จั่วหัวอย่างนี้ไม่ได้คิดจะเขียน เรื่องราวเกี่ยวกับการเมือง หรือการเลือกตั้งแต่อย่างใด อยากจะเล่าเรื่องราวของภารกิจที่ผ่านมาในช่วงปิดภาคเรียน ได้สนทนาแลกเปลี่ยนกับเพื่อนครูหลายคน กับผู้บริหารโรงเรียนหลายท่าน จากการเดินทางไปบอกเล่าประสบการณ์ ในการจัดการเรื่อง เครือข่ายเทคโนโลยีสารสนเทศ ในโรงเรียน ในที่ประชุมผู้บริหารโรงเรียน และผู้เกี่ยวข้องที่จังหวัดอุดรธานี ระยองและชลบุรี มีบางเรื่องที่ผมยังเล่าให้ฟังได้ไม่หมด เนื่องจากเวลาอันจำกัด และมีอีกหลายคำถามที่ยังไม่ได้ตอบ
จึงขอรวบยอดเอาเรื่องราวทั้งหมดมาเล่าสู่กันฟังที่นี่ ที่เป็นเวทีของผมเอง และวันหนึ่งผมได้รับโทรศัพท์จากน้องที่เป็นครูในโรงเรียนเล็กๆ แห่งหนึ่ง ที่เขามีความมุ่งมั่นในการพัฒนาการจัดการเรียนการสอน โดยเลือกใช้ซอฟท์แวร์ โอเพ่นซอร์ส เพื่อประหยัดงบประมาณให้มากที่สุด (เพราะมีน้อยที่สุดอยู่แล้ว) เขาไปอ่านข่าวในหนังสือพิมพ์มา และสงสัยว่า ผู้ใหญ่ในบ้านเมืองเรากำลังคิดอะไรอยู่ ถึงได้มีนโยบายออกมาอย่างนี้ ผมก็เลยได้แต่ปลอบใจว่า "สู้ต่อไปไอ้น้อง พวกเราเอาประโยชน์ของเด็กเป็นที่ตั้ง เอาอนาคตของประเทศชาติเป็นเดิมพัน ส่วนพวกเขา... (คุณก็รู้ว่าหมายถึงใคร) นั่นเอาประโยชน์ส่วนตนเพื่อเพิ่มพูนทรัพย์ในกระเป๋า อย่าไปแคร์พวกมัน"
ข้างล่างนี้คือบทความที่น้องเขาบอกมาจาก คอมพ์โรงเรียนไทย สวนทางโลก!! : ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์ ประจำวันที่ 30 เม.ย. 54 ผมตัดทอนมาบางส่วนเพื่อให้เชื่อมโยงกับความเห็นและประสบการณ์ในการใช้งานของ ผมเอง ต้องขอขอบคุณแหล่งที่มาของข่าวครับ...
"ทันทีที่ กระทรวงศึกษาธิการกำหนดให้คอมพิวเตอร์ที่ร่วมประมูลในโครงการคอมพ์ สพฐ. ใช้ระบบปฏิบัติการวินโดวส์ ทั้งส่วนของพีซี และเซิร์ฟเวอร์ ความรู้สึกว่าข้อกำหนดนี้ "ขัด" กับการสนับสนุนซอฟต์แวร์โอเพนซอร์สของหน่วยงานอื่นๆ ทั้งในประเทศ และต่างประเทศทั่วโลกจึงเกิดขึ้นอย่างปฏิเสธไม่ได้
คำถามคือ คอมพิวเตอร์ที่จะเข้าไปในระบบการศึกษาไทยมากกว่า 3 แสนเครื่องภายใน 3 ปีนับจากนี้ จะเป็นเครื่องมือการศึกษาที่ดีต่อเยาวชนไทยหรือไม่ หรือแค่ "ผู้มีอำนาจ" มองเห็นแต่สิ่งที่ตนเองคิดว่าดี แต่ไม่ได้มองถึงพัฒนาการที่เด็กจะได้รับ"
หนึ่งในผู้ที่ตั้งคำถามนี้คือ กรรมการผู้จัดการ บริษัท วี เทคโนโลยี ซิสเต็มส์ จำกัด (วีเทค) ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้เข้าร่วมประมูลคอมพ์โครงการสพฐ. ระบุว่า มองเห็นปัญหาระยะยาว ในภาคการศึกษาไทยชัดเจน และเกิดแนวคิดผลักดันให้ภาคการศึกษา หันไปให้ความสำคัญกับการใช้งานซอฟต์แวร์ โอเพนซอร์ส ซึ่งไม่มีค่าใช้จ่าย และกระตุ้นให้เด็กเกิดการพัฒนามากกว่าซอฟต์แวร์ ลิขสิทธิ์
"การที่วีเทคเข้าร่วมประมูล ทำให้รู้ว่า ดูไปแล้วเหมือนภาครัฐไม่ค่อยให้ความสำคัญกับการศึกษาไทย เพราะจากการประมูลโครงการนี้ จะมีคอมพิวเตอร์เข้าไปในระบบการศึกษามากกว่า 3 แสนเครื่อง ภายใน 3 ปี ซึ่งเครื่องทั้งหมดใช้งานซอฟต์แวร์ลิขสิทธ์เป็นส่วนใหญ่ ในขณะที่ทิศทางโอเพนซอร์สในต่างประเทศ มีอัตราการเติบโตอย่างเห็นได้ชัด"
วัตถุประสงค์สำคัญของโครงการสพฐ. มีเป้าหมายเพื่อลดสัดส่วนนักเรียนต่อการใช้งานคอมพิวเตอร์ จากอัตราส่วน 40 ต่อ 1 ให้เหลือ 10 ต่อ 1 แต่การประมูลที่เกิดขึ้น ทำให้สังคมสงสัยนโยบายการศึกษาของรัฐบาลไทย เพราะสิ่งที่เกิดขึ้นสวนทางกับนโยบายของประเทศที่พัฒนาแล้วอย่างเกาหลี
"หน่วยงานการส่งเสริมอุตสาหกรรม สารสนเทศ เกาหลี (KIPA) ให้ข้อมูลว่า มีการนำโอเพนซอร์สเข้ามาใช้ในโรงเรียนกว่า 10,000 แห่งทั่วประเทศ ส่วนตัวผมเชื่อว่าเป็นเพราะเด็กอายุน้อยชอบศึกษา และทดลองใช้ (โอเพนซอร์ส) มากกว่าซอฟต์แวร์สำเร็จรูป"
ไม่เพียงสวนทางระบบการศึกษา แต่สิ่งที่โครงการสพฐ. เป็นยังสวนทางกับแนวโน้มในโลกธุรกิจ จุดนี้ณัฐพงศ์ให้ข้อมูลว่าในประเทศจีน ผลวิจัยของ CCID คอนซัลติ้ง พบว่าอีก 5 ปีข้างหน้า ตลาดเซิร์ฟเวอร์ที่ใช้ระบบปฏิบัติการลินุกซ์จะมีอัตราการเติบโตสูงถึง 43.3% ต่อปี สอดคล้องกับ ศูนย์การเพิ่มผลผลิตทางอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ ในกรุงปักกิ่ง ที่เผยสถิติว่า ยอดการใช้งานเซิร์ฟเวอร์ลินุกซ์ในจีนจะเติบโตมากกว่า 40% ต่อปี (และคงจะลืมไปแล้วว่า รมต.ศธ.ได้เคยลงนามใน MOU กับกระทรวงไอซีทีมาแล้ว อ่านข่าวเก่านี้ดูได้เลย คลิกซะ)
เช่นเดียวกับข้อมูลจาก บริษัทวิจัยการ์ทเนอร์ ที่ระบุว่าในระหว่างปี 2006 - 2011 ตัวเลขการเติบโตทางรายได้ของโอเพนซอร์ส จะมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยสูงถึง 43% ส่วนซอฟต์แวร์ที่มีลิขสิทธิ์จะมีอัตราการเติบโตเพียง 8% ซึ่งการเติบโตของโอเพนซอร์สไม่ได้มาเฉพาะในคอมพิวเตอร์ แต่มาทั้งในส่วนของเซิร์ฟเวอร์ สมาร์ทโฟน และแท็บเล็ต
"การใช้งานโอเพนซอร์สในปัจจุบัน ไม่เหมือนกับเมื่อก่อนแล้ว ที่ใครๆ มองว่าใช้งานยาก ปัจจุบันมีการพัฒนาอินเตอร์เฟส เพื่อให้ใช้งานได้ง่ายขึ้น ยกตัวอย่างเช่น แอนดรอยด์ ที่มีการพัฒนาแบบโอเพนซอร์สอย่างชัดเจน และขณะนี้หน่วยงานในประเทศไทยเช่น ซิป้า และเนคเทค ล้วนช่วยผลักดันให้หน่วยงานภาครัฐ รวมถึงรัฐวิสาหกิจหันมาใช้งานโอเพนซอร์ส
แต่กระทรวงศึกษา ที่เป็นแหล่งต้นน้ำ กลับเลือกกำหนดให้คอมพิวเตอร์ที่ร่วมประมูล ในโครงการคอมพ์ สพฐ. ใช้ระบบปฏิบัติการวินโดวส์ ทั้งส่วนของพีซี และเซิร์ฟเวอร์ ซึ่งขัดกับการสนับสนุนซอฟต์แวร์โอเพนซอร์สของหน่วยงานอื่นๆ ในประเทศ เมื่อกระทรวงศึกษากำหนดทีโออาร์ให้เป็นเช่นนั้นแล้ว จึงกลายเป็นข้อสงสัยว่าจริงๆ แล้วต้องการส่งเสริม หรือไม่ส่งเสริมโอเพนซอร์ส เหมือนทำเป็นแค่ตามเทรนด์ และทำเฉพาะกลุ่มเท่านั้น"
แม้ว่าผู้ใช้งานส่วนใหญ่ในเมืองไทยมองว่า ซอฟต์แวร์ที่เป็นโอเพนซอร์สใช้ งานยาก ไม่เสถียร แต่ณัฐพงศ์บอกว่า หากมองในส่วนของการศึกษา รัฐบาลควรส่งเสริมให้นักเรียนได้เรียนรู้ และใช้งานซอฟต์แวร์เหล่านี้ เพื่อให้มีความรู้ในหลายด้าน ไม่ใช่สอนให้ใช้เฉพาะซอฟต์แวร์ที่มีลิขสิทธ์เท่านั้น
"ไม่ใช่ว่าคนไทยรับหรือไม่รับ โอเพ่นซอร์ส แต่อยู่ที่ว่าภาคการศึกษา จะใส่อะไรเข้าไปให้เด็กได้เรียนรู้มากกว่า ทำไมจึงไม่เลือกใส่โอเพนซอร์ส ทั้งๆ ที่มีหลายหน่วยงานในเมืองไทย เสียงบประมาณในการพัฒนาระบบปฏิบัติการ และซอฟต์แวร์ให้สามารถใช้งานภาษาไทยได้ฟรี บนพื้นฐานของลินุกซ์ และไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายเพิ่ม"
ณัฐพงศ์ตั้งข้อสังเกตว่า หากสมมุติให้เด็ก 2 ประเทศมาแข่งขันกัน ประเทศหนึ่งใช้โอเพนซอร์ส อีกประเทศหนึ่งใช้ซอฟต์แวร์ลิขสิทธ์ จะเห็นได้ชัดเจนว่าประเทศใดจะมีโอกาสในทางธุรกิจมากกว่ากัน เนื่องจากโอเพนซอร์สเปิดโอกาสให้เด็กมีการเรียนรู้มากกว่า ต้องคิดมากกว่า เมื่อถึงเวลาใช้งานจริงเด็กที่มีความคิดสร้างสรรค์ย่อมพัฒนาได้เร็วกว่าเด็ก ที่ใช้อุปกรณ์แบบสำเร็จรูป
"นโยบายการศึกษาของไทยเกิดขึ้น ภายใต้แนวความคิดที่ว่า คนคิดไม่ได้ใช้ และคนที่ใช้ไม่ได้คิด เน้นสิ่งที่ตนเองคิดว่าดี แต่ไม่ได้มองถึงพัฒนาการของเด็ก เพราะในการใช้งานจริงผู้ใหญ่หลายๆ คนต้องการใช้ซอฟต์แวร์สำเร็จรูปเพื่อความรวดเร็ว ในขณะที่เด็กที่เป็นวัยกำลังเรียนรู้สามารถนำโอเพนซอร์สไปประยุกต์ใช้งาน ได้"
การผลักดันโอเพนซอร์สเข้าไปในโรงเรียน จะช่วยส่งเสริมให้เด็กเกิดการพัฒนา เพื่อเข้าสู่การแข่งขัน แม้ว่าซอฟต์แวร์ลิขสิทธ์จะเบ็ดเสร็จกว่า ในขณะที่โอเพนซอร์สจำเป็นมีการปรับแต่ง เพื่อให้เข้ากับการใช้งาน ซึ่งการส่งเสริมให้บุคลากรครูมีความรู้ด้านไอที จึงเริ่มกลายเป็นสิ่งสำคัญมากขึ้น แต่ยังไม่สำคัญเท่ากับการวางโครงข่ายอินเทอร์เน็ตให้ครอบคลุมทั่วประเทศ
"ถ้าอุปกรณ์พร้อม ซอฟต์แวร์พร้อม ผมเชื่อว่าเด็กสามารถหาทางศึกษาได้เอง แต่ปัจจุบันยังต้องยอมรับว่านโยบายต่างๆ โตไม่ทันเด็ก โดยเฉพาะในเรื่องไอที ในขณะที่โครงการทางด้านอินฟราสตรัคเจอร์ที่จะลงทุนโครงข่ายอย่างบรอดแบนด์ แห่งชาติจะช่วยสนับสนุนให้เด็กสามารถขวนขวายหาความรู้ได้เป็นอย่างดี"
นอกจากนี้ยังมองว่าการส่งเสริมให้เด็กได้ใช้งานโอเพนซอร์ส จะช่วยส่งเสริม ทัศนคติในแง่ดี ช่วยให้มีความฉลาดและไม่กลัวปัญหาที่เกิดขึ้น เพราะพร้อมที่จะหาทางแก้ไข ในขณะที่เด็กไทยในปัจจุบันเมื่อมีปัญหาเกิดขึ้น มักจะหันไปพึ่งผู้เชียวชาญหรือบุคคลที่มีความรู้มาแก้ปัญหาให้ โดยไม่ลองแก้ปัญหาด้วยตัวเอง
"สมมุติเด็กไทยคอมพิวเตอร์แฮงค์ ก็จะหาทางเปลี่ยนเครื่อง ไม่ก็โทษว่าเครื่องไม่ดี แต่ไม่พยายามแก้ปัญหา เพราะผู้ใหญ่ไม่ได้สอนให้เด็กเดินไปกับสิ่งที่ควรเป็น"
อีกมุมหนึ่งที่น่าสนใจคือ การที่หน่วยงานรัฐสนับสนุนให้มีการใช้งานซอฟต์แวร์ลิขสิทธ์ อาจจะเป็นเพราะเรื่องงบประมาณ เนื่องจากในการใช้งานโอเพนซอร์สนั้น ไม่มีค่าใช้จ่าย จึงไม่จำเป็นต้องใช้งบประมาณ เลยอาจกลายเป็นอีกเหตุผลหนึ่ง ที่ทำให้ไม่มีการสนับสนุนโอเพนซอร์สมากเท่าที่ควร (มันหาช่องทางรับทรัพย์เป๋าตุงยาก ครูมนตรีขอเสริมอีกนิด)
"ถ้าเป็นเรื่องการศึกษาทุกคนต้องคิดดีๆ เพราะถือว่าเป็นการสร้างอนาคตให้กับประเทศ กลุ่มคนใช้งานโอเพนซอร์สในประเทศไทย แม้จะมีอยู่แต่เป็นกลุ่มที่เล็กมาก จึงเสียดายนโยบายจากกระทรวงการศึกษาของไทย ซึ่งเป็นกระทรวงที่มีพลัง ที่จะช่วยผลักดันให้เกิดการใช้งานโอเพนซอร์ส และลดงบประมาณที่ใช้ในการจ่ายเงินซื้อซอฟต์แวร์ลิขสิทธ์ อย่างเฉพาะในโครงกา รสพฐ. ที่น่าจะอยู่ราว 200 - 300 ล้านบาท"
ในขณะเดียวกันภาครัฐควรมีการสนับสนุน ให้เกิดการใช้งานซอฟต์แวร์โอเพ่นซอร์สในวงกว้างมากขึ้น ให้เป็นไปตามกระแสไอทีโลก ที่เน้นให้เกิดการใช้งานนวัตกรรมเปิด ไม่ว่าจะเป็นซอฟต์แวร์ หรือแม้แต่เครือข่ายสังคมออนไลน์ต่างๆ ในปัจจุบัน
ทั้งนี้ในโครงการจัดหาเครื่องคอมพิวเตอร์ และระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงเพื่อการศึกษา งบประมาณประจำปี 2554 ของสำนักงานการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) จัดแบ่งงบประมาณสำหรับการประมูล เพื่อจัดซื้อคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์อื่นๆ อยู่ที่ราว 7,949 ล้านบาท โดยจะมีการจัดซื้อเครื่องคอมพิวเตอร์อย่างน้อย 482,000 เครื่อง ให้แก่โรงเรียนทั่วประเทศ 17,328 โรง ภายใต้งบประมาณไทยเข็มแข็ง
คำจำกัดความ ของซอฟต์แวร์โอเพนซอร์ส หรือจากเดิมเรียกกันในชื่อ ซอฟต์แวร์เสรี ซึ่งเป็นได้ทั้งซอฟต์แวร์ และระบบปฏิบัติการ ที่เปิดโอกาสให้ผู้ใช้ทำการแก้ไข ดัดแปลง เพื่อเผยแพร่ แจกจ่าย ให้กับสาธารณะได้ โดยไม่ต้องเสียเงินค่าลิขสิทธ์ หรือสามารถนำไปพัฒนาเพื่อวางจำหน่ายได้ โดยส่วนใหญ่แล้วซอฟต์แวร์โอเพ่นซอร์ส มักจะพัฒนาขึ้นบนพื้นฐานของระบบปฏิบัติการลินุกซ์ แต่ก็สามารถนำไปใช้กับแพลตฟอร์มอื่นๆ ได้เช่นกัน
ซึ่งในประเทศไทยมี 2 หน่วยงานหลักที่สนันสนุนให้เกิดการใช้งานโอเพนซอร์สในประเทศไทยอย่าง สำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ ซิป้า และศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ หรือ เนคเทค ที่เป็นแม่แรงสำคัญที่ทำให้เกิดการใช้งานโอเพนซอร์สในประเทศไทย
โดยซอฟต์แวร์โอเพนซอร์สที่ผู้บริโภคน่าจะรู้จักกันดี และมีการพัฒนาให้สามารถใช้งานภาษาไทยได้อย่างสมบูรณ์ น่าจะเป็นชุดโปรแกรมโอเพ่นออฟฟิศ (OpenOffice) ระบบปฏิบัติการโอเพ่นซอร์สของซิป้าอย่าง สุริยัน (Suriyan) (ขณะนี้มีการรีแบรนด์ในชื่อใหม่ว่า ไทยโอเอส (ThaiOS)) และจันทรา (Chantra) ที่ยังคงมีการพัฒนาอยู่อย่างต่อเนื่อง
นอกจากนั้นยังมีชุมชนของผู้ใช้งานโอเพนซอร์สอีกแห่ง ที่ต่างให้ความช่วยเหลือเกื้อกูลกันอย่างต่อเนื่อง ด้วยความเสียสละไม่ได้หวังผลตอบแทนใดๆ เชิยไปเยี่ยมเยือนพวกเราได้ที่ Ubuntuclub.com และ PlayOSS ขอเพียงแต่คุณพร้อมที่จะเรียนรู้ และใช้งานซอฟท์แวร์โอเพ่นซอร์สกับเรา ทุกคำถามมีคำตอบเสมอครับ ที่ชุมชนของเรายังมีการพัฒนาต่อยอดให้กับระบบปฏิบัติการที่เป็นโอเพ่นซอร์ส ให้พร้อมใช้งานสำหรับคนไทย เรียกกันว่า ติดตั้งครั้งเดียวครบถ้วนกันไปเลยตั้งแต่ดูหนัง ฟังเพลง เล่นเกมส์ ทำงานบนออฟฟิศ หรือตกแต่งรูปภาพ ตัดต่อหนัง สารพันพร้อมใช้ไปดูกันได้เลย
เมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2554 ได้เดินทางไปร่วมเสวนาในการนำเอาไอซีที มาปรับใช้ในการจัดการเรียนการสอน ณ โรงแรมเซนธาราแกรนด์ อุดรธานี ได้นำเสนอแนวทางในการประยุกต์ใช้ไอซีทีบูรณาการการสอน กับกลุ่มสาระการเรียนรู้อื่นๆ พร้อมทั้งได้นำเสนอในการใช้ระบบปฏิบัติการ และซอฟต์แวร์ทางเลือกเพื่อลดค่าใช้จ่ายลง แล้วนำเงินส่วนต่างไปจัดซื้อตัวเครื่องคอมพิวเตอร์ให้ได้มากขึ้น
จากตารางข้างบน ผมเลือกเครื่องระดับที่ใช้งานได้ดีในห้องเรียนพร้อม ครุภัณฑ์ประกอบ และติดตั้งระบบเครือข่าย เปรียบเทียบให้เห็นว่า หากเลือกใช้ระบบปฏิบัติการและซอฟท์แวร์โอเพ่นซอร์ส จะสามารถประหยัดได้มาก และเพิ่มจำนวนเครื่องเข้ามาได้อีกมากกว่าครึ่ง ราคาของซอฟท์แวร์และระบบปฏิบัติการที่เห็นในตารางคือ ค่าแผ่นดีวีดีหรือซีดี สำหรับสำเนาในการติดตั้ง ไม่ใช่ราคาของซอฟท์แวร์ครับ (ปัจจุบันแนะนำให้ใช้ USB Drive แทนแผ่นดีวีดี จะทำให้การติดตั้งรวดเร็วกว่า และประหยัดกว่าสามารถเปลี่ยนเวอร์ชั่นการติดตั้งได้ง่ายไม่เปลืองแผ่น)
ทำไมผมถึงเลือกเอาโอเพ่นซอร์สมาใช้งานในโรงเรียน? นี่คือประเด็นตรงๆ ที่ถูกถาม คำตอบคือ...
เทคโนโลยีเครือข่ายมันก้าวกระโดดเร็วมาก ความเร็วของเครือข่าย บริการต่างๆ หลากหลายมากมายเปลี่ยนวิถีชีวิตของผู้คน ในห้องเรียนก็ไม่เว้น เข้าห้องเรียนเป็นเล่นเกมไม่ฟังครูสอน โดยเฉพาะเกมออนไลน์ที่สามารถก็อบปี้ใส่แฮนดี้ไดรว์มาเสียบในห้องเรียน แล้วแชร์กันเล่นอย่างสนุกสนาน สิ่งที่ตามมาคือ ไวรัส มัลแวร์ สปายแวร์ทั้งหลายที่มาพร้อมกับเครือข่าย ทำให้ระบบปฏิบัติการวินโดว์ที่ใช้มีปัญหารายวัน ต้องซ่อมบำรุงตลอดกลายเป็นภาระที่มิอาจปฏิเสธ
ที่สำคัญ เรากระดากปากในการสอนเรื่องคุณธรรม จริยธรรม และการไม่ละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้อื่น เพราะว่าระบบปฏิบัติการวินโดว์และซอฟท์อื่นๆ ที่ใช้ในการเรียนการสอนนั้นเราได้มาจาก ซีดีผี (Pirate Software CD) ที่มีราคาแค่ 100 บาทได้มาสารพัดโปรแกรม ติดตั้งได้ไม่จำกัด เมื่อเด็กถามตรงๆ ว่า "ครูครับ คอมพิวเตอร์ที่ใช้ในโรงเรียนเรา ละเมิดลิขสิทธิ์ไหมครับ?" เราก็ได้แต่อ้ำๆ อึ้งๆ ตอบได้ไม่ชัดถ้อยชัดคำนัก
พอเปลี่ยนมาใช้ระบบปฏิบัติการและซอฟท์แวร์โอเพ่นซอร์ส ผ่านมาได้ 3 ปีเต็มนี่ ครูทุกคนยืดอกตอบดังๆ ได้เลยว่า ห้องปฏิบัติการคอมพิวเตอร์ของเราใช้ระบบปฏิบัติการและซอฟท์แวร์โอเพ่นซอร์ส ไม่ละเมิดลิขสิทธิ์ใคร เราเคารพสิทธิของผู้อื่นเสมอ
ในวันที่ 31 มีนาคม กับ 5 เมษายน 2554 ที่ผ่านมา ได้มีโอกาสไปเปิดโลกกว้างทางโอเพนซอร์ส ให้กับคณะผู้บริหารโรงเรียน และครูผู้สอนวิชาคอมพิวเตอร์ในโรงเรียน สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต 18 (ระยอง-ชลบุรี) ที่บรุ๊คไซต์วัลเลย์ ระยอง และที่ โรงแรมไดอาน่า รีสอร์ท พัทยา ไปเล่าประสบการณ์การใช้โอเพ่นซอร์สในโรงเรียน (Benchama Model) เพื่อให้เห็นแนวทางนำไปปรับใช้ในโรงเรียน ทั้งกลยุทธ์ในการปรับเปลี่ยน ขั้นตอนในการดำเนินงานอย่างเป็นระบบ นับเป็นก้าวสำคัญในการผลักดันโอเพ่นซอร์สเข้าสู่โรงเรียน โดยมีทีมงานสนับสนุนจากซิป้าโคราช และกูรูโอเพ่นซอร์สอย่าง คุณมะระพร้อมทีมเข้ามาร่วมผลักดันอีกแรง
การผลักดันครั้งนี้ ทางหน่วยศึกษานิเทศก์ สพม. 18 จะเป็นทีมสนับสนุน ติดตามผล ประสานงานให้ความช่วยเหลือกับทางโรงเรียน ที่ประสงค์จะปรับเปลี่ยนการใช้งาน คอมพิวเตอร์ในโรงเรียน ให้เป็นระบบปฏิบัติการและซอฟต์แวร์โอเพ่นซอร์ส ความสำเร็จไม่ไกลเกินฝันหรอกครับ ถ้าเรากล้าที่จะเปลี่ยน เพราะการสอนให้นักเรียนรู้จักทางเลือกในการเลือกและวิธีการใช้งานซอฟท์แวร์ ย่อมมีประโยชน์ในอนาคต ทั้งต่อตัวนักเรียนเอง สังคม หรือ ชุมชนผู้ใช้งานโอเพ่นซอร์ส จะขยายตัวมากขึ้น ผู้พัฒนาซอฟท์แวร์โอเพ่นซอร์ส ก็จะมีพลังในการขับเคลื่อนพัฒนาให้ก้าวหน้าต่อไป (ถ้าไม่มีคนใช้ คนพัฒนาก็หมดกำลังใจครับ ทำแล้วไม่ใช้มันเสียเวลาเปล่า ช่วยกันใช้ให้มากๆ เถอะ)
ผมจึงมีความเสียดาย และสงสารประเทศไทย เพราะผู้ใหญ่ในบ้านในเมือง มองไม่เห็นคุณค่า และประโยชน์จากการใช้งาน โอเพ่นซอร์สในโรงเรียน ที่จะส่งผลต่อการพัฒนาการศึกษา ทั้งในด้านทรัพยากรบุคคล (ที่มีความสนใจและเข้าร่วมในการพัฒนาซอฟท์แวร์) ทรัพยากรซอฟท์แวร์ ที่เป็นผลจากการร่วมพัฒนาโดยคนไทย สู่ตลาดซอฟท์แวร์โลก สะท้อนใจทุกครั้งที่เมื่อเข้าไปหาซอฟท์แวร์โอเพ่นซอร์สมาใช้งานแล้วพบว่า ไม่มีเวอร์ชั่นภาษาไทย แต่มีภาษาเวียตนาม ภาษาจีน และภาษาอื่นๆ ที่ประเทศเหล่านั้นส่งเสริม และมีส่วนร่วมในการผลักดันโอเพ่นซอร์ส
เราจะต้องทำนาปลูกข้าวเพื่อขายอีกสักกี่พันตัน เพื่อไปแลกซื้อคอมพิวเตอร์พร้อมซอฟท์แวร์ลิขสิทธิ์ชุดใหญ่สักร้อยเครื่อง มาแจกให้โรงเรียนได้ใช้งานกัน ถ้าเราใช้โอเพ่นซอร์สแทนซอฟท์แวร์ลิขสิทธิ์คงขายไม่กี่ร้อยตันก็พอเพียงล่ะครับ ยังไงก็ต้องซื้ออยู่ดีละนะ..
ยินดีต้อนรับสู่เว็บไซต์ของเรา ที่นี่ใช้คุกกี้ (Cookies) เก็บข้อมูล เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น อ่านนโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (Privacy Policy) และนโยบายคุกกี้ (Cookie Policy)