โดย ดร.ปัญญา เปรมปรีดิ์
เมื่อเช้านี้ (ประมาณเดือนกันยายน 2544) ผมอ่านข่าวจากหนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่ง เขาบอกว่า มีคุณแม่ของเด็กคนหนึ่งได้ร้องเรียนถึงหนังสือพิมพ์ว่า ต้องเอาบุตรชายอายุ 6 ขวบ ออกจากโรงเรียนชนิด "e-School " โรงเรียนดังกล่าวนี้เป็นโรงเรียนนำร่อง ซึ่งเกิดจากความร่วมมือระหว่าง มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี มูลนิธิไทยคม มูลนิธิศึกษาพัฒน์ และสถาบันเทคโนโลยีแห่งแมสสาชูเซส (MIT)
เหตุผลของเธอคือ ครูที่สอนนั้นเป็นบัณฑิตใหม่ ไม่ได้จบครู จึงไม่เข้าใจการสอนเด็ก ปล่อยให้เด็กเล่มคอมพิวเตอร์อย่างเดียว นอกจากนี้ก็ยังชี้อีกว่า มีเรื่องไม่ชอบมาพากล คือโรงเรียนใช้ซอฟแวร์ของสถาบันเอ็มไอที ซึ่งมีราคาแพง หากนำไปใช้ทั่วประเทศก็จะเสียเงินมหาศาล เรื่องนี้ทาง ผู้ช่วยอธิการบดีของพระจอมเกล้าธนบุรี ออกมาชี้แจงว่า อีสกูลดังกล่าวนี้เพิ่งเปิดมาได้ 3 เดือน จึงอยู่ระหว่างการดำเนินการที่จะสร้างครูให้เหมาะสม ในขณะเดียวกันก็แจ้งว่า เด็กคนดังกล่าวนั้นเป็นเด็กมีปัญหา คือชอบใช้ความรุนแรงกับเพื่อน
ครับ ผมอ่านแล้วช็อคไปสามตลบ ผมช็อคในเรื่องใดบ้างเดี๋ยวผมจะเล่าให้ฟัง แต่เรื่องนี้เป็นเรื่องที่เราน่าจะนำมาถกกัน คือมาถกกันว่า เจ้าอี สกูล (E-school ) หรือ อีเลินนิ่ง (E-learning) นี้มันคืออะไรกันแน่ มันจะเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติของเราหรือไม่ และเราจะต้องปรับระบบการเรียนการสอนของเราไปในรูปนั้นทั้งหมดหรือไม่ ? เรื่องนี้ เป็นเรื่องใหญ่นะครับ มันไม่ใช่แค่ข่าวการทะเลาะกัน
โอเค, มาดูกันว่าผมตกใจและมึนงงกับเรื่องอะไรบ้าง ?
เรื่องแรกที่ผมช็อคก็คือ เมื่อมีผู้ปกครองออกมาชี้ข้อมูลความผิด คนในระดับบริหารควรออกมาชี้แจงให้ตรงประเด็น จะบอกว่าเพิ่งเปิดมาได้ 3 เดือนจึงทำผิดๆ ไปก่อนนั้นไม่ได้ เราจะทดลองทำในเรื่องที่ใหญ่มาก มันจะมีผลกระทบต่อการลงทุนของชาติ มันจะมีผลกระทบต่อ ความสามารถของประชากรในอนาคตทั้งประเทศ ดังนั้น จึงต้องควบคุมตัวแปรต่างๆ ให้เที่ยงตรง มิฉะนั้นแล้วการวัดผลก็จะเสียหาย เช่น ถ้าผลมันออกมาว่าการเรียนการสอนแบบ อีสกูล นี้ไม่ดี เราก็อาจยังสรุปไม่ได้ เพราะครูที่ใช้ยังไม่ใช่ครูที่ถูกต้อง มันจะเสียเวลาไปเปล่าๆ
เรื่องที่ผมช็อคเป็นอันดับสองก็คือ คนในระดับบริหารอย่างนี้ จะเอาเรื่องปัญหาทางจิตของเด็กขึ้นมาตอบโต้ไม่ได้ มันกลายเป็นการทะเลาะกันแบบแม่ค้าข้างถนนหน้าตลาด ที่ผมต้องย้ำว่าเป็นแม่ค้าข้างถนนและอยู่หน้าตลาดก็เพราะ แม่ค้าประเภทนี้จริงๆ แล้วมีปัญหาโกรธเคืองกันเพราะแย่งที่กัน และต้องเสียเงินให้แก่เจ้าถิ่น (จะเป็นตำรวจหรือนักเลงคุมตลาดผมก็ไม่รู้ ไม่ขอลงลึกในเรื่องนั้น) แต่กลับมาทะเลาะกันด้วยเรื่องคำพูดที่กระทบหูของกันและกัน หรือไม่ก็ทะเลาะกันด้วยเรื่องการสาดน้ำแล้วไปกระเด็นใส่กัน หรือไม่ก็ทะเลาะกันเพราะข้อศอกไปโดนกัน
ครับ,ปัญหาของผู้ปกครอง กับผู้บริหารโครงการนี้เป็นเรื่องผลที่จะเกิดขึ้นกับตัวเด็ก ผู้ปกครองคิดว่าจะเกิดความเสียหาย ผู้บริหารคิดว่าจะได้ผลดี แต่ไม่เถียงกันในประเด็นดังกล่าว กลับไปด่าว่ามีเรื่องผลประโยชน์จากการเอาซอฟแวร์ที่เป็นลิขสิทธิ์ของเอ็มไอทีมาใช้ ส่วนผู้บริหารก็ตอบโต้ด้วยการบอกว่าเด็กมีจิตไม่ปรกติ
ถ้าคนไทยเรายังทำตัวเป็นแม่ค้าข้างถนนหน้าตลาดอยู่อย่างนี้การศึกษา (และอื่นๆ ทั้งหมด เช่น เรื่องเศรษฐกิจ เรื่องคดีซุกหุ้น เรื่องขึ้นดอกเบี้ยลดดอกเบี้ย เรื่องเอ็นพีแอล เรื่องหนี้ ไอเอ็มเอฟ เรื่องทีเอเอ็มซี) ก็คงจะไม่ไปไหน ทำได้แค่สอนให้อ่านออกเขียนได้ แล้วก็มาเขียนกันผิดๆ ถูกๆ คำว่า "หนึ่ง" เขียนเป็น "นึ่ง" คำว่า "อำมเรศ" เขียนเป็น "อำมะเรด" คำว่า " แล้ว " เขียนเป็น "แร้ว" คำว่า "ปลด" ไปอ่านว่า "ปด" ..ฯลฯ
เรื่องที่ผมเกิดอาการช็อคเป็นอันดับสุดท้ายก็คือ อีสกูล หรือ อีเลินนิ่งเป็นเรื่องที่ฝรั่งต่างชาติเขาศึกษากันมาแยะแล้ว และเห็นว่ามีผลดี แต่พอมาทดลองในเมืองไทย และทดลองโดยสถาบันที่ยิ่งใหญ่ถึง 4 สถาบัน มันกลับจะตกม้าตายเสียก่อนจะเดินทัพ มันเป็นไปได้ยังไง ความรู้ความสามารถของสถาบันต่างๆ ที่กล่าวมาข้างต้นนี่มีอยู่เพียงแค่นี้หรือ ผมไม่คิดว่าจะเป็นอย่างนั้น เรื่องนี้น่าจะเป็นเพราะคนทำโครงการนั้นแค่ไปขอซื้อโปรแกรมและเครื่องมือเครื่องใช้จากเขามา แล้วก็เอาไปส่งให้โรงเรียนแห่งหนึ่งใช้ดู หน่วยงานที่ถูกอ้างชื่อนั้นไม่ได้ให้คำแนะนำหรือช่วยเหลือในรูปของ "เทคโนโลยีทรานส์เฟอร์" แต่อย่างใด ทำแล้วก็คงจะล้มเหลวแล้วก็จะมีผลเป็นข้อสรุปที่ผิด อนาคตของเด็กไทยก็คงเป็นได้แค่ขี้ข้าฝรั่ง
โอเค, เรามาทำความเข้าใจกันเสียที
อีสกูล หรือ อีเลินนิ่งนี้ หมายถึงการเรียนการสอนที่เน้นการใช้เครื่องมือทางอิเล็กทรอนิกส์เข้าช่วย เครื่องมือทางอิเล็กทรอนิกส์นี้จริงๆ แล้วมีหลายอย่าง เช่น วิทยุ โทรทัศน์ อินเทอร์เนต คอมพิวเตอร์ เครือข่ายสื่อสารดาวเทียม เครือข่ายการสื่อสารใยแก้วนำแสง เครือข่ายเคเบิลธรรมดา วิทยุมือถือ หุ่นยนต์ แต่ที่เราพยายามใช้เพื่อเป็นการทดลองมีอยู่ 3 รูปแบบ คือ
การสอนในรูปแบบที่ 1 นั้นมีค่าใช้จ่ายน้อย คือซื้อพีซีมาตั้งให้เด็กเล่น โดยให้เด็กเล่นกับโปรแกรมที่ทำมาเพื่อการเรียนการสอนโดยเฉพาะ เด็กสามารถโต้ตอบกับโปรแกรม โปรแกรมสามารถบอกได้ว่าเด็กเข้าใจในหัวเรื่องที่สอนนั้นแล้วหรือยัง แล้วก็จะเก็บสถิติต่างๆ เอาไว้ ครูผู้สอนสามารถจะดูผลได้ แนวคิดนี้เกิดมานานแล้ว แต่มาติดปัญหาเรื่องขาดคนทำโปรแกรม โปรแกรมในยุคต้นๆ ของเครื่องพีซีนั้นมันก็ไม่น่าสนใจเท่าใดนัก คือ เป็นการโต้ตอบด้วยข้อความธรรมดาๆ แต่หลังจากที่เขาพัฒนาเครื่องพีซีให้สามารถแสดงรูปกราฟ แสดงภาพนิ่ง แสดงภาพเคลื่อนไหว และมีเสียงที่ฟังได้ชัดขึ้นแล้ว เราก็หันไปพัฒนาระบบการเรียนการสอนแบบที่ 2
การเรียนการสอนโดยใช้เครื่องพีซี ร่วมกับ เครือข่ายอินเทอร์เนตนั้น ต้องลงทุนเพิ่มขึ้น และมีค่าใช้จ่ายรายวันเพิ่มขึ้น นักเรียนต้องลงทุนซื้อเครื่องพีซีชั้นดี มีความเร็วสูง มีเมมโมรีมากขึ้น เป็นระบบมัลติมีเดีย คือจอภาพเป็นสีที่มีเฉดสีเป็นล้านเฉดสี มีการ์ดเสียง มีลำโพงที่ดี และยังต้องมีโมเด็มที่ใช้ต่อเข้าสู่อินเทอร์เนตได้ ค่าใช่อินเทอร์เนตนั้นจะทำให้มีค่าใช้จ่ายสูง ถ้าจะใช้เพื่อเรียนรู้เท่าๆ กับการเรียนในโรงเรียนทั่วไปก็จะเป็นเงินถึงเดือนละ 3000-4000 บาท แต่อีสกูลในแนวนี้มีข้อดีคือ บทเรียนทำได้ง่ายขึ้น และข้อมูลอาจมาจากเว็บไซท์อื่นๆ ที่อยู่ในเครือข่ายอินเทอร์เนต
เด็กจะเข้ามาเรียน โดยใช้เครื่องพีซีเชื่อมโยงเข้าสู่เครือข่ายอินเทอร์เนต เชื่อมได้แล้ว ก็ไปเรียกดูข้อมูลจาก เว็บไซท์ต่างๆ แต่เพื่อให้ผู้สอนสามารถควบคุมการเรียนได้ เขาก็ต้องมีเว็บไซท์เป็นของตนเองอยู่ เช่น สถาบันเอ็มไอทีก็จะมีของตนเอง โรงเรียนที่อยู่ในสังกัดของเขาก็จะตั้งเครื่องพีซีให้นักเรียนใช้ นักเรียนจะเข้าไปเปิดดูเว็บไซท์ของเอ็มไอที นักเรียนชั้น ป. 1 ก็จะเข้าไปดูหน้า (web page) ที่เป็นบทเรียนของชั้น ป.1 เว็บไซท์แบบนี้จะต้องจัดทำเป็นพิเศษ คือให้เด็กสามารถลงทะเบียนเรียน และสามารถโต้ตอบกับเว็บไซท์ได้เหมือนกับเรียนด้วยพีซี แบบที่ 1 เว็บไซท์สามารถเก็บผลการเรียนของเด็กเอาไว้ ครูผู้ควบคุมชั้นเรียนสามารถมาเปิดดูผลการเรียนได้
ข้อดีอีกประการหนึ่งของการใช้อินเทอร์เนตก็คือ เว็บเพจต่างๆ นั้นสามารถออกแบบให้มีสีสันสวยงาม มีรูปภาพประกอบ หรือจะทำเป็นภาพเคลื่อนไหวก็ได้ และมีเสียงประกอบได้ แต่อย่างไรก็ตาม ขณะนี้เราก็ยังขาดคนจัดทำเว็บเพจเพื่อการเรียนการสอนแบบดังกล่าวนี้ การออกแบบบทเรียนแต่ละบทนั้นยาก การพัฒนาเว็บเพจอาจง่ายกว่าการเขียนโปรแกรม แต่มันก็ต้องใช้เวลาและแรงงานสูง ในสิงคโปร์ มีการทดลองไปนานแล้ว ค่าเล่าเรียนนั้นสูงถึงเทอมละ 300,000-500,000 บาท นี่สำหรับเด็กระดับชั้น ป.1 เท่านั้น ถ้าจะพัฒนาในระดับปริญญาตรี โท หรือ เอก ก็คงจะเพิ่มเป็นเทอมละ 1-2 ล้านบาท
อีสกูลในแบบที่ 3 หรือที่ใช้พีซี ใช้อินเทอร์เนต และใช้การถ่ายทอดโทรทัศน์วงจรปิดนั้นเป็นการเพิ่มความสามารถจากรูปแบบที่ 2 คือมีโทรทัศน์เพื่อให้ผู้เรียนจากหลาย ๆ แห่งและผู้สอนที่อยู่ที่ศูนย์กลาง ได้มองเห็นหน้ากัน ได้มองเห็นความเป็นไปในห้องเรียนต่างๆ โทรทัศน์ ทำให้นักเรียนสามารถถามคำถามได้ ครูก็สามารถชี้แจงได้ ปัญหาการใช้บทเรียนก็จะลดลงเพราะการเรียนแบบที่ 1 และ 2 นั้นเด็กโต้ตอบกับโปรแกรมเท่านั้น ถ้าไม่เข้าใจ หรือใช้เครื่องไม่เป็น ก็จะไม่สามารถถามใครได้ นอกจากนี้แล้ว อีสกูลแบบที่ 3 นี้สามารถเข้าถึงนักเรียนในที่ห่างไกลได้ บางคนจึงเรียกชั้นเรียนแบบนี้ว่า " (Remote Learning)" แต่วิธีการอันนี้จะมีค่าใช้จ่ายสูงมากเพราะต้องมีเครื่องรับและส่งทีวี และระบบสื่อสารในระดับทีวีนี้จะแพงมากเพราะต้องใช้ความเร็วสูง
อันที่จริงแล้ว การทำความเข้าใจกับเรื่องอีสกูลหรืออีเลินนิ่งนี้จะดีขึ้นถ้าเราสามารถลงในราย ละเอียดในเรื่อง ตัวโปรแกรมที่จัดทำบทเรียน ตัวโปรแกรมที่ใช้สอน ลักษณะของแฟ้มข้อมูล และวิธีการรับส่งข้อมูลต่างๆ แต่รายละเอียดใน เรื่องเหล่านี้มีค่อนข้างมากผมจึงจะขอแยกเอาไปเขียนเป็นบทความให้ท่านอ่านใน วันหลัง ในวันนี้เราได้เห็นภาพอย่างคร่าวๆ ไปแล้วว่า อีสกูลหรืออีเลินนิ่งเป็นอย่างไร และพร้อมที่จะมาชี้ว่าอะไรดี อะไรเสีย และเราจะเดินต่อกันอย่างไร
อีเลินนิ่งแบบใช้พีซีตั้งโดดๆ นั้นผมคิดว่าก็ยังมีโอกาสพัฒนาได้ มันเป็นระบบที่ลงทุนน้อย โรงเรียนอาจมีห้องคอมพิวเตอร์ เอาไว้เพียง 2-3 ห้อง แต่ให้ผู้ปกครองจัดหาเครื่องไว้เป็นของส่วนตัวเอาไว้ที่บ้าน แบบนี้นักเรียนก็จะเรียนที่บ้านเองได้ ข้อสำคัญคือ โรงเรียนต้องจัดทำโปรแกรม และข้อมูล เพื่อใช้ในการเรียนให้ครบทุกวิชา แล้วบันทึกลงไว้ในดิสเก็ต หรือซีดี มันก็จะเหมือนกับเป็น ตำราเรียนอย่างหนึ่ง เด็กจะต้องมาเข้าฟังคำแนะนำการใช้ แล้วก็นำเอาดิสเก็ตหรือแผ่นซีดีกลับไปที่บ้าน เด็กต้องโหลดลงในเครื่องพีซีของตัวเอง แล้วศึกษา และทำแบบฝึกหัด ผลการเรียนจะถูกบันทึกลงแผ่นดิสเก็ต แล้วเด็กก็จะต้องนำผลการเรียนไปส่งที่โรงเรียน ครูจะตรวจดูผลการเรียนได้ แต่อย่างไรก็ตาม โรงเรียนคงจะต้องจัดให้มีการสอบในชั้นเรียนด้วย เพราะครูไม่มีทางทราบได้ว่าผลการเรียนในแผ่นดิสเก็ตนั้นเป็นของใครกันแน่
ปัญหาเรื่องการเรียนด้วยวิธีนี้มาตกอยู่ที่การทำโปรแกรมและข้อมูลที่จะบัน ทึกลงดิสเก็ตหรือซีดี มันต้องใช้แรงงานสูง มันต้องให้ทั้งความรู้และดึงดูดความสนใจจากนักเรียน ภาพและเนื้อหาจะต้องเป็นแบบมัลติมีเดีย คือตัวอักษรต้องมีได้หลายขนาด หลายชนิด และหลายสีสัน ต้องมีภาพนิ่ง ภาพเคลื่อนไหวได้ ภาพวีดีทัศน์ประกอบ และต้องมีเสียงพูดและเสียงดนตรีมาช่วย บทเรียนระดับชั้นประถมอาจมีเกมเข้ามาสอดแทรกได้บ้าง บทเรียนระดับมัธยมก็จะต้องสวยพอๆ กับเกมประเภท อาร์เคท และเมื่อถึงระดับอุดมศึกษาก็ต้องให้ความรู้ต่างๆ ผ่านสู่เด็กได้อย่างรวดเร็วและสมบูรณ์
การพัฒนาบทเรียนลงแผ่นดิสเก็ตหรือซีดีนี้ ผมเห็นว่า ควรเปลี่ยนมาใช้เว็บเทคโนโลยี หรือคือ ใช้ภาษา HTML เป็นตัวสร้างเอกสารแล้วก็ใช้การทำงานแบบออฟไลน์ (offline) ของอินเทอร์เนตเป็นตัวเปิดดู สิ่งที่ได้บนจอภาพก็จะเหมือนกับเว็บเพจของเว็บไซท์ต่างๆ ซึ่งเป็นชนิดมัลติมีเดีย และดึงดูดความสนใจได้ดี การทำงานแบบออฟไลน์นี้ มีข้อดีอยู่อย่างหนึ่งคือ ข้อมูลที่อยู่ในแผ่นดิสเก็ตหรือซีดีนั้นจะนำขึ้นมาแสดงบนจอภาพได้เร็วกว่า การทำงานแบบออนไลน์ (ซึ่งเป็นแบบที่ 2) ทั้งนี้เพราะมันไม่ต้องผ่านสายโทรศัพท์ ใน บทเรียนที่มีภาพประกอบเป็นจำนวนมาก เช่น วิชาแพทย์ศาสตร์ ชีววิทยา และเกษตรศาสตร์ นั้นจะเห็นประโยชน์ในข้อนี้เป็นอย่างมาก เพราะจะเห็นเป็นรูปภาพได้ การบันทึกแบบเรียนลงบนแผ่นดิสเก็ตและซีดี นี้ยังสะดวกต่อครอบครัวที่อยู่ห่างไกล คือเมื่อไปเบิกบทเรียนจากโรงเรียนก็เบิกมาทีละหลายๆ เรื่อง เรียนไป 1-2 สัปดาห์ค่อยเข้าไปที่โรงเรียนอีกครั้งหนึ่ง ค่าเดินทางก็จะน้อย และไม่ต้องเสียค่าโทรศัพท์และค่าเวลาในการใช้อินเทอร์เนต
ถ้าเราจะเปรียบเทียบระหว่างอีเลินนิ่ง แบบที่ 1 กับแบบที่ 2 จะเห็นได้ว่าค่าพัฒนาบทเรียน (หรือคือเว็บเพจต่างๆ) นั้นเท่ากัน แต่การเรียนแบบที่ 2 นั้นมีค่าใช้อินเทอร์เนต ซึ่งเราจะต้องนำมาเทียบกับประโยชน์ของการเข้าถึงเว็บไซท์อื่นๆ ได้ด้วย ในขณะนี้ค่าใช้อินเทอร์เนตนั้นยังค่อนข้างสูง คือถ้าใช้วันละ 5-6 ชั่วโมงก็จะเป็นเงินประมาณ 3,000-4,000 บาทต่อเดือน เงินจำนวนนี้สามารถนำมาซื้อตำรา(เป็นเล่มอย่างเดิม หรือเป็นอีบุ๊ค ที่บรรจุอยู่ในแผ่นดิสเก็ตหรือซีดีในอนาคต) ได้กว่า10 เล่ม ปีหนึ่งๆ ก็จะได้ตำราถึง 120 เล่ม ซึ่งบรรจุข้อมูลและความรู้ได้มากกว่าที่จะค้นได้ในเว็บไซท์ต่างๆ แถมยังสามารถกลับมาค้นหาดูได้ในภายหลัง มันต่างจากอินเทอร์เนตมาก เราเข้าไปดูเว็บไซท์ต่างๆ นั้นเข้าไปครั้งเดียวจะดูได้ไม่ครบถ้วน เข้าไปเป็นสิบๆ ครั้งจึงจะเข้าใจโครงสร้างของเว็บไซท์ แต่ก็ไม่สามรถจดจำข้อมูลได้หมด เว็บเพจต่างๆ ที่เราดูแล้วนั้นจะถูกเก็บไว้ในฮีสทอรีก็จริง แต่ก็เก็บไว้เป็นระยะเวลาหนึ่งเท่านั้น มันไม่เหมือนกับตำราเป็นเล่มหรือแผ่นดิสเก็ตและซีดี ซึ่งจะอยู่กับเราไปได้เป็นสิบๆ ปี
แต่ข้อมูลจากเว็บไซท์นั้นก็มีข้อดีอยู่อย่างหนึ่ง คือมันมีความหลากหลายมากกว่าตำรา มันเป็นความรู้นอกตำราเสียเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งจะมีประโยชน์สำหรับนักศึกษาระดับปริญญา ดังนั้นการเรียนแบบที่ 2 นั้นก็อาจเหมาะกับนักศึกษาระดับดังกล่าว เสียอยู่อย่างเดียว คือในปัจจุบันนี้เว็บไซท์ที่ให้ข้อมูลที่ดี ที่ถูกต้อง และเป็นความรู้ในระดับปริญญายังไม่ค่อยจะมี มันมีแต่ขยะที่โยนเข้ามาโดยพ่อค้าและคนที่ไร้มารยาท
ทีนี้เรามาลองเปรียบเทียบระหว่างการเรียนแบบที่ 2 กับแบบที่ 3 ดูบ้าง แบบที่ 3 นี้ต้องใช้อุปกรณ์สื่อสารมากมายและถ่ายทอดสัญญาณโทรทัศน์ ที่ศูนย์กลางก็จะต้องมีคนจัดคิวให้มีวินโด้เล็กขึ้นมาบนจอภาพ….ฯลฯ ค่าใช้จ่ายมันจึงไม่แตกต่างจากการทำบทละครหรือทอล์คโชว์ หรือคือชั่วโมงละเป็นแสนบาท และมันทำยากกว่าเสียด้วย เพราะต้องถ่ายทอดสด ผมมองดูแล้วไม่เห็นหนทางที่จะทำได้คุ้มค่า ยอมจ่ายเงินค่าเครื่องบินให้แก่ครูผู้สอนเสียยังจะถูกเงินกว่า
ครับ, โดยสรุปแล้วผมเห็นว่าการสอนแบบใช้พีซีตั้งโดดๆ นั้นน่าจะเหมาะกับเด็กทุกระดับชั้น การสอนแบบใช้พีซีและอินเทอร์เนตนั้นน่าจะเหมาะกับนักเรียนในระดับปริญญา ส่วนการสอนแบบมีวีดีโอด้วยนั้นมันไม่คุ้มค่า ไม่ควรจะเสียเวลาไปคิด
แต่อย่างไรก็ตาม ทุกระบบยังมีปัญหาเรื่องขาดคนทำบทเรียน การทีคุณแม่ของนักเรียนคนหนึ่งออกมาชี้ว่า "การไปเอาบทเรียนของเอ็มไอทีมาใช้นั้นมันส่อเจตนาไม่ดี " ซึ่งเป็นเรื่องที่พวกเราควรรับฟังเป็นอย่างยิ่ง ไม่ว่ากรณีนี้จะมีความไม่ชอบมาพากลหรือไม่ เราจะต้องมาคิดกันแล้ว เราต้องรีบสร้างคนที่จะมาทำบทเรียน ขอให้สังเกตว่าโปแกรมที่จะใช้สร้างเว็บไซท์และเว็บเพจนั้นเรามีอยู่แล้ว มันจึงเป็นเรื่องของการสร้างคนแต่เพียงอย่างเดียว ซึ่งเราน่าจะทำได้ ผมจึงเชื่อว่า อีสกูลและ อีเลินนิ่งนั้นจะเป็นสิ่งที่มาแน่ในอนาคต
ที่มาของบทความ : DrPunya.com ด้วยความที่อาจารย์มีมุมมองประทับใจผม
จึงอยากให้เพื่อนครูได้อ่านกันหลายๆ คนครับ
"บทความนี้เป็นของ ดร.ปัญญา เปรมปรีดิ์ ได้รับอนุญาตให้นำมาเผยแพร่ที่เว็บไซต์นี้
แต่ห้ามนำไปใช้เพื่อการค้า และลิงก์กลับมาที่นี่ด้วยนะครับ"
ขอคารวะและไว้อาลัยต่อการจากไปของท่าน ดร.ปัญญา เปรมปรีดิ์ เมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2554 นับเป็นการสูญเสียทรัพยากรบุคคลในด้านไอทีและตลาดทุนของประเทศไทย
ชื่อ - นามสกุล (ไทย) | ดร.ปัญญา เปรมปรีดิ์ |
ชื่อ - นามสกุล (อังกฤษ) | Mr.Punya Prempridi |
วุฒิการศึกษา | - วศ.บ.(วิศวกรรมอิเล็กทรอนิกส์), จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ไทย, 2503. - M.S.E.E.(Electrical Engineering), University of Oeorgia Institute, U.S.A., 1966. - Ph.D.(Electrical Engineering), University of Oeorgia Institute, U.S.A., 1968. |
สาขาวิชาที่เชี่ยวชาญ | - คอมพิวเตอร์, ไฟฟ้าควบคุม |
ยินดีต้อนรับสู่เว็บไซต์ของเรา ที่นี่ใช้คุกกี้ (Cookies) เก็บข้อมูล เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น อ่านนโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (Privacy Policy) และนโยบายคุกกี้ (Cookie Policy)