ไปพักผ่อนสมองที่ต่างประเทศมาช่วงหลังสงกรานต์ สนุกสนานตามประสาครอบครัว (อ่านเพิ่มเติมในบล็อกนี้ครับ) แล้วกลับมานอนเอาแรงชดเชยที่ กทม. กับลูกอีกสัปดาห์หนึ่ง พอมีพลังงานที่ถูกชาร์ทกลับคืนเข้าแบตเตอรี่ชีวิต ให้ส่องแสงวาบในสมองอีกหน่อย ก็ยังอดคิดไม่ได้กับเรื่องการจัดการศึกษาบ้านเรา ที่ยังคงวนเวียนพายเรือในอ่างกันอยู่ ทุกฝ่ายยังคงยึดติดกับตัวเลขชี้วัดในผลการเรียน ผลการสอบโน่นนั่นนี่กันอยู่ ยังคิดว่าเด็กไทยอ่อนด้อยสู้ชาวโลก หรือแม้แต่ในกลุ่มอาเซียนด้วยกันยังไม่ได้ จริงหรือ?
ปรัชญาการศึกษาที่เคยเรียนเคยบอกต่อกันมาบอกว่า เราควรจัดการศึกษาตามหลักสูตร ให้ผู้เรียนเกิดการพัฒนาทั้งความรู้ ความสามารถ ความคิด ให้นำไปใช้ประโยชน์ในการดำเนินชีวิตได้ ให้นำเอาความเป็นอยู่ อาชีพในท้องถิ่นมาประยุกต์ใช้ในการเรียนการสอนเป็นหลักสูตรสนองตอบต่อความต้องการของชุมชน ครูเราก็ทำกันจนสุดความสามารถ เชิญวิทยากรในท้องถิ่นมาให้ความรู้ สร้างองค์ความรู้ให้ผู้เรียนดำรงชีวิตได้ เรียกว่า เก่งตามแบบฉบับของชุมชน พอตอนปลายปีดันกลับไปหยิบเอาแบบทดสอบอะไรก็ไม่รู้มาถาม เพื่อการวัดให้เป็นแนวเดียวกัน แบบเดียวกันทั้งประเทศ ผลเหรอ... ก็รู้ๆ กันอยู่ใช่ไหมครับ...
ทุกโรงเรียนต่างก็ต้องกลับลำ จากโรงเรียนสอนวิชาความรู้ตามหลักสูตร มาเป็นโรงเรียนกวดวิชาครับท่าน กวดติว O-NET อย่างเอาเป็นเอาตาย งัดกลยุทธ์วิธีการจดจำข้อสอบ การเลือกตอบแบบเข้มข้น ก่อนการวัดผลจะเกิดขึ้นหนึ่งเดือน เป็นภารกิจปฏิบัติการติวเข้มระดับสุดยอดของชาติ ที่มีการคาดโทษตั้งแต่ครูผู้สอนทุกระดับ ผู้บริหารโรงเรียน ผู้บริหารเขตพื้นที่การศึกษา หากผลการสอบร่วงหล่นลงกว่าปีที่แล้วจะถูกจารึกไว้ (บนหนังหมา หรือเปล่าไม่รู้) แต่มีแววจะไม่ได้เลื่อนขั้นแน่ๆ
ส่วนโรงเรียนผลการปฏิบัติการติวสุดยอดครั้งนี้ ทำให้นักเรียนฟลุ๊คกาข้อสอบได้ถูกต้อง ยิ่งได้เต็มร้อยในวิชาใดวิชาหนึ่งจะมีการโพสท์โฆษณาในสื่อสังคมออนไลน์ อวยกันใหญ่ ยังๆ ไม่พอแค่นี้ ผอ.บางคนสั่งการใช้งบประมาณที่มีน้อยนิดไปพิมพ์ไวนิลแผ่นยาวใหญ่มาติดหน้าโรงเรียน โชว์เด็กสอบได้เต็มร้อยกี่คน วิชาใดบ้าง เพื่อ????? (ประจานการจัดการศึกษาของตนเองหรือไร?) พิจารณารูปประกอบข้างบนนั่นก่อนครับ
ตามหลักแล้ว คนสอนต้องเป็นคนประเมิน แต่นี่ไม่รู้ใคร เพื่ออะไร เด็กที่สอบ O-NET ได้คะแนนไม่ถึงครึ่ง ไม่ได้แปลว่าพวกเขาโง่นะ เขาเก่งในเรื่องของเขา อาจจะเป็นการประกอบอาชีพอย่างพ่อ-แม่ หรือคนในชุมชนได้ดี มีทักษะการดำรงชีวิตเอาตัวรอดได้ในสังคมท้องถิ่นของเขา ทำมาหากินได้ยอดเยี่ยมทั้งทอดแหหาปลา ปลูกพืชผัก เลี้ยงสัตว์ ได้กินอยู่ไม่อดอยาก มีความสุขตามอัตภาพของตน บ้างก็เก่งในด้านดนตรี ขับร้อง เป็นศิลปินตัวน้อยหาเลี้ยงชีพช่วยครอบครัวได้
โรงเรียนกับการจัดกาศึกษาในปัจจุบันเป็นตัวสร้างปัญหา เพราะการสร้างค่านิยมผิดๆ มาแต่ต้น "ศึกษาให้เติบใหญ่เป็นเจ้าคนนายคน" การคาดหวังให้ลูกเป็นเจ้าคนนายคน ด้วยความหวังของพ่อแม่ไม่ผิด แต่เด็กเรียนจบออกมาส่วนมากก็กลับมาว่างงาน ทำงานวิจัยฝุ่นไปวันๆ อยู่แถวบ้านนั่นแหละ (ยุคนี้ ต้องการคนเก่งที่โดดเด่นเฉพาะด้าน ไม่ต้องการคนเก่งแบบเป็ดทำอะไรพอได้แต่ไม่ได้เก่งสุดๆ) เพราะทักษะชีวิตไม่เกิดก็ไม่รู้จะทำอะไร ทั้งที่ทรัพย์สมบัติต้นทุนของพ่อแม่ก็มี เช่น ไร่ นา การเกษตร บ้างก็มีกิจการค้าขาย มีมากไปหมดแต่ไม่ทำ เพราะคิดต่อยอดไม่เป็น หวังแต่จะได้ทำงานในบริษัทใหญ่ๆ รับเงินเดือนสูงๆ สอบเป็นข้าราชการมีเงินเดือนกิน (แต่ก็สอบไม่ได้) เพราะคนมากกว่างาน การแข่งขันสูง หน่วยงานไหนๆ เขาก็ต้องการคนเก่งไปทำงานไม่ได้ต้องการเด็กไปฝึกงานสักหน่อย สิ่งนี้แหละที่ครูแนะแนวไม่เคยบอก...
ครูแนะแนว เป็นงานที่สำคัญ แต่บ้านเราคือ คนที่อวยเด็กเก่ง เด็กปานกลาง หรือระดับล่างเป็นอากาศธาตุ
แล้วบ้ายุให้เด็กเลือกเรียนหมอ หรือเลือกอะไรที่จะทำให้โรงเรียนได้มีหน้ามีตา มากกว่าจะให้เด็กค้นหาตัวเองให้เจอ
สุดท้าย... คนที่มามอบทุนการศึกษา หรือให้งบพัฒนาโรงเรียน ก็พวกไอ้(อี)ปึกส์ แป้นปีก นั่นแหละ ..."
แล้วก็มีเหมือนกัน "โรงเรียนที่ไม่สน ไม่แคร์ O-NET" ซึ่งผมชื่นชอบโรงเรียนแบบนี้แหละ อยากให้ผู้บริหารการศึกษาบนหอคอยงาช้างได้อ่าน เข้าใจ ปรับเปลี่ยนก็ยังทันนะ การศึกษาไทยไม่ได้ก้าวหน้าเพราะย้ายก้นไปดำรงตำแหน่ง เพิ่มเก้าอี้ให้มากขึ้นนะครับ เดี๋ยวนี้เอะอะก็ปรับโครงสร้างการบริหารให้มันเปลืองงบประมาณ เพิ่มคนแต่งานยิ่งยุ่งเหยิงไม่รู้ใครเป็นนายใคร ไปอ่านต่อได้ที่ลิงก์นี้ครับ คลิกอ่านเลย
กับคำถาม "ครูไทยในวันนี้ ยังพอมีวิญญาณครูอยู่ไหมนะ" ที่จั่วข้างบนนั่นมีที่มาครับ สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) ได้มีโครงการยกระดับการจัดการเรียนการสอน ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในโรงเรียนทุกระดับ ให้มีมาตรฐานเท่าเทียมสากล ด้วยการปรับปรุงมาตรฐานหลักสูตรการเรียนรู้ในกลุ่มสาระการเรียนรู้คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ สำหรับสาระที่ 4 เทคโนโลยี ในกลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ ประกอบด้วยเนื้อหาสำคัญ 2 ส่วนคือ การออกแบบและเทคโนโลยี (Design and Technology) และวิทยาการคำนวณ (Computing Science) โดยเนื้อหาด้านวิทยาการคำนวณ เป็นการเรียนรู้เกี่ยวกับการพัฒนาผู้เรียนให้มีความรู้ความเข้าใจ มีทักษะการคิด เชิงคำนวณ การคิดวิเคราะห์ แก้ปัญหาเป็นขั้นตอนและเป็นระบบ ประยุกต์ใช้ความรู้ด้านวิทยาการคอมพิวเตอร์ และเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ในการแก้ปัญหาที่พบในชีวิตจริงได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งมีการพัฒนามาตรฐานการเรียนรู้ และตัวชี้วัดขึ้นใหม่ทั้งหมด
ดังนั้นผู้สอนอาจไม่เข้าใจ หรือมีความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนในหลักการต่างๆ ของมาตรฐานการเรียนรู้ และตัวชี้วัด รวมทั้งกระบวนการจัดการเรียนรู้เพื่อให้สอดคล้องกับตัวชี้วัด สสวท. จึงจำเป็นต้องจัดการอบรมให้แก่ครูผู้สอนสาระเทคโนโลยี (วิทยาการคำนวณ) เพื่อให้ครูมีความรู้ ความเข้าใจในมาตรฐานหลักสูตร และตัวชี้วัด รวมทั้งวิธีการจัดการเรียนรู้ที่สอดคล้องกับตัวชี้วัดทั้งหมด และสามารถนำความรู้ไปจัดการเรียนรู้ในสถานศึกษาของตนเอง หรือสถานศึกษาอื่น
ขณะนี้ทาง สสวท. ได้เปิดหลักสูตรสำหรับครูผู้สอนวิชาวิทยาการคำนวณ ตามหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ. 2551 (ฉบับปรับปรุง พ.ศ.2560) ให้เข้าไปเรียนรู้ประกอบด้วย 3 วิชา คือ
ซึ่งคุณครูผู้สอนทุกท่านสามารถเข้าไปลงทะเบียนเรียนได้ ที่ http://teacherpd.ipst.ac.th เมื่อคุณครูสมัครเข้าไปเรียนแล้ว จะสามารถดาวน์โหลดคู่มือครูทั้งสามวิชาได้ เพื่อนำไปใช้ในการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนต่อไป ปัญหาที่ไม่น่าเกิดขึ้นมันอยู่ตรงการดาวน์โหลดนี่แหละ ทำไม...?
มีเพื่อนครูบางท่าน ย้ำนะครับว่า "บางท่าน" นำเอาคู่มือดังกล่าวไปไว้บน Dropbox หรือ Google Drive หรือ Cloud Technology อื่นๆ ให้ลิงก์เพื่อนครูไปดาวน์โหลดแจกจ่ายกัน โดยไม่ต้องไปทำการสมัครลงทะเบียนเรียนออนไลน์ ซึ่งผิดวัตถุประสงค์อย่างยิ่ง เพราะผู้ที่ไม่ได้สมัครเรียนแต่ได้คู่มือครูไป ก็ไม่อาจจะเข้าใจในวัตถุประสงค์ของหลักสูตร ทาง สสวท. ต้องการให้ท่านสามารถจัดการเรียนการสอนได้ตรงตามวัตถุประสงค์ที่วางไว้อย่างแท้จริง ไม่ใช่ให้สอนตามคู่มือนี้เท่านั้น คู่มือครู ควรเป็นของครู และครูเท่านั้นที่ใช้งาน แต่เชื่อว่า จะมีการรั่วไหลออกไปถึงมือนักเรียนได้จากการค้นหาผ่าน Google
การเรียนการสอนนั้นผู้เป็น "ครู" จะเหมือนเป็นที่ปรึกษา แนะนำให้กับผู้เรียนได้ทำการศึกษาค้นคว้า หาความรู้เพิ่มเติมนอกจากกรอบในห้องสี่เหลี่ยมเดิมๆ ให้ผู้เรียนมีคุณธรรมและจริยธรรมในการแสวงหาความรู้ ใช้ช่องทางในการสื่อสารผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ต การที่เด็กสมัยนี้สามารถหาความรู้ต่างๆ มาแก้ไขปัญหา สรุปเป็นองค์ความรู้เพิ่มเติมในการเรียนรู้เป็นสิ่งที่ดี และควรจะให้คำแนะนำส่งเสริมให้กระทำเป็นอย่างยิ่ง
แต่... คู่มือครูนี้หาได้ไม่ยาก อันนั้นก็เป็นเรื่องจริงครับ เพราะ Google จะเก็บทุกสิ่งทุกอย่างที่พวกท่านได้โพสท์หรือส่งต่อกัน ผ่านทางสื่อสังคมออนไลน์ต่างๆ ทางอีเมล์ เขาจะต้องพบลิงก์ที่บางท่านแชร์ไว้แน่นอน
เมื่อเด็กได้คู่มือครูไปแล้วเกิดอะไรขึ้น ก็เหมือนดาบสองคม ถ้าเอาไปอ่าน วิเคราะห์ ทำกิจกรรมล่วงหน้าอย่างมีเหตุมีผลก็เป็นสิ่งที่ดี แต่ถ้าได้ไปแล้วเพียงแค่ว่าจะได้รู้เพื่อทำคะแนนให้ได้ดีเท่านั้น โดยไม่สนใจที่จะคิดวิเคราะห์อะไรเพิ่มเติมเลย ก็น่าจะเป็นผลเสียมากกว่า แล้วครูบางคนก็อาจจะพลั้งเผลอไปเห็นคำตอบของเด็กที่ตอบหรือทำกิจกรรมได้ตรงเป๊ะ (อย่างกับในคู่มือ) แล้วก็ทึกทักไปเองว่า เด็กตัวเองเก่ง เยี่ยมยอดมาก ชมเชยกันใหญ่ จะเกิดอะไรขึ้นในอนาคตกับเด็กเหล่านี้ ด้วยวิชานี้มีตัวชี้วัดใน ม.1 ข้อ 4 ว่า ใช้เทคโนโลยีสารสนเทศอย่างปลอดภัย ใช้สื่อและแหล่งข้อมูลตามข้อกำหนดและข้อตกลง ซึ่งก็ไม่ควรส่งเสริมให้ใครเข้ามาดาวน์โหลดได้โดยไม่ผ่านขั้นตอนที่กำหนด ซึ่งอาจจะเป็นเด็กนักเรียนของโรงเรียนใดก็ได้แล้วแผ่ขยายไปแบบไฟไหม้ฟาง ท่านจะมั่นใจได้ไหมว่า ที่เราทำเช่นนี้เกิดผลดีหรือผลเสียกับเด็กในอนาคต
ทาง สสวท. จึงขอความร่วมมือมายังคุณครูทุกท่าน "ไม่นำไฟล์คู่มือครูไปเก็บไว้ในคลาวด์แล้วให้บุคคลทั่วไปดาวน์โหลดไปได้โดยตรงจากท่าน" ซึ่งทาง สสวท. จะดำเนินการทำข้อตกลงกับผู้ที่นำไปเผยแพร่ต่อไปว่า ผู้ที่จะดาวน์โหลดไปได้นั้นจะต้องมีการยืนยันตัวตนว่า เป็นครูผู้สอนเท่านั้น โดยให้เข้าไปยืนยันตัวตน เพื่อลงทะเบียนเรียนและดาวน์โหลดคู่มือครู ได้ที่ IPST Learning Space : Teacher Professional Development ด้วยความขอบพระคุณที่จะช่วยกระจายข่าวให้เพื่อนครูในเครือข่ายของทุกท่านต่อไป
เอกสารที่น่าสนใจสำหรับคุณครูครับ
ยินดีต้อนรับสู่เว็บไซต์ของเรา ที่นี่ใช้คุกกี้ (Cookies) เก็บข้อมูล เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น อ่านนโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (Privacy Policy) และนโยบายคุกกี้ (Cookie Policy)