โดย : รองศาสตราจารย์ ยืน ภู่วรวรรณ
วันนี้ได้มีโอกาสมาสรุป แนวคิด ของหลักสูตรวิทยาการคำนวณ ซึ่งหลักสูตรเดิม เราใช้ชื่อสาระว่า เทคโนโลยีสารสนเทศ แต่คราวนี้ มีการปรับปรุงค่อนข้างมาก ย้ายมาสู่กลุ่มวิทยาศาสตร์ ซึ่งการใช้เวลา หน่วยกิต ก็ไม่ได้เปลี่ยนแปลง แต่ปรับปรุงเนื้อหาให้เป็นวิทยาการ ใช้แนวคิดทางด้านการพัฒนาทักษะ และความคิด การสร้างจินตนาการจากรูปธรรมให้สู่นามธรรม เพื่อสามารถคิดและวางลำดับขั้นตอน การแก้ปัญหาได้
วิชานี้จึงมาอยู่ในกลุ่มสาระ วิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี ใน ว 4.1 4.2 ซึ่งเกี่ยวโยงกับการนำความรู้ วิชาการมาปฏิบัติและประยุกต์ เพื่อช่วยในการทำงานหรือช่วยแก้ปัญหาต่างๆ อันก่อให้เกิดงาน วัสดุ อุปกรณ์ เครื่องมือ เครื่องจักร
วิชาวิทยาการคำนวณจึงเน้นที่การคิดการแก้ปัญหา คิดแบบนามธรรม คิดสร้างสรรค์ คิดเป็นระบบ หรือ วางขั้นตอนการทำงาน สร้างกระบวนการต่างๆ ที่เกี่ยวกับการดำรงชีวิตของมนุษย์ เพื่อแก้ปัญหาให้ชีวิตง่ายและสะดวกยิ่งขึ้น
วิทยาการคำนวณ จึงเป็นวิชาที่เชื่อมโยงกับเทคโนโลยีที่มีผลอย่างมากต่อชีวิตในอนาคต ที่ก่อผลกระทบต่อการดำรงชีวิต ความเป็นอยู่ สังคม ในหลายรูปแบบ เทคโนโลยีช่วยให้สังคมหลายๆ แห่งเกิดการพัฒนาทางเศรษฐกิจ การดำเนินงาน ขั้นตอนวิธี หรือ อัลกอริทึมที่ดี ก่อให้เกิดประสิทธิภาพ การดำเนินการต่างๆ ซึ่งส่งผลต่อตนเองและประเทศชาติ
ด้วยแรงกดดันในปัจจุบัน ในเรื่องเด็กที่เกิดในยุคนี้ เป็น Digital native พวกเขาสนใจในเรื่องเหล่านี้เป็นทุนเดิมแล้ว ยิ่งในอนาคต การค้าและการผลิตในอุตสาหกรรมต่างๆ เปลี่ยนไป อาชีพและการทำงานจะเปลี่ยนไปจากเดิมอีกมาก เทคโนโลยีทางด้านดิจิทัล สื่อ และสารสนเทศ มีการพัฒนาที่รวดเร็ว ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางสังคม กฎหมาย วิธีปฏิบัติ เช่น การทำธุรกรรมสมัยใหม่ การใช้เงินตราดิจิทัลเปลี่ยนไปมาก แนวคิดทางด้านคุณธรรม จริยธรรม และการใช้ชีวิตให้ปลอดภัยในโลกไซเบอร์สเปซ มีความสำคัญ เหล่านี้เป็นแรงกดดันที่ทำให้ต้องมีการเรียนการสอนวิทยาการคำนวณ เพื่อรองรับและตอบโจทย์ที่จะไปใช้ชีวิตในอนาคต
วิทยาการคำนวณในหลักสูตร ว.4.2 ประกอบด้วย 3 โดเมนความรู้ คือ กระบวนการคิดแก้ปัญหา (Computing) พื้นฐานความรู้ทางด้าน Digital technology (ICT) และ พื้นฐานการรู้เท่าทันสื่อ และข่าวสาร (Media and Information literacy) ซึ่งทั้งสามเรื่อง เป็นเรื่องพื้นฐานที่เชื่อมโยงกับชีวิตที่ทุกคนจะต้องใช้อยู่แล้ว
ในส่วนของวิทยาการคำนวณ เป็นเรื่องพื้นฐานกระบวนการคิด ตั้งแต่การคิดเชิงนามธรรม (Abstraction) การคิดวิเคราะห์ (Analytical) การวางลำดับขั้นตอนการคิด การแก้ปัญหา กระบวนการคิดแก้ปัญหา ที่เรียกว่า อัลกอริทึม (Algolithm) เรื่องเหล่านี้ เป็นพื้นฐานของชีวิตตั้งแต่เกิด เช่น ถ้าอยากทำกับข้าว จะมีขั้นตอนการทำอย่างไร การเลือกการตัดสินใจ เมื่อไรจะทำอะไร อะไรทำพร้อมกันได้ ประสิทธิภาพของการทำอาหารเป็นอย่างไร เขียนลำดับขั้นตอนได้อย่างไร วัตถุประสงค์ ต้องการให้นักเรียน มองการแก้ปัญหาในชีวิตอย่างเป็นระบบ รู้จักลำดับขั้นตอน การตัดสินใจ การใช้เหตุและผลที่ตามมา
ส่วนเรื่องของ เทคโนโลยีดิจิทัล (Digital Technology) เป็นเรื่องการเรียนรู้เทคโนโลยี และอยู่ร่วมกับเทคโนโลยีดิจิทัล เข้าใจหลักการพื้นฐานของเครื่องไม้เครื่องมือทางดิจิทัล และอยู่ร่วมกับนิเวศน์ดิจิทัลอย่างมีความสุข ไม่รู้สึกอึดอัด เมื่อจะเรียนรู้และใช้ประโยชน์จากเครื่องมือทางดิจิทัล
โดเมนความรู้ที่สาม คือ การอ่านออกเขียนได้ รู้เท่าทันสื่อ และใช้สารสนเทศให้เกิดประโยชน์ ค้นหา สืบค้น แสวงหาความรู้ และเรียนรู้ ได้ด้วยตนเอง เข้าใจและอยู่ร่วมกับการใช้เทคโนโลยีใหม่ การใช้สื่อสังคมอย่างเท่าทัน การทำธุรกรรมออนไลน์ การค้าขายออนไลน์ การดูแลปกป้องตนเอง การเข้าใจในเรื่อง อัตลักษณ์แห่งตัวตนในโลกไซเบอร์ เข้าใจหลักแห่งคุณธรรม และจริยธรรม การใช้สื่อและสารสนเทศ รวมถึงกฎระเบียบที่จำเป็น
นักเรียนในยุค Digital native กับวิชา วิทยาการคำนวณ จึงไปด้วยกัน การเรียนการสอนจึงเป็นวิชาที่มีกิจกรรมประกอบ และบูรณาการเข้ากับวิชาอื่นๆ ได้มาก แม้กับวิชาภาษาไทย อังกฤษ การเขียน การอ่าน การสืบค้น การนำเสนอ ซึ่งสามารถบูรณาการได้ทุกขั้นตอน
ข้อสรุปการนำเสนอวันนี้ เพื่อสร้างความเข้าใจ และเป็นกำลังใจให้คุณครูช่วยกันเดินไปข้างหน้า อย่างน้อยเพื่อลูกหลานไทย จะใช้ชีวิตในอนาคตอย่างรู้เท่าทันเทคโนโลยี ไม่ว่าเขาจะประกอบอาชีพอะไร พื้นฐานเหล่านี้จะช่วยเขาให้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงของโลกอนาคต
ที่ปัจจุบันนักเรียนของเราพร้อมที่จะเดินไปอยู่แล้ว อย่าให้เขาเดินทางไป โดยขาดการชี้นำที่ดี
สังคมก้มหน้า ไม่จดลงสมุด แต่แชะๆ เก็บในเครื่อง
ความจริงเกี่ยวกับเด็กยุคใหม่ดิจิทัลตั้งแต่เกิด Digital Native
ปีการศึกษา 2561 การศึกษาขั้นพื้นฐานหลักสูตรใหม่ เริ่มใช้หลักสูตร วิทยาการคำนวณ Computing มาแทนที่ เทคโนโลยีสารสนเทศ ในชั้น ป.1 ป.4 ม.1 ม.4 โดยย้ายไปยังกลุ่มวิทยาศาสตร์ ในตัวสาระ 4.2 นับเป็นการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญ และโอกาสที่ดี ที่โรงเรียนจะจัดการเรียนการสอน ในเรื่องที่เป็นความสนใจของนักเรียน และเป็นความท้าทายที่นักเรียนอยากเรียนรู้ในเรื่องเหล่านี้ เพราะนักเรียนมีทุนทางด้านดิจิทัลอยู่แล้ว เพราะเทคโนโลยีอยู่รอบๆ ตัวเขา เกี่ยวพันกับชีวิต
ได้มีโอกาสมาบรรยาย และให้แนวคิดเกี่ยวกับ การจัดกิจกรรมเพื่อการเรียนการสอน วิทยาการคำนวณ ให้คุณครูในหลายที่หลายโอกาส รวมทั้งการบันทึกเป็นคลิบไว้ด้วย ได้เน้นให้เห็นว่าข้อเด่นของวิชานี้ คือ รูปแบบของการจัดการศึกษาสามารถทำอยู่ในรูปแบบกิจกรรมให้เหมาะกับนักเรียน และสามารถ บูรณาการกับวิชาอื่นๆ ได้
ทำไมจึงใช้ชื่อ Computing หรือ วิทยาการคำนวณ แทน เทคโนโลยีสารสนเทศ หากดูจากวิกิพีเดีย (Wikipedia.org) ซึ่งให้รายละเอียดไว้พอควร ซึ่งขอสรุปมาสั้นๆ
คอมพิวติ้ง คือ การกระทำกิจกรรมต่างๆ เพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่ดี โดยใช้ประโยชน์จากการวางลำดับขั้นตอนแบบคณิตศาสตร์ ที่รู้จักกันดีในเรื่อง อัลกอริทึม ตัวอย่างเช่น การทำกิจกรรม ที่เกิดจากการใช้คอมพิวเตอร์ คำนวณ ประมวลผล จัดการข้อมูล การเข้าถึง ใช้ ข้อมูลข่าวสาร การใช้คอมพิวเตอร์สร้างระบบอัฉริยะ การประยุกต์ในงานด้านต่างๆ เช่น การใช้สื่อ ข้อมูล สารสนเทศ เพื่อประโยชน์ต่างๆ รวมถึงเพื่อการบันเทิงด้วย นอกจากนี้ ยังเกี่ยวโยงกับการใช้เทคโนโลยีคอมพิวเตอร์เพื่อกิจกรรมการแก้ปัญหา เพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่ดีขึ้น ใช้ในการสื่อสาร อำนวยความสะดวก ระบบช่วยการทำงานด้านต่างๆ ที่มีผลในปัจจุบันและอนาคต ความรู้เกี่ยวกับวิทยาการคำนวณจึงกว้าง รวมถึงวิชาที่เกี่ยวกับวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ วิศวกรรมซอฟต์แวร์ วิทยาการคอมพิวเตอร์ ระบบสารสนเทศ และ เทคโนโลยีสารสนเทศ
วิทยาการคำนวณ ในหลักสูตร ว.4.2 ประกอบด้วย สามโดเมนความรู้ คือ กระบวนการคิด แก้ปัญหา อัลกอริทึม และเนื้อหาเกี่ยวกับ วิทยาการคอมพิวเตอร์ Computer science พื้นฐานการประยุกต์ใช้คอมพิวเตอร์ ความรู้ทางด้าน Digital technology (ICT) และ พื้นฐานการใช้คอมพิวเตอร์ กับการจัดการข้อมูล ข่าวสาร การสื่อสาร การใช้สื่อ การรู้เท่าทันสื่อ และข่าวสาร (Media and Information literacy) ซึ่งทั้งสามเรื่อง เป็นเรื่องพื้นฐานที่เชื่อมโยงกับชีวิต ที่ทุกคนจะต้องใช้อยู่แล้ว
ในส่วนของ Computer science เป็นเรื่องพื้นฐานกระบวนการคิด ตั้งแต่การคิดเชิงนามธรรม (Abstraction) การคิดวิเคราะห์ (Analytical) การวางลำดับขั้นตอนการคิด การแก้ปัญหา กระบวนการคิดแก้ปัญหา ที่เรียกว่า อัลกอริทึม เรื่องเหล่านี้ เป็นพื้นฐานของชีวิตตั้งแต่เกิด การทำอะไร ก็จะมีขั้นตอนการทำ การเลือก การตัดสินใจ เมื่อไรจะทำอะไร อะไรทำพร้อมกันได้ ประสิทธิภาพของการทำอาหารเป็นอย่างไร เขียนลำดับขั้นตอนได้อย่างไร วัตถุประสงค์ ต้องการให้นักเรียน มองการแก้ปัญหาในชีวิตอย่างเป็นระบบ รู้จักลำดับขั้นตอน การตัดสินใจ การใช้เหตุและผลที่ตามมา
หลายประเทศใช้หลักสูตร Computing ในการศึกษาพื้นฐานมาก่อนหน้าเรา อังกฤษใช้มาตั้งแต่ปี 2014 ซึ่งเป็นวิชาสำหรับนักเรียนทั้งระดับประถม และมัฐยม สำหรับสิงคโปร์ กำหนดไว้ใน O level (Ordinary Level) และมีการทดสอบนักเรียนในระดับนี้ก่อนการสอบเข้ามหาวิทยาลัยด้วย
สำหรับหลักสูตรคอมพิวติ้งของอังกฤษน่าสนใจมาก อยากให้คุณครูไทยได้ลองศึกษา รูปแบบการจัดการศึกษาเพื่อเป็นแนวทาง ลองดูจากคู่มือคำแนะนำ สำหรับครูในการจัดการศึกษาให้นักเรียน โดยแยกระดับประถม KS1 KS2 โดยดูได้จาก เอกสารนี้ คลิก และสำหรับครูระดับมัฐยม ซึ่งกำหนดอยู่ในระดับ KS3 KS4 ดูได้จาก เอกสารนี้ คลิก สำหรับข้อมูลอื่น เกี่ยวกับหลักสูตร Computing สามารถค้นหา มาศึกษากันได้ครับ
ยินดีต้อนรับสู่เว็บไซต์ของเรา ที่นี่ใช้คุกกี้ (Cookies) เก็บข้อมูล เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น อ่านนโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (Privacy Policy) และนโยบายคุกกี้ (Cookie Policy)