ข่าวที่สร้าง ความตื่นเต้นให้กับครูส่วนหนึ่ง (ขอย้ำว่าเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น) คือข่าวที่รัฐบาล (ยิ่งลักษณ์ ๑) จะทุ่มเทงบประมาณในการจัดซื้อ จัดหาเครื่องแท็ปเลตแจกนักเรียนระดับชั้น ป.๑ และกำลังมีการดำเนินการอยู่ทั้งในเรื่องที่ รมต. เรียกบรรดาผู้ผลิตมาเสนอเสป็ก และราคามานำเสนอ ในส่วนของผู้ที่เกี่ยวข้องในการดำเนินการก็กำหนด สเป็กพื้นฐาน และราคากันอยู่ มีข่าวแว่วออกมาเป็นระยะๆ ถึงการเพิ่มขีดความสามารถ และงบประมาณที่จะบานปลายออกไป ในแวดวงสังคมออนไลน์ที่มีครูหลายคนชอบ และสนุกกับมันก็ดูจะฮือฮาอยู่เป็นระยะ ดีใจออกนอกหน้ากัน (เขาให้เด็กใช้นะครู)
ยิ่งพอมีข่าว สพฐ. จะจัดหาเครื่องสเป็กสูงขึ้นแจกนักเรียน ม.ปลาย ก็ยิ่งฮือฮากันใหญ่ (ครู ม.ปลายที่เคยอิจฉาครู ป.๑ ก็ตีปีกกันใหญ่) โอย... เด็กไทยจะก้าวหน้าในการเรียนมากขึ้นว่างั้น จริงหรือครับคุณครู? มันจะลงเหวกันทั้งขบวนหรือเปล่า? ผมไม่ใช่คนขวางโลกในเรื่องนี้ ผมไม่ใช่คนล้าหลังในเรื่องเทคโนโลยีเหล่านี้ แต่ผมมีประสบการณ์ และมองเห็นการเปลี่ยนแปลงของสังคมในเรื่องของการใช้ และพึ่งพาเทคโนโลยีในการศึกษา เรากำลังก้าวหน้าในการจัดหาเครื่องมือ แต่เรายังด้อยในเรื่องการจัดทำสื่อมาใช้ร่วมกับเครื่องมือ และเรายังอ่อนด้อยในการส่งเสริมให้ผู้เรียนได้ใช้เครื่องมือ ในการค้นหาองค์ความรู้ ปล่อยให้ผู้เรียนก้าวล้ำในการใช้เครื่องมือเพื่อการบันเทิง จนยากที่จะกู่กลับให้มาเรียนวิชาการเสียแล้ว
ประเด็นของเรื่องคือเราด้อยที่สุดในการสร้างผู้เรียน เยาวชนไทยของเรารักในการอ่านและเขียน อ่านไม่ออกไม่เท่าไหร่ แต่อ่านออกแล้วจับประเด็น ค้นหาคำสำคัญและความรู้ไม่ได้นี่ซิเยอะเกิน และยิ่งให้เขียนเพื่อรวบรวมองค์ความรู้มาใช้นี่ยิ่งไม่เป็นเอาเสียเลย ไม่สามารถปะติดปะต่อในสิ่งที่ค้นหา เพราะเคยชินกับเทคโนโลยีและเทคนิควิธีตามทฤษฎี CPP กันมากกว่า (C=Copy, P=Paste, P=Print) เราต้องสอนให้เขาใช้ทฤษฎี CPEP ให้ได้ก่อนครับ (E=Edit) แล้วครูทำเป็นตัวอย่างกันด้วยนา ไม่ใช่ดีแต่สั่งงานอย่างเดียว ทำได้อ๊ะเปล่า?
พอดีไปเจอการแชร์ข้อเขียนของ ดร.สุพักตร์ พิบูลย์ เขียนใน Facebook ไว้น่าสนใจเลยขอคัดลอกมาให้อ่านกันสักนิดดังนี้
".....ผมรู้สึกสะเทือนใจทุกครั้งที่มีคนมาบอกว่า พบเด็ก ม.1 ที่ยังอ่านหนังสือไม่ออก ระลึกถึงคำพูดของ ดร.โกวิทย์ วรพิพัฒน์ (อดีต ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ) ที่เคยพูดกับผมว่า "สุพักตร์ คุณรู้ไหม เด็กที่อ่านหนังสือไม่ออก ล้วนแต่เป็นลูกชาวบ้านที่ยากจน ลูกของครู หรือลูกคนรวย จะอ่านหนังสือออกทุกคน ถ้าเราแก้ปัญหานี้ไม่ได้ สักวันหนึ่ง ประเทศเราจะไปไม่รอด" ผมจำคำพูดนี้ได้ขึ้นใจ.....
วันที่ 2 เมษายน ของทุกปีเป็นวันหนังสือเด็กแห่งชาติ และ “วันรักการอ่าน” ซึ่งถือเป็นวันสำคัญยิ่งวันหนึ่งของคนไทย ผลการวิจัยยืนยันว่า เด็กที่ถูกปลูกฝังการอ่านกับพ่อแม่ตั้งแต่แรกเกิด จะมีพัฒนาการที่ดีในทุกด้าน ทั้งสติปัญญา ทักษะทางภาษา คณิตศาสตร์ ด้านอารมณ์ และคุณธรรม สำหรับผมเองเคยได้รับคำสอนจากคุณแม่ว่า "การอ่านหนังสือเยอะ ๆ จะทำให้ชีวิตเปลี่ยนไปในทางที่ดียิ่งขึ้น" ได้เคยตั้งปณิธานในวันแรกของการเป็นครูที่โรงเรียนบ้านไผ่ จังหวัดขอนแก่น ในปี 2519 ว่า "จะอ่านหนังสือวันละ 50 หน้า ทุกวัน" แม้ทำได้ไม่สม่ำเสมอทุกวัน แต่ก็มีผลทำให้ชีวิตเปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้น อย่างเห็นได้ชัด จนถึงทุกวันนี้
ในปัจจุบัน เด็กไทย-คนไทยยังไม่รักการอ่าน ผมเชื่อว่า ในระยะปฐมวัย เด็กทุกคนมีนิสัยใฝ่รู้-ใฝ่เรียน โดยหลักฐานที่ชัดเจน คือ การชอบฟังนิทาน หรือเรื่องเล่าต่างๆ จากพ่อแม่/ผู้ปกครอง หรือครู ถ้าเด็กได้เจอนักเล่านิทานที่สร้างสรรค์ มีความสามารถในการกระตุ้นความอยากรู้อยากเห็น และสามารถป้อนคำถามให้เด็กคิดตามอย่างต่อเนื่อง จะเป็นการพัฒนาความสามารถด้านการคิดได้เป็นอย่างดี และจะก่อให้เกิดพัฒนาการที่เป็นเลิศได้ในหลายๆ ด้าน
ปัญหาของประเทศเรา ณ เวลานี้ คือ เมื่อเด็กเข้าเรียนระดับประถมศึกษา ผมคิดว่า ระบบการศึกษาของเรายังประสบความล้มเหลวในการสร้างนิสัยรักการอ่าน โดยเฉพาะความล้มเหลวในช่วง 3 ปีแรกของระบบโรงเรียน คือ ป.1-3 เมื่อเด็กจบชั้น ป.3 เขาไม่สามารถก้าวถึงขั้นการเป็น "ยอดนักอ่านปฐมวัย-นักอ่านรุ่นเยาว์" ที่ติดตามข่าวสาร หรืออ่านหนังสือทุกวัน ในลักษณะการอ่านแบบสะสมไมล์ ...มิหนำซ้ำ บางคน เรียนจนจบ ป. 6 ยังอ่านหนังสือไม่ออก...โอ..แล้วชีวิตเขาจะเป็นอย่างไร (ส่วนใหญ่เป็นลูกคนจนเสียด้วย)
อยากชวนครูไทย พ่อแม่ไทย มาช่วยกันปลูกฝังนิสัยรักการอ่านและสมรรถนะด้านการอ่านแก่ลูกหลานไทย โดยกำหนดเป้าหมาย ดังนี้
สำหรับครู โดยเฉพาะครูที่สอนระดับประถมศึกษาทุกคน ทุกวิชา โปรดสัญญากับตนเองว่า เราจะช่วยเหลือดูแลนักเรียนด้วยความมุ่งมั่น จะต้องส่งเสริมให้เขาอ่านคล่องก่อนจบ ป. 3 การปล่อยให้เด็กจบชั้น ป.6 โดยอ่านหนังสือไม่ออก เป็นการสร้างบาปอย่างมหันต์ ที่ไม่สามารถลบล้างได้ เป็นการฆ่าคนให้ตายทั้งเป็นหรือทำลายทั้งชีวิต (ไม่นับกรณีเด็กที่มีความบกพร่องทางสมอง)
สำหรับพ่อแม่หรือผู้ปกครองทุกคน โปรดระลึกเสมอว่า เมื่อถึงชั้น ป.3 หากลูกเรายังอ่านหนังสือไม่ออก มันหมายถึงหายนะกำลังจะมาถึงชีวิตลูกและตระกูลเรา.. ขอให้ดิ้นรนช่วยชีวิตลูกจนสุดๆ อย่าปล่อยปละละเลยอีกต่อไป
......อันที่จริง ผมคิดว่า ป.1-3 เอาแค่อ่านภาษาไทยคล่อง-รักการอ่าน มีทักษะคณิตศาสตร์พื้นฐาน คุ้นเคยกับสำเนียงภาษาอังกฤษ และมีทักษะชีวิตที่จำเป็น น่าจะเพียงพอแล้ว ไม่ต้องอัดเข้าไปตั้ง 8 สาระ จนในที่สุด "ไม่ได้สักสาระ" หรือประสบปัญหาจนถึงขั้นอ่านไม่ออก (เป็นภาวะที่เรียกว่า "สำลักสาระ" )....... เรื่องนี้ คณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (บอร์ด กพฐ) ต้องตัดสินใจครั้งสำคัญ ควรผลักดันเรื่องนี้อย่างจริงจัง"
ตรงใจผมมากเลยครับ เรื่องการอ่านเคยบ่นมานานแล้ว (เรื่องเดิมเมื่อ 8 ปีที่แล้ว) ณ วันนี้ก็ไม่พัฒนาขึ้น ดูเหมือนจะน้อยลงๆ กว่าเดิม เราสามารถส่งเสริมการอ่านในวัยเด็กได้ด้วยการ์ตูนครับ การ์ตูนที่ผมแนะนำ คือ การ์ตูนไทย เล่มเล็กๆ ที่อ่านแล้วยิ้มมีอารมณ์ขัน เช่น การ์ตูนเบบี้ ขายหัวเราะ ดีที่สุดครับ แล้วยังเก็บสะสมไว้ศึกษาเรียนรู้ประวัติศาสตร์ที่เกิดขึ้นในห้วงหนึ่งๆ ได้ ไม่ว่าจะเป็นการเมือง สังคมและบันเทิง ลองไปหาเล่มเก่าๆ ดูซิครับ ไม่ต้องดูวันเวลาที่พิมพ์ แค่ดูการ์ตูนสัก 4-5 หน้าจะเดาได้ว่าเกิดขึ้นในช่วงเวลาใด เด็กๆ จะซึมซาบและรักการอ่านได้มากยิ่งขึ้น
มาถึงเรื่องที่จั่วหัวไว้ "คอมพิวเตอร์หรือคือพระเจ้า?" ใน พ.ศ. นี้ก็ยังมีคนคิดว่า การงานทุกสิ่งทุกอย่างจะสำเร็จลุล่วงได้ถ้ามีคอมพิวเตอร์เข้ามาช่วยงาน รวมทั้งช่วยสอนแทนครูได้อย่างวิเศษนัก จริงหรือ?
คอมพิวเตอร์ ก็แค่ทาสที่รอคำสั่ง เพื่อดำเนินการให้เป็นไปตามคำสั่งของผู้ใช้งาน ไม่มีชีวิตจิตใจ แล้วทำไมเราต้องไปลุ่มหลงมันขนาดนั้น อ้อ... ถามแล้วมันรู้ทุกเรื่อง ใช่.. มันรู้เพราะมีการสร้างคำสั่งให้มันค้นหา จดจำ แยกแยะเป็นหมวดหมู่ ก็คนอีกนั่นแหละที่สั่งให้มันจำ และกระทำอย่างนั้น หาใช่มันคิดเองทำเองไม่
มันสอนและทำให้ผู้เรียนสนุก จดจำได้ง่าย น่าสนใจ อือม์ ใครเป็นคนจัดทำคำสั่ง ให้มันสอนตามขั้นตอน โต้ตอบในการกระทำทั้งถูก และผิด มันก็ตอบได้ตามเงื่อนไขที่วางไว้ซ้ำๆ ซากๆ อย่างเดิม ความสนุกเกิดจากการพบปะในครั้งแรก แต่ถ้าเจอรูปแบบเดิมๆ ซ้ำแล้วซ้ำเล่า เรียนเรื่องอะไรก็มาแบบเดิมๆ ที่เคยสนุกและน่าสนใจก็จะค่อยๆ เปลี่ยนไปแน่นอน
คอมพิวเตอร์จะสอนได้ดีเพียงใด ก็ขึ้นอยู่กับการป้อนข้อมูล เนื้อหาที่สอน และรูปแบบวิธีการสอนต่างๆ ลงไป กำหนดเงื่อนไขการเรียนรู้ต่างๆ วิธีการวัดและประเมินผลลงไปในเครื่อง เพื่อให้ผู้เรียนได้เรียนตามเงื่อนไข นั้น ครูผู้สอนจึงสำคัญกว่าเครื่องมากมายนัก
คงไม่ต่างจากที่เมื่อก่อน เราสอนด้วยวิธีการชอล์กแอนด์ทอล์ก ถ้าไม่เขียนตามคำบอกก็ให้ลอกบนกระดานดำ จากนั้นก็มีการนำเอาเทคนิคการย่างมา ใช้สอน อย่าพึ่งงง... กันสิครับ ก็ย่างแผ่นโปร่งใสไงครับ เคยจัดอบรมกันไปมากมาย (ผมก็ด้วยจนกลายเป็นวิทยากรผู้เชี่ยวชาญเรื่องนี้ หากินข้ามจังหวัดมานักต่อนัก) ย่างกันจนแผ่นโปร่งใสกรอบ นักเรียนก็สนุกสนานกันไป สักพักก็เบื่อทั้งครูและนักเรียน พัฒนาการต่อมา ณ ปัจจุบันก็ใช้สื่อมัลติมีเดียสารพันบนคอมพิวเตอร์ ได้ผลบ้าง ไม่ได้ผลบ้างตามแต่สิ่งที่ครูผู้สอนป้อนเข้าไป บางเรื่องเด็กๆ บอกมาว่าอ่านในหนังสือง่ายกว่าใช้สื่อที่ครูสรรหามาไม่ครบถ้วนอีก
ความสำเร็จในบางเรื่องที่ตีปี๊บกันมาอยู่ในปัจจุบัน มันก็เชื่อถือไม่ค่อยได้ พูดตามตรงคืองานวิจัยบ้านเรา (โดยเฉพาะเรื่องในวงการศึกษา) นั้นมันตั้งอยู่บนสมมติฐานว่าต้องสำเร็จ มีธงนำแล้ว เป้าหมายชัดเจนว่า จะเอาผลไปทำอะไร ไม่ได้วิจัยเพื่อการแก้ปัญหาให้ได้อย่างแท้จริง ข้อมูลที่ได้มาอยู่ในวงจำกัด และบางส่วนแต่งแต้มให้ได้ผลตามที่ต้องการด้วยซ้ำ เราไม่ได้ทำงานภาคสนามจริงจัง เปรียบเทียบหลายแห่งหน ด้วยวิธีการที่แปลกใหม่ใดๆ ประชากรที่หลากหลายเพียงพอ
อย่างเรื่องการใช้สังคมออนไลน์ในการเรียนการสอน มันไม่ใช่เรื่องใหม่แต่อย่างใด มีมานานพอสมควร เด็กๆ ใช้ MSN, ICQ, Chat, Hi5, Twitter, Facebook มาก่อนครูด้วยซ้ำจนกลายเป็นกิจนิสัย พวกเขาได้เปิดโลกกว้างไกลไปไหนต่อไหน แต่ครูพึ่งตื่น พึ่งค้นพบ เมื่อป้อนความรู้เข้าไป มันจึงเตลิดเปิดเปิงไปหมด เพราะมันล้าสมัยเกินไปในความคิดของพวกเขา ครูพยายามป้อนเนื้อหา ด้วยการลอกจากเอกสารที่เป็นกระดาษ บรรจุเข้าไปเป็นสื่อดิจิตอล เปลี่ยนจากแบบฝึกหัดเดิมๆ บนกระดาษไปอยู่ที่หน้าจอคอมพิวเตอร์ มันจึงไม่ได้มีความน่าสนใจมากกว่าเดิม แล้วยังมีข้อจำกัดในการอ่านด้วย (ถือไปอ่านในห้องน้ำ ใต้ร่มไม้ลำบากนัก)
วันนี้ ถ้าเราจะพัฒนาสื่อการเรียนดิจิตอลใช้งานกันอย่างจริงจัง เพื่อให้คอมพิวเตอร์เป็นพระเจ้าสอนแทนเราได้นั้น ลำพังครูผู้สอนเก่งๆ เพียงคนเดียวมิอาจจะทำได้ ต้องมีผู้เชียวชาญด้านอื่นๆ เข้ามาเสริมเพื่อสร้างสื่อดิจิตอลให้มีพลังทั้งศิลปิน (ผู้วาดภาพจินตนาการ) โปรแกรมเมอร์ (ผู้พัฒนาคำสั่งเพื่อการโต้ตอบ) นักจิตวิทยา (เพื่อประเมินผลในการเรียนรู้) ซึ่งต้องใช้เวลาและงบประมาณพอสมควรกว่าจะสำเร็จลงได้แต่ละเรื่อง เราคิดจะทำหรือยัง? ที่เห็นก็แค่เพียงให้ครูไปอบรมการใช้สื่อเหล่านี้ให้เป็นเท่านั้น ดังนั้นแท็ปเล็ตที่จะแจกกันในขณะนี้จึงกลายเป็นแค่เครื่องอ่าน e-Book เปลี่ยนหนังสือเล่มที่หนาและหนัก มาเป็นหนังสือที่อ่านผ่านหน้าจอเครื่องแทนเท่านั้น
แล้วมันจะสำเร็จหรือ? ถ้าเยาวชนของเราไม่รักการอ่าน เห็นไหมล่ะ... ว่า แม้เราจะหาทางลัดให้ผู้เรียนใช้คอมพิวเตอร์มาเป็นสื่อกลางที่ทันสมัยเพียงใด ถ้าผู้เรียนไม่รักการอ่าน ก็ดูท่าการเรียนรู้จากสื่อดิจิตอลจะไปไม่รอดเสีย แล้ว...
ยินดีต้อนรับสู่เว็บไซต์ของเรา ที่นี่ใช้คุกกี้ (Cookies) เก็บข้อมูล เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น อ่านนโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (Privacy Policy) และนโยบายคุกกี้ (Cookie Policy)