ไม่ได้อัพเดทข่าวสาร สาระความรู้อะไรเลยมานานนับปีแล้ว เพราะเบื่อๆ ไม่รู้จะเขียนอะไร เริ่มต้นตรงไหน เนื่องจากการศึกษาบ้านเรานั้นมันย่ำเท้า หรือจะบออกว่าวิ่งวน ปนถอยหลัง ไม่ไปไหนมาไหนเสียทีนั่นเอง ช่วงนี้ก็เปลี่ยนผ่านมาสู่ พ.ศ. ใหม่ ก็เลยขอบ่นปีใหม่จะทำให้ "การศึกษาไทย" อาจจะเปลี่ยนแปลงไปได้บ้าง ได้แต่หวังว่าจะเป็นเช่นนั้น และก็ขอโอกาสอำนวยอวยพรมายัง "เพื่อนครูทุกท่าน" ที่ยังคงปฏิบัติหน้าที่อยู่อย่างแข็งขันในระบบ ได้ทำงานการใดๆ ผ่านพ้นไปได้ด้วยดี ลุล่วงตลอดปี 2562 ที่จะผ่านมาถึงนี้ด้ยเทอญ... สาธุ
เมื่อช่วงต้นปี 2562 ผมก็ยังต้องไปพบหมอตามนัด เพื่อรักษาสุขภาพร่างกายเป็นปรกติ ก็ได้พบเพื่อนๆ พี่ๆ น้องๆ สว (สูงวัย) หลายคน ที่เดินทางมาโรงพยาบาลด้วยจุดประสงค์เดียวกัน (พบหมอตามนัด) ก่อนจะได้พบหมอผ่านขั้นตอนการซักประวัติจากเจ้าหน้าที่พยาบาล นั่งรอคิวก็ได้พูดคุยกันตามสาประชาชนเต็มขั้น ก็มีตั้งแต่เรื่อง "สุขภาพกาย สุขภาพเงินในกระเป๋า การเสี่ยงโชคงวดแรกรับขวัญโชคในปี พ.ศ. ใหม่ การเลือกตั้งที่จะมาถึงว่า ใครจะมาเป็นท่อนซุงให้กบได้เลือกบ้าง" รุ่นน้องที่ยังอยู่ในระบบราชการก็พูดถึงภาระหน้าที่มากมายที่ถาโถม สลัดไม่ออกเสียที ยกเว้นแต่ Logbook ที่มีสั่งการให้ยกเลิก โดยอ้างว่า "เพื่อลดภาระครูให้เป็นของขวัญปีใหม่"(แหม่ๆๆ แค่เอาแอกออกจากบ่าอันเดียว ก็ทวงบุญคุณกันแล้ว เมื่อไหล่จะปลดเชือกสนตะพายออกเสียทีละครับท่าน สงสัย...)
ในวงสนทนาก็มีอดีตนายทหารท่านหนึ่ง เป็นเพื่อนที่รู้จักกันตั้งแต่สมัยเรียนชั้นประถม มาร่วมวงสนทนาด้วย ก็เฮฮากันไปตามประสาคนมีอายุเกิดมานาน ผ่านร้อนผ่านหนาวในอาชีพของแต่ละคนนั่นแหละ แต่ที่ผมสะดุดหู จนต้องนำมาคิดต่อจนเป็นบทความนี้คือ ประโยคหนึ่งของเพื่อนนายพลนอกราชการท่านนี้ ที่ว่า
การศึกษาไทยนี่ผมขอพูดในฐานะคนวงนอกหน่อยนะว่า ที่มันปฏิรูปกันไม่สำเร็จดังที่ครูว่ามานี่เป็นเพราะ เรามัวแต่ใช้ทฤษฎีขึ้นบันไดทีละขั้น (Step by Step) กันมากไป ไม่เปิดโอกาสให้คนดีมีความสามารถได้ก้าวข้ามขั้น เหมือนสมัยพวกเราเรียนมากกว่า เปลี่ยนนายทีก็นโยบายเปลี่ยนที แล้วกลับมาเริ่มเดินที่ขั้นบันไดขั้นที่หนึ่งทุกครั้งไป นี่พูดในฐานะพ่อที่มีลูกเรียนหนังสือ และมีเมียเป็นครูนะ ครูว่าไง? "
ผมนี่ถึงกับสะดุดหยุดคิดเลยทีเดียวแหละครับ เออมันก็จริงนะที่เพื่อนผมพูดมานี่ พอเปลี่ยนเสนาบดีมาทีไรก็จะมีนโยบายมาให้เราทำใหม่ทุกที แล้วการสั่งการลงมาก็ดูเหมือนจะไม่ได้มีการสานต่อนโยบายเดิม (แหงล่ะ ก็มันของคนเดิมถ้าทำสำเร็จไป ก็เอาไปคุยเป็นผลงานตัวเองไม่ได้นะสิ) มุ่งทำที่สิ่งใหม่ด้วยหวังจะสร้างชื่อให้บังเกิดกับนโยบายใหม่นี้ให้ได้ภายในปีเดียวหรือสองปี (ไม่มั่นใจว่า ตนเองจะนั่งเก้าอี้ได้นานเพียงใด) โดยท่านลืมไปว่า
การศึกษาคือการพัฒนาคน ที่ต้องใช้เวลานานในการสร้างให้ประสบผลสำเร็จ แล้วคนแต่ละคนก็มีต้นทุนไม่เท่ากัน (สมอง ฐานะครอบครัว โอกาส) การที่จะให้ทุกคนมาเริ่มต้นใหม่ ทำอะไรใหม่ๆ พร้อมๆ กันไปจึงเป็นทั้งเรื่องดีที่จะได้ช่วยเหลือกัน และเรื่องร้ายกับการสูญเสียเวลาที่ต้องนับหนึ่งใหม่ ทั้งๆ ที่ผู้เรียนบางคนเขาก้าวไปได้หลายขั้นแล้ว การศึกษาของเราจึงนับหนึ่งใหม่ครั้งแล้วครั้งเล่า (อันนี้อธิบายให้เห็นภาพนะครับ บางเรื่องอาจจะเป็นการสานต่อบ้างก็มี) สมัยผมเรียนเคยได้พาสชั้นจาก ป. 3 ไปขึ้นชั้น ป. 4 เลย ไม่รู้ว่าเรียนเก่งหรือชอบต่อยกับรุ่นพี่ คุณครูเลยให้เลื่อนชั้นไปประกบพี่ๆ เสียเลย (ย้อนถึงวัยใช้กระดานชนวนกับดินสอหิน ที่แตกบ่อยๆ เพราะชกมวยกันนี่แหละ)
ทำไมการสั่งการใดๆ ในเรื่องนโยบาย จึงไม่มุ่งไปที่ผลสำเร็จในการศึกษาของผู้เรียน แต่เน้นไปที่กระบวนการทำงานให้ทุกแห่ง ทุกที่ทำในรูปแบบเดียวกันตามลำดับที่กำหนดมา 1, 2, 3, ฯลฯ โดยอ้างว่า เพื่อให้สามารถตรวจสอบประเมินได้เป็นอันหนึ่งอันเดียวหัน (มันใช่หรือ? การทำตามขั้นตอนที่ถูกมโนมาจากผู้ที่ไม่เคยทำงานอยู่ในภาคสนาม มันจะสำเร็จได้จริงหรือ แล้วถ้าครูเขาทำต่างจากท่านสั่งแล้วผลดีกว่าวิธีของท่านล่ะ ทำไมไม่คิดกัน ทางเดินมันมีให้เลือกหลายทางตามบริบทของแต่ละที่ คนบ้านนอกจะให้เดินทางด้วยรถไฟลอยฟ้ายังไง ก็มันไม่มีอ๊ะ) หลายเรื่อง หลายนโยบายเป็นแบบนี้
ผมขอยกตัวอย่างเรื่องการกรอกแบบฟอร์มต่างๆ ก็แล้วกัน ท่านทั้งหลายจะได้มองเห็นภาพกันออก นอกจาก ชื่อ-สกุล เลขที่ประจำตำแหน่ง เลขที่บัตรประชาชนแล้ว รายละเอียดอื่นๆ ต้องกรอกลงไปเพื่อประโยชน์อะไรกัน ในเมื่อข้อมูลทั้งหลายทั้งปวงของบุคคลผู้นั้นมีอยู่ในระบบสารสนเทศ (ที่อ้างว่า เป็นหน่วยงานรัฐบาล 4.0 ช่างไม่ต่างกับการถ่ายเอกสารบัตรประชาชนเพื่อใช้ในการติดต่อราชการนั่นเอง) แล้วคำขอนั้นใยจะต้องเริ่มด้วยข้าพเจ้าเกิดวัน เดือน ปีนั้น เป็นบุตรของใคร เรียนที่ไหนมาบ้าง ก็ข้อมูลมันมีแล้วนี่ จะขอเป็น "ครูดีเด่นเรื่อง...." จะเริ่มแบบนี้ได้ไหม? ตอนนี้หน่วยราชการหลายแห่งข่าวว่า ยกเลิกการถ่ายเอกสารบัตรประชาชน และทะเบียนบ้านแล้ว (แต่ก็ยังไม่ทุกที่ เพราะเครือข่ายอินเทอร์เน็ตไม่มี ไม่มีเครื่องอ่านบัตรอิเล็กทรอนิกส์)
"เกษียณอายุราชการ 63 ปี" มันเป็นข่าวดีหรือข่าวร้ายของข้าราชการกันแน่ ผมตอบแทนใครไม่ได้ครับ แต่ผมนั้นสละเรือตั้งแต่อายุยังไม่ถึง 60 ด้วยซ้ำ เพราะเบื่อหน่ายกับการทำงานนอกหน้าที่ ระบบพวกพ้องเอาใจนายให้อยู่รอด สบายดีครับตอนนี้ ก็ได้ยินน้องๆ หลายคนบ่นๆ ทำนองเดียวกันว่า "หน้าที่สอนนะไม่กลัว ไม่เหนื่อย แต่มันจะทนไม่ไหวกับงานนอกเหนืออาชีพ งานกาฝากจากหน่วยงานอื่น การรายงานเพื่อให้องค์กรมีชื่อเสียง ดีเด่น ผู้บริหารได้หน้า ที่ผลมันลงมากดดันครูจนไม่ได้สอนกันเต็มที่" เห็นได้จากอะไร? ไม่ยากเลยครับท่าน ก็การจัดกิจกรรมมโหฬาร "ติวสอบโอเน็ต" นั่นไง ถ้าได้สอนมาดี เต็มที่แล้วจะต้องมาติวกันทำไม?
การทำงานโดยการยืดอายุเกษียณราชการนั้น มีข้อดีสำหรับอาชีพเฉพาะที่ต้องการคนเก่งๆ และชำนาญการเฉพาะด้านจริงๆ มาช่วยเป็นพี่เลี้ยงสร้างบุคลากรคุณภาพให้กับหน่วยงานบางหน่วย การจ้างจึงเป็นการจ้างพิเศษมีเงื่อนไขปีต่อปี ซึ่งจะไม่เป็นภาระด้านงบประมาณมากนัก ในขณะที่คนเพิ่งจะจบการศึกษาก็มีโอกาสได้งานทำ (ได้ชดใช้หนี้ กยศ. ที่ยืมมาระหว่างเรียน) ถ้ามองจากมุมมนี้ อาชีพครูก็มีโอกาสถูกจ้างต่อหลังเกษียณอายุ 60 ปีในสาขาที่ขาดแคลนมาก แต่ไม่ใช่ทุกคนที่จะได้ต่ออายุไปจน 63 ปีดอกครับ เพราะหลายคนนั้นอยู่ในสภาพบังเสากินไปวันๆ งานก็ไม่ค่อยทำ แถมยังคอยหลบเจ้าหนี้อีก (เออ... เป็นครูนี่ รัฐมนตรี ศธ. คนไหนที่ไม่บอกว่าจะแก้หนี้ครูบ้าง แต่ก็ไม่สำเร็จ กลับไปสร้างหนี้อีรุงตุงนัง ยืมตรงนั้นไปโปะตรงนี้เรื่อยไป หลักฐานที่สามารถยืนยันอีกหนึ่งคือ เว็บไซต์ของโรงเรียน บางโรงเรียนมีลิงค์ให้ "ตรวจผลสลากกิน(ไม่แบ่ง)ของรัฐบาล" เป็นเมนูหราในหน้าแรกกันเลย กลัวว่าครูจะไม่รู้หรือหายากมั๊ง เว็บมาดเซ่อคนนั้น คงจะภูมิอกภูมิใจมาก ถ้าใครทำก็เอาออกเถอะนะอายเขาเด้อ)
การปฏิรูปการศึกษา นี่ผมได้ยินมานาน ตั้งแต่ยังหนุ่มแน่นอยู่ในวงราชการ เป็นวิทยากรเดินสายอบรมช่วยเหลือกันหลายเรื่องราว มากกว่า 20 ปี นี่ก็เลยวัยเกษียณมา 4 ปีก็ยัง ปะ-ติ-ลูบ-คลำ ทางการศึกษาไม่จบกันสักที และจะยังทำกันต่อไปอีกกี่ปี ต้องก้าวขึ้นบันไดแล้ววิ่งลงมานับหนึ่งใหม่อีกกี่รอบกันหนอ คงจะไม่จบสิ้นถ้า...
รัฐบาลใหม่ รัฐมนตรีคนใหม่ ไม่ยอมสานต่อนโยบายดีๆ ของรัฐบาลเดิมให้สำเร็จต่อเนื่อง ถึงเวลาที่กระทรวงศึกษาธิการจะต้องมี แผนปฏิบัติการทางการศึกษาระยะยาว (Road map) 10-20 ปี ไว้ให้ทุกรัฐบาลได้ปฏิบัติเป็นแนวเดียวจนสำเร็จกันสักที พรรคการเมืองไหนไม่สนับสนุนนโยบายในแผนฯ ครูเราต้องชักชวนให้ชาวบ้านไม่ให้เลือกเข้ามาบริหารประเทศ "
ช่วงนี้มีรุ่นน้องและลูกศิษย์หลายคนสอบผ่าน ได้รับการคัดเลือกไปอบรมเป็นผู้บริหารโรงเรียน (ผู้อำนวยการ) แต่มีกระแสดราม่ากันรัวๆ ว่าจะได้เป็น "ครูใหญ่" แทน ถึงกับมีบางคนตั้งคำถามว่า "ชื่อตำแหน่งมันทำให้การศึกษาพัฒนาหรือ?" ว่าไปโน่น มันจะช่วยได้หรือไม่ผมก็ไม่ยืนยัน แต่การใช้ชื่อมันบ่งบอกอะไรหลายอย่างอยู่นะ ผมบรรจุครั้งแรกในโรงเรียนประถมศึกษาชายแดนอีสานประเทศไทย ก็อยู่กับครูใหญ่มาก่อน ต่อมาผลการสอบในโรงเรียนสังกัดมัธยมศึกษาออกมาว่า "ได้" ก็ย้ายไปอยู่โรงเรียนมัธยมประจำอำเภอมีนักเรียน 500 คนเศษ ผู้บริหารก็ตำแหน่ง "ครูใหญ่" ทำงานมาจนเข้าปีที่ 7 นักเรียนเพิ่มขึ้นเป็น 800 คนเศษ ตำแหน่งผู้บริหารก็ขยับเป็น "อาจารย์ใหญ่" ถ้านักเรียนเพิ่มขึ้นเป็น 1,200 คนมั๊ง (ถ้าจำไม่ผิด) ก็จะได้เลื่อนเป็น "ผู้อำนวยการ" ส่วนครูน้อยอย่างผมก็ได้เป็น "ผอ." (ผัวอาจารย์...) เหมือนกัน (ไม่ต้องสอบและอบรมด้วย) เห็นไหมครับว่า ถ้าผู้บริหารไม่พัฒนา ผลสัมฤทธิ์ของนักเรียนออกมาดี ผู้ปกครองก็คงไม่อยากส่งลูกหลานมาเรียน จนมีนักเรียนเพิ่มขึ้นมาก จนได้เลื่อนตำแหน่ง ก็เหมือนครูน้อยๆ เริ่มจากครูผู้ช่วยก็อยากเป็นครู ครูชำนาญการ ครูชำนาญการพิเศษ... ขึ้นไป ชื่อตำแหน่งมันจึงบอกอะไรหลายอย่างอยู่นะครับ
ที่ผ่านมาไม่นานนี้ พอถามว่า "เป็น ผอ. ที่โรงเรียนมีครูและนักเรียนเท่าไหร่" คำตอบบางคนคือ "ครู 3 นักเรียนไม่ถึงร้อย" กับอีกคนบอก "ครู 150 นักเรียน 2,700 คน" มันต่างกันนะครับ แต่เอาเหอะไม่ว่ากัน ผมไปเจอใน Facebook ของคุณประวิตร เอราวรรณ์ แล้วถูกใจมาก ท่านเขียนว่า
มีลูกศิษย์หลายคนส่งข่าวดีมาบอกว่าสอบเป็นผู้บริหารได้ กำลังอบรมก่อนรับตำแหน่ง
....
ก็ขอแสดงความชื่นชมยินดีกับ "ครูใหญ่" ใหม่ทุกคน
ขอให้ตระหนักอยู่เสมอว่า
1) การศึกษานั้น "เด็ก" สำคัญที่สุด ไม่ใช่ "เจ้านาย" หรือ "ป้ายโรงเรียน"
2) ตอนอบรมก็ใส่สูทตามพิธีกรรมได้ ว่ากันไป แต่ตอนเวลาเป็นครูใหญ่ต้อง "ถอดสูท"
3) ถ้ามีอะไรสงสัย ให้กลับไปดูข้อ 1)
.......
ชาติฝากความหวังไว้กับทุกคน อย่าให้ประเทศต้องเสีย "ครูดีๆ" ไปคนนึง แล้วได้ "ผอ.ดาดๆ" มาเพิ่มอีกคน "
สำหรับตำแหน่ง ผู้อำนวยการโรงเรียน ถูกเปลี่ยนในช่วงที่ พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2546 ประกาศ ซึ่งเดิม ตำแหน่งผู้บริหารสถานศึกษาจะแบ่งตามขนาดโรงเรียน ดังนี้ โรงเรียนขนาดใหญ่ ใช้คำว่า ผู้อำนวยการโรงเรียน โรงเรียนขนาดกลาง ใช้คำว่า อาจารย์ใหญ่ และโรงเรียนขนาดเล็ก ใช้คำว่า ครูใหญ่ ทำให้ผู้บริหารสถานศึกษาในขณะนั้นมองว่า การกำหนดชื่อตำแหน่งตามขนาดโรงเรียน ทำให้เกิดการแบ่งแยก ทั้งที่เป็นผู้บริหารสถานศึกษาเช่นเดียวกัน จึงขอให้เปลี่ยนชื่อตำแหน่งมาเป็น ผู้อำนวยการโรงเรียน เหมือนกันทุกขนาด ดังนี้แล...
ช่วงนี้ปลายปีการศึกษาที่นักเรียนระดับชั้นต่างๆ กำลังจะจบช่วงชั้น หาที่เรียนต่อกัน เป็นช่วงที่ผู้ปกครองที่มีลูกหลานต้องหาที่เรียนกันคิดหนักมากที่สุด คำแนะนำของผมคือ ถ้าจบระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนต้นแล้ว ควรจะต่อสายอาชีพในวิทยาลัยอาชีวศึกษา-เทคนิค ดีกว่าจะเรียนสายสามัญครับ เพราะบริษัท ห้างร้าน เอกชน โรงงาน และแม้แต่หน่วยราชการหลายหน่วย เช่น เหล่าทัพต่างๆ อปท. ทั่วประเทศ ก็เปิดรับสาขาวิชาชีพ ผู้จบ ปวช. ปวส. มากกว่าปริญญาตรีครับ ถ้าคิดจะเรียนต่อระดับปริญญาตรีก็สามารถศึกษาต่อได้ในภายหลัง ในสาขาที่ตรงกับที่เราจบมานั่นเองเพื่อความก้าวหน้าต่อไป ดีกว่าจบปริญญาตรีแต่ต้องมาลดค่าตัวเองลงไปสอบแข่งขันกับคนจบสายวิชาอาชีพ ซึ่งไม่อาจจะแข่งขันกับเขาได้ในแง่ความชำนาญในทักษะอาชีพ
ถ้าคิดจะเรียนสายสามัญจริงๆ อยากได้ปริญญาตรีในมหาวิทยาลัย ก็ขอแนะนำว่า เมื่อเรียนชั้นมัธยมปลาย ควรเรียนรู้เชี่ยวชาญด้านภาษา ให้เก่งทางภาษาอังกฤษให้มากที่สุด ความเก่งกาจนี่จะวัดได้ต้องไปทดสอบเอาผลมายืนยันนะครับ ซึ่งมีทั้งสอบ IELTS, TOEFL หรือ TOEIC อันไหนก็ได้ (สองตัวแรกสำหรับคนจะไปศึกษาต่อต่างประเทศ ตัวหลังสำหรับการสมัครทำงานกับบริษัทข้ามชาติ อ่านที่นี่ถ้าอยากรู้รายละเอียด) และจะดีที่สุดถ้ามีความสามารถในภาษาที่สามด้วย เช่น ภาษาจีน ญี่ปุ่น เกาหลี เพราะการค้าการลงทุนในบริษัทต่างๆ มุ่งมายังประเทศเหล่านี้กันมาก เลยต้องการคนทำงานติดต่อด้วยภาษาเหล่านี้มากตามไปด้วย
จริงๆ แล้วขอให้เราได้ภาษาที่สามที่เป็นภาษาอะไรก็ได้ แม้แต่ภาษาในประเทศอาเซียนใกล้บ้านเรา ทั้ง เขมร เวียดนาม พม่า มาเลย์ อินโด ฯลฯ เพราะการเคลื่อนย้ายคนและแรงงานมาในบ้านเรามีทุกชาติ การติดต่อสื่อสารด้วยภาษาเหล่านี้จึงจำเป็น ทำให้ได้ค่าแรงหรือเงินเพิ่มพิเศษเพิ่มขึ้น อย่างเช่น ในโรงพยาบาลหลายแห่ง จะให้เงินเพิ่มกับพยาบาลที่พูดภาษาพม่า เขมร เวียดนามได้ เพื่อสื่อสารระหว่างคนไข้กับหมอผู้รักษา (ส่วนภาษาลาวนั้น ไม่จำเป็นนะครับ เพราะสื่อสารกันเข้าใจได้ คนลาวก็ติดดูละคร ภาพยนตร์ ดนตรีไทย กันเป็นส่วนใหญ่)
ผู้ปกครองก็ควรจะเลิกทำตัวเป็น "พ่อแม่รังแกฉัน" เสียทีครับ รับฟังลูกบ้างว่า ลูกมีความชอบ มีความฝันในเรื่องอะไร ให้แนวคิดในการศึกษาอาชีพกับลูกหลานด้วยการศึกษา ค้นคว้า ว่าแนวโน้มในวันข้างหน้าของประเทศเรา ของโลก เขากำลังมุ่งไปทิศทางไหนในด้านเศรษฐกิจการลงทุน อาชีพบางอาชีพนั้นการเรียนเข้มข้นใช้เวลามาก ต้องรักชอบจริงๆ จึงจะประสบผลสำเร็จได้ อย่างเรียนหมอ
อาชีพของบรรพบุรุษก็ไม่น่ารังเกียจอย่าง อาชีพเกษตรกร ชาวนา ชาวไร่ แต่ลูกต้องเป็นชาวนายุคใหม่ ที่มีทั้งความรู้เดิมจากพ่อ-แม่ มีความรู้ใหม่ในด้านวิทยาศาสตร์ สิ่งแวดล้อมเพื่อพัฒนาอาชีพให้ดีขึ้นกว่าเดิม ผลผลิตเพิ่มขึ้นแต่ค่าใช้จ่ายลดลงเพื่อเพิ่มผลกำไร และต้องมีความรู้ด้านเศรษฐศาสตร์เพื่อวิเคราะห์ด้านการตลาด ความต้องการในตลาดทั้งในและต่างประเทศ สรุปกันง่ายๆ เรียนให้รู้ลึกรู้จริงในสาขาวิชานั้นๆ ไม่มีตกงาน ที่เราเห็นวิจัยฝุ่นกันมากมายทุกวันนี้เพราะ...
เรียนไม่มีจุดหมาย เรียนตามความชอบหรืออาชีพของพ่อ-แม่ เรียนเพราะถูกบังคับจากบุพการี เรียนตามเพื่อนเพราะไม่มีจุดประสงค์ ไม่มีเป้าหมายในชีวิตอนาคต เมื่อได้เรียนแล้วก็เอาแค่ผ่านๆ ไม่รู้ลึกรู้จริง ซึ่งสวนทางกับการจ้างงานที่เขามองว่า "คุณสามารถทำอะไรได้บ้าง" โดยไม่ถามว่า "คุณจบมาจากที่ไหน?" นั่นเอง "
บทบาทของพ่อ-แม่จึงสำคัญไม่ยิ่งหย่อนกว่าครูแนะแนวในโรงเรียน ซึ่งต้องศึกษา ค้นคว้า ให้มาก ยุคนี้ Google และอินเทอร์เน็ต ไม่ใช่มาเคาะประตูบ้านแล้ว แต่มันมาถึงห้องนอนของคุณ เคียงข้างเราอยู่ในกระเป๋าถือ กระเป๋าเสื้อ-กางเกงของเราไม่เคยห่าง อุปกรณ์ Smartphone นั่นไง ถามดูได้ครับ อย่าใช้ความรู้เดิมของพ่อ-แม่ ครู-อาจารย์ในยุค 20 ปีที่แล้วมาบังคับลูกหลาน ลูกศิษย์อีกเลย แพทย์ พยาบาล วิศวกร สถาปนิก ไม่ได้เป็นอาชีพทำเงินมีรายได้สูงสุดอีกแล้ว ทั้งๆ ที่เป็นงานที่หนัก เครียด พักผ่อนน้อยด้วย คิดใหม่กันเถอะครับ ไม่เชื่อลองคลิกตรงนี้ซิครับ มีคำตอบแน่นอน
ขอให้ทุกท่านมีความสุขในการทำงานตลอดปี 2562 นี้นะครับ และ อย่าลืม 24 มีนาคม ออกไปใช้สิทธิเลือกตั้งกัน เลือกพรรคที่เรามั่นใจว่าจะมาพัฒนาประเทศ พัฒนาการศึกษา การสาธารณสุขไทยให้ก้าวหน้า เข้ามาสร้างเศรษฐกิจให้ดีขึ้น ให้คนไทยทุกคนมีงานทำ ไม่ขายฝันเอาแต่แจกแหลกราญ สอนให้คนจนเอาแต่แบมือขอไม่จบไม่สิ้น อย่างนี้ประเทศเราจะก้าวเดินได้อย่างไร สิทธิอยู่ในมือท่านแล้ว คิดกันเองนะครับ
ครูมนตรี
21 กุมภาพันธ์ 2562
ยินดีต้อนรับสู่เว็บไซต์ของเรา ที่นี่ใช้คุกกี้ (Cookies) เก็บข้อมูล เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น อ่านนโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (Privacy Policy) และนโยบายคุกกี้ (Cookie Policy)