ตอนที่ 2
โดย ผศ. บรรเทิง ศิลป์สกุลสุข
ภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสยาม
ความล้มเหลวของ การปฏิรูปการศึกษารอบแรก ด้วยงบประมาณที่สูงเป็นประวัติการณ์ แต่ผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาของนักเรียนต่ำโดยลำดับ ตลอดเวลาหลายปี ของการปฏิรูปการศึกษารอบแรก ยังผลให้มีการปฏิรูปการศึกษารอบสอง ซึ่งดำเนินการมาได้ 2 ปี ภายใต้การตื่นตัวจากหลายฝ่าย ความคิดเห็น และข้อเสนอแนะเกิดขึ้นจำนวนมาก มีการตั้งกรรมการ และอนุกรรมการขึ้นมากมาย แต่คะแนนเฉลี่ยผลการสอบโอเน็ต ชั้น ม. 6 ปีล่าสุดยังคงต่ำลงอีกจากที่ต่ำอยู่แล้วแทบทุกวิชา โดยเฉพาะวิชาคณิตศาสตร์ และภาษาอังกฤษซึ่งคะแนนเฉลี่ยต่ำกว่าร้อยละ 20 เป็นครั้งแรก จึงเป็นที่สงสัยว่าเรากำลังดำเนินการปฏิรูปการศึกษารอบสองล้มเหลวซ้ำรอยเดิม อยู่หรือไม่?
มีคำกล่าวว่า การรู้สาเหตุของปัญหา เท่ากับแก้ปัญหาไปแล้วครึ่งหนึ่ง สิ่งที่น่าเป็นห่วงสำหรับการปฏิรูปการศึกษารอบสองก็คือ การหาสาเหตุของปัญหาให้เจอนั่นเอง แม้ว่าตลอดช่วงทศวรรษของการการปฏิรูปการศึกษารอบแรก ผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษา ของนักเรียนตกต่ำลงตามลำดับโดยตลอด น่าประหลาดใจว่า เราแทบไม่มีงานวิจัยที่ทำขึ้นเพื่อหาสาเหตุการตกต่ำนี้เลย
ประเทศญี่ปุ่นซึ่งมีการปฏิรูปการศึกษา เมื่อปี พ.ศ. 2545 เพื่อแก้ปัญหาความเครียดของเด็ก และให้เด็กมีความคิดสร้างสรรค์ ส่วนหนึ่งที่ทำคือ ลดเนื้อหาของวิชาลง ซึ่งเมื่อดำเนินการไป 1-2 ปี ก็กลับพบว่า ความสามารถในเชิงวิชาการของเด็กญี่ปุ่นตกต่ำลง ทำให้จำเป็นต้องเพิ่มเนื้อหาของวิชากลับคืนจากที่ตัดออก ซึ่งเห็นได้ว่า รัฐบาล ญี่ปุ่นมีการประเมินผลการปฏิรูปการศึกษาอยู่ตลอดเวลา และพร้อมที่จะแก้ไขในทันที ไม่ใช่ประเมินเมื่อดำเนินการปฏิรูปการศึกษาครบ 10 ปี
สาเหตุความล้มเหลวที่หลายๆ ฝ่ายมักฟันธงลงไปก็คือ ครูไม่มีคุณภาพ โดยคิดง่ายๆ ว่า เมื่อผลการเรียนของนักเรียนไม่ดี ก็ต้องมีสาเหตุจากครูสอนไม่ดีหรือครูไม่มีคุณภาพ
จริงอยู่ที่อาจมีครูจำนวนหนึ่งไม่มีคุณภาพ แต่มันไม่สมเหตุผลเลยที่ครูเหล่านี้จะไม่มีคุณภาพเพิ่มขึ้นทุกปี เฉพาะเจาะจงในช่วงเวลาของการปฏิรูปการศึกษา แต่เมื่อพิจารณาถึงงบประมาณ มาตรการต่างๆ ที่ทุ่มเทลงไปในการปฏิรูปการศึกษา เราจะเห็นได้ว่า ผลที่ออกมาคือคุณภาพการศึกษาที่ต่ำลงโดยตลอดชนิดที่สวนทางกัน ลักษณะเช่นนี้อธิบายได้ด้วยสมมุติฐานว่า เรากำลังมีการปฏิรูปการศึกษาที่เดินผิดทิศทาง โดยเดินในทิศทางตรงกันข้ามกับเป้าหมาย นั่นคือยิ่งทำก็จะยิ่งเป็นการทำลายคุณภาพการศึกษา ดังนั้นจึงเป็นเรื่องอันตรายถ้าหากว่า การปฏิรูปการศึกษารอบที่สองจะยังคงเดินผิดทางเช่นเดียวกับการปฏิรูปการศึกษา รอบแรก โดยคณะผู้ดำเนินการไม่ได้ตระหนักถึงปัญหาหรือสาเหตุของความล้มเหลวของการ ปฏิรูปการศึกษารอบแรกเลย
ผู้เขียนได้เขียนบทความเรื่อง "แนวทางแก้วิกฤตคุณภาพการศึกษาไทย" ตอนแรก ขึ้นเมื่อ 2 ปีที่แล้ว โดยมีแนวคิดว่าระบบประเมินคุณภาพการศึกษาแบบผิดๆ ภายใต้การปฏิรูปการศึกษารอบแรกเป็นตัวทำลายคุณภาพการศึกษาไทย ซึ่งแม้แนวคิดนี้จะไม่มีงานวิจัยสนับสนุน แต่ก็มีความจริงเชิงประจักษ์ที่พิสูจน์จากการสอบถาม ครู/อาจารย์ ทั่วประเทศได้ นอกจากนี้ยังมีบทความที่เสนอแนวคิดทำนองเดียวกันคือ บทความเรื่อง "คำให้การของครู เออร์ลี่รีไทร์" โดย สมพงษ์ จิตระดับ สุอังคะวาทิน บทความเรื่อง "การปฏิรูปการศึกษาในทศวรรษที่สอง ก็น่าจะล้มเหลวเหมือนครั้งที่แล้ว" โดย บุญมี พันธุ์ไทย บทความเรื่อง "การศึกษาไทยจะไปทางไหน?" โดย สายพิน แก้วงามประเสริฐ และบทความเรื่อง "ครูต้องทำหน้าที่สอน" โดย ตุลย์ ณ ราชดำเนิน
เมื่อไม่มีการวิจัยหรือหาสาเหตุของปัญหาด้วยวิธีที่เป็นวิทยาศาสตร์ การดำเนินการปฏิรูปการศึกษารอบสองจึงไม่พ้นไปจากรูปแบบเดิมๆ คือ คิด กันเอง เออกันเองในหมู่นักวิชาการ (ที่ไม่ได้สอน อีกทั้งไม่ยอมลงมาศึกษาการทำงานของครู/อาจารย์ในสถานศึกษาจริง) แล้วมีการฟันธงตามกระแสว่าครูไม่มีคุณภาพ และตามด้วยมาตรการ คำสั่ง นโยบายพัฒนาครูออกมามากมาย ไม่ว่าจะเป็นการอบรมครู การผลิตครูพันธ์ใหม่ การเพิ่มเวลาเรียนหลักสูตรครูจาก 4 ปีเป็น 5 ถึง 6 ปี รวมถึงโครงการใหญ่ลงทุน 2000 กว่าล้าน อย่างโครงการสถาบันคุรุศึกษาแห่งชาติ ซึ่งโครงการเหล่านี้มีแนวโน้มว่าแก้ปัญหาไม่ตรงจุด และจะกลายเป็นอนุสาวรีย์หรือถาวรวัตถุที่จะฟ้องถึงความล้มเหลวของกลุ่มผู้ คิดต่อไปอีกหลายปี
น่ายินดีที่รัฐบาลชุดปัจจุบัน โดยท่านนายกรัฐมนตรีอภิสิทธิ์ เวชชีวะ ได้มีการตระหนักรู้ถึงภาระงานเอกสารที่ครู/อาจารย์ต้องจัดทำขึ้นสำหรับงาน ประเมินคุณภาพการศึกษาว่า เป็นภาระการประเมินที่มากเกินไป และสมควรลดลง โดยท่านนายกได้สร้างคำสำคัญขึ้นคือคำว่า "ลดภาระการประเมิน" และได้ดำเนินการสองประการคือ หนึ่งได้มีการมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการประเมินคุณภาพการศึกษา ทำการลดภาระการประเมิน สองให้มีโครงการคืนครูให้นักเรียน
ทั้งสองเรื่องมีการดำเนินการแล้วแต่ยังไม่ได้ผลนัก โดยเรื่องแรกมีความคืบหน้าคือเมื่อเดือน กันยายน 2553 หน่วยงาน 3 หน่วยงานที่ทำหน้าที่ประเมินคุณภาพสถานศึกษาคือ สำนักงานคณะกรรมการอุดมศึกษา (สกอ.) สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) และสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (สมศ.) ได้ลงนามความร่วมมือกัน โดยจัดระบบการประเมินผลของสถาบันอุดมศึกษาให้เป็นเอกภาพโดยลดความซ้ำซ้อนใน การประเมินลง และให้มีการลดตัวบ่งชี้ลงอันจะเป็นการลดภาระการประเมิน แต่อย่างไรก็ตามจนถึงบัดนี้ภาระการจัดเอกสารประกันคุณภาพก็ไม่ได้ลดลงสัก เท่าไร เพราะกระทรวงศึกษาธิการไม่ได้ดำเนินการจริงจัง และยังได้ประกาศใช้กรอบมาตรฐานคุณวุฒิระดับอุดมศึกษาแห่งชาติ (มคอ.) ซึ่งเป็นการเพิ่มภาระงานเอกสารประกันคุณภาพขึ้นมาอีกชุดใหญ่
ส่วนโครงการคืนครูให้นักเรียน ซึ่งเป็นการจ้างเจ้าหน้าที่ธุรการเพื่อช่วยครูทำงานธุรกา รทำให้ครูมีเวลาสอนมากขึ้น แต่เนื่องจากจำนวนเจ้าหน้าที่มีน้อยเกินไป (เจ้าหน้าที่ ธุรการ 1 คน ต้องวิ่งลอกปฏิบัติงาน 1-3 โรงเรียน) อัตราการลาออกสูงมากจึงยังช่วยงานอะไรไม่ได้นัก
แม้รัฐบาลจะตระหนักรู้ถึงการ "ลดภาระการประเมิน" แล้วก็ตาม แต่ก็ไม่ได้ให้ความสำคัญ โดยเรื่องดังกล่าวไม่ได้บรรจุอยู่ในวาระสำคัญของการปฏิรูปการศึกษารอบสองเลย
คณะกรรมการนโยบายการปฏิรูปการศึกษาในทศวรรษที่สอง (กนป.) ได้ประกาศเป้าหมายของการปฏิรูปการศึกษารอบสอง 4 ด้าน ดังนี้
โดยมีคำสำคัญคือ เน้นคุณภาพที่ตัวผู้เรียน
ส่วนการปฏิรูปการศึกษารอบแรก มีเป้าหมายที่มุ่งสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ในกระแสโลกาภิวัตน์ ควบคู่กับการยึดหลักเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยมีคำสำคัญคือผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง
เมื่อเปรียบเทียบกันแล้ว ทั้งรูปแบบและคำสำคัญ ของการปฏิรูปการศึกษาทั้งสองรอบ แทบจะไม่มีความแตกต่างกันเลย
ดูเหมือนรูปแบบปกติตายตัว ของการปฏิรูปการศึกษา จะประกอบด้วย การตั้งคณะกรรมการนโยบายปฏิรูปการศึกษา ตั้งอนุกรรมการ ตั้งคณะทำงาน ตามด้วยการประชุมสร้างนโยบายแผนงาน และคำสั่ง แล้วส่งไปยังหน่วยใต้บังคับบัญชาเป็นทอดๆ จนไปถึงหน่วยใต้บังคับบัญชา สุดท้ายซึ่งได้แก่สถานศึกษา และผู้ที่รับสนองการทำงานก็คือครู/อาจารย์นั่นเอง โดยไม่เคยมีการศึกษาผลกระทบ หรือวิเคราะห์การทำงาน (task analysis) เลยว่าครู/อาจารย์แต่ละคนจะต้องใช้เวลาเท่าไรในการจัดทำเอกสาร เพื่อตอบสนองแผนเหล่านั้น นับเป็นส่วนหนึ่งของวัฏจักรงานทำเอกสารอันไม่จบสิ้น ซึ่งในขณะนี้คณะกรรมการเหล่านี้มีการสร้างแผนบูรณาการสำหรับการปฏิรูปการ ศึกษารอบสองไว้แล้วถึง 44 แผน ซึ่ง ดร. รุ่ง แก้วแดง ได้วิพากษ์ถึงความล้มเหลวของการปฏิรูปการศึกษารอบแรกว่าเป็นการทำผิดที่มี เรื่องที่ทำมากเกินไป จนไม่ได้ทำที่หัวใจของการศึกษา
ตรงนี้เมื่อพิจารณาแนวโน้มแล้วแผนบูรณาการทั้ง 44 แผนสำหรับการปฏิรูปการศึกษารอบสองจะกลายเป็นส่วนเรื่องที่ "ทำมากเกินไป" อีกครั้งหนึ่ง ทั้งนี้เพราะกลุ่มผู้จัดทำไม่ได้มีทีท่าการจะจัดลำดับความสำคัญของแผนได้เลย ดังนั้นจึงมีแนวโน้มว่าส่วนใหญ่ของแผนจึงเป็นเรื่องไม่เร่งด่วน แก้ปัญหาไม่ตรงจุด และเป็นงานประจำธรรมดาได้ โดยไม่ต้องไปยกลำดับความสำคัญให้เป็นแผน
ผู้เขียนขอยกตัวอย่างเพื่อขยายความให้เห็นว่าการ "ทำมากเกินไป" โดยไปยกกิจกรรมที่ไม่สำคัญให้กลายเป็นแผนขึ้นมาแล้วจะส่งผลเสียอย่างไร สมมุติว่าแผนทั้ง 44 แผน มีแผนที่สำคัญที่สุดถือเป็น "หัวใจ" และต้องทำก่อนอย่างอื่น 4 แผน ส่วนแผนที่เหลือ 40 แผน เป็นแผนที่ไม่สำคัญ หรือเป็นกิจกรรมที่ทำเป็นงานประจำอยู่แล้ว ใน กรณีที่ผู้บริหารรู้จักแยกแยะลำดับความสำคัญก็จะนำทั้ง 4 แผนที่สำคัญนั้นมาทำก่อน และทุ่มเททรัพยากรให้อย่างเต็มที่ เช่น ให้กำลังคนร้อยละ 80 ของหน่วยงานเข้าทำงานดังกล่าว ให้จัดทำเอกสารรองรับครบตามรูปแบบ PDCA ส่วนอีก 40 แผนที่เหลือก็ลดความสำคัญไม่ต้องทำเป็นแผน ดังนั้นไม่มีการจัดเอกสารรองรับแบบแผน ให้ทำเป็นคำสั่ง และกิจกรรมประจำตามปกติ ใช้กำลังคนร้อยละ 20 ดำเนินงานได้ทั้ง 40 กิจกรรม ลักษณะเช่นนี้งานก็จะสำเร็จได้อย่างมีประสิทธิภาพ
แต่ถ้าเป็นกรณีผู้บริหารไม่รู้จักแยกแยะ ลำดับความสำคัญ ทั้ง 44 แผนจะสำคัญเท่ากัน แผนสำคัญที่สุดทั้ง 4 เดิมต้องใช้กำลังคนช่วยทำร้อยละ 80 คราวนี้จะได้รับการจัดกำลังคนให้เพียงร้อยละ (100/44)x4 = 9.1 ของกำลังคนในหน่วยงาน ดังนี้ทำให้แผนสำคัญทั้งสี่ล้มเหลวตามมาด้วย กิจกรรมหรือแผนที่เหลืออีก 40 แผนก็ล้มเหลวตามไปด้วย แต่ข้อสังเกตจากบทเรียนในอดีตคือ เมื่อ เนื้องานหลักจริงๆ ทำไม่สำเร็จ แต่เอกสารของแผนทั้ง 44 แผนจะทำสำเร็จโดยได้รับการจัดทำอย่างครบถ้วน นับเป็นการเน้นความสำเร็จของเอกสารโดยแท้ ลักษณะความล้ม เหลวดังกล่าวหาได้จำกัดวงอยู่เฉพาะในกระทรวงศึกษาธิการไม่ แต่ได้รับการส่งต่อ และขยายผลไปยังสถานศึกษาทั่วประเทศ ซึ่งรับแผน และนโยบายจากกระทรวงศึกษาธิการอีกทีหนึ่ง ส่งผลให้ครู/อาจารย์ทำงานล้มเหลวในงานหลักคือ งานสอนและงานวิจัย เพราะมัวแต่ไปทำงานอย่างอื่น ซึ่งผลสุดท้ายก็ได้แต่งานเอกสารที่ครบถ้วนดูดีเช่นเดียวกับหน่วยงานต้นทาง
ขอยกตัวอย่างเหตุการณ์จริงประกอบจากการประกาศของ กระทรวงศึกษาธิการ เมื่อเดือนตุลาคม 2553 ว่า จะใช้จุดเน้นคุณภาพผู้เรียนในการปฏิรูปการศึกษารอบสอง สิ่งที่ กระทรวงศึกษาธิการ ดำเนินการคือ ได้ระบุคุณลักษณะต่างๆ ที่ต้องการของผู้เรียนแล้ว สุดท้ายก็กำหนดให้สถานศึกษา (ซึ่งได้แก่ ครู/อาจารย์) จัดทำสิ่งต่อไปนี้
ด้วยกลไกเช่นนี้ ทำให้เราทราบได้ถึงมาตรการ หรือนโยบายต่างๆ จาก กระทรวงศึกษาธิการ ว่า สุดท้ายจะกลายเป็นงานสร้างกิจกรรม และเอกสารอันไปซ้ำเติมเพิ่มภาระงานเอกสารให้แก่ ครู/อาจารย์ได้อย่างไร และในช่วงเวลาหลายปีของการปฏิรูปการศึกษา สิ่งเหล่านี้ได้เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่าอย่างหาจุดจบไม่ได้
มีข้อสังเกตว่า ประเทศที่จัดการศึกษาได้ดี 5 อันดับแรกของโลกในปัจจุบัน ได้แก่ กลุ่มประเทศที่มีวัฒนธรรมแบบจีน คือประเทศ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ จีน สิงคโปร์ และไต้หวัน ประเทศเหล่านี้เน้นให้ความสำคัญกับผลสัมฤทธิ์ในการทำข้อสอบ จนบางครั้งก็ถูกวิจารณ์ว่า เป็นระบบที่ทำให้นักเรียนขาดความคิดสร้างสรรค์ (เช่น กรณีประเทศญี่ปุ่น และประเทศจีน) แต่ด้วยวิธีการที่ประเทศเหล่านี้ จัดการศึกษาด้วยเน้นทำเพียงเรื่องเดียว หรือ สองเรื่อง (เรื่องผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน และเรื่องคุณภาพครู) ก็ทำให้ประเทศเหล่านี้ ก้าวขึ้นมาเป็นประเทศที่มีการจัดการศึกษาชั้นนำได้ ขณะที่ประเทศตะวันตก ซึ่งจัดการศึกษาด้วยการเน้นทำทุกเรื่องตามตัวบ่งชี้ทางศึกษาศาสตร์ เช่น ประเทศสหรัฐอเมริกา เบลเยียม อังกฤษ เยอรมัน และฝรั่งเศส ในรอบ 20-30 ปีที่ผ่านมา ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนกลับลดลง
การนำระบบจัดการศึกษาจากประเทศ ตะวันตก เข้ามาใช้กับประเทศไทยโดยขาดความเข้าใจ และขาดการคัดเลือกส่วนที่เหมาะสมมาใช้ เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นมาโดยตลอด และสร้างความเสียหายกับการศึกษาของประเทศไทยมาโดยตลอดเช่นกัน
บางทีเราอาจจะต้องการความคิดนอกกรอบ และความกล้าหาญบ้างว่า การ ปฏิรูปการศึกษาไม่จำเป็นต้องทำอะไรมากมายใหญ่โต ไม่จำเป็นต้องเลียนแบบต่างประเทศ (โดยขาดความเข้าใจ) ไม่จำเป็นต้องใช้งบประมาณมหาศาล เพียงแต่ใช้วิธี "ทำด้วยการไม่กระทำ" นั่นคือ ให้ยกเลิกสิ่งที่ทำผิดไว้ในการปฏิรูปการศึกษารอบแรก และเปลี่ยนวิธีการทำงาน (ให้มีประสิทธิภาพ) เท่านั้น ไม่ต้องทำงานเพิ่ม ขณะนี้การปฏิรูปการศึกษาของเราเปรียบเสมือนการขี่ช้างจับตั๊กแตน ซึ่งตอนนี้เราขึ้นมานั่งบนหลังช้างแล้วกว่าสิบปี และยังจับตั๊กแตนไม่ได้ (ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนปีล่าสุดยังคงต่ำลงอย่างต่อเนื่อง) น่าจะถึงเวลาที่จะเปลี่ยนวิธีการได้แล้ว
นักปราชญ์ชาวญี่ปุ่นชื่อ มาซาโนบุ ฟูกูโอกะ ผู้คิดวิธีเกษตรกรรมธรรมชาติขึ้น โดยใช้หลักปรัชญาการทำด้วยการไม่กระทำ ได้กล่าวไว้ว่า บาง ครั้งคนเราทำงานเกินจำเป็นเพื่อให้ได้สิ่งที่เขาปรารถนา และบางสิ่งที่เขาปรารถนาก็เป็นสิ่งไม่จำเป็นสำหรับเขา...... ตามปกติเมื่อเราคิดจะพัฒนาวิธีการอะไรสักอย่าง เรามักจะเริ่มต้นด้วยคำถามว่า "ลองวิธีนี้ดีไหม" หรือ "ลองวิธีนั้นดีไหม" ผมทำตรงกันข้าม.... ซึ่งส่งผลให้งานง่ายขึ้น ยิ่งกว่าหนักขึ้น วิธีคิดของผมก็คือ "ลองไม่ทำสิ่งนี้ดู ลองไม่ทำสิ่งนั้นดูซิ"
การที่เราจะยกเลิกหรือลด กิจกรรม แผนต่างๆ ที่เป็นส่วนเกินออกไปได้นั้น ขอให้เรามาพิจารณาลักษณะการเกิดของมันก่อน เมื่อสืบสาวไปยังต้นเหตุแล้วเราจะพบว่า กิจกรรมส่วนเกินเหล่านี้ถูกคิดทำขึ้นจากนักวิชาการส่วนหนึ่ง ซึ่งมีความรู้ตามตำรับตำราแต่ไม่เคยเชื่อมโยงกับความจริงเลย ผู้เขียนขอเรียกนักวิชาการเหล่านี้ว่า "นักปริยัติทางการศึกษา" นักวิชาการเหล่านี้ได้คิดนโยบาย แผน คำสั่ง ตัวบ่งชี้ ซึ่งทำให้เกิดกิจกรรม และเอกสารเฟ้อขึ้นมาอย่างมากมาย
โดย "นักปริยัติทางการศึกษา" มักจะติดนิสัย "ครูตรวจงานนักเรียน" โดยที่ สร้างกติกา หรือ ตัวบ่งชี้ในระบบประกันคุณภาพการศึกษาไทย จำลองให้ผู้ตรวจ ประเมินทำตัวเป็นครู และ สถานศึกษาทำตัวเป็นนักเรียน ซึ่งสถานศึกษา ต้องเตรียมการบ้าน หรือรายงาน ไว้ให้ตรวจในรูปของรายงาน การประเมินตนเอง (SAR) พร้อมเอกสารหลักฐานต่างๆ
รูปแบบเช่นนี้ใช้ไม่ได้ เพราะสถานศึกษาไม่ใช่นักเรียน แต่เป็นสถานประกอบการ หรือ องค์กรที่เป็นมืออาชีพแล้ว ขอยกตัวอย่างเพื่อความเข้าใจ พนักงาน ขายของบริษัทแห่งหนึ่ง ได้รับการประเมินผลการทำงานจากยอดขายสินค้าที่พนักงานนั้นทำได้ ซึ่งก็เป็นปกติ ต่อมาบริษัทปรับปรุงวิธีการประเมิน โดยเชิญนักวิชาการมาช่วยประเมิน ซึ่งนักวิชาการดังกล่าวก็เป็นนักวิชาการที่ติดนิสัย "ครูตรวจงานนักเรียน" ดังนั้นจึงมาพร้อมกับ รายการตัวบ่งชี้หลายรายการ เช่น บุคคลิกภาพ ภาษาที่ใช้ การแต่งกาย โดยมียอดขายสินค้าเป็นหนึ่งในหลายรายการตัวบ่งชี้นั้น ซึ่งเมื่อคิดคะแนนประเมินออกมาแล้ว พนักงานขายที่เคยได้คะแนนการประเมินดี จากการคิดคะแนนจากยอดขายอย่างเดียว กลับได้คะแนนต่ำลง แน่นอนที่เจ้าของบริษัทที่มีวิจารณญาณอยู่ ย่อมต้องกลับไปเลือกวิธีประเมิน แบบเดิมคือ จากยอดขายอย่างเดียวซึ่งเป็นผลลัพธ์ (out put) ที่ชี้ขาด ก่อนที่จะสูญเสียพนักงานขายดีๆ ไป
ตัวอย่างข้างบนชี้ให้เห็นว่า ในการประเมินบุคคล หรือองค์กรที่เป็นมืออาชีพแล้ว เราต้องประเมินที่ผลลัพธ์เป็นหลัก การประเมินกระบวนการ (process) อาจทำให้ผิดพลาดได้ เพราะในสภาพจริงจะมีปัจจัยอื่นๆ ที่มีผลต่อการทำงาน มากกว่าในสภาพจำลองซึ่งใช้ในการเรียนการสอน
ในทางกลับกัน จะเป็นการถูกต้องที่เราจะประเมินนักเรียน ซึ่งยังไม่ได้เป็นมืออาชีพด้วยการประเมินกระบวนการ เพราะถือว่าขั้นตอนกระบวนการเป็นสิ่งที่ครูต้องฝึก ต้องสอนให้นักเรียนทำให้ได้เป็นขั้นๆ ไปจนถึงขั้นสุดท้ายได้เป็นผลลัพธ์ (โดยจัดสภาวะการเรียนจำลองให้คล้ายสถานการณ์จริงที่สุด)
หรือสรุปได้ว่า การประเมินการทำงานของมืออาชีพเน้นประเมินจากผลลัพธ์ โดยมีความเชื่อว่าผู้ถูกประเมินมีความสามารถอยู่แล้ว เพียงแต่การประเมินจะช่วยให้เขาทำตามเกณฑ์ แต่กรณีประเมินนักเรียนซึ่งเป็นการประเมินผู้ที่อยู่ระหว่างการเรียน เป็นการประเมินเพื่อเน้นการสอนหรือการพัฒนาเพิ่มเติม จึงเน้นการวัดทั้งกระบวนการ และผลลัพธ์ ซึ่งแม้ว่าถ้าให้น้ำหนักแก่คะแนนกระบวนการมากกว่าผลลัพธ์ ก็ไม่มีความเสียหายอะไร เพราะทุกอย่างยังไม่ใช่ของจริง (เป็นเพียงสิ่งที่จำลองขึ้นจากการเรียนการสอน)
การประเมินคุณภาพการศึกษาภายใน ซึ่งกระทรวงศึกษาธิการ เป็นผู้ดำเนินการรับผิดชอบอยู่ โดยเน้นการประเมินตัวบ่งชี้กระบวนการ จึงเป็นสิ่งที่ไม่จำเป็นต่อสถานศึกษาเลย นอกจากจะทำให้ผลลัพธ์การประเมินผิดจากความจริง เพราะการให้น้ำหนักคะแนนผิดแล้ว ยังถือว่าเป็นการสร้างภาระการประเมินที่สูงสุดเท่าที่ทำกับสถานศึกษาในขณะ นี้
หัวข้อต่อไปนี้เกิดจากการที่ "นักปริยัติทางการศึกษา" ไม่รับรู้หรือไม่เชื่อมโยงตำรากับความจริงจึงได้บัญญัติกติกาที่ทำให้เกิดการสร้างเอกสารเท็จ หรือกิจกรรมแปลกๆ ผิดที่ผิดทาง ดังนี้
กิจกรรมประจำที่สถานศึกษาทำอยู่เป็นประจำ เช่น งานไหว้ครู งานกีฬาสี ฯลฯ ซึ่งเดิมสามารถจัดทำได้โดยแทบจะไม่ต้องมีเอกสารกำกับ แต่พอมีการประเมินคุณภาพการศึกษา กิจกรรมประจำเหล่านี้ต้องจัดให้อยู่ในรูปของแผนหรือโครงการที่มีเอกสาร PDCA ครบถ้วน เพื่อใช้เป็นหลักฐานอ้างในงานประกันคุณภาพการศึกษาได้ นับเป็นการสร้างเอกสารเท็จเพราะเกินไปจากการรองรับงานจริง และเพิ่มภาระงานเอกสาร
การพัฒนา นักเรียน/นักศึกษา ด้วยกิจกรรม วิธีที่มีประสิทธิภาพคือให้กิจกรรมนั้นอยู่ในหลักสูตรหรือวิชาที่สอน แต่เนื่องจากระบบประกันคุณภาพการศึกษาเรียกร้องให้ทำแผนจำนวนมาก วิธีหนึ่งในการสร้างแผนก็คือการดึงกิจกรรมที่สอนอยู่ในวิชาใดวิชาหนึ่งอยู่ แล้วออกมา แล้วทำการสวมแผนลงไป เช่น การดูงานหรือทัศนะศึกษา จะเห็นว่า นอกจากสร้างเอกสารเท็จโดยไม่จำเป็นแล้ว เมื่อกิจกรรมเหล่านี้มาอยู่นอกชั้นเรียนยังสร้างภาระแก่ ครู/อาจารย์ ที่จะต้องสร้างสถานการณ์ตัดริบบิ้น ถ่ายรูปขึ้นมาอีก
การที่มีการใช้ระบบประเมินคุณภาพการศึกษาไทยแบบผิดๆ มาได้อย่างยาวนาน โดยไร้การโต้แย้ง สาเหตุหนึ่งเป็นเพราะระบบดังกล่าวมีเกราะเหล็กอันแข็งแกร่งสำหรับป้องกัน ตนเอง ซึ่งเปรียบเสมือนเชื้อไวรัสโรคเอดส์ที่ประสบความสำเร็จในการอยู่รอดโดยใช้ วิธีโจมตีที่จุดยุทธศาสตร์คือ ระบบภูมิคุ้มกันของมนุษย์ เกราะดังกล่าวได้แก่ การบัญญัติให้ทำสิ่งดีๆ คือ คุณภาพ คุณธรรม จริยธรรม ศิลปวัฒนธรรม เป็นต้น การเสนอสิ่งเหล่านี้ในที่ประชุมมักจะไร้การโต้แย้งคัดค้าน เพราะใครที่คัดค้านก็เหมือนผู้ร้ายในองค์กรที่คัดค้านสิ่งดีๆ แม้ว่าโดยวิธีการแล้วจะไม่มีทางสำเร็จเลยก็ตาม โดยเฉพาะสังคมไทยเป็นสังคมที่มีค่านิยมเรื่องหน้าตาเป็นสิ่งสำคัญ ระบบที่ผิดๆ นี้จึงงอกงามเป็นพิเศษ
ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือ สมุดพกความดี ที่ทางกระทรวงศึกษาธิการคิดขึ้น เพื่อให้นักเรียนบันทึกการทำความดีของตน ไว้ในสมุดพก เพื่อไปคิดเป็นคะแนน สำหรับพิจารณาเข้าเรียนต่อได้
ความจริงการส่งเสริมให้คนทำดี มีคุณธรรม จริยธรรม เป็นสิ่งถูกต้องแน่นอน แต่วิธีการใช้สมุดพกความดีไม่ถูกต้อง ทั้งนี้เพราะการวัดความดี ซึ่งเป็นนามธรรม ให้เป็นคะแนนเป็นสิ่งที่ทำยาก ยิ่งกว่านั้นยังเป็นการเอาคะแนนที่วัดได้ ไปตัดสินอนาคตหรือความอยู่รอดของ ผู้คน ผลที่ได้คือ ทำให้ครู และนักเรียนทั่วประเทศ ต้องสร้างเอกสารเท็จขึ้นมา เพื่อความอยู่รอดของตัวเองและสถาบัน
บางท่านอาจไม่เข้าใจว่าเป็นไปได้อย่างไร ก็ขอให้พิจารณากรณีที่คล้ายกันคือ กรณีการรวมคะแนนค่า GPA ของนักเรียนเข้ากับ คะแนนสอบแอดมิชชัน ซึ่งมีเสียงโต้แย้งแต่แรกแล้วว่า จะทำให้มีการปล่อยเกรดให้นักเรียนของตนเอง จากโรงเรียนทั่วประเทศ ซึ่งกระทรวงศึกษาธิการก็ไม่ฟัง สิ่งที่เกิดขึ้นต่อมาคือ เกิดการปล่อยเกรดค่า GPA ของโรงเรียนทั่วประเทศจริง ที่จริงทุกคนอยากเป็นคนดี (โดยเฉพาะครูบาอาจารย์) แต่การสร้างเงื่อนไข "ไม่โกงอยู่ไม่ได้" ขึ้นมาของนักปริยัติทางการศึกษา ส่งผลให้แทนที่จะส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม กลับทำให้ครู และนักเรียนต้องสร้างหลักฐานเท็จ มีข้อสังเกตว่ากติกาที่สร้างเงื่อนไข "ไม่โกงอยู่ไม่ได้" ที่พบได้ทั่วไปในเอกสารประกันคุณภาพ อันนำไปสู่การสร้างหลักฐานเท็จมีองค์ประกอบ 3 อย่างคือ (1) มีตัวบ่งชี้ที่คลุมเครือวัดค่ายากหรือเกินกำลังที่จะทำได้ (2) คะแนนจากตัวบ่งชี้ไปผูกกับความอยู่รอดของผู้ถูกประเมิน (3) ผู้ถูกประเมินเป็นผู้เตรียมเอกสาร
การจัดการความรู้เป็นหัวข้อสำคัญหัวข้อหนึ่งภายใต้ศาสตร์บริหารจัดการ ส่วนระบบประกันคุณภาพก็เป็นเรื่องที่มาจากศาสตร์บริหารจัดการเช่นกัน การนำระบบประกันคุณภาพมาใช้กับสถานศึกษาจึงมีการพ่วงหัวข้อการจัดการความรู้ เข้ามาด้วย
จุดประสงค์หลักของ การจัดการความรู้ ในการบริหารจัดการองค์กร คือ เพื่อการกระจายอำนาจ โดยการจัดการความรู้ที่ดี ย่อมทำให้บุคลากรทุกส่วนขององค์กร มีความรู้พร้อม ที่จะทำงานด้วยตัวเองได้ โดยไม่จำเป็นต้องถามกลับ ไปยังส่วนกลาง หรือผู้บังคับบัญชา
การนำหัวข้อการจัดการความรู้ มาใช้ในการประเมินคุณภาพสถานศึกษา เป็นการทำผิดแบบ "เอามะพร้าวห้าวมาขายสวน" ทั้งนี้เพราะสถานศึกษา ไม่ว่าจะเป็นโรงเรียน หรือมหาวิทยาลัยก็มีการจัดการความรู้อยู่ก่อนแล้ว และทำเป็นอาชีพไม่ใช่ทำเป็นส่วนเสริม สถานศึกษามีการบริหารจัดการ แบบกระจายอำนาจโดยธรรมชาติ ชั้นของสายบังคับบัญชามีน้อย ครู/อาจารย์ ได้รับบทบาทของผู้มีปัญญา สามารถมีอำนาจตัดสินใจการจัดการเรียน การสอน ของตนเองได้ค่อนข้างมาก ไม่ว่าจะเป็นวิธีการสอน การจัดกิจกรรม การคิดคะแนน การตัดเกรด อีกทั้งสถานศึกษาก็เป็นมืออาชีพทางการจัดการความรู้อยู่แล้ว โดยมีการจัดการสอนวิชาต่างๆ หลายหลากวิชา แก่ผู้เรียนจำนวนมาก มีการจัดการผู้สอน สถานที่และอุปกรณ์ (จัดตารางสอน) สำหรับความรู้ที่สร้างขึ้นใหม่หรือองค์ความรู้ใหม่ ก็ได้มีการจัดการงานวิจัยที่มีการดำเนินการและพัฒนาการมายาวนานนับพันปี ตามพัฒนาการของมหาวิทยาลัย ปัญหาคือสิ่งเหล่านี้คนในวงการศึกษาเองไม่รู้ว่าคือสิ่งเดียวกับการจัดการ ความรู้ของศาสตร์บริหารจัดการ
เมื่อคิดว่า การจัดการความรู้ที่นำมาใช้ เป็นส่วนเสริมที่มาจากศาสตร์อื่นจำเป็นต้องสร้างขึ้นใหม่ จึงกลายเป็นภาระแก่สถานศึกษาที่จะสร้างการจัดการความรู้ใหม่ขึ้นมา ไม่ให้ซ้อนกับสิ่งที่สถานศึกษาทำอยู่แล้ว จัดเป็นภาระหนักเพราะเป็นความพยายามที่จะคิดสิ่งที่ไม่มีให้มีขึ้นมา
หัวข้อบริหารความเสี่ยงมีลักษณะเช่นเดียวกับกรณีของหัวข้อการจัดการความ รู้ ในแง่ที่เป็นหัวข้อที่ติดมากับศาสตร์บริหารจัดการ และไม่สมควรที่จะนำมาใช้เพื่อประเมินคุณภาพสถานศึกษา แต่เมื่อนำมาใช้จึงทำให้เกิดอาการฝืน และมีนงงแก่ผู้เกี่ยวข้องได้ไม่แพ้กรณี การจัดการความรู้
จากพุทธวจนะที่ว่า ความประมาทเป็นหนทางแห่งความตาย การบริหารความเสี่ยงจากศาสตร์บริหารจัดการ เป็นเรื่องเกี่ยวกับการใช้ธรรมะ เรื่องความไม่ประมาทมาใช้ เพื่อป้องกันการตาย หรือล่มสลายขององค์กรทางธุรกิจ หรือการลงทุนทางธุรกิจที่มีมูลค่าสูง
การประเมินเรื่องบริหารความเสี่ยง จึงเป็นเรื่องที่สมควรจะทำกับเจ้าของ หรือผู้บริหารที่กำลังจะลงทุนหรือขยายธุรกิจ ซึ่งถ้าเทียบเป็นสถานศึกษาแล้วกรณีเป็นโรงเรียนก็ควรจะประเมินคนของกระทรวง ศึกษาธิการที่มีอำนาจตั้งโรงเรียนในพื้นที่ต่างๆ ไม่ใช่ไปใช้เรื่องบริหารความเสี่ยงไปประเมินโรงเรียนที่ตั้งไปแล้วทุกปีๆ
ส่วนกรณีมหาวิทยาลัยก็ทำนองเดียวกัน การประเมินเรื่องบริหารความเสี่ยง ต้องทำกับผู้มีอำนาจในการวางแผนหรือลงทุน ตั้งมหาวิทยาลัยใหม่ ตั้งวิทยาเขตใหม่ ตั้งคณะใหม่ ซึ่งได้แก่ กรรมการสภามหาวิทยาลัย และนายทุนเจ้าของมหาวิทยาลัย เมื่อหน่วยงาน เช่น มหาวิทยาลัยใหม่ หรือคณะต่างๆ ตั้งไปแล้วก็ไม่มีความจำเป็นต้องไปประเมินความเสี่ยงกันทุกปีอีกแล้ว
การประเมินความเสี่ยงที่ดำเนินการกับสถานศึกษา ที่สร้างเสร็จแล้วทุกปี ซึ่งเป็นการสิ้นเปลืองเปล่าประโยชน์ การพยายามประเมินเช่นนี้ ทำให้สถาบันต้องสร้างหลักฐานขึ้น โดยไปประเมินความเสี่ยงในเรื่องสัพเพเหระ ที่ไม่ได้มีมูลค่าถึงกับต้อง ประเมินเลย
ดูเหมือนนักปริยัติทางการศึกษา จะไม่สามารถประมาณสิ่งต่างๆ ได้ถูกต้องเลย มาตรการต่างๆ จะใช้มากหรือน้อย หนักหรือเบา เร็วหรือช้า ดูจะมีปัญหาไปทั้งสิ้น โดยเฉพาะคำเฉพาะทางศึกษาศาสตร์ เช่น บูรณาการ ความต่อเนื่อง หรือ พัฒนาการ ซึ่งหลายครั้งที่คำเหล่านี้ถูกนำมาใช้ในการตั้งกติกา ทำตัวบ่งชี้ หรือแม้แต่การออกข้อสอบ โดยการประมาณใช้ที่ผิดๆ แล้วทำให้เกิดเป็นเรื่องตลกที่ก่อผลร้ายระดับชาติ ตัวอย่างเช่นที่เกิดกับข้อสอบโอเน็ตในบางปี
สำหรับในระดับมหาวิทยาลัย ทางกระทรวงศึกษาธิการ ก็ยังระบุให้มหาวิทยาลัยบริการวิชาการแล้ว ให้นำกลับมาบูรณาการกับงานวิจัย หรืองานสอนอีก ซึ่งเป็นเรื่องที่เกินจำเป็น และฝืนธรรมชาติของการให้บริการวิชาการตามปกติ ขอยกตัวอย่าง เปรียบเหมือนพรานที่ออกล่าสัตว์โดยใช้ธนู การที่พรานยิงธนูออกไปแล้ว หากมีการเก็บลูกธนูกลับคืนมาเพื่อใช้ใหม่ได้ก็เป็นเรื่องดี แต่ก็ไม่ใช่เรื่องที่จำเป็นหรือสำคัญอะไร เมื่อเทียบกับภารกิจหลักคือการล่าสัตว์ให้ได้ การตั้งกฏเกณฑ์ให้พรานเก็บลูกธนูที่ยิงไปแล้วกลับคืนให้ได้ รังแต่จะสร้างภาระจนไม่เป็นอันทำภารกิจหลักคือ การล่าสัตว์
จากการปฏิรูปการศึกษารอบแรก มีผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางโครงสร้างของ กระทรวงศึกษาธิการครั้งใหญ่ ได้มีการรวมเอาทบวงมหาวิทยาลัย ซึ่งมีหน้าที่ดูแลการศึกษาระดับอุดมศึกษา เข้าไปสังกัดใต้ร่มของ กระทรวงศึกษาธิการ โดยเปลี่ยนชื่อเป็น สำนักงานคณะกรรมการอุดดมศึกษา (สกอ.)
ผลจากการยุบรวมดังกล่าว อาจจะเป็นที่มาของ การนำวิธีบริหารจัดการบางอย่าง ที่เคยใช้กับการศึกษาขั้นพื้นฐาน (โรงเรียน) มาใช้กับการศึกษาระดับอุดมศึกษา (มหาวิทยาลัย) และในทางกลับกัน มีการนำวิธีบริหารจัดการบางอย่าง ที่ใช้กับระดับอุดมศึกษา ไปใช้กับการศึกษาขั้นพื้นฐาน ซึ่งเป็นการใช้อย่างผิดๆ อีก
สิ่งที่เกิดขึ้นกับระดับอุดมศึกษาคือ กิจกรรมต่างๆ มากมายที่เดิมพบเห็นในโรงเรียน ก็มาเกิดขึ้นในมหาวิทยาลัย เช่น อาจารย์มหาวิทยาลัยจะต้องเกณฑ์ (กวาดต้อน) นักศึกษามาทำกิจกรรมต่างๆ เช่น ประกวดเด็กดี ทำบอร์ดวันสำคัญประจำปี ฯลฯ นอกจากนี้อาจารย์ยังต้องพยายามทำงานวิจัยในชั้นเรียน (แทนที่จะไปทำงานวิจัยในสาขาวิชาหลักของตนเอง) ซึ่งลักษณะดังกล่าวเป็นการบั่นทอนพัฒนาการของอุดมศึกษาโดยแท้
จริงอยู่กิจกรรมที่จัดขึ้น เพื่อพัฒนาผู้เรียนทางด้านต่างๆ เป็นสิ่งจำเป็น แต่ชนิดของกิจกรรม ความถี่ของกิจกรรมที่ใช้ย่อมแตกต่างกันไป ตามวัยของผู้เรียนซึ่งมีพัฒนาการ ที่ช่วงวัยต่างๆ ไม่เหมือนกัน การพัฒนาการของเด็กในวัยโรงเรียน ย่อมมีการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็ว และทั้งทางร่างกาย และจิตใจ จำเป็นต้องให้ความสำคัญแก่กิจกรรมที่รองรับพัฒนาการเหล่านั้น ซึ่งต้องมีมากหลากหลายไปด้วย แต่เมื่อผู้เรียนอยู่ในวัยอุดมศึกษา การเปลี่ยนแปลง หรือการพัฒนาการค่อนข้างคงที่ เปรียบเสมือนไม้แก่ ดังนั้นกิจกรรมที่รองรับกับผู้เรียนในวัยนี้จึงควรจะน้อยลง และเน้นกิจกรรมรองรับวิชาชีพต่างๆ มากกว่า
ส่วนในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน ครูที่ต้องการขอเลื่อนวิทยฐานะก็จะต้องทำผลงานวิชาการ ซึ่งแทบจะเลียนแบบการทำงานวิจัย เพื่อขอตำแหน่งวิชาการของอาจารย์ในมหาวิทยาลัยเลยทีเดียว ซึ่งในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน ไม่จำเป็นถึงกับต้องทำงานวิจัยขนาดนั้นเลย การทำผลงานวิชาการเพื่อขอเลื่อนวิทยฐานะของครู เป็นสาเหตุอีกประการหนึ่งที่ทำให้ครูไม่ทุ่มเทเวลาให้แก่งานสอน และเกิดการจ้างทำผลงานวิชาการขึ้นอย่างมากมาย จึงมีผู้เสนอไว้อย่างน่าสนใจคือ ให้แก้ไขโดยให้ประเมินเลื่อนวิทยฐานะของครูจากผลสัมฤทธิ์การเรียนของ นักเรียน ตามบทความเรื่อง "ให้ตำแหน่ง คศ. 3 แก่ครูอย่างไร : คุณภาพเด็กไทยจะไม่แย่ลง" โดย บุญมี พันธุ์ไทย
แม้ว่าจะมีการพูดจากหลายฝ่ายว่า การปฏิรูปการศึกษารอบปัจจุบันให้มีการเน้นที่คุณภาพผู้เรียน (คล้ายว่าผู้นำ หรือหัวหน้าหน่วยงานจะทราบแล้วว่าไม่ต้องไปเน้นวัดอย่างอื่น) แต่อย่างไรก็ตามในทัศนะของผู้เขียนแล้ว การกล่าวเช่นนี้ยังเจาะจงสาเหตุไม่ชัด และอาจไม่มีความแตกต่างจากการเน้นคำว่าผู้เรียนเป็นสำคัญจากการปฏิรูปการ ศึกษารอบแรกเลย โดยเฉพาะเมื่อยังดำเนินการในรูปแบบเดิมที่ล้มเหลว ข้อความดังกล่าวย่อมถูกตีความเฉไฉเป็นอย่างอื่นไปได้ ดังนั้นผู้เขียนเห็นว่าจำเป็นต้องระบุว่า เน้น คุณภาพผู้เรียนก็คือ เน้นผลสัมฤทธิ์ในการทำข้อสอบ และจะมีผลสัมฤทธิ์การทำข้อสอบได้ก็ต้องไปแก้ปัญหาให้ครูมีเวลาให้กับการสอน เต็มที่ ซึ่งจะมีเวลาสอนเต็มที่ก็ต้องไปลดภาระการประเมิน (คุณภาพการศึกษา)
ดังนั้นกระทรวงศึกษาธิการจำเป็นที่จะต้องกล้ายอมรับความจริงที่ว่า สาเหตุของคุณภาพการศึกษาที่ตกต่ำมาตลอดในช่วงการปฏิรูปการศึกษา มีสาเหตุจากระบบประเมินคุณภาพการศึกษาแบบผิดๆ ไม่ใช่สาเหตุอื่น แล้วให้ดำเนินการปฏิรูปวิธีการประเมินคุณภาพการศึกษาเสียใหม่โดยยึดหลักการ "การประเมินที่ดีย่อมไม่สร้างภาระการประเมินแก่ผู้ถูกประเมิน" และให้มีวาระแห่งชาติ (ทางการศึกษา) ว่าด้วยการลดภาระการประเมิน อาจรณรงค์ด้วยคำสำคัญว่า "ครูต้องทำหน้าที่สอน" หลังจากทำตามมาตรการแล้วประเมินผลโดยให้ทำโพลล์สำรวจดัชนี "ภาระการประเมิน" ของ ครู/อาจารย์ ทุกสามเดือน สำหรับมาตรการที่จะต้องทำมีดังนี้
ผู้เขียนเชื่อว่า เมื่อรัฐบาลดำเนินการตามมาตรการทั้ง 3 ข้อแล้ว จะทำให้ค่าดัชนี "ภาระการประเมิน" ลดลงและเมื่อใดค่าดัชนี "ภาระการประเมิน" ลดลงเข้าใกล้ศูนย์ ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน ของนักเรียนจะเพิ่มขึ้นแน่นอน แต่ถ้าการปฏิรูปการศึกษารอบสอง ยังดำเนินการตามรูปแบบที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ผู้เขียนเกรงว่าเวลาอีก 8 ปีที่เหลืออยู่คุณภาพการศึกษาไทยก็ยังคงวิกฤตไม่เปลี่ยนแปลง
โดย ผศ. บรรเทิง ศิลป์สกุลสุข
ภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสยาม
๑๐ มิถุนายน ๒๕๕๔
บทความนี้ ผมได้รับมาจากผู้เขียนโดยตรง ซึ่งมีความปรารถนาต้องการจะเผยแพร่ออกไปเป็นวงกว้าง เพื่อให้การปฏิรูปการศึกษาในทศวรรษที่ 2 นี้ประสบผลสำเร็จ ท่านใดต้องการนำไปเผยแพร่ต่อก็ขอขอบพระคุณยิ่ง และโปรดได้กรุณาอ้างอิงเนื้อหาบทความตามที่ได้แจ้งในที่มาด้านบนด้วยครับ ช่วยกันเพื่อให้การศึกษาของประเทศไทยเราขยับไปยืนเทียบเคียงในแถวหน้าได้
ด้วยความขอบคุณ
ครูมนตรี
๒๑ มิถุนายน ๒๕๕๔
ยินดีต้อนรับสู่เว็บไซต์ของเรา ที่นี่ใช้คุกกี้ (Cookies) เก็บข้อมูล เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น อ่านนโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (Privacy Policy) และนโยบายคุกกี้ (Cookie Policy)