วันนี้จะขอคุยเรื่องรอบตัวของผู้คนในสังคมโดยเฉพาะในเรื่องของการอ่านหนังสืออีกสักครั้งครับ เพราะผมยังมีความเชื่อมั่นว่า การอ่าน จะช่วยเสริมสร้างการเรียนรู้ได้เป็นอย่างดี เมื่อหลายอาทิตย์ก่อนนายกรัฐมนตรี (พ.ต.ท. ดร.ทักษิณ ชินวัตร) ได้แนะนำให้คณะรัฐมนตรี และข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ได้อ่านหนังสือชื่อ เมื่ออนาคตไล่ล่าคุณ เป็นหนังสือที่ถ่ายทอดเรื่องราวของการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ และการพัฒนาคุณภาพชีวิตจากการศึกษา และการคัดเลือกทางพันธุกรรม
คงจะเคยได้ยินคำพูดที่ว่า "มีความรู้ท่วมหัวแต่เอาตัวไม่รอด" ยังใช้ได้ดี และถูกต้องกับคนที่มีความรู้ไม่ตรงกับความต้องการ หรือรู้ในสิ่งที่คนส่วนใหญ่เขารู้แล้วอย่างแจ่มแจ้ง แต่มาทำอวดว่าตัวเองรู้มากกว่า (ถ้าเป็นอย่างนี้ดูคุณจะรอดยากในสังคมการแข่งขันของวันนี้) เพราะความรู้สามารถเรียนทันกันได้เสมอ
คงต้องยอมรับกันแล้วว่า คลื่นลูกหลังจะมีพลังและความแรงที่มากกว่า เพราะความรู้เรียนทันกันได้ ไม่มีใครรู้มากกว่าใคร เพียงแต่ใครจะรู้ก่อนหรือรู้ทีหลัง แต่นั่นยังไม่สำคัญเท่ากับเมื่อรู้แล้วใครจะสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ มากกว่ากัน เพียงแต่เราพร้อมที่จะก้าวเดินเพื่อเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ความรู้ก็จะเพิ่มพูนมากขึ้นเหมือนกบน้อยที่พร้อมจะเดินทางออกจากบ่อน้ำเพื่อ พบกับโลกใหม่ (ในโฆษณาชิ้นหนึ่ง) นั่นเอง
การเรียนรู้ย่อมมาจากการศึกษาเล่าเรียน อาจจะในรั้วโรงเรียน สถาบันการศึกษา แต่ก็มีคนอีกหลายคนที่เรียนรู้จากการอ่าน การศึกษาและฝึกปฏิบัติด้วยตนเอง บางคนเรียนมาทางสาขาหนึ่งแต่กลับไปได้ดีในอีกสาขาหนึ่งที่ไม่เคยเรียนใน สถาบันการศึกษาใดๆ มาก่อน แต่เกิดจากความชอบ ความสนใจและศึกษาเพิ่มเติมจนเชี่ยวชาญ อย่างดารานักแสดง พิธีกรรายการโทรทัศน์หลายคนจบสถาปัตยกรรม แต่มาเด่นดังทางด้านนิเทศศาสตร์ ไปได้ดีเป็นเศรษฐีก็มาก หรือตัวผมเองก็เรียนจากสถาบันการศึกษามาอีกสายหนึ่ง แต่พึ่งค้นพบตัวเองว่า ชอบคอมพิวเตอร์ สนใจใฝ่เรียนจากการอ่าน การปฏิบัติฝึกฝนไม่ย่อท้อ ลองผิดลองถูกมาเรื่อย จนกลายมาเป็นครูคอมพิวเตอร์ได้อย่างไรไม่รู้ (ทุกวันนี้ก็ยังเรียนอยู่จากการอ่านและปฏิบัติ)
เมื่อสิบกว่าปีก่อน โรงเรียนหรือสถาบันการศึกษาต่างๆ จะต้องมีการโฆษณาว่าเปิดสอนหลักสูตรคอมพิวเตอร์ให้ทุกคนได้เรียน เพราะถือว่าใครมีความรู้คอมพิวเตอร์จะได้เปรียบในการหางานทำ แต่ทุกวันนี้ คอมพิวเตอร์กลายเป็นอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้านไปแล้ว ยิ่งมีโครงการคอมพิวเตอร์เอื้ออาทรเกิดขึ้น ก็ยิ่งส่งผลให้ราคาเครื่องคอมพิวเตอร์มีราคาถูกลง โอกาสที่ใครๆ จะได้มีโอกาสสัมผัสคอมพิวเตอร์ในบ้านก็ยิ่งมากขึ้น และนี่ก็เป็นช่องทางในการศึกษาเรียนรู้อีกทางหนึ่ง
เทคโนโลยีไอซีทีกับการศึกษาในวันนี้ ไปในทิศทางที่สอดคล้องและสนับสนุนกัน เมื่อเรามีความชอบในการอ่านหนังสือ การหาความรู้โดยการใช้คอมพิวเตอร์ จะทำให้ลดช่องว่างเรื่องระยะทาง เวลา และราคาลงได้ ในอดีตเราจะหาความรู้ดีๆ ได้จากตำราซึ่งมักจะมีราคาแพง และซื้อหาไม่ได้ในท้องถิ่น ทุกวันนี้เราหาได้จากอินเทอร์เน็ตครอบคลุมในทุกสาระวิชา ยิ่งผู้ใดมีความรู้แตกฉานในด้านภาษาอังกฤษหรือภาษาอื่นๆ ก็ยิ่งจะได้เปรียบมากยิ่งขึ้น
ในอดีตผมอ่านหนังสือพิมพ์ด้วยการซื้ออาจจะสัปดาห์ละ 2-3 ฉบับ อาศัยอ่านจากห้องสมุดโรงเรียน ร้านกาแฟบ้าง แต่ทุกวันนี้ผมสามารถอ่านหนังสือพิมพ์ได้วันละ 5-6 ฉบับ โดยไม่ต้องซื้อและมีข้อดีอีกที่ได้อ่านข่าวที่มีการย่อความให้กระชับตรง ประเด็น มีภาพประกอบ และประเด็นข่าวที่อัพเดททุกๆ ชั่วโมงจากเครือข่ายอินเทอร์เน็ต อ่านแม็กกาซีนดังๆ ของต่างประเทศฟรีๆ ค้นหาข่าวคราวย้อนหลังก็สะดวกมาก และนี่คือโอกาสทางการศึกษาอีกทางหนึ่งของเยาวชนไทย เพียงแต่... เรา ยังขาดผู้ผลิตเนื้อหาภาษาไทยที่มีคุณภาพและน่าสนใจ ถึงจะมีแต่ก็ยังน้อยและที่น้อยนั้นก็ทำด้วยความชอบ อุทิศเวลา เงินทองส่วนตัวทั้งนั้น เรายังต้องการขุมพลังความรู้ที่เป็นภาษาไทย เกี่ยวกับประเทศไทย คนไทยอีกมากครับ
ท่านที่มีความรู้ด้านภาษา ก็ช่วยกันหาแหล่งความรู้มาแปล เรียบเรียงให้เยาวชนส่วนใหญ่ได้อ่านกัน การอ่านจะเขียนหรือแปล หรือเรียบเรียงได้ดีก็ต้องมาจากการอ่านมาก สังเกตจดจำมาเป็นเวลานาน เรียกว่าสั่งสม ดังนั้นเยาวชนทั้งหลายอยากเป็นผู้รอบรู้ เรียนทันเพื่อน อยู่รอดปลอดภัยบนโลกใบนี้จะต้องเริ่มจากการอ่านเสียก่อนครับ ความรู้บางเรื่องเราเรียนรู้เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ในวันหน้า แต่ความรู้บางเรื่องเราจำเป็นต้องรู้เพื่อให้ชีวิตปลอดภัยในวันนี้
นอกจากการอ่านแล้ว ผมยังนึกถึงสมัยที่เรียนระดับชั้นประถมศึกษา ได้เคยท่องจำสูตรคูณ จากแม่สองไปจนถึงแม่ยี่สิบห้าทุกเย็นก่อนเลิกเรียน สลับกับการท่องบทอาขยานที่เป็นทำนองเสนาะหลากหลายเรื่องราว นั่นอาจจะเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ผมได้สัมผัส และฝังลึกในความงามของภาษา ตอนเช้าต้องท่องศัพท์ภาษาอังกฤษให้ครูประจำชั้นฟังวันละ 5 คำ แต่ทุกวันนี้... ไม่ทราบไปเอาทฤษฎีมาจากไหนกัน จึงได้สั่งยกเลิกไปเสียสิ้น จะบวก ลบ คูณ หาร เลขแต่ละทีต้องอาศัยแต่การกดจิ้มเครื่องคิดเลข
ในทัศนะของผมยังเชื่อมั่นว่า การที่ให้เขาท่องจำในองค์ความรู้ที่พิสูจน์แล้วว่าถูกต้องเป็นจริงไม่ใช่ เรื่องเสียหาย การให้เขาได้สัมผัสความงามทางภาษาตั้งแต่วัยเยาว์ จะช่วยให้เขารักการอ่าน เรามาลองถอยหลังเข้าคลองบ้างจะดีไหมครับ?
ขออีกสักประเด็น การวัดผลประเมินผลในวันนี้ กำลังสร้างความเลวร้ายให้กับระบบการเรียนรู้หรือเปล่า? เรากำลังเอาปริมาณหลอกลวงมาวัดกัน (ไม่ให้มีตกซ้ำชั้น ต้องผ่านด้วยปริมาณมากๆ ทั้งๆ ที่อ่านหนังสือไม่ออก เขียนไม่ได้ แล้วก็มาโทษกันไปเรื่อยๆ) คุณภาพของเยาวชนจึงเป็นสิ่งสะท้อนให้เห็นในทุกวันนี้ ทั้งเรื่องการตั้งใจเรียน การเอาใจใส่ทุ่มเทและรับผิดชอบ คงไม่ต้องบอกว่าผลเป็นอย่างไร? ทำไมเราไม่...
ถึงผมจะไม่มีสิทธิเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการในวันนี้ ก็ขอเสนอประเด็น และความเห็นผ่านไปยังท่านผู้รู้และมีอำนาจทั้งหลายได้ช่วยนำ ไปคิดต่ออีกสักนิดเถอะนะครับ ไม่ต้องตามก้นฝรั่งมังค่าเขานักหรอก ภูมิปัญญาไทยก็รักษาชาติมาได้จนทุกวันนี้อยู่มิใช่หรือ?
ยินดีต้อนรับสู่เว็บไซต์ของเรา ที่นี่ใช้คุกกี้ (Cookies) เก็บข้อมูล เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น อ่านนโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (Privacy Policy) และนโยบายคุกกี้ (Cookie Policy)