แอบหนีไปเที่ยวเมืองจีนมาครับในช่วงวันที่ 28 พฤศจิกายน ถึง 3 ธันวาคม 2554 ที่ผ่านมา ออกเดินทางจากอุบลราชธานีไปเชียงใหม่ด้วยสายการบิน Air Asia จากนั้นก็ลัดเลาะเดินทางด้วยรถบัสปรับอากาศ จากเชียงใหม่ไปอำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย ข้ามฟากด้วยเรือหางยาวไปเมืองห้วยทราย แขวงบ่อแก้ว สปป.ลาว จากนั้นก็นั่งรถบัสปรับอากาศลาวเดินทางไปสู่ด่านบ่อเต็น (ลาว) ข้ามแดนไปที่ด่านบ่อหาน (จีน) เปลี่ยนรถบัสอีกทีใช้รถบัสปรับอากาศจีนมุ่งสู่เมืองเชียงรุ้ง สิบสองปันนา ได้พบเจออะไรมากมายมาเล่าสู่กันฟังครับ
แต่ก่อนที่จะเล่าเรื่องเมืองจีน ขอเล่าเรื่องเมืองไทยในสภาวะประสบอุทกภัย สักเล็กน้อย ความจริงใครๆ ก็ทราบกันแล้วล่ะว่า มหาอุทกภัยครั้งนี้ใหญ่หลวงนัก จนใครๆ ก็เอาไม่อยู่ ที่ท่วมมิดหัวนานนับเดือน หลายเดือนก็มี ผมอาจจะโชคดีหน่อยที่บ้านใน กทม. น้ำไม่ท่วม แต่ที่อุบลฯ โดนไปสองรอบเสียหายไม่ใช่น้อยเหมือนกัน เพราะขนของหนีน้ำไม่ทัน (อยู่มา 23 ปีไม่เคยท่วมมาก่อน จึงตั้งหลักหยิบจับอะไรไม่ทันเอาเสียเลย)
แต่ที่จะนำเอามาเล่าสู่กันฟังนี่ เป็นเรื่องที่ ประธานองค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น (เจโทร กรุงเทพฯ)ระบุว่า ไทยอาจไม่เป็นประเทศที่น่าสนใจในการลงทุน เหมือนที่ผ่านมาในสายตาของนักลงทุนญี่ปุ่น
ทำให้คิดถึงความคิดเห็นของคุณวิกรม กรมดิษฐ์ เจ้าพ่อนิคมอุตสาหกรรมอมตะนครที่เคยพูดถึง “จุดอ่อน” ของคนไทยไว้ 10 ข้อคือ
ข้อสุดท้าย! อ่านแล้วอาจต้องแปะติดข้างฝาไว้เลย!! ก็ดีนะ โดยเฉพาะท่านทั้งหลายที่กำลังตื่นเต้นกับการเชื่อมโยงประชาคมอาเซียน กำลังเห่อโรงเรียนมาตรฐานสากล ถ้าท่านทำให้เยาวชนของชาติเปลี่ยนจุดอ่อนเป็นจุดแข็งไม่ได้ คราวนี้เห็นทีจะแย่แน่แล้ว ส่วนข้ออื่นๆ เราที่เป็นผู้ใหญ่ เป็นครู เป็นผู้บริหารจะต้องปรับปรุงเปลี่ยนแปลงอย่างเร่งด่วนครับ จะทำตัวซื่อบื้ออยู่ไม่ได้แล้ว
บทเรียนจากเมืองจีน
นั่งเรือข้ามฟากจากเชียงของข้ามมาที่ห้วยทราย สปป.ลาว
มาที่เรื่องเล่าจากเมืองจีนกันต่อ การเดินทางครั้งนี้เหนื่อยจากการเดินทางมากกว่าอย่างอื่นครับ เพราะใช้ชีวิตบนรถเสียมาก แต่ก็ได้เรียนรู้อะไรมาหลายอย่างทีเดียว อย่างช่วงเดินทางจากประเทศไทยที่ด่านอำเภอเชียงของข้ามไปยังเมืองห้วยทราย แขวงบ่อแก้วใน สปป.ลาว ก็ทำให้รู้ว่าการพัฒนาของลาวนั้นอยู่บนพื้นฐานของความช่วยเหลือจากชาติอื่นๆ ด้วยการให้สิทธิประโยชน์ต่างๆ และการสัมปทานของเอกชนต่างชาติ ความเป็นอยู่ของชาวลาวทั่วไปนั้นยังถือว่าห่างชั้นกันมาก (ที่รวยก็รวยล้นฟ้า ที่จนก็จนยากไร้จริงๆ)
สาวลาวยังคงนุ่งผ้าซิ่น และหนุ่มอำคาไกด์เดินทางช่วงผ่าน สปป.ลาว
สำหรับประเทศจีนที่มีพื้นที่กว้างใหญ่ และประชากรนับพันล้าน การพัฒนากลับเป็นไปได้อย่างรวดเร็วกว่า สปป.ลาว ทั้งๆ ที่มีรัฐบาลบริหารประเทศในระบอบสังคมนิยมเช่นเดียวกันก็ตาม เพราะหลักคิดต่างกันในลาวให้เอกชนรับสัมปทานกิจการหลายๆ อย่าง แต่ในจีนกิจการต่างๆ ส่วนใหญ่เป็นของรัฐบาลดำเนินการทั้งหมด ตั้งแต่กิจการน้ำมัน การเกษตรควบคุมโดยรัฐบาลทั้งกลไกการผลิต และการจำหน่าย การจัดกาที่อยู่อาศัย การพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวและสาธารณูปโภค
เส้นทางสาย R3A จากห้วยทราย-หลวงน้ำทา-บ่อเต็น ใน สปป.ลาว
รัฐบาลจีนต้องการพัฒนาถนนหนทาง ที่อยู่อาศัย สร้างเขื่อนกักเก็บน้ำและผลิตกระแสไฟฟ้า จะต้องมีการย้ายผู้คนออกจากถิ่นที่อยู่เดิม รัฐบาลจีนจะดำเนินการสร้างที่อยู่อาศัยใหม่ เป็นชุมชนที่มีระบบสาธารณูปโภคพร้อม แล้วโยกย้ายชุมชนจากแหล่งเดิมไปยังที่อยู่ใหม่ จัดการเรื่องการประกอบอาชีพดั้งเดิมให้สามารถดำรงอยู่ได้ เช่น ชุมชนหมู่บ้านทำมีดของไทลื้อ ก็ยังทำอาชีพเดิมแต่ที่อยู่อาศัยเป็นสไตล์หมู่บ้านสมัยใหม่ จัดทำแหล่งจำหน่ายสินค้าให้คณะนักท่องเที่ยวมาเยี่ยมชม มีการฝึกฝนการนำเสนอสินค้าในรูปแบบใหม่ๆ เอาการตลาดเข้ามาช่วยเสริมทำให้ประชาชนอยู่ดีกินดีได้ดังเดิม (ดีกว่าเดิมด้วยซ้ำ)
ในสิบสองปันนาเต็มไปด้วยสวนยางพาราและสวนกล้วยหอม ที่นี่ไม่มีผลไม้ 2 ชนิดคือ มังคุดและทุเรียน
อย่างในสิบสองปันนา พื้นที่เหมาะแก่การปลูกกล้วยหอม และยางพารา รัฐบาลก็เข้าไปส่งเสริม และควบคุมปริมาณการปลูกไม่ให้ล้นตลาด ทำให้ได้ราคาดี ประชาชนก็มีความสุขได้ด้วยการเกษตรแบบผสมผสาน ปลูกพืชหลักและพืชสวนเสริม ส่งไปจำหน่ายทั้งในประเทศ (กำลังซื้อพันกว่าล้านคนมิใช่น้อย) และต่างประเทศนิดหน่อยในส่วนที่ล้นตลาดในประเทศ
อาคารที่อยู่อาศัยที่จัดสร้างโดยรัฐบาลจีนในเมืองใหญ่ๆ ทุกเมือง
ที่น่าสนใจคือ การประกาศอัตราเงินเดือนสูงสุดของกลุ่มคนทำงานในเมืองต่างๆ ว่าจะต้องทำให้ได้ต่อเดือนเท่าใดจึงจะเหมาะสมกับค่าครองชีพ และการพัฒนาของเมือง (ของไทยเป็นค่าแรงขั้นต่ำ ซี่งไม่ค่อยพัฒนาสูงขึ้นนัก) เช่น ในปักกิ่งจะกำหนดไว้ที่ 8,000-10,000 หยวนต่อเดือน ปัจจุบันข้าราชการและลูกจ้างในบริษัทต่างๆ จะอยู่ที่ 5,000-8,000 หยวน แต่ก็เพิ่มขึ้นทุกปี ในคุนหมิงกำหนดที่ 4,000-7,500 หยวนต่อเดือน ปัจจุบันส่วนใหญ่จะมีรายได้ประมาณ 3,500-5,500 หยวน ถ้าเมืองพัฒนาขึ้น เศรษฐกิจดีขึ้น การศึกษาของประชาชนมากขึ้นรายได้ของประชาชนก็มากขึ้น
ตลาดชาวไทลื้อ และลีลาการสาธิตใช้มีดที่ผลิตในชุมชนบ้านตีมีดไทลื้อ
เรื่องการจัดการที่ดินทุกตารางเมตรเป็นของรัฐบาล จัดสรรให้กับประชาชนถือครองเพื่อดำเนินกิจการได้ในระยะเวลา 70 ปี เมื่อพ้นระยะเวลาจะต้องจ่ายภาษีให้รัฐเพิ่มขึ้น ไม่สามารถจำหน่ายให้กับบุคคลอื่นๆ ไม่มีการกว้านซื้อที่ดิน หากต้องการทำประโยชน์มากกว่าที่รัฐจัดสรร จะต้องทำการยื่นสัมปทานจากรัฐเท่านั้น ในเขตเมืองจะเป็นการพัฒนาที่อยู่อาศัยของรัฐบาล ให้ประชาชนเช่าซื้อเพื่ออยู่อาศัย บ้านเรือนประเภทสลัมจะค่อยๆ ถูกกำจัดออกไปเพื่อสุขอนามัย เว้นแต่ชุมชนอนุรักษ์ที่รัฐบาลจะเข้าไปควบคุมจัดระเบียบการอยู่อาศัย และต่อเติมอาคารให้อยู่ในวงจำกัดไม่เพิ่มไปจากเดิม เราจึงเห็นเมืองใหม่ขยายออกมาเป็นจำนวนมาก
เรื่องการเดินทางของจีนมีการพัฒนาดีมาก และเป็นระบบ ดำเนินการโดยรัฐบาลทั้งระบบถนน ทางด่วนเชื่อมต่อระหว่างเมือง (ต้องจ่ายค่าผ่านทาง) ที่ย่นระยะเวลาลงได้มาก สภาพภูมิประเทศของจีนมีภูเขาเป็นส่วนใหญ่ ถนนจึงมีการสร้างสะพานข้ามหุบเหว เจาะอุโมงค์ลอดเพื่อย่นระยะทาง ประเภทที่ต้องขึ้นเขาลงห้วยอย่างบ้านเรามีน้อยมาก รถยนต์จึงทำเวลาในการเดินทางได้มาก แต่ต้องระวังเหมือนกัน เพราะมีระบบบันทึกภาพจับความเร็วอัตโนมัติเป็นระยะๆ ไม่แน่นอน ไม่มีใครถูกจับ แต่จะปรับตอนไปต่อทะเบียนเสียภาษีประจำปี เราจึงเห็นว่ารถหลายๆ คันมีตัวตรวจจับสัญญาณเรดาร์ที่คอนโซลหน้า วิ่งมาด้วยความเร็วเกินร้อยอยู่ดีๆ ก็คลานตามหลังกันไปเสียอย่างนั้น (ความเร็วบนทางด่วนกำหนดไว้ที่ 83 กิโลเมตร/ชั่วโมง)
รถราตามฐานะของชาวจีน เกษตรกรก็แบบล่าสุดซ้ายมือ เศรษฐีก็อีกแบบใหญ่โตทั้งนั้น
เรื่องรถยนต์ รัฐบาลจีนกำหนดให้ใช้รถยนต์แต่ละคันได้เพียง 10 ปี เราจึงเห็นแต่รถใหม่ๆ ทั้งนั้นวิ่งในจีน ประเภทรถยนต์โบราณไม่มีเพราะภาษีมหาโหด ถ้าไม่รวยจริงมีไม่ได้ ในขณะที่ประเทศไทยเรา รถยนต์อายุเกิน 25 ปีขึ้นไปยังวิ่งเต็มถนน และภาษีก็ลดลงทุกๆ ระยะ 5-10 ปีด้วยซิ และที่สำคัญจีนมีความสามารถผลิตรถยนต์ใช้เองในประเทศ หลายยี่ห้อ โดยเฉพาะรถบรรทุก รถบัสโดยสาร แทบจะไม่เห็นมียี่ห้อต่างประเทศเลย มีแต่ Golden Dragon, Wuling, Yutong ซะส่วนใหญ่ ส่วนรถเก๋งเล็กก็ของจีนเยอะอย่าง Wuling, Cherry แต่ถ้าเป็นเศรษฐีใหม่คราวนี้รถนอกเพียบเลย ตระกูลบ้าพลังลูกสูบเยอะ ซีซีแยะ ไม่ว่าจะเป็น Ford, Chevy, Toyota, Honda, Dodge, BMW, Benz, Ferrari, Porche ยิ่งประเภท SUV นี่ตระกูล 8 สูบ 5 ลิตรขึ้นไปเยอะมาก
รถยนต์เยอะมากๆ แต่เรื่องมารยาทการขับขี่นี่สุดจะทน ผมคงจะไปขับไม่ได้ครับในประเทศนี้ สี่แยกวัดใจเยอะมาก มีสัญญาณไฟติดตั้งแต่พี่แกไม่เปิดใช้งาน และไม่มีพี่จ่ามาอำนวยความสะดวกใดๆ ไม่เห็นจริงๆ ครับอยู่สี่วันในจีนไม่เคยเจอพี่จ่าอ๊ะ การขับรถที่นี่มันตามใจฉัน หนวกหูกับการบีบแตร และเบรกกระทันหันจนหัวทิ่ม พี่อยากจะกลับรถตรงไหนพี่ก็เลี้ยวกลับเอาดื้อๆ ถนนจะแคบก็ไม่สน โยกหน้า โยกหลัง ขวางทางชาวบ้านไปจนได้ ตามด้วยปากขมุบขมิบ (ผมฟังไม่ออก) และเสียงแตรระเบ็งเซ็งแซ่ มอเตอร์ไซค์ จักรยาน ก็ไม่กลัวรถใหญ่ขับขี่ซอกแซกปาดหน้า ปาดหลังอีนุงตุงนังเห็นแล้วจะบ้าตาย
เรื่องสิงห์อมควัน (สูบบุหรี่) ในจีนนี่เยอะมากทั้งหญิงชาย (ในรูปสูบบุหรี่นะไม่ใช่กัญชา)
ไปไหนมาไหนในที่สาธารณะก็ไม่มีการยกเว้นพ่นควันได้ตามอัธยาศัย
อะไรๆ ก็พัฒนาไปมากครับ มีสิ่งที่น่ารำคาญคือเรื่อง ควันจากการสูบบุหรี่ เขาสูบกันได้ทุกที่ทั้งหญิงและชาย พ่นควันกันโขมงเลยเชียว และที่ยังไม่พัฒนาเลยคือ ส้วม เป็นสิ่งที่นักท่องเที่ยวต้องทำใจ และเตรียมตัวให้พร้อมรับศึก ใครจะไปเที่ยวจีนแนะนำให้เตรียมผ้าขาวม้า ผ้าถุงใส่กระเป๋าสะพายไปด้วยครับ ในระหว่างทางแม้จะมีส้วมสาธารณะแต่คงทำใจเข้าไปใช้ไม่ได้ ทั้งเรื่องกลิ่นที่รุนแรงขนาดหนัก ปลดทุกข์ไม่ล้าง ไม่มีน้ำล้างในห้องน้ำ (แม่จะมีพี่ก็ไม่ล้าง) ระบบหัวส้วมเรียงรายไม่มีผนังและประตูกั้น ที่ใหม่หน่อยมีแผงกั้นท่วมหัวขณะนั่งแต่ไม่มีประตู ในภัตตาคาร ร้านอาหาร หรือแม้แต่ในโรงเรียนที่ผมไปดูมา (มันคงเป็นวัฒนธรรมการขับถ่ายของเขา) จะดีหน่อยก็ในโรงแรมระดับ 4 ดาวขึ้นไปมีชักโครกและประตูมิดชิด ในโรงแรม 2 ดาวที่ชาวจีนพักก็ไม่ต่างจากในที่สาธารณะแต่สะอาดขึ้นมาหน่อย
ส้วมในโรงเรียน ห้องอาหาร/ภัตตาคารเป็นแบบนี้ (มีแย่กว่านี้แต่ไม่อยากถ่ายมา มันอุจาดตาเกิน)
มาเรื่องการศึกษา (อันเป็นที่มาของหัวเรื่อง) ไปดูโรงเรียนมัธยมที่มีชื่อเสียงมากของมณฑลยูนนาน ตั้งอยู่ที่เมืองคุนหมิง อดีตเคยเป็นที่ตั้งของมหาวิทยาลัยชื่อดังของจีน ที่อพยพหนีภัยสงครามโลกครั้ง ที่ 2 จากปักกิ่งมารวมกันอยู่ที่นี่ 3 มหาวิทยาลัย (หนึ่งในนั้นคือมหาวิทยาลัยปักกิ่ง) เมื่อสงครามสงบลง มหาวิทยาลัยทั้ง 3 ย้ายกลับที่ตั้งเดิม เหลือไว้แต่โรงเรียนระดับประถมและมัธยมศึกษา ปัจจุบันเหลือเฉพาะระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย เป็นโรงเรียนขนาดใหญ่ มีนักเรียนมากกว่าสี่พันคน ครู-อาจารย์ 300 คน รับทั้งนักเรียนประจำและไปกลับ (เนื่องจากมณฑลนี้กว้างใหญ่ นักเรียนที่เดินทางมาจากต่างเมืองจึงต้องอยู่หอพัก) โรงเรียนนี้เป็นที่ใฝ่ฝันของนักเรียนที่จบ ม. 3 ในมณฑลยูนนานที่อยากจะเข้ามาเรียน การแข่งขันจึงค่อนข้างสูงมาก ต้องสอบเข้าเท่านั้น
บรรยากาศห้องเรียนโรงเรียนมัธยมศึกษาที่จำนวนนักเรียนมากตั้งแต่ 50-80 คน/ห้อง
จำนวนนักเรียนต่อห้องในบ้านเรากำหนดไว้ที่ 40 คน แต่ก็เกินมาในโรงเรียนยอดนิยมเป็น 50-60 คนก็ถือว่ามากเกินไปแล้ว แต่กับที่นี่หนักกว่าเราเยอะ รับ 50 คน แต่ล้นไปมากถึง 80 คนเลย ห้องเรียนหนึ่งมี 8 แถวๆ ละ 10 คนรวม 80 คนก็มีในบางห้อง (แต่อาคารเรียนเขาออกแบบได้กว้างขวางกว่าเรานะครับ เขาออกแบบก่อสร้างกันเองในแต่ละที่ให้เหมาะสมกับบริบท และสภาพภูมิประเทศ ไม่ได้มีแบบอาคารเดียวกันทั้งประเทศอย่างของเรา) การเรียนการสอนเป็นแบบทางเดียว จากครูสู่นักเรียน ไม่เห็นมีการโต้ตอบอะไรมาก (ถามคุณครู และครูใหญ่ผ่านล่ามได้ความว่า เป็นอย่างนี้ ไม่ใช่เฉพาะตอนมีคณะมาเยี่ยมชม) แต่เด็กเขาตั้งใจเรียนมาก ไม่ดื้อ ไม่ซน ไม่มีเฮี้ยวกับครูผู้สอน เพราะเขาใช้ประชาธิปไตยแบบคอมมูน (ทำตามสั่งอย่างเคร่งครัดในสไตล์สังคมนิยมจีน) ผลการเรียนที่ได้ออกมาจึงดีมากๆ
อาคารเรียนของโรงเรียนมัธยมศึกษาชื่อดังของมณฑลยูนนาน (ผมจำชื่อไม่ได้)
ประชาธิปไตยมากๆ อย่างเราก็มากเรื่องมากความ จะดุด่าว่ากล่าวตักเตือนก็ไม่ได้ เอะอะก็จะฟ้องศาลปกครอง ผลที่ได้จึงเห็นๆ กันอยู่ เดี๋ยวนี้ไม่ต่างจากมีอาชีพเป็นกรรมกรรับจ้างสอนรายชั่วโมงเท่านั้น จะเอาอะไรกะมันนักหนา (หลายคนคิดกันอย่างนี้) อิสระเสรีที่ไร้ขอบเขต จึงส่งผลมายังคุณภาพของเยาวชน พ.ศ. นี้อย่างเห็นได้ชัด หรือใครจะเถียงว่าไม่จริง?
มาที่เรื่องตำนานสะท้านโลก แป๊ะเจี๊ยะ (เขียนถูกป่าวหว่า?) ที่จีนต้นตำหรับชัดๆ เลยคุณครูใหญ่เขาเล่าให้ฟังมาชัดเจน การรับนักเรียนจากการสอบจำนวน 50 คนต่อห้อง ผู้ที่สอบได้นี้จะต้องจ่ายค่าเล่าเรียน 700 หยวนต่อภาคเรียน สำหรับนักเรียนไปกลับ 2,300 หยวนสำหรับนักเรียนที่อยู่ในหอพัก ผู้ที่สอบไม่ได้แต่อยากเรียนมาก ที่นี่ต้องมีเส้นสายใต้ดินฝากเข้าเรียน และต้องจ่ายค่าน้ำร้อนน้ำชา ใต้โต๊ะกันแล้วแต่ความสำคัญของผู้ฝากและผู้รับฝาก โรงเรียนไม่ได้ยุ่งด้วย แต่โรงเรียนจะต้องได้รับเงินค่าแป๊ะเจี๊ยะระหว่าง 80,000-100,000 หยวน ตามลำดับคะแนนที่สอบได้ และจะไม่รับนักเรียนที่ได้คะแนนต่ำๆ เข้ามาไม่ว่าจะให้แป๊ะเจี๊ยะสูงเพียงใด นั่นคือลำดับที่ 51-80 เท่านั้นที่มีสิทธินี้ ส่วนค่าเล่าเรียนอื่นๆ ก็จ่ายเหมือนพวกสอบได้ ชัดเจนดีครับ
ในห้องเรียนมีการใช้สื่อดิจิตอลในการเรียนแต่จะเป็นการสื่อแบบทางเดียวจากครูไปยังนักเรียนเป็นส่วนใหญ่
เพราะโรงเรียนได้รับงบประมาณสนับสนุนจากรัฐบาลในวงจำกัดมาก จึงต้องหารายได้มาพัฒนาศักยภาพ และปรับปรุงระบบการจัดการศึกษา ที่จีนผู้ปกครองจะไม่ค่อยมีบทบาทกับโรงเรียนมากนัก ไม่มีการเรี่ยไร ทอดผ้าป่าแบบบ้านเรา แต่จะได้รับการสนับสนุนจากศิษย์เก่าที่จบไปแล้ว ทำงานประสบผลสำเร็จในชีวิต หรือ ธุรกิจ รวมตัวกันมาสนับสนุนโรงเรียน เช่น การก่อสร้างต่อเติมอาคารเรียน (ไม่ธรรมดาอาคารขนาด 4-5 ชั้นเชียวนะ) การจัดหาหนังสือ และเครื่องมือทดลองตามความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์และ เทคโนโลยีต่างๆ มาให้โรงเรียนอย่างสม่ำเสมอ ทำให้โรงเรียนยังคงความยอดนิยมไว้ได้ต่อไป
วันที่ไปหมอกลงจัดจนพื้นเปียก อุณหภูมิเฉลี่ยที่ 8 องศาเซลเซียส ไม่มีเครื่องแบบนักเรียนครับตามสบายเลย
เรื่องเครื่องแบบนักเรียน รัฐบาลไม่มีนโยบายให้ผู้ปกครองต้องมาเดือดร้อนกับค่าใช้จ่ายส่วนนี้ จึงใช้การแต่งกายแบบปกติ (จริงๆ แล้วนอกจากการประหยัด เรื่องสภาพอากาศหนาวก็มีส่วน ถึงจะมีฟอร์มแต่ก็คงถูกบดบังด้วยเครื่องกันหนาว เลยไม่มีเสียดีกว่า) แต่ก็เรียบร้อยน่ารักทั้งหญิงและชาย ไม่ได้หลุดโลกแต่อย่างใด
คงมีเรื่องเล่าเพียงเท่านี้ เพราะมีปัญหาในการสื่อสารมากครับ ต้องผ่านล่ามซึ่งมีอยู่สองท่านคือไกด์ชาวจีน และคนไทยอีกท่านที่เดินทางร่วมคณะไปกับเรา กว่าจะถามจะตอบกลับก็เลยไม่ครอบคลุมเท่าไหร่ บางเรื่องอยากถามกว่าจะสื่อสารกันได้ก็ยากอยู่ เพราะการดำรงชีวิตและ ขนบธรรมเนียมประเพณีเราต่างกัน เรื่องที่เราเห็นว่าไม่เหมาะ แต่สำหรับเขาก็ธรรมดา เลยเอาเฉพาะประเด็นหลักๆ มาเล่าสู่กันฟัง คุยกับนักเรียนจีนจริงๆ ก็สื่อสารยากเพราะเรื่องภาษาอังกฤษเขาก็พอใช้ได้ พอนึกไม่ออกแกก็บอกเป็นภาษาจีนก็ไม่เข้าใจ ต้องใช้ภาษามือเข้าช่วย เท่าที่ทราบคือถ้าจะเรียนระดับปริญญาตรีในมหาวิทยาลัยชื่อดัง อย่างปักกิ่ง เซี่ยงไฮ้ ต้องสอบผ่านภาษาอังกฤษโทเฟิลที่ 500 ขึ้นไป
การแต่งตัวของสาวจีนยุคใหม่ แกะรูปแบบมาจากแม็กกาซีนดาราเกาหลีกันเลย (คนกลางไกด์แต่งตัวไทลื้อ)
ขากลับเดินทางจากคุนหมิงทางเครื่องบิน แต่ไม่ได้บินตรงคุนหมิง-สุวรรณภูมิเพราะตั๋วเต็ม ต้องบินแวะที่เชียงรุ้งแล้วตรงมาลงที่สุวรรณภูมิด้วยสายการบิน China Eastern Airline เครื่องค่อนข้างเก่าเสียววาบๆ อยู่เหมือนกัน แต่กัปตันก็บินขึ้นลงได้นิ่มนวลดีครับ
ยินดีต้อนรับสู่เว็บไซต์ของเรา ที่นี่ใช้คุกกี้ (Cookies) เก็บข้อมูล เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น อ่านนโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (Privacy Policy) และนโยบายคุกกี้ (Cookie Policy)