วันนี้ขอคุยเรื่องประเด็นการศึกษาไทย ที่เป็นไปใน พ.ศ. นี้กันสักหน่อยว่า พวกเราเดินก้าวหน้า หรือถอยหลังกันเพียงใด นี่เป็นเพียงการคิดวิเคราะห์ ของครูน้อยคนหนึ่ง ที่เป็นเพียงฟันเฟืองจักรกลเฟืองเล็กๆ ที่คอยหนุนเนื่องขับเคลื่อนไปอย่างเงียบๆ ไม่ได้ขบหรือหมุนสวนทาง แต่ก็อ่อนล้าเต็มทนแล้ว ไม่รู้ว่าวันใดเฟืองน้อยตัวนี้จะแตกร้าวหรือบิ่น จนหลุดกระเด็นออกจากเพลา เรื่องที่จะเล่าต่อไปนี้อาจเป็นการสะท้อนถึงปัญหา และหวังว่าจะได้รับการเยียวยา หยอดน้ำมันหล่อลื่นให้เฟืองทุกตัวทำหน้าที่ต่อไปได้อีก
ผมขอเริ่มที่เรื่องเล่า "เด็กนักเรียนห้อง ข" ที่ท่านพระอาจารย์พรหม (ลูกศิษย์ชาวอังกฤษของหลวงพ่อชา วัดป่าพง อุบลราชธานี) เรื่องที่ท่านเล่าเป็นเรื่องที่เกิดในประเทศอังกฤษบ้านของท่าน แต่มันก็สะท้อนอะไรหลายๆ อย่างที่ยังธำรงอยู่ในการศึกษาไทยปัจจุบัน เรื่องมีดังนี้
เมื่อหลายปี ก่อนมีการทดลองอย่างลับๆ เกี่ยวกับการศึกษาในโรงเรียนแห่งหนึ่งในประเทศอังกฤษ ที่โรงเรียนนี้เขาแบ่งนักเรียนที่อยู่ชั้นเดียวกันออกเป็นสองห้องเรียน มีการสอบประจำปีตอนปลายภาคการศึกษาเพื่อแบ่งกลุ่มนักเรียนสำหรับปีการศึกษา หน้า โดยจะไม่มีการประกาศผลสอบให้ผู้ใดทราบ เฉพาะคุณครูใหญ่และนักจิตวิทยาเท่านั้นจึงจะทราบความจริง เด็กที่สอบได้ที่หนึ่งได้ถูกจัดให้อยู่ห้องเดียวกับเด็กที่สอบได้ที่สี่และ ห้า แปดและเก้า สิบสองและสิบสามตามลำดับ ส่วนเด็กที่ได้ที่สองและสามถูกจัดให้อยู่ในห้องเดียวกับเด็กที่สอบได้ที่หก และเจ็ด สิบและสิบเอ็ดตามลำดับ
สามารถ กล่าวได้ว่า ด้วยวิธีการแบ่งเช่นนี้ เด็กๆ ทั้งสองห้องมีความเท่าเทียมกัน ในด้านความสามารถ คุณครูผู้สอนเด็กๆ ในปีการศึกษาหน้าถูกคัดเลือกอย่างพิถีพิถัน เพื่อให้มีความสามารถเท่าเทียมกัน แม้แต่อุปกรณ์การเรียน ในห้องเรียนทั้งสองก็เหมือนกัน ทุกสิ่งทุกอย่างเท่าทเียมกันที่สุด ยกเว้นสิ่งเดียว คือ ห้องเรียนหนึ่งถูกเรียกว่า "ห้อง ก" ส่วนอีกห้องหนึ่งได้ชื่อว่า "ห้อง ข"
ความจริงห้องเรียนทั้งสอง มีนักเรียนที่มีความสามารถทัดเทียมกัน แต่ตามความรู้สึกของทุกคน นักเรียนห้อง ก เป็นเด็กฉลาด ส่วนนักเรียน ห้อง ข ก็ไม่ค่อยจะฉลาดนัก ผู้ปกครองบางคนของนักเรียนห้อง ก ทั้งประหลาดใจและพอใจที่ลูกๆ ของตนสอบได้ดีมาก เลยตอบแทนด้วยการให้รางวัลและคำชมเชยยกย่อง
ในขณะที่ผู้ปกครองบางคนของนักเรียนห้อง ข ดุว่าลูกของตนว่าขี้เกียจ ทำงานหนักไม่พอ แล้วตัดสิทธิประโยชน์ต่างๆ ที่เคยให้ลูกเสีย แม้แต่คุณครูห้อง ข ก็สอนนักเรียนของห้อง ข ด้วยวิธีการที่แตกต่างจากห้อง ก คือ ไม่คาดหวังอะไรนักหนาจากนักเรียนของตัว ภาพลวงตาเหล่านี้ถูกรักษาไว้อย่างเป็นความลับตลอดปีการศึกษา จนกระทั่งถึงการสอบปลายภาค
ผลสอบที่ปรากฏทำให้รู้สึกหนาวได้ทีเดียว แต่ไม่น่าประหลาดใจนัก นักเรียนห้อง ก ทำคะแนนสอบได้ดีกว่านักเรียนห้อง ข มาก ราวกับว่านักเรียนห้อง ก ในปีนี้เป็นนักเรียนที่ได้คะแนนสูงครึ่งแรกของชั้นเรียนในการสอบประจำปีการ ศึกษาที่แล้ว เขาได้กลายเป็นเด็กนักเรียนห้อง ก ไปแล้วจริงๆ
ส่วนนักเรียนอีกกลุ่มหนึ่งนั้น แม้ว่าจะมีความสามารถทัดเทียมกับนักเรียนห้อง ก ในปีที่แล้ว บัดนี้ก็ได้กลายเป็นนักเรียนห้อง ข ไปแล้วจริงๆ ตามคำบอกย้ำตลอดหนึ่งปีที่ผ่านมา ด้วยวิธีปฏิบัติที่ได้รับจากคนรอบข้าง และด้วยความเชื่อที่เขาคิดว่าเขาเป็น จึงกลายมาเป็นสิ่งที่เขาเป็นจริงๆ
และแล้ว... นิทานเรื่องนี้ ก็เหมือนกับเกิดขึ้นนานมาแล้วในเมืองไทย และยังเกิดขึ้นต่อไป โดยดูท่าจะไม่สิ้นสุด และดูล้ำกว่า เพราะเรายังมีโรงเรียน ระดับ ก และโรงเรียนระดับ ข ด้วย แต่ที่ตรงกันข้ามคือ แม้ว่าเราจะป่าวประกาศว่า โรงเรียนประเภท ข นั้นปัดตะนาไปไกลแล้ว (โรงเรียนนายฝัน โรงเรียนดีใกล้บ้านใกล้จมูกแท้ๆ โรงเรียนมาตรฐานสากล และอื่นๆ อีกมากมาย) จนทัดเทียมโรงเรียนประเภท ก แล้ว แต่พ่อแม่ พี่น้อง ผู้ปกครอง ทั้งหลายก็ยังวิ่งกันให้ขวักไขว่ เพื่อจะให้ลูกตนเองได้ไปอยู่ประเภท ก ไม่ว่าผลการเรียนมันจะอยู่ท้ายแถวหรือไม่ ดีนะที่เสนาบดีใหญ่ออกมาประกาศกร้าวว่า ไม่รับฝาก ไม่รับเงิน จึงค่อยซาๆ ไปนิดหนึ่ง แต่ก็ยังเห็นมีประท้วงกันประปรายพอได้ข่าวเหมือนกัน จะรอดูตอนเปิดภาคเรียนนี่แหละว่า จะมี 60 คนต่อห้องอยู่อีกหรือเปล่า?
เราอย่ามัวแต่โทษระบบการศึกษา หรือโยนบาปไปโทษครูที่ไม่พัฒนากันเลย เรามาโทษผู้ที่มีอำนาจทั้งหลายที่ไม่ยอมรับความจริงกันดีกว่า สิ่งที่พวกท่านกระทำมาในรอบทศวรรษนี้ตรงไหนกันที่มันได้ผล ทำให้การศึกษาก้าวหน้า เรากำลังพายเรือในอ่าง ตั้งแต่คิดเปลี่ยนหลักสูตร เปลี่ยนวิธีคิดและเปลี่ยนวิธีการต่างๆ มากมาย สุดท้ายท่านก็กำลังเข้าเกียร์ถอยหลังกลับมามิใช่หรือ?
มีหลายๆ ท่านออกมาเปิดเผย (ความจริงไม่ต้องเปิดมันก็โผล่) แล้วโยนบาปให้เด็ก ให้ครู แล้วก็ตั้งท่าจะทำการพัฒนาเพื่อให้เกิดโปรเจกต์ผลาญงบประมาณกันอีกรอบ อย่างเรื่อง O-net ผลการสอบตกต่ำ โทษใคร? บ้างก็โทษเด็กว่าไม่ตั้งใจทำข้อสอบ การเรียนรู้แย่ลง บ้างก็โทษครูว่าไม่สอน ไม่พัฒนา แล้วทำไมไม่โทษผู้ใหญ่ (ในหน่วยงานทางการศึกษา) ที่ไม่ยอมรับฟังกันบ้างเล่า?
พวกท่าน (มหาวิทยาลัย) ก็อยากได้นักเรียนหัวกระทิเข้าไปในรั้วของตน ก็เปิดการสอบรับนักศึกษากันตั้งแต่ยังไม่สิ้นภาคเรียนที่หนึ่ง แล้วก็สอบบ้าบอคอแตกกันแบบไม่เคยคิดถึงหัวอกผู้ปกครอง ที่ต้องดิ้นรนขวานขวายหาเงินให้ลูกตระเวนสอบตรงกันทั่วประเทศทุกสัปดาห์ มหาวิทยาลัยเดียวกันแท้ๆ แม่ง..... ก็เปิดรับไม่พร้อมกัน ถ้าไม่หาเงินให้ลูกก็เท่าประหารลูกให้ตายทั้งเป็นไปต่อหน้า เพราะปริมาณการรับตรงในแต่ละมหาวิทยาลัยนับวันจะมากขึ้นเรื่อยๆ จนเหลือแอดมิชชั่นกลางไม่ถึง 20% จะไกลสุดเหนือใต้ก็ต้องส่งไป ค่าใช้จ่ายเอาแค่ค่าเดินทาง ที่พัก แต่ละแห่งอย่างน้อยก็หลักครึ่งหมื่น สอบตรงคู่แข่งแค่หลักพันมันต้องเสี่ยง ต้องลงทุน แต่แอดมิชชั่นกลางนั้นคู่แข่งมันหลักแสนนะพี่น้อง แถมยอดรับยังน้อยกว่าอีก
พอนักเรียน ม. 6 เหล่านี้สอบตรงได้แล้ว จะมีหน้าไหนสนใจที่จะมาสอบทำคะแนนโอเน็ตให้สูง เอาแค่พอผ่านก็ได้แล้ว ใครจะทำไมล่ะ การวัดและประเมินผลในโรงเรียนก็เสร็จแล้ว ได้ใบรับรองผลการเรียน ใบ รบ. ใบประกาศนียบัตร กันแล้ว นี่คือนักเรียน ม.6 ส่วน นักเรียน ม. 3 การสอบโอเน็ตไม่ได้มีผลต่อการไปศึกษาต่อด้วยซ้ำ แล้วจะใส่ใจมาทำข้อสอบทำไม... อยากให้ทำก็ต้องไม่ต้องบอกว่าสอบอะไร เอาไปสอบพร้อมการสอบไล่ในหลักสูตรเสียก็จบ
บางทีถ้าเราหยุดคิดสักนิดว่า อะไรคือปัญหาและต้นตอของระบบ ที่มันไม่ได้พัฒนาอะไรขึ้นมาเลย คุณภาพของตัวป้อนก็งั้นๆ ทำไมไม่หันกลับไปใช้วิธีการเดิม การยอมรับความจริงมันน่าอายตรงไหนกัน? สอบวัดความรู้เพื่อคัดเลือกผู้เรียนให้เดินทางไปสู่ความเป็นจริงที่เรา ยอมรับได้ไม่ดีกว่าหรือ? ระบบเอ็นสะท้านของเดิมนั่นดีที่สุดแล้วสำหรับประเทศนี้
ไม่ต้องกลัวการแข่งขัน ไม่ต้องกลัวเรื่องเรียนกวดวิชา เพราะทุกวันนี้เปลี่ยนระบบมากี่ปีโรงเรียนกวดวิชาก็ยังคงมีอยู่ และเจริญรุ่งเรือง ร่ำรวยกันเป็นร้อยล้าน พันล้าน เป็นธุรกิจการศึกษาที่ไม่ต้องประเมินเสียภาษี (มันดีเสียจริง) ถ้าการกวดวิชาไม่ดีแล้วกระทรวงศึกษาธิการทำ Tutor Channel ขึ้นมาเพื่ออะไร ตอบหน่อยได้ไหม?
ยอมรับแล้วใช่ไหม? ว่าเรียนในโรงเรียนยังไม่พอ....
ยินดีต้อนรับสู่เว็บไซต์ของเรา ที่นี่ใช้คุกกี้ (Cookies) เก็บข้อมูล เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น อ่านนโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (Privacy Policy) และนโยบายคุกกี้ (Cookie Policy)