สวัสดีครับเพื่อนครูทั้งหลาย สวัสดีปีการศึกษาใหม่ 1/2562 ได้พบกับเพื่อนร่วมงานเก่าและใหม่ ทั้งที่ย้าย (เก่า) จากที่อื่นมาใหม่ที่โรงเรียนเรา และใหม่ถอดด้ามเพิ่งสลัดคราบนักศึกษาครูมาทำหน้าที่ครูเต็มตัวเสียที พี่เก่าที่ผ่านร้อนผ่านหนาว ผ่านประสบการณ์มามากกว่าก็ช่วยเป็นแรงผลักดันให้น้องๆ ได้ทำงานกันตามหน้าที่ เสียสละ และอดทน (เรื่องนี้มันจำเป็นมากจริงๆ เพราะงานอาชีพครูปัจจุบันนี้นั้นไม่ได้มีเพียงแต่หน้าที่การสอนอย่างเดียว มีอีกร้อยแปด พันเก้า ที่ต้องทำตามคำสั่งทั้งจากหน่วยงานตรงและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง) เดี๋ยวเจอแล้วจะเข้าใจเองนะ ขอเป็นกำลังใจให้กับทุกๆ คนครับ
เปิดเทอมใหม่ ปีการศึกษาใหม่ทีไร ก็จะมี "ดราม่าของการศึกษาไทย" ปรากฏให้เห็นเต็มจอสื่อทั้งวิทยุ-โทรทัศน์ แล้วก็มีวิวาทะกันด้วยความชอบที่แตกต่างกัน อ้างเมืองนอกเมืองนาทั้งๆ ที่ไม่เคยไปอยู่ ไปซึมซับวัฒนธรรมบ้านเมืองเขา รวมทั้งกฎระเบียบของเราก็บ้าบอเกินไปอ้างว่าเพื่อความประหยัด อนุรักษ์ถิ่นไทยแต่ค่าใช้จ่าบบรรลัยกันทุกปี วันนี้จะมาบ่นในทัศนะของผม จะเห็นด้วยหรือไม่ก็ได้นะ "ประชาธิปไตยแล้วนี่ แต่ช่วยมีสติกันหน่อยเท่านั้นเอง" จริงไหมจ๊ะ...
เปิดเทอมใหม่สำหรับผู้ปกครองที่มีลูกหลานจบช่วงชั้น ก็จะพบปัญหาเรื่องหาที่เรียนใหม่กันเลย "โรงเรียนใกล้บ้านก็ว่างอยู่นะ ว่างขนาดมีข่าวจะยุบโรงเรียนเล็กกันเลยทีเดียว" แล้วทำไมไม่สนใจส่งลูกเรียน ก็จะมีคำตอบลอยๆ มาว่า "โรงเรียนไม่มีคุณภาพ ขาดครูสอน" มันใช่จริงๆ หรือไร โรงเรียนเล็กนักเรียนน้อยๆ ครูน่าจะมีโอกาสได้ใกล้ชิดสอนตัวต่อตัว เอาใจใส่เป็นรายบุคคลไม่ใช่หรือ? ผมเห็นโรงเรียนประถมศึกษาเล็กๆ มากมายในข้อมูลบอกมีแต่ครูชำนาญการพิเศษ อาจารย์ 3 กันเยอะแยะในโรงเรียน แล้วทำไมถึงไม่มีคุณภาพล่ะ?
โรงเรียนในชุมชนของเรา ถ้ามันขาดแคลนโน่น นั่น นี่ ในการจะพัฒนาการศึกษา เราควรสนับสนุนช่วยเหลือกันใช่ไหมครับ การช่วยเหลืออันดับแรกคือ การทำให้มีจำนวนนักเรียนเพิ่มขึ้นด้วยการส่งบุตรหลานเราเข้าเรียน เพื่อให้ได้งบประมาณรายหัวมาสนับสนุนมากขึ้น มีอัตรากำลังครูมาเพิ่มเติมอีก นอกจากนั้นผู้ปกครองที่มีกำลังทรัพย์ก็อาจจะช่วยทางโรงเรียนได้ ไม่มีทรัพย์ก็ช่วยเหลือทางอื่น เช่น ร่วมการประชุมให้ความคิดเห็นในการพัฒนาโรงเรียน ออกแรงมาช่วยดูแลบุตรหลานในช่วงกิจกรรมต่างๆ มีอีกเยอะครับ แต่นี่มีเงินก็จะเอาไปให้โรงเรียนใหญ่ๆ ที่เขาพร้อมอยู่แล้วด้วยการฝาก ใช้อภิสิทธิชนกันแล้ว ก็มาบ่นกันอย่างโน้นอย่างนี้ ถามจริงมันความอยากของใครกันแน่เรื่องโรงเรียนดังนี่...
เรื่องเครื่องแต่งกายนี่ก็ประเด็นดราม่ากันได้ทุกปี ทั้งไม่อยากให้มีการแต่งเครื่องแบบ เอาที่สบายใจ ไม่เห็นจะทำให้ฉลาดขึ้น บลาๆๆ... เรียนเก่งขึ้นหรือไม่นี่ไม่ตอบเพราะไม่เกี่ยวกันจริง แต่... การสร้างระเบียบวินัย การทำให้ดูมีความน่ารักเหมาะสม ได้รับการช่วยเหลือเกื้อกูล บ่งบอกถึงความเป็นเอกลักษณ์ที่ดีไม่ใช่เรื่องเสียหาย ขอย้ำว่า "ยังต้องมีเครื่องแบบนักเรียน" ครับ (อ่านเพิ่มเติมสักนิดก็ดี)
แต่ช่วยลดความหลากหลายรายวันในการแต่งตัวลงมาหน่อย ให้ได้ใช้ชุดนักเรียนให้คุ้มมากขึ้น "หยุดการหากิน หากำไรกับการขายชุดเครื่องแบบสารพัดอย่าง ด้วยการอ้างว่า อนุรักษ์ไทย ผลิตภัณฑ์ท้องถิ่นกันเสียที" เพราะสินค้าท้องถิ่นนี่แหละมันแพงมากกว่าชุดนักเรียนธรรมดายิ่งนัก และในชีวิตชาวบ้านธรรมดามันก็ไม่ได้ใส่เสื้อผ้าชนิดนี้ในชีวิตประจำวันกันเลย (นโยบายบ้าใบ้จริงๆ) ที่ผมเห็นระเบียบในการแต่งกายของนักเรียนในรอบสัปดาห์แล้ว แทบจะร้องไห้แทนผู้ปกครองคือ วันศุกร์ นี่แหละ ถ้าเป็นผ้าไหมพื้นเมืองสุรินทร์นี่มีหนาวนะครับ
วันจันทร์ ชุดนักเรียน วันอังคาร ชุดพละศึกษา วันพุธ ชุดนักเรียน วันพฤหัสบดี ชุดกิจกรรมชุมนุม/ลูกเสือ/เนตรนารี/ยุวกาชาด วันศุกร์ ชุดผ้าพื้นเมือง "
เอาแต่พอดีเถอะครับ การแต่งชุดนักเรียนนั้นมีข้อดีหลายข้อที่มิอาจปฏิเสธได้เลยนะ เอามาเล่าพอสังเขป ดังนี้
ชุดนักเรียนใน สปป.ลาว เพื่อนบ้านเราก็ดูดีน่ารักนะ
นี่ก็ดราม่าหนักมากเหมือนกัน โดยเฉพาะบรรดาครูที่ลุแก่โทสะ ลุอำนาจ คิดว่าตนเองเหนือกว่า ต้องทำให้มันได้อาย กร้อนมันให้เป็นทางสี่แยกไปเลยพวกไม่ทำตามระเบียบนี่ ผมก็ไม่เห็นด้วยในการกระทำเช่นนี้
การตัดผมสั้นทั้งนักเรียนชาย-หญิงบ้านเรามันก็มีเหตุผลอยู่ครับ "ดูแลง่าย" เป็นหลัก ด้วยวัยที่มีควมกระฉับกระเฉงปราดเปรียว เล่นซุกซนตามประสา เหงื่อกับอากาศร้อนบ้านเราคือสาเหตุหลักที่การตัดผมสั้นดูแลง่าย สะอาดเป็นระเบียบไม่ยุ่งยาก สระผมสบัดให้แห้งก็ไปได้เลย เด็กหญิงหวีนิดหน่อยก็เรียบร้อยแล้ว ทำให้นึกถึงตอนเลี้ยงหลานเล็กๆ ไปเข้าอนุบาลแล้วไว้ผมยาวเพื่อให้น่ารักก็ต้องถักเปีย มัดผมให้สวยงาม วันไหนแม่บ้านไม่อยู่ผมต้องรับหน้าที่แต่งตัวให้หลานไปส่งโรงเรียนนี่ทะเลาะกันแต่เช้า ก็ตาถักเปียไม่เป็น ไม่สวย ไม่ติดกิ๊บให้ โอยสารพันครับ
เรื่องตัดผมให้นักเรียนนี่ ถ้า... โรงเรียนได้มีการตระเตรียมการสักหน่อยไม่ยากเลย ส่งครูชาย-หญิงไปเรียนวิชาชีพระยะสั้นที่โรงเรียนสารพัดช่าง หลักสูตรตัดผมทรงนักเรียนชาย-หญิง แค่ 7 วันเอง แล้วซื้อเครื่องมือเตรียมไว้ที่โรงเรียนสักชุดก็จะแก้ปัญหานี้ได้ง่ายดาย พอใจกันทุกฝ่ายด้วย นอกจากนั้นยังสามารถจัดกิจกรรมกลุ่มสนใจอาชีพให้กับนักเรียนได้ด้วยนะเออ เรียกว่าสำเร็จเป็นผลดีได้ 2 ทาง ทั้งถูกระเบียบ และสร้างอาชีพอีกด้วย ทำไมผู้บริหารโรงเรียนทั้งหลายมองไม่เห็นทางกันหนอ?
สุดท้าย แต่ไม่ใช่เรื่องท้ายสุดคือ ตำแหน่ง "ครูใหญ่" หรือ คญ. ที่ไม่มีใครอยากได้ อยากเป็น โอย... ขำมากๆ ครับ คือมีหลายคนบอกว่า "มันไม่เกี่ยวกับการพัฒนา ปฏิรูปการศึกษาเลย ชื่ออะไรก็ช่างมันเถอะ" อ้าว! แล้วทำไมค้านกันอึงมี่ล่ะครับ มันมีอะไรซ่อนอยู่หรือ?
คือผมเป็นครูรุ่นเก่าครับ ทันอยู่ในยุคมีตำแหน่ง ครูใหญ่ อาจารย์ใหญ่ ผู้อำนวยการโรงเรียน ด้วยนั่นแหละ ผมบรรจุครั้งแรกในโรงเรียนประถมศึกษาชายแดนอีสาน โรงเรียนมีครู 3 คน ผู้บริหารเป็น "ครูใหญ่" ขี่มอเตอร์ไซค์ฮ้าง Susuki 70cc. มาโรงเรียนคลุกขี้โคลนทุกวัน เป็นทางเกวียนห่างบ้านแกในตำบล 20 กิโลเมตร ส่วนผมอาศัยอยู่ในบ้านพักครูหลังเล็กๆ กับครอบครัวครูน้อยอีกคนหนึ่งด้วยกัน ทำงานอยู่เดือนครึ่ง ก็มีประกาศผลการสอบครูกรมสามัญศึกษาออกมา ผมได้ไปบรรจุในโรงเรียนมัธยมศึกษาในอำเภอพนา จังหวัดอุบลราชธานี (ปัจจุบันขึ้นกับจังหวัดอำนาจเจริญ) ก็เป็นโรงเรียนเล็กมีครูอยู่ 17 คน นักเรียนน่าจะยังไม่ถึง 600 คน ตำแหน่งผู้บริหารก็เป็น "ครูใหญ่" เหมือนกัน
โรงเรียนมีการพัฒนาขึ้นมานะครับ จากจำนวนนักเรียน 500-600 คนมาเป็นเกิน 800 คน ครูเพิ่มขึ้นเป็น 35 คน ผู้บริหารคนเดิมนั้นก็ได้เลื่อนเป็น "อาจารย์ใหญ่" ผมอยู่ที่นี่ 10 ปีเต็ม นักเรียนเพิ่มขึ้นเกิน 1200 คน ตำแหน่งผู้บริหารก็เปลี่ยนไปเป็น "ผู้อำนวยการโรงเรียน" ได้ นั่นคือแสดงถึงการพัฒนาทั้งทางด้านอาคารสถานที่ จำนวนนักเรียน ครู และผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาที่ทำให้ผู้ปกครองมั่นใจ ส่งลูกหลานเข้ามาเรียนมากขึ้น ลูกศิษย์ลูกหาหลายคนจบไปแล้วศึกษาต่อ ได้ดิบได้ดีกลับมาพัฒนาบ้านเมืองก็มาก มันแสดงให้เห็นอะไรหลายๆ อย่างอยู่นะครับ
ส่วนปัจจุบันนี้ โรงเรียนมีนักเรียน 40-50 คน ครู 3-5 คน อาจารย์ 3 เต็มโรงเรียน เด็กนักเรียนอ่าน-เขียนไม่ออกก็ได้เป็น "ผู้อำนวยการ" มันคงบอกอะไรได้มากสินะผมว่า เวลาประชุมในจังหวัดในห้องประชุมใหญ่ มีแต่ "ผ.อ." ทั้งนั้น ผมรู้สึกขิวๆ อยู่นะครับ (ภาษาอีสานคือ หมั่นไส้) เดินขวักไขว่สวนกัน จนพวกสาวเชียร์แขก เชียร์เบียร์ ว่าให้ลับหลังว่า "พวกผัวอีอ้อย (ผอ.) บ่มีหยังดอก เมาหน่อยก็ทิ้งเอกสารการประชุมไว้ในห้องอาบน้ำ" ฮ่าๆๆ ก็แล่นแต่นะครับ สวัสดี
ยินดีต้อนรับสู่เว็บไซต์ของเรา ที่นี่ใช้คุกกี้ (Cookies) เก็บข้อมูล เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น อ่านนโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (Privacy Policy) และนโยบายคุกกี้ (Cookie Policy)