนได้สูตรที่โดนใจคนทั้งเมือง และเอามาทำเป็นอาชีพได้ เด็กก็จะเข้าใจเองว่า "อะไรคือความลับทางการค้า อะไรคือสิทธิ อะไรคือการละเมิด" แต่ที่สำคัญเราได้ใส่เมล็ดพันธุ์ที่จะบ่มเพาะว่า "ข้อมูลที่เขาสร้างเอง มีความสำคัญต่อการแข่งขันได้ของตัวเองและประเทศในอนาคต"

การเรียนใน ม.ต้น จึงเน้นระเบียบและเทคโนโลยีการเก็บข้อมูล ตั้งแต่แบบสอบถาม แบบสำรวจ จนกระทั่ง Internet of Things (IoT) แล้วแต่ว่า โรงเรียนไหนจะไหว ย้ำอีกที เราสอนวิธีคิดนะ ไม่ได้สอนการใช้เทคโนโลยี

ผมให้ keyword ของ ม.ต้นว่า "primary data"

การเรียน ม.ปลาย เป็นภาคจบแล้ว ที่จะต้องนำความรู้หลายๆ ด้านมาประมวลผลรวมกัน การเรียนรู้ขั้นสูงในวิชาต่างๆ ไม่ว่าจะวิทย์หรือศิลป์ จะต้องมีกระบวนการคิดแบบบูรณาการ การใช้งานจากข้อมูลตามแหล่งต่างๆ และสามารถเป็นแหล่งข้อมูลเองได้ เพื่อให้เกิดแนวคิดการสร้างความรู้ขั้นสูงไปกว่าเดิม

ซึ่งผมให้ keyword ของ ม.ปลายว่า "secondary data"

แม้ว่าอาจจะต้องปรับปรุงตำรา แต่ก็คิดว่าหนังสือที่ใช้ก็คิดว่าเรียนเล่มเดิมเป็นหลัก ย้ำว่าเราเปลี่ยนแค่วิธีคิด แต่เนื้อหาสาระ คงไม่ต่างจากเดิม เด็กคิดได้ เดี๋ยวก็ไปเรียนกันเองแหละ

ict academy 4
ภาพกิจกรรมการเรียนวิทยาการคำนวณ โรงเรียนหนองเสือวิทยาคม ปทุมธานี

แต่อุปสรรคที่สำคัญอย่างหนึ่งคือ การเปลี่ยน mind set จาก "ทำอะไรได้ แปลว่า คิดได้" มาเป็น "คิดได้ เดี๋ยวก็ทำได้เอง" ยังเป็นความท้าทายอย่างยิ่งครับ

ผู้ช่วยศาสตรจารย์ ดร.พันธุ์ปิติ เปี่ยมสง่า
อาจารย์มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ หนึ่งในทีมงานร่างหลักสูตรวิทยาการคำนวณ
28 เมษายน 2017 กรุงเทพมหานคร

 

นโยบายความเป็นส่วนตัว Our Policy

ยินดีต้อนรับสู่เว็บไซต์ของเรา ที่นี่ใช้คุกกี้ (Cookies) เก็บข้อมูล เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น อ่านนโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (Privacy Policy) และนโยบายคุกกี้ (Cookie Policy)

Our Policy