ไม่ได้อัพเดทบทความใดๆ มานานครับ ได้แต่นั่งมองนโยบายรายวันที่แก้ปัญหาแบบลิงแก้แห เกาไม่ถูกที่คัน แบบวัวพันหลัก ปัญหาการศึกษาชาติต้องแก้กันทั้งระบบ ไม่ใช่เอะอะก็ลงมาที่ครูกันหมด วันนี้จะมายำปัญหาต่างๆ (เรื่องเดิมๆ) ให้ท่านทั้งหลายได้อ่านกัน จะเอาไปคิดไปแก้ไขต่อกันก็ได้ตามสะดวก หรือไม่เห็นด้วยก็ไม่ว่าอะไร แต่เปิดใจรับฟังกันสักนิดดีไหม... มีพาดหัวข่าวที่แชร์กันในเฟซบุ๊คมาจากเว็บหนึ่งว่า "พี่ไทยดูไว้! ฟินแลนด์จ่อเป็นประเทศแรกในโลกที่ยกเลิกวิชาเรียนทั้งหมด" แล้วก็คอมเมนต์กันสนุกปากว่า ไม่มีทางทำได้ หรือรอให้เต่ามีเขางอกก่อน ก็ว่ากันไป
มีโรงเรียนมากมายในปัจจุบันที่สอนโดยอิงจากหลักสูตรที่ออกแบบมาเพื่อใช้กับสังคมโลกในยุค 1900 เราต้องคิดใหม่และออกแบบระบบการศึกษาใหม่ที่เข้ากับยุคสมัยศตวรรษที่ 21 นั่นคือทักษะที่เด็กในวันนี้ต้องเรียนรู้เพื่อจะเอาไปใช้ในอนาคต
Marjo Kyllonen ผู้อำนวยการของกรมสามัญศึกษาในเฮลซิงกิ
ฟินแลนด์ ตัดสินใจตัดวิชาเรียนในระบบการศึกษาทั่วไปทั้งหมด อาทิเช่น ฟิสิกส์, ประวัติศาสตร์, ภูมิศาสตร์, วรรณคดี รวมทั้งคณิตศาสตร์ และหันมาผลักดันให้นักเรียนได้รับการศึกษาแบบ สหวิทยาการ (Interdisciplinary) อย่างจริงจัง
รูปแบบการศึกษาดังกล่าว หมายความว่า โรงเรียนต่างๆ ในฟินแลนด์จะต้องสอนผ่านเหตุการณ์หรือปรากฏการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้น และทำการสอนเด็กนักเรียนในมุมมองของหลายศาสตร์เข้าด้วยกัน เช่น เรื่องราวของสงครามโลกครั้งที่ 2 นั้นก็จะสอนให้นักเรียนเข้าใจทั้งในแง่มุมของ ประวัติศาสตร์, ภูมิศาสตร์ และ คณิตศาสตร์ ไปด้วย รวมทั้งยังมีคอร์สที่ชื่อว่า ‘Woking in a Cafe’ ซึ่งจะให้เด็กนักเรียนได้สัมผัสการทำงานในร้านคาเฟ่และจะทำให้เด็กได้ฝึกฝนภาษาอังกฤษ, เศรษฐศาสตร์ รวมทั้งทักษะการสื่อสารกับผู้คนไปด้วยพร้อมๆ กัน เรียกว่าเป็นการเรียนแบบลงสนามใช้งานจริง ไม่มีการมานั่งประจำในห้องเรียนจนหมดวันอีกต่อไป
สำหรับการปรับเปลี่ยนหลักสูตรการศึกษานี้ จะนำมาใช้อย่างจริงจังภายในปี 2020 ซึ่งนอกจากจะปฏิรูปการเรียนของเด็กนักเรียนแล้ว มาตรฐานการคัดเลือกครูที่มาสอนก็จะมีความเข้มข้นมากขึ้น โดยผู้ที่สมัครที่จะเข้ารับคัดเลือกและประกอบวิชาชีพครูในประเทศฟินแลนด์ได้นั้นจะต้องผ่านการสอบคัดเลือกแข่งขันและต้องจบปริญญาโทเป็นอย่างน้อย
ปัจจุบัน โรงเรียนในประเทศฟินแลนด์จะไม่ทำการเก็บเงินค่าเล่าเรียนรวมทั้งยังรับผิดชอบจ่ายค่าอาหารสำหรับนักเรียนทุกคน ไม่มีการบ้าน นอกจากนี้พวกเขายังล้มเลิกระบบการตัดเกรดทิ้งไปและมีรูปแบบการเรียนเป็นลักษณะ คอร์ส มากกว่า รวมทั้งการส่งลูกไปเรียนก่อนอายุ 7 ขวบก็ถือเป็นเรื่องผิดกฏหมายไปแล้วเช่นกัน
ท่านอ่านย่อหน้าทั้งสี่ข้างบนให้จบอย่างละเอียดก่อน แล้วลองหลับตาจินตนาการถึงบริบทประเทศไทยในปัจจุบัน แน่นอนหลายท่านย่อมฟันธงแบบไม่ลังเลเลยว่า มันไม่มีทางเป็นไปได้เลยในประเทศไทย เพราะอะไร? ตอบง่ายๆ ครับ เพราะสังคมบ้านเรานั้นมักโยนความรับผิดชอบไปให้คนอื่น คิดเอาเองว่าไม่ใช่หน้าที่ของตนเอง ประเด็นมันอยู่ตรงนี้ต่างหาก
หลายคนมักพูดกับผมว่า "โชคดีจังที่มีลูกดีเชื่อฟังพ่อแม่ ตั้งใจเรียน มีการงานมั่นคงกันทุกคน" ผมว่าไม่ใช่โชคนะ มันเป็นความตั้งใจเลยล่ะ ผมเลี้ยงลูกเองมาตั้งแต่เล็ก เป็นเพื่อน เป็นที่ปรึกษาให้กับเขามาโดยตลอด ไม่เคยใช้อำนาจดุด่าว่ากล่าวให้สะเทือนใจ ผมใช้เหตุและผลในการดูแลพวกเขา เรามีกติกากันในครอบครัวใครมีหน้าที่อะไรเพื่อตนเองและบุคคลอื่น ลูกอยากได้ของเล่นก็ซื้อให้แต่มีเงื่อนไขนะ เช่น เราจะไปห้างสรรพสินค้ากันเพื่อซื้อเสื้อผ้า/ชุดนักเรียน ถ้าอยากได้ของเล่นจะซื้อให้ในวงเงินไม่เกิน 100 บาท ถ้าไม่ซื้อกลับบ้านพ่อจะหยอดกระปุกออมสินให้ 100 บาท
เมื่อลูกไปเจอของเล่นที่ชอบและอยากได้ที่ราคาเกิน 100 บาท เขาก็จะบอกว่า "ฝากไว้ก่อนนะ คราวหน้าเก็บตังค์พอจะมาเอา" แน่นอนวันหลังเขาสะสมได้มากพอเขาก็จะได้ของเล่นที่ดีมีคุณภาพที่เขาอยากได้ แต่สิ่งที่ฝังลงไปในใจลูกคือการเก็บออมเพื่ออนาคตในวันหน้า เขาจะรู้จักค่าของเงิน แต่พ่อแม่บางคนกลับทำไม่ได้คือไม่ซื่อสัตย์ต่อกติกา กลับถึงบ้านก็ไม่หยอดกระปุกให้(ทำเป็นลืม) สุดท้ายกลายเป็นเงื่อนให้ลูกมองว่า ทำตามกติกาไปก็ไม่ได้อะไร พ่อ-แม่โกหก
ผมไม่ให้ปู่-ย่า ตา-ยาย ยึดหลานไปปกป้องได้ ถ้าลูกผิดสมควรได้รับการลงโทษผู้เป็นพ่อแม่ควรได้อบรมสั่งสอน ว่ากล่าว ไม่ควรที่ปู่-ย่า ตา-ยายจะมาออกโรงปกป้อง "อย่ามาทำหลานฉัน" เพราะนี่เขาจะไม่มีทางสำนึกผิด และคิดว่าไม่ต้องเชื่อพ่อ-แม่ ไม่ต้องทำตามกติกา
เคยบ่นมานานแล้วครับว่า การศึกษาบ้านเรานี่มันไม่ได้เลวร้ายอะไรนักหรอก เพียงแต่มันทำแบบลูบหน้าปะจมูก อยากให้เกิดผลเร็วๆ ทันในยุคที่ผมมีอำนาจ ต้องให้มีตัวเลขผลสัมฤทธิ์สูงๆ เพื่อได้ออกข่าวเอางบประมาณ(ผลงาน) มันก็เลยต้อง Make a good number for a lots of Money อย่างที่เห็นๆ กัน ทำไมไม่รอดูผลของมันสักห้าหกปีหน่อยปะไรครับลืมแล้วหรือกับกลอนบทนี้
เราอย่าอยากให้การศึกษาของเราไปเหมือนประเทศนั้นประเทศนี้เลยครับ ต้องดูบริบทด้วยว่าเราอยู่ตรงไหน อย่างไร สังคมรอบข้างเราเป็นอย่างไร งบประมาณ ภาษีที่เราจัดเก็บไปมากน้อยเท่าไหร่ เราไม่มีภาษีเพื่อการศึกษา เรามีคนที่มีโอกาสคอยเอาเปรียบคนที่ด้อยกว่ามากมายในสังคม โรงเรียนใกล้บ้านสำหรับคนบ้านไกลที่มีโอกาสมากกว่าทั้งเรื่องการเงิน บารมีและเส้นสาย เมื่อไหร่ที่เรามีนักการศึกษาที่มองเห็นและเข้าใจปัญหาการศึกษามาเป็นผู้บริหารเจ้ากระทรวง อย่างท่าน มล.ปิ่น มาลากุล ดร.โกวิท วรพิพัฒน์ และท่านอื่นๆ เราคงไม่หลงอยู่ในวังวนนี้นานนักหรอก
คุณสุทธิชัย หยุ่น บอกว่ามีผู้ส่งบทความนี้มาให้ผม บอกว่าเป็นบทวิเคราะห์ว่าทำไมอีก 20 ปีข้างหน้า มีแนวโน้มว่าคนไทยจะโง่ลง และเขมร พม่า แขก จีน ฝรั่ง จะเข้ามายึดอาชีพคนไทยเกือบหมด คนไทยจะเป็นลูกจ้างคนพวกนี้ ผมอ่านแล้วก็เชื่อว่า มีคนไทยที่เริ่มจะกลัว คำพยากรณ์นี้จะเป็นจริง จึงขอให้ช่วยกันคิดว่าจะหาทางป้องกัน ไม่ให้ความกลัวนี้เป็นความจริง
ช่วยกันคิดนะครับว่าจะทำอย่างไรจึงทำให้ความเห็นข้างบนนี้ไม่จริง เป็นเพียงการพูดจาเพ้อเจ้อไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง อย่าให้เป็นจริงเลยแม้แต่ข้อเดียว!
กาแฟสด (สุทธิชัย หยุ่น)
16 เมษายน 2559
ยินดีต้อนรับสู่เว็บไซต์ของเรา ที่นี่ใช้คุกกี้ (Cookies) เก็บข้อมูล เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น อ่านนโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (Privacy Policy) และนโยบายคุกกี้ (Cookie Policy)