โดย ดร.ปัญญา เปรมปรีด์ิ
ในขณะที่ท่านนายกทักษิณพยายามขอให้ผู้บริหารของไทย ได้หันมาใช้นโยบาย "คิดใหม่ทำใหม่" ผมก็พบว่าหน่วยราชการและรัฐวิสาหกิจได้คิดตามสั่งจริง แต่ผลที่ได้คือ ของบประมาณเพิ่มขึ้น แต่เอาไปทำเรื่องเก่าๆ ที่เป็นอยู่ เรื่องนี้นอกจากจะเสียเวลาแล้ว มันยังจะทำให้สิ้นเปลืองยิ่งขึ้น ซึ่งทำให้ผมรู้สึกสงสารท่านนายกจริงๆ นโยบายที่ง่ายๆ ปฏิบัติกันได้ไม่ยาก แต่กลับถูกตีความไปในทางตรงกันข้าม แล้วชาติบ้านเมืองจะคืนสู่ความปรกติสุขได้อย่างไร วันนี้ผมจะขอเอาตัวอย่างมาให้ท่านดูสัก 2 เรื่อง แล้วเรามาดูกันว่าเราควรจะแก้ไขกันอย่างไร?
เรามาเริ่มกันที่ตัวอย่างอันแรกกันเสียก่อน หน่วยงานนี้เป็น รัฐวิสาหกิจที่จะต้องแปรรูปในเร็วๆ นี้ ดังนั้น ไม่ว่าท่านนายกจะสั่งมาหรือไม่สั่งมา เขาก็ต้องคิดที่จะทำอะไรบางอย่างอยู่แล้ว
ผลของการคิดใหม่ของเขาก็คือ ต้องการเปลี่ยนระบบงานคอมพิวเตอร์ทั้งหมดที่มีอยู่ เขาเริ่มด้วยการขอเปลี่ยน ซอฟท์แวร์ที่ทำงานด้านบัญชีและการบริหารทรัพยากร ซึ่งเป็นเงินประมาณ 215 ล้านบาท นี่เป็นค่าซอฟท์แวร์แต่เพียงอย่างเดียวนะครับ มันทำให้คนที่ต้องพิจารณาความเหมาะสมต้องสะดุ้ง ทั้งนี้เพราะไม่เคยมีซอฟท์แวร์อะไรที่แพงอย่างนี้ แต่ข้ออ้างของเขาก็ทำให้คณะกรรมการต้องยอมแพ้ คือมันเป็นการเปลี่ยนเวอร์ชั่น ซอฟท์แวร์เวอร์ชั่นเก่านั้นบริษัทบอกเลิกการให้การสนับสนุนแล้ว และถ้าไม่เปลี่ยนก็อาจเสียหายต่อหน่วยงานเป็นพันล้านบาทต่อปี ….ฯลฯ
หลังจากได้รับความเห็นชอบในการเปลี่ยนซอฟท์แวร์ไปได้ประมาณ 1 เดือนก็ทำเรื่องขอเข้ามาใหม่ คราวนี้บอกว่า ฮาร์ดแวร์ที่มีอยู่นั้นไม่สามารถรองรับซอฟท์แวร์ที่จัดหามาได้ บริษัทผู้ให้เช่าซอฟท์แวร์บอกว่า ต้องเป็นเครื่องชนิดมัลติโพรเซสเซอร์เซิฟเวอร์ และต้องมีหลายเซิฟเวอร์ ทั้งนี้เพื่อจะให้เกิดความมั่นคงของระบบ ฮาร์ดแวร์ทั้งหมดนี้เป็นเงิน 124 ล้านบาท ข้ออ้างของเขาก็เหมือนเดิม คือถ้าไม่ได้ฮาร์ดแวร์ชุดนี้ระบบงานทั้งหมดก็จะหยุดชะงักลง และจะเกิดความเสียหายเป็นพันๆ ล้านบาท คณะกรรมการพิจารณาความเหมาะสมของการลงทุนทางคอมพิวเตอร์ก็ต้องเห็นชอบไปอีก ท่านผู้อ่านควรสังเกตนะครับว่า ค่าซอฟท์แวร์เดี๋ยวนี่มันแพงกว่าฮาร์ดแวร์ไปแล้วเกือบเท่าตัว
ครับ, มันยังไม่หยุดอยู่เพียงแค่นั้น อีก 1 เดือนต่อมาก็เสนอเข้ามาอีก 1 โครงการ คราวนี้ขอทั้งฮาร์ดแวร์และซอฟท์แวร์ มันเป็นเงินรวมทั้งหมดประมาณ 1,260 ล้านบาท และหัวเรื่องมันแคบนิดเดียว คือจะปรับเปลี่ยนระบบใบแจ้งหนี้ เหตุผลของเขาก็คือ ระบบออกใบแจ้งหนี้นี้ของเก่าทำกันเอง มันเป็นการเขียนโปรแกรมด้วยภาษาโคบอล ใช้เครื่องประเภทเมนเฟรม มันมีปัญหามากเพราะดูแลรักษายาก จะให้ทำรายงานแบบใหม่เพียงเล็กๆ น้อยก็ใช้เวลาเป็นปี ของใหม่นั้นจะเป็นเครื่องประเภท มัลติโพรเซสเซอร์เซิฟเวอร์ จะใช้ระบบฐานข้อมูลเข้าช่วยในการทำโปรแกรม มันจะได้ปรับปรุงและเพิ่มเติมโปรแกรมได้ง่าย ระบบใหม่นี้จะมีเครื่องสำหรับบรรจุซองและชั่งน้ำหนักโดยอัตโนมัติ มันจำเป็นต้องมี เพราะจำนวนลูกค้าจะเพิ่มขึ้นถึง 6 ล้านรายใน 4-5 ปีข้างหน้า
ครับ, พอผมเห็นโครงการแล้วผมก็บอกว่า นี่มันไม่ใช่คิดใหม่และทำใหม่เสียแล้ว มันเป็นการคิดใหม่แต่ทำแบบเก่า แถมยังซ่อนค่าใช้จ่ายไว้อีกมากมาย เมื่อเจ้าของโครงการเข้ามาชี้แจงผมก็ถามไปเลยว่า 1,260 ล้านบาทนี่ยังไม่ได้รวมค่ากระดาษที่ใช้พิมพ์ใบแจ้งหนี้ ค่าบรรจุซอง ค่าซอง และค่าไปรษณีย์ ใช่หรือไม่ ซึ่งเขาก็ยอมรับว่าใช่ ดังนั้นผมจึงถามไปว่าค่าใช้จ่ายเหล่านั้นมันตกประมาณฉบับละกี่บาท ซึ่งตัวเลขอันนี้จริงๆ แล้วผมก็พอจะประมาณออกมาได้อยู่แล้ว แต่ถามเอาจากผู้เสนอโครงการนั้นดีกว่า เพราะเมื่อเขาบอกออกมาแล้วมันดิ้นไม่ได้
คำตอบในเรื่องนี้ก็คือ มันเป็นค่าใช้จ่ายประมาณฉบับละ 8 บาทกว่า ซึ่งเมื่อนำมาคูณกับจำนวนลูกค้าโดยเฉลี่ยใน 5 ปี ข้างหน้า (4.3 ถึง 6 ล้านราย) จะเป็นเงิน = 8 x 5 ล้านราย = 40 ล้านบาทต่อเดือน หรือคือ ประมาณ 480 ล้านบาทต่อปี หรือคือประมาณ 2400 ล้านบาทในเวลา 5 ปี ตามโครงการที่เสนอเข้ามา
ครับ , มันจะมีค่าใช้จ่ายที่มากกว่าที่เห็นในทางตรงอีก 2 เท่าตัว ผมจึงถามเขาว่า เขาไม่มีวิธีการใหม่ๆ แล้วหรือ? ทำไมจึงคิดใหม่แต่ทำแบบเก่า? ผมบอกให้เขานั่งฟัง และพยายามทำความเข้าใจกับข้อเสนอของผม แล้วให้กลับไปนั่งคิดที่ที่ทำงานดู ข้อเสนอของผมเป็นดังนี้
ผมไม่ติดใจเรื่องเครื่องคอมพิวเตอร์และซอฟท์แวร์เพื่อการอินพุทข้อมูลและ คำนวณค่าบริการ แต่เมื่อมีตัวเลขแล้วก็ควรมีเซิฟเวอร์ขนาดปานกลางสัก 1 ตัว มีคู่สายโทรศัพท์สัก 200-300 ชุด แล้วก็ให้เจ้าเซิฟเวอร์ตัวนี้มันโทรศัพท์ออกไปถึงลูกค้า แล้วก็แจ้งหนี้ให้เขาทราบ เซิฟเวอร์ขนาดราคา 10-20 ล้านบาทสามารถทำอย่างนี้ได้แน่นอน ระบบแบบนี้จะเข้าลักษณะ "ใช้กระดาษให้น้อยลง" หรือที่ฝรั่งเขาเรียกว่า "Paperless" หรือ "Less Paper" นั่นแหละ
ด้วยวิธีการใหม่แบบนี้ หน่วยงานจะสามารถลดค่าใช้จ่ายลงมาได้ 5-6 บาทต่อ 1 ลูกค้า มันจะประหยัดไปได้เดือนละ 30 ล้านบาท หรือปีละ 360 ล้านบาท และรวม 5 ปี ก็จะประหยัดไปได้ประมาณ 1,800 ล้านบาท
ครับ, เงิน 1,800 ล้านบาทนั้นเป็นเงินที่มิใช่น้อยเลย ถ้าเราประหยัดได้ก็จะเป็นผลดีต่อประเทศ แต่สิ่งที่เขาเถียงกลับมา ทำให้ผมหมดหวังและหดหู่ใจเป็นอย่างมาก เขาเริ่มด้วยการอ้างว่า เขาต้องพิมพ์และส่งใบแจ้งหนี้ให้ลูกค้า ทั้งนี้เพราะกฎหมายบังคับ!
เมื่อโดนแบบนี้ผมก็ถามเขาไปว่า เวลาลูกหนี้รับใบแจ้งหนี้แล้วฉีกทิ้งไป แล้วเขาจะเอาอะไรไปแสดงต่อศาล? เขาก็ตอบว่า ต้องทำใบแจ้งหนี้ใหม่ แล้วส่งทางไปรษณีย์โดยลงทะเบียน ซึ่งผมก็บอกว่า กรณีอย่างนี้ในระบบที่ผมเสนอมันก็ทำได้ เพราะเราสามารถใช้เครื่องพิมพ์ขนาดเล็กทำได้ มันมีปัญหาเพียงไม่กี่ราย หรือจะใช้แรงคนเพื่อทำใบเตือนแบบลงทะเบียนนี้ก็ได้ ทำไมจะต้องเสียเงินมากมายไปพิมพ์ใบแจ้งหนี้ให้แก่ทุกลูกค้า
ครับ, เขาย้อนกลับมาใหม่ว่า คณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคเคยเรียกประชุม และออกข้อบังคับว่า ต้องส่งเป็น "ใบแจ้งหนี้" ……ฯลฯ
ครับ, มีการโต้ตอบกันหลายตลบ ผมมองดูแล้วเห็นว่า เป็นการเสียเวลาไปเปล่าๆ ผมจึงบอกให้เขาเอาไปคิดดูก็แล้วกัน ผมบอกเขาไปด้วยว่าผมเคยมีประสบการณ์ที่คล้ายๆ กัน มันเกิดมานานแล้ว คือในยุคที่ธนาคารพาณิชย์เขาแข่งขันกันทำระบบออนไลน์นั้น ผมก็ไปช่วยธนาคารขนาดใหญ่แห่งหนึ่ง เจ้าของระบบเขายืนยันว่าบัญชีกระแสรายวัน (Current Account ) นั้นต้องพิมพ์รายการฝากถอนลงบนแผ่นบัตรบัญชี หรือที่ฝรั่งเขาเรียกว่า Ledger Card แต่ผมเห็นว่ามันไม่จำเป็น การที่จะพิมพ์การ์ดบัญชีลูกค้าดังกล่าวนี้ มันต้องมีเครื่องพิมพ์ชนิดสอดกระดาษจากด้านบน ซึ่งมีราคาแพงและเสียเวลาทำงาน แต่เจ้าของงานเขาไม่ยอม เรื่องนั้นขึ้นไปถึงผู้จัดการแบงค์ ซึ่งผมเป็นฝ่ายแพ้ ผู้จัดการเขาบอกว่าเจ้าของระบบงานนั้นสำคัญกว่า แต่หลังจากที่พัฒนาเสร็จ และใช้งานไปได้ 2 เดือน เจ้าของงานก็กลับมาขอให้ตัดการพิมพ์การ์ดบัญชี เขายอมรับว่ามัน "ไม่จำเป็น" อย่างที่ผมได้พูดไว้
ครับ, ในฐานะที่ท่านก็ใช้บริการของรัฐวิสาหกิจหลายอย่าง เช่น ประปา ไฟฟ้า โทรศัพท์ และหลายๆ ท่านจะต้องไปเสียภาษีเทศบาล ภาษีบ้าน ภาษีที่ดิน ….ฯลฯ ท่านคิดว่าเจ้า "ใบแจ้งหนี้" นี้จำเป็นต้องพิมพ์ลงเป็นแผ่นกระดาษ และต้องส่งถึงท่านทุกครั้งจริงๆ หรือ ? ทำไมเราไม่เปิดโอกาสให้ผู้ใช้ได้เลือก ใครที่อยากได้ "ใบแจ้งหนี้" เป็นกระดาษก็ต้องเสียเงินเพิ่ม ใครที่ไม่ต้องการก็ไม่ต้องเสียเงินเพิ่ม อย่างนี้ก็น่าจะลดความสูญเปล่าให้แก่ประเทศได้หลายพันล้านต่อปี
ครับ, นั่นเป็นตัวอย่างจากรัฐวิสาหกิจแห่งหนึ่ง สำหรับรัฐวิสาหกิจแห่งอื่นๆ ก็กำลังเดินตามรอยกันไป บางแห่งแย่ยิ่งกว่านี้เสียอีก เช่น นอกจากจะเสียเงินค่าทำใบแจ้งหนี้แล้ว เขายังยกเลิกการส่งพนักงานไปเก็บเงินที่บ้านลูกค้า เขาบังคับให้ลูกค้าต้องไปจ่ายเงินที่ศูนย์การค้าเสียอีก เขามองไม่ออกว่าค่าส่งพนักงานไปเก็บเงินนั้นมันถูกกว่าให้ลูกค้าทั้งหมดต้อง เดินทางมาจ่ายเงิน มันเท่ากับการถอยหลังเข้าคลองชัดๆ
โอเค, ขอมาดูทางหน่วยราชการบ้าง เรื่องที่หน่วยราชการกำลังฮิตกันสุดขีดก็คือจะมีเครือข่ายการรับส่งข้อมูลความเร็วสูง ทุกกรม ทุกกระทรวง ต่างทำโครงการเสนอเข้ามาที่สำนักงบประมาณ บางกระทรวงทำมาทั้งระดับกรมและระดับกระทรวง ทั้งนี้โดยไม่มีการปรึกษาหารือกันเลย วงเงินของโครงการเหล่านี้มันเริ่มที่ 40-50 ล้านบาท แต่ของหลายกรมมันสูงถึง 1,000 ล้านบาท พวกนี้จะเป็นกรมที่มีหน่วยงานย่อยอยู่ในต่างจังหวัดด้วย และที่มันน่าสนใจก็คือ ส่วนใหญ่เสนอซื้อจานดาวเทียม ที่เขาเสนอให้ใช้จานดาวเทียมก็เพราะมีช่องสัญญาณฟรีอยู่ในดาวเทียมไทยคมอยู่ 1 ช่อง นี่เป็นของที่รัฐได้ฟรีมาตั้งแต่อนุมัติให้คนยิงดาวเทียมขึ้นไปอยู่เหนือฟ้าเมืองไทย
ครับ, คนไทยเรานั้นมองเห็นการสื่อสารผ่านดาวเทียมว่าเป็นสิ่งมหัศจรรย์ ค่ายิงดาวเทียมนั้นเป็นเงินหลายหมื่นล้านบาท พวกเขาก็เลยคิดกันว่า 1 ช่องสัญญาณที่ได้ฟรีนั้นมันต้องมีความสามารถมหาศาล แต่ในความเป็นจริงแล้วมีหลายหน่วยงานได้ทดลองใช้ไปแล้ว แล้วก็พบว่ามันรับส่งได้น้อยมาก แต่ค่าใช้จ่ายสูงท่วมหัว เช่น สถานีจานดาวเทียมแต่ละแห่งจะเป็นเงินประมาณ 12 ถึง 15 ล้านบาท แล้วยังต้องเสียค่าบำรุงรักษาอีกปีละเกือบ 2 ล้านบาท แต่รับส่งข้อมูลได้แค่ 64 กิโลบิทต่อ 1 วินาที ความเร็วขนาดนี้ใช้ได้แค่การทำออนไลน์ของเมนเฟรมรุ่นเก่าเท่านั้น จะเอามาใช้งานรับส่งภาพวีดีโอเพื่อทำเทเลคอนเฟอเร้นซิ่งไม่ได้ จะใช้ในงานอินเทอร์เนตหรืออินทราเน็ตธรรมดาๆ ก็เกือบจะไม่ได้ เรื่องนี้กรมการปกครองเขามีประสบการณ์มาแล้ว เขาติดตั้งจานดาวเทียมไปแล้วประมาณ 45 แห่ง เขาใช้ในงานของสำนักทะเบียนราษฎร์ มันพอจะทำงานรับส่งข้อมูลการแจ้งเกิด การแจ้งตาย การแจ้งย้ายออก และการแจ้งย้ายเข้าตามทะเบียนราษฎร์ได้ แต่จะรับส่งภาพหรือภาพสะแกนของลายมือคนไม่ได้
ครับ, จริงๆ แล้วระบบการสื่อสารแบบดิจิตัลนั้นเขาพัฒนาไปหลายก้าวแล้ว เขาหันมาใช้ไฟเบอร์ออฟติกส์เป็นตัวโครงข่ายใหญ่ แล้วมาซอยย่อยเพื่อเข้าถึงบ้านเรือนด้วยสายเคเบิลและสายตีเกลียว (Twisted pair ) ไฟเบอร์ออฟติกส์นั้นสามารถรับส่งได้ตั้งแต่ 1 ล้านบิทต่อ 1 วินาที ไปจนถึง 1 พันล้านบิทต่อ 1 วินาที สายเคเบิลชนิดอัดก๊าซนั้นรับส่งได้ตั้งแต่ 64 กิโลบิทต่อ 1 วินาที ไปจนถึง 2 ล้านบิทต่อ 1 วินาที ส่วนสายตีเกลียว หรือคือสายโทรศัพท์ที่เราเห็นกันอยู่นั้นมันรับส่งได้ตั้งแต่ 32 กิโลบิทต่อ 1 วินาที ไปจนถึง 64 กิโลบิทต่อ 1 วินาที นอกจากนี้แล้ว ในการวางสายไฟเบอร์ออฟติกส์และเคเบิลต่างๆ นั้นเขายังบรรจุหลายๆ เส้นลงไปในท่อเดียวกันได้ และเวลาเขารับส่งข้อมูลกันนั้นเขาก็ใช้เทคนิคการตัดข้อมูลเป็นท่อนๆ แล้วส่งออกไปในเครือข่ายหลายๆ ทิศทาง เขาไม่จำเป็นต้องเชื่อมโยงด้วยสวิทซ์แล้วค้างคาอยู่ มันเรียกกันว่า Virtual circuit สายสื่อสารทุกสายจึงช่วยกันทำงานได้ ความเร็วจึงไม่ถูกจำกัดอยู่ที่สายสื่อสารเส้นใดเส้นหนึ่ง
นอกจากจะเลือกใช้เทคโนโลยีที่กำลังจะหมดยุคหมดสมัยแล้ว หน่วยราชการต่างๆ เหล่านี้ยังไม่รู้ด้วยซ้ำไปว่า จะเอาเครือข่ายนั้นไปทำอะไร ทุกหน่วยพูดเหมือนท่องจากตำรา คือ จะเอาไว้ใช้ทำ "เอ็มไอเอส" MIS ก็คือ Management Information System หรือเรียกเป็นไทยอย่างสวยหรูว่า "ระบบข้อสนเทศเพื่อการบริหาร" พวกเขาอ้างว่าข้อมูลของกรมและของกระทรวงนั้นมันกระจายอยู่ทั่วประเทศ เขาจึงต้องมีเครือข่ายความเร็วสูงเพื่อการดึงข้อมูลจากแหล่งต่างๆ เข้ามาทำรายงานให้แก่ผู้บริหาร
แต่เมื่อถูกจี้ถามว่า จะใช้เครื่องคอมพิวเตอร์ตัวไหนเป็นตัวประมวลผล เขาก็ดึงเรื่องกลับไปเติม บ้างก็ใส่เซิฟเวอร์เข้าไป 3 ตัว โดยเรียกกันง่ายๆ ว่า ดาต้าเบสเซิฟเวอร์ แอปปลิเคชั่นเซิฟเวอร์ และอินเทอร์เนตเซิฟเวอร์ แล้วก็พยายามจะอธิบายตามชื่อที่ตั้งขึ้น แต่บางกรมไปปรึกษาบริษัทผู้ค้าไอที แล้วก็กลับมาด้วยฮาร์ดแวร์และซอฟท์แวร์ที่คล้ายจะเปิดบริการอินเทอร์เนต คือ มีอินเทอร์เนตเซิฟเวอร์ มีพร๊อกซี่เซิฟเวอร์ มีเร้าเตอร์ มีฮับ มีอีมูเลเตอร์ ….ฯลฯ
ครับ, โดยสรุปแล้วก็คือ คำว่า "คิดใหม่" นั้นถูกตีความหมายเป็นการ "คิดหาทางใช้งบประมาณกันใหม่" แล้วคำว่า "ทำใหม่" ก็ถูกตีความหมายเป็นการ "เอาเทคโนโลยีที่ตนพอรู้จักมาใช้" ทั้งหมดมุ่งไปที่คำว่า "ระบบข้อสนเทศเพื่อการบริหาร" ซึ่งก็เป็นเรื่องเก่าที่เอามาเล่าซ้ำแล้วซ้ำอีก ผลมันจึงกลายเป็น "คิดใหม่แต่ทำเก่า" อย่างที่ผมจ่าหัวเรื่องเอาไว้
ที่มาของบทความ : DrPunya.com ด้วยความที่อาจารย์มีมุมมองประทับใจผม
จึงอยากให้เพื่อนครูได้อ่านกันหลายๆ คนครับ
"บทความนี้เป็นของ ดร.ปัญญา เปรมปรีดิ์ ได้รับอนุญาตให้นำมาเผยแพร่ที่เว็บไซต์นี้
แต่ห้ามนำไปใช้เพื่อการค้า และลิงก์กลับมาที่นี่ด้วยนะครับ"
ขอคารวะและไว้อาลัยต่อการจากไปของท่าน ดร.ปัญญา เปรมปรีดิ์ เมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2554 นับเป็นการสูญเสียทรัพยากรบุคคลในด้านไอทีและตลาดทุนของประเทศไทย
ชื่อ - นามสกุล (ไทย) | ดร.ปัญญา เปรมปรีดิ์ |
ชื่อ - นามสกุล (อังกฤษ) | Mr.Punya Prempridi |
วุฒิการศึกษา | - วศ.บ.(วิศวกรรมอิเล็กทรอนิกส์), จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ไทย, 2503. - M.S.E.E.(Electrical Engineering), University of Oeorgia Institute, U.S.A., 1966. - Ph.D.(Electrical Engineering), University of Oeorgia Institute, U.S.A., 1968. |
สาขาวิชาที่เชี่ยวชาญ | - คอมพิวเตอร์, ไฟฟ้าควบคุม |
ยินดีต้อนรับสู่เว็บไซต์ของเรา ที่นี่ใช้คุกกี้ (Cookies) เก็บข้อมูล เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น อ่านนโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (Privacy Policy) และนโยบายคุกกี้ (Cookie Policy)