เป็นบทความข่าวเก่าตั้งแต่ปี 2557 นะครับ จากหนังสือพิมพ์โพสท์ทูเดย์ สัมภาษณ์พิเศษ "ครูคริส"ชำแหละการศึกษาไทย เมื่อ 02 กรกฎาคม 2557 เวลา 12:18 น. เรื่องโดย อินทรชัย พาณิชกุล เอามาเล่าซ้ำอีกครั้ง เพราะสิ่งที่เป็นอยู่ในบริบทการศึกษาไทย ปี พ.ศ. 2559 ก็ยังเหมือนเดิม โยนกลองกันไปมา ที่น่าตกใจคือยังมีเหลือบที่จ้องคอยหากินจากงบประมาณจากบรรดาข้าราชการลิ่วล้อสอพลอเจ้ากระทรวงนั่นแหละ มันเดินย่ำกับที่เกาไม่ถูกที่คันมานานแล้วนะ
มาฟังมุมมองของครูสอนภาษา ชาวต่างชาติผู้ที่อยู่ในแวดวงการศึกษาไทยมานานหลายปีกันนะครับ
ปี 2557 ที่ผ่านมา กระทรวงศึกษาธิการได้รับงบประมาณมากกว่าห้าแสนล้านบาท นับว่าสูงที่สุดในภูมิภาคอาเซียน ทว่าจากการจัดอันดับของ เวิลด์ อีโคโนมิก ฟอรัม เกี่ยวกับคุณภาพการศึกษาของไทยกลับอยู่อันดับรั้งท้าย
ขณะเดียวกัน ผลการจัดอันดับทักษะความสามารถด้านภาษาอังกฤษจาก 54 ประเทศทั่วโลก ที่ไม่ได้ใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาหลัก พบว่าประเทศไทยอยู่อันดับที่ 53 ของโลก
เกิดอะไรขึ้นกับระบบการศึกษาไทย!!!
ด้วยความเป็นคนรุ่นใหม่ที่มีความรู้ ทันสมัย กล้าคิดกล้าวิพากษ์วิจารณ์ บวกกับผลงานการบุกเบิกสไตล์การสอนภาษาอังกฤษแนวใหม่ที่เรียกว่า Edutainment เน้นให้ความรู้โดยสอดแทรกความบันเทิงลงไปด้วย ส่งผลให้ คริสโตเฟอร์ ไรท์ ครูสอนภาษาอังกฤษ เจ้าของโรงเรียนสอนภาษาอังกฤษ Chris English School และผู้ดำเนินรายการ Chris Delivery กลายเป็นบุคลากรในแวดวงการศึกษาที่ฮอตที่สุดคนหนึ่งของเมืองไทยยุคนี้
เมื่อถูกชักชวนมาพูดคุยแสดงทัศนะเกี่ยวกับแวดวงการศึกษาแบบไทยๆ เขาจึงตอบรับด้วยความกระตือรือล้น แน่นอนว่างานนี้มีจัดเต็ม!!!
ครูคริส เล่าว่า แม้งบประมาณแผ่นดินถูกจัดแบ่งให้กับกระทรวงศึกษาธิการมากที่สุด แต่หากไปดูข้าราชการที่เป็นหนี้สูงสุดกลับเป็นอาชีพครู สิ่งที่น่าสงสัย คือ เงินที่จัดสรรมาทำไมส่งไปไม่ถึงมือครู
“ทุกวันนี้สามารถแบ่งคนที่อยู่ในสังคมได้ 2P มาจากคำว่า People And Product หรือ ‘คน’ กับ ‘สินค้า’ สังคมไทยดันคิดว่าต้องลงทุนกับสินค้าหรือสิ่งของ วัตถุนิยมสำคัญกว่าบุคคล แทนที่จะจัดสรรเงินตอบแทนให้ครู เพื่อคัดครูที่มีคุณภาพจริงๆ เอาไว้ ดันเอาไปทุ่มให้กับห้องแล็บใหม่ ห้องสมุด หรือห้องคอมพ์ ลงทุนกับอุปกรณ์ที่เด็กนักเรียนไม่ค่อยได้ใช้ คล้ายการทำอนุสาวรีย์เพื่อแสดงความโอ้อวดมากกว่า"
สิ่งแรกที่ควรแก้ไขอย่างเร่งด่วน คือ ต้องทำให้อาชีพครูได้รับเงินเดือนสูงขึ้น เพื่อรักษาครูดีๆ เอาไว้ในระบบ
“ศักดิ์ศรีของคำว่า "ครู" ที่ยึดติดกันมานานนับศตวรรษ อาจจะต้องมีเกียรตินิยมเข้ามาเป็นส่วนประกอบหลักสำคัญ แต่ทุกวันนี้โลกก็หมุนเวียนเปลี่ยนไปเร็ว เกียรติที่เคยมีมันใช้กินไม่ได้ ผมเองเคยเป็นครูที่อยู่ในระบบ แต่ก็อยู่ไม่ได้ เงินเดือนไม่พอใช้ ดังนั้นเงินจึงสำคัญ มันต้องเข้าไปถึงตัวครู ไม่ใช่เอาไปเข้าแท็บเล็ต
ความต้องการถัดมา คือ คุณภาพของครู เมื่อปีที่แล้วหนังสือพิมพ์ลงข่าวว่า ครูที่อยู่ในระบบเป็นครูที่อายุมากแล้ว ส่วนครูที่เด็กกว่าเข้ามาเพิ่มใหม่ทดแทนกันไม่ทัน เป็นผลให้ในอนาคตบุคลากรครูจะขาดแคลนและคุณภาพต่ำลงด้วย กลายเป็นว่าเราขาด 2Q คือ Quality And Quantity แปลว่า ‘คุณภาพ’ และ ‘ปริมาณ’ ปัญหาตอนนี้คือมีนักเรียนเยอะเกินไป อัด 50-60 คน/หนึ่งห้องเรียน หากเทียบกับประเทศที่เจริญแล้ว หนึ่งห้องเรียน ห้ามมีนักเรียนเกิน 25 คน เพราะเท่านี้ก็เกินกำลังที่ครูคนหนึ่งจะดูแลได้อย่างทั่วถึง ดังนั้นคุณภาพของนักเรียนไทยจะดีขึ้น จำเป็นจะต้องลดจำนวนนักเรียนให้น้อยลงด้วย”
พฤติกรรมของเด็กนักเรียนที่เอาแต่ท่องจำ ไม่ตั้งคำถาม จับกลุ่มติวกันอย่างบ้าคลั่ง แข่งขันกันสอบ สะท้อนถึงวัฒนธรรมการศึกษาแบบไทยๆ ได้เป็นอย่างดี
คริสโตเฟอร์ บอกว่า ในห้องเรียนของประเทศที่มีคุณภาพการศึกษาดีเยี่ยม การทำตัวนิ่งเงียบ ไม่กล้ายกมือขึ้นถาม ไม่กล้าแสดงความคิดเห็น ย่อมถูกมองเป็นตัวประหลาด
“วัฒนธรรมของคนต่างชาติกับคนไทยแตกต่างกันคนละขั้ว ทุกชั้นเชิง ทุกมิติ วัฒนธรรมไทยเป็นแบบผู้ใหญ่ Seniority หรือที่เรียกว่า Top Down Communication เบื้องบนต้องมีคำสั่งลงมาให้ทำ แต่ชาติตะวันตกจะเน้นเป็นแบบ Equality คือ คุณภาพเท่าเทียม ซึ่งชาติเขาก็มี Seniority แต่ลักษณะจะต่างกันกับเรา ไม่ต้องมองขึ้นไปสูงมากนัก แค่เงยหน้าคุยกันก็พอ ดังนั้นฝั่งประเทศอย่างอังกฤษ ออสเตรเลีย อเมริกา จึงเน้นเรื่องการสื่อสาร ตัวประหลาดสำหรับเขากลายเป็นคนที่ทำตัวนิ่งเงียบ เพราะชาติเขาถือว่าคนเราต้องมีการปฏิสัมพันธ์กัน แต่ไทยเรายึดถือแบบฉันพูด-เธอฟัง ใครยกมือถามเลยถูกมองเป็นตัวแปลกประหลาด
ล่าสุดปีที่แล้ว มีการเปิดเผยว่า ประเทศไทยคิดจะเปลี่ยนแปลงระบบการศึกษาให้เป็นแบบ Students Center ที่ต้องการจะทำให้เหมือนกับเมืองนอก แต่วัฒนธรรมไทยมันไม่เอื้ออำนวย เรายังเป็นวัฒนธรรมแบบเชื่อฟังผู้ใหญ่ เหตุผลที่เด็กไทยพูดภาษาอังกฤษผิดกันเป็นส่วนมากก็มาจากวัฒนธรรม เด็กเชื่อตามคำสอนของผู้ใหญ่เสมอ ผู้ใหญ่จะสอนผิดหรือถูก ไม่รู้ แต่เด็กก็รับฟังและทำตามโดยไม่มีสิทธิที่จะโต้แย้งใดๆ”
คนที่จะเป็นครูควรจะต้องฝักใฝ่หาความรู้เพื่อพัฒนาตัวเองด้วย เนื่องจากครูยุคนี้ชอบคิดว่าตัวเองรู้มากแล้ว เก่งหมดแล้ว เหตุเพราะตัวเองแก่แล้ว อย่าลืมเป็นอันขาดว่าการหยุดพัฒนาตนเอง คือ จุดเริ่มต้นของการถอยหลัง
“การสอนในเมืองไทยทุกวันนี้ ครูที่เก่งต้องสามารถทำเรื่องยากให้เป็นเรื่องที่ง่ายได้ เปลี่ยนเรื่องที่น่าเบื่อให้น่าสนุก ผมบอกนักเรียนที่เคยสอนเมื่อ 5 ปีที่แล้ว ว่า ผมสงสารคุณจังเลย เพราะถ้ามาเรียนตอนนี้ ผมคงสอนคุณด้วยวิธีที่ยอดเยี่ยมกว่าเดิมแน่นอน ผมมีลูกเล่นเพิ่มขึ้นอีกเยอะ สำหรับครูสมัยนี้เขาไม่คิดจะใฝ่หาความรู้มาพัฒนาตัวเอง คิดว่าเปิดตำราและสอนในแบบเดิมก็เพียงพอ
โรงเรียนเองก็ต้องปรับตัว ปกติเคยทำตามรูปแบบของตนเอง เพื่อให้โดดเด่นกว่าที่อื่น โดยไม่หันไปมองคุณภาพของเด็กในโรงเรียน ความไม่สมดุลเหล่านี้จึงทำให้เกิดปัญหา ฝรั่งหลายคนที่มาอยู่เมืองไทย ตกใจกับระบบแบบนี้มาก เพราะบ้านเขาสอนตามมาตรฐาน อย่างถ้าเกิดเด็กเรียนไปแล้วสอบตกทั้งห้อง เขาก็ให้ตก แต่ถ้ามองแบบคนไทย ไม่มีที่จะยอมให้นักเรียนสอบตกทั้งห้องเช่นนี้ ต้องคิดถึงภาพลักษณ์ของโรงเรียน ถ้าพ่อแม่เด็กมาด่าก็จะเกิดความเสียหายต่อชื่อเสียงแน่นอน ครูไทยจะคิดหาวิธีเฉลี่ยเอาคะแนนที่มากสุดมาวัด แต่ฝรั่งจะชี้เลยว่าเด็กไม่ตั้งใจเรียน เพราะฉะนั้นถึงต้องสอบตก”
เมื่อถามว่ามองพัฒนาการของเด็กไทยใน พ.ศ.นี้อย่างไร ครูคริสตอบด้วยน้ำเสียงกลั้วหัวเราะว่าเด็กสมัยนี้โคตรดื้อ!!!
“ต้องยอมรับว่าเด็กสมัยนี้กวนตีน ผมรู้สึกสงสารครูและพ่อแม่ เพราะสื่อที่เพิ่มมากขึ้น เด็กอาจจะคิดว่าเขามีความรู้พอเลยดื้อ ฝรั่งเรียกว่า Smart Ass อวดรู้ อวดฉลาด นอกจากนี้ยังมี Dumb Ass โง่แล้วยังไม่เจียมตัว ไม่คิดหาความรู้ Jack Ass พวกที่ชอบเล่นปัญญาอ่อน ไม่สนใจการเรียน และ Ass Hole เกกมะเหรกเกเร ไม่ชอบเรียนหนังสือ เด็กสมัยนี้เห็นค่านิยมว่าการที่ไม่เรียนเป็นเรื่องเท่ ผู้ใหญ่เองก็ขี้เกียจ เอะอะก็โยนแท็บเล็ตใส่ลูก เด็กก็นั่งเล่นไปทั้งวัน ส่งผลทำให้สมาธิสั้น เพราะได้รับความบันเทิงมามาก พอบังคับให้เรียนก็ไม่สนใจ
อีกอย่างผมสังเกตว่า เด็กสมัยนี้ติด 4 ส. คือ สะดวก สบาย สนุก และห่วงแต่สวย ซึ่งผมคิดว่าคงไม่ช่วยให้เกิด ส.สำเร็จ เพราะมันต้องอาศัยความตั้งใจ ความพยายาม แต่เมื่อไหร่ที่คุณได้ความสำเร็จ อีก 4 ส.ที่ว่าจะตามมาทันที สะดวก สบาย สนุก ชีวิตสวยงาม สังคมไทยทั้งนักการเมือง ครู รัฐบาล โรงเรียน พ่อแม่ ทุกคนต้องช่วยกันปลูกฝังค่านิยมให้เด็กมองเห็นคุณค่าในการเรียน”
วันที่ไทยกำลังเข้าสู่ประชาคมอาเซียน คนจำนวนมากแห่ไปเทกคอร์สเรียนภาษาอังกฤษกันจ้าละหวั่น ในฐานะครูสอนภาษาอังกฤษ เขาบอกว่าสถานการณ์ขณะนี้ถือว่าน่าเป็นห่วง
“เริ่มแรกที่ได้เป็นครู ผมรู้สึกตกใจมากกับคนไทย เรียนเป็น 10 ปี แต่ไม่สามารถพูดภาษาอังกฤษได้ การสอนภาษาอังกฤษทุกวันนี้ ถ้าอยากจะเปลี่ยนระบบ คุณต้องแบ่งเป็น 2 แขนง 1.Grammar ไว้สำหรับคนที่ต้องการจะเก่งเรื่องภาษาอังกฤษจริงๆ 2.ภาษาอังกฤษทั่วไปที่ใช้สื่อสาร สังเกตจากที่แล้วมา คนไทยจะสอนคำศัพท์ที่ยากกันตั้งแต่เด็ก รวมทั้งวิชาอื่นๆ ก็เช่นกัน ทั้งที่เด็กไทยเรียนเยอะ แต่ทำไมเด็กฝรั่งยังสามารถไปได้ไกลกว่า ก็เพราะเราสอนจากอะไรที่มันยากเกินความจำเป็น กลายเป็น 2 ย.คือ เยอะและยาก ไม่รู้จะสอนให้ ‘เยอะ’ กันไปทำไม และจะสอนในส่วนที่ ‘ยาก’ ไปสักแค่ไหน ทุกวิชาต้องเรียนพื้นฐานทั่วไป แล้วถ้าเกิดความสนใจ คอยไปเรียนกันแบบเจาะลึก
เหตุผลที่บ้านเรายังแย่เรื่องภาษาอังกฤษ ก็เพราะว่าไม่เริ่มจากเรื่องง่ายก่อน แต่ดันก้าวไปจุดที่ยากเลย อาเซียนหรือประเทศที่เขาพัฒนาการศึกษาแล้ว เขาเริ่มจากรากฐานขึ้นมา ผิดกลับบ้านเราที่ไม่แม้แต่จะปูพื้น แถมยังก้าวมาหาของยากเลยทีเดียว ผลสอบที่ออกมาได้จากผลเฉลี่ยรวมทั้งหมด บางคนที่เรียนจบมหาวิทยาลัยแล้ว แต่ยังพูดภาษาอังกฤษไม่ได้ นับตัวเลขหลักพันเป็นภาษาอังกฤษก็ยังไม่ได้ เพราะเขาผ่านมาจากการสอบ สอบและผ่าน เป็นแบบนี้มาจนจบ เพราะระบบการศึกษาไทย ข้อสอบคือตัวกำหนด”
ครูคริส ย้ำว่า ต้องเน้นการเรียนแบบ Edutainment หมายความว่า สอดแทรกบันเทิงลงไปในความรู้ด้วย
“ถ้าใครเคยดูรายการของผม จะมองว่าภาษาอังกฤษเป็นเรื่องที่ง่ายและสนุก ผมบอกนักเรียนของผมเสมอว่า อย่านั่งเหม่อลอย อย่าขยันจดอย่างเดียว ก่อนที่ปากกาจะจดลงใส่กระดาษต้องจดจำใส่กบาลด้วย
มีคนมาถามเยอะว่า ต้องเรียนนานแค่ไหนถึงจะเก่ง ผมตอบไม่ได้มันอยู่ที่ปากคุณ คุณสนุกที่จะพูดไหม คุณขยันพูดแค่ไหน ฝึกฝนบ่อยไหม ภาษาอังกฤษไม่มีคำว่ารู้หรือโง่ มีแต่คำว่าจำ หรือจำได้ คุณต้องไปทบทวน ไม่มีใครจำได้ไปตลอดกาล การใช้ภาษาอังกฤษให้เก่ง ต้องฝึกฝนให้เหมือนการเล่นกีฬาหรือดนตรี เรียนและฝึก ถึงจะนำไปใช้แข่งกับผู้อื่นได้ ดูหนังฟังเพลงจึงมีส่วน รายการที่ผมทำจึงมีสิ่งต่างๆ พวกนี้ประกอบอยู่ ผมอยากให้พวกคุณฝึก See-Sound-Say เห็นเขาพูดอย่างไรเราก็ทำตาม เป็นการดูเพื่อใช้ฝึกฝนภาษา ไม่ใช่ดูแค่ความบันเทิง สังเกตได้ว่าภาษาอังกฤษสามารถฝึกฝนกันได้ แต่ขึ้นอยู่กับตัวคุณเองว่าจะเอาใจใส่แค่ไหน พยายามแค่ไหน
เรียนภาษาอังกฤษสมัยนี้จะให้ดีต้องมีคนและมีสื่อ ต้องรู้จักพัฒนาและหาความรู้ใหม่ๆ ถึงคุณจะลงทุนบินไปเมืองนอก แต่ทำอะไรเดิมๆ ไม่ต่างจากอยู่เมืองไทยก็เท่านั้น ไม่มีทางเก่งขึ้น ไปเรียนต้องพบกับครูซึ่งเป็นเจ้าของภาษาอังกฤษตัวจริง ใช้ประโยชน์จากครูให้มากที่สุด เริ่มคุยด้วยภาษาอังกฤษให้มาก ลองฝึกฝน ฝรั่งเขาชอบคุยอยู่แล้ว บางคนเข้าร้านเกมบ่อยๆ แต่กลับเรียนรู้ภาษาอังกฤษได้เทียบเท่าคนที่ไปเรียนเมืองนอก เพราะความใฝ่รู้และขวนขวาย การเรียนภาษาอังกฤษให้เก่งไม่จำเป็นต้องออกนอกประเทศ มันอยู่ที่ใจและความพร้อมของตัวคุณเอง ที่สำคัญจะต้องไม่หยุดแม้ผลลัพธ์ที่รอคอยจะมาถึงในเวลาที่แสนนาน”
เสียงหัวเราะเบาๆ แกล้มชาเขียวปั่น ทำให้บทสนทนา ช่างเต็มไปด้วยความสนุกสนานรื่นเริง
แล้วคุณครูทั้งหลายคิดยังไงกันครับ ผมเชื่ออย่างนี้ อย่าหยุดการเรียนรู้ อย่าอายที่จะเรียนพร้อมนักเรียน อย่าอายที่จะสื่อสารกับคนอื่นๆ ช่วยกันนะครับ เราต้องไม่เป็น "ครู สว."
ที่มา : http://m.posttoday.com/analysis/interview/304247
ยินดีต้อนรับสู่เว็บไซต์ของเรา ที่นี่ใช้คุกกี้ (Cookies) เก็บข้อมูล เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น อ่านนโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (Privacy Policy) และนโยบายคุกกี้ (Cookie Policy)