โดย : กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
บิล เกตส์ เป็นอภิมหาเศรษฐีเจ้าของบริษัท Microsoft ที่ตอบแทนสังคม ด้วยการบริจาคเงินจำนวนมหาศาลเพื่อช่วยยกระดับการศึกษาของสหรัฐ เพราะเขาเห็นว่า หากมาตรฐานการศึกษาต่ำ บ้านเมืองก็จะย่ำแย่
ถามว่า "ความที่เขาเป็นเจ้าพ่อไฮเทค และผลิตซอฟต์แวร์ที่ครองตลาดทั่วโลก อีกทั้งจะแจกคอมพิวเตอร์ให้นักเรียนฟรีเท่าไรก็ได้ เขาส่งเสริมการศึกษาด้วยการแจกคอมพิวเตอร์หรือไม่?"
เปล่าเลย อย่าว่าแต่แกคิดว่าจะแจก "แทบเล็ต" ให้นักเรียนทั่วประเทศเลย แม้แต่จะแจกคอมพ์ แกก็ยังไม่เคยคิดว่าจะเป็นวิธีการปฏิรูปการศึกษาเลย
บิล เกตส์ "ให้ ความสำคัญกับการยกระดับครู และวิธีการสอนในห้องเรียน มากกว่าตัวคอมพิวเตอร์หรือซอฟต์แวร์ใดๆ แกประกาศว่าเป็นภารกิจหลักของแก ที่จะพยายามหาเงินมาทำให้โรงเรียนและครูมีคุณภาพดีขึ้น"
แกบอกว่า "ถ้าครูดี นักเรียนก็เก่ง (ไม่ใช่มีคอมพิวเตอร์ฟรีแล้วนักเรียนก็จะเก่งเอง เพราะถ้าครูสอนไม่เป็น ไร้คุณภาพ นักเรียนก็จะต่ำกว่ามาตรฐาน) และถ้าระดับการศึกษาดี พวกนักบริหารที่บริษัทเอ็นรอนก็จะไม่กล้าทำอย่างที่พวกเขาทำ"
"เอ็นรอน" ในที่นี้ บิล เกตส์ หมายถึง บริษัทที่เจ๊งกันเป็นแสนๆ ล้านดอลลาร์ เพราะว่าผู้บริหารโกง และที่โกงก็เพราะโรงเรียนและครูห่วย... แปลว่า การศึกษาไม่สอนให้พวกนักบริหารตั้งแต่เรียนชั้นมัธยมได้รู้ซึ้งถึงความสำคัญ ของความซื่อสัตย์สุจริตต่อหน้าที่งานการและสังคม
เห็นไหมว่า เขามองทะลุว่า ที่บ้านเมืองมีคนฉ้อฉลอย่างน่ากลัวนั้น เพราะว่าคุณภาพครูแย่ ไม่ใช่เพราะขาดเทคโนโลยี เพราะถ้าหากปัญหาอยู่แค่ว่ามีคอมพิวเตอร์หรือมี "แทบเล็ต" หรือไม่ บิล เกตส์ แกก็คงจะแก้ปัญหาได้ในลัดนิ้วมือเดียว
แกบอกว่า การบริหารงบประมาณของรัฐเป็นหัวใจของการปฏิรูปการศึกษา "ถ้าเราเลือกใช้เงินในทางที่ผิด การศึกษาก็จะแย่ต่อไป"
หลักการของ บิล เกตส์ ในการยกระดับการศึกษา คือ : หา คนที่เป็นครูได้ดี ฝึกปรือเขาและเธอให้เก่ง และตอบแทนครูที่ทำหน้าที่ได้ดี เพราะว่านั่นแหละคือหัวใจของการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์สำหรับการสร้างชาติ
วิธีที่มูลนิธิ Bill and Melinda Gates Foundation เข้ามาช่วยการศึกษาไม่ใช่เพียงแค่บริจาคเงินอย่างเดียวเท่านั้น แต่ยังลงมือลงรายละเอียดเพื่อแก้ไขปัญหาด้วย
ส่วนหนึ่งของกิจกรรมหาทางปรับปรุงคุณภาพการศึกษา คือ การศึกษาและอัดวีดิโอเทปครูในห้องเรียนใน 7 เขตที่กำหนดเป็นจุดที่วัดมาตรฐานได้ เป้าหมายของการถ่ายทำการสอนการเรียนในห้องเรียนที่เป็นของจริง คือ การประเมินว่าวิธีสอนแบบไหนได้ผล และวิธีไหนไม่ได้ผล แล้วเอามาศึกษาวิจัยว่าควรจะมีการปรับเปลี่ยนการเรียนการสอนอย่างไร
อีกประเด็นหนึ่งที่ บิล เกตส์ บอกว่าใช้งบประมาณการศึกษาอย่างผิดๆ ก็คือ แต่ละปีสหรัฐใช้เงินถึง 50,000 ล้านดอลลาร์ เพื่อปรับเงินเดือนให้ครูโดยอัตโนมัติตามอาวุโสหรืออายุงานของครู "เท่าที่เราประเมินแล้ว การปรับเงินเดือนให้สูงตามอาวุโสของครูนั้น ไม่ได้มีผลทำให้นักเรียนดีขึ้นแต่อย่างไร" แกบอก หรืองบประมาณปีละ 15,000 ล้านดอลลาร์ ที่ใช้ปรับเงินเดือนให้ครูที่สอบยกระดับปริญญาของตัวเองขึ้นไป ซึ่งแกบอกว่าวัดแล้ว ไม่มีผลอะไรต่อการทำหน้าที่ของการเป็นครูแต่อย่างไร
แกบอกด้วยว่า "ที่เชื่อกันว่า ห้องเรียนขนาดเล็กดีกว่าห้องเรียนขนาดใหญ่เสมอไปนั้น ก็อาจจะไม่ถูกต้องนัก ตรงกันข้าม ครูที่ดีที่สุดสามารถรับนักเรียนให้มากขึ้นในแต่ละชั้นเรียน"
บิล เกตส์ เชื่อว่า "ครูที่ยอมรับนักเรียนเพิ่มในห้องของตน ควรจะได้รับค่าตอบแทนสูงขึ้น เพื่อว่านักเรียนจะได้ประโยชน์จากครูเก่งๆ มากขึ้นกว่าเดิม"
แน่นอนว่า ความเห็นของ บิล เกตส์ ในเรื่องการศึกษาในประเด็นต่างๆ ที่ว่านี้อาจจะมีคนแย้ง และอาจจะไม่ถูกต้องทั้งหมด แต่อย่างน้อยสังคมอเมริกัน มีการถกแถลงกันอย่างกว้างขวางถึงการยกระดับการศึกษา และชะตากรรมของเด็กไม่ได้ขึ้นอยู่กับรัฐบาลหรือกระทรวงศึกษาธิการแต่เพียง อย่างเดียว
ตราบใดที่นโยบายการศึกษายังเป็นเรื่องของนักการเมือง และสังคมไทยโดยส่วนรวมที่มีผลได้ผลเสียต่ออนาคตของเด็กไทยอย่างมหาศาลไม่ได้ มีส่วนร่วมในการตัดสินใจ ตราบนั้นก็ยังหวังให้การศึกษาไทยยกระดับขึ้นไม่ได้
ก็ลองเอาไปคิดวิเคราะห์กันดูนะครับ สำหรับผมก็ยังไม่เห็นด้วยกับการแจกบ้าเลือดในครั้งนี้ ทั้งๆ ที่ไม่มีอะไรพร้อมสักอย่าง ครูสักกี่คนที่จะรู้วิธีการนำความรู้จากระบบอิเล็กทรอนิกส์ไปใช้ประโยชน์ และสื่ออิเล็กทรอนิกส์ที่จะป้อนเข้าไปอยู่ในเครื่องแท็ปเล็ตนั้นก็ยังไม่ได้ มีการพิสูจน์ รับรอง หรือผ่านการวิเคราะห์วิจัยแต่อย่างใด ทุกอย่างเป็นไปอย่างลวกๆ เพื่อสักแต่ว่าให้มันมีเพื่อทันกับการจัดสรรงบประมาณใน พ.ศ. นี้เท่านั้น
อาจารย์ประจำคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงนโยบายการจัดหาคอมพิวเตอร์แท็บเล็ตให้กับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปี ที่ 1 ตามโครงการ One Tablet PC Per Child ของรัฐบาลว่า เนื้อหาที่ใส่ลงไปในแท็บเล็ตทั้ง 5 กลุ่มสาระวิชาคือ ภาษาไทย ภาษาอังกฤษ คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และสังคม ตลอดจนมีแบบเรียน 8 เล่มบรรจุในอีบุ๊ก (Electronic Book) และสื่อการเรียนอีกกว่า 390 ชุดนั้นมากเกินไป เพราะแท็บเล็ตคืออุปกรณ์การสอนชนิดหนึ่ง ไม่ใช่เครื่องมือที่ใช้แทนตำราเรียนทั้งหมด ส่วนตัวจึงเห็นควรให้ปรับลดวิชาเหลือ 2-3 วิชา เช่น ภาษาไทย หรือคณิตศาสตร์เท่านั้น ส่วนหน่วยความจำที่เหลือควรบรรจุวิชาสำคัญอย่างภาษาอังกฤษ หรือความรู้ต่างๆ ในอาเซียน ตลอดจนเหตุการณ์ที่เชื่อมโยงกับระบบอินเตอร์เน็ต หรืออี-เลิร์นนิ่ง (e-Learning) แทน เพราะสาระสำคัญจริงๆ อยู่ที่การส่งเสริมให้เด็กไทยรู้จักรักการอ่านจากหนังสือควบคู่การค้นคว้า ความรู้จากเทคโนโลยีอย่างเหมาะสม ไม่ใช่ยัด 5 กลุ่มสาระวิชาเข้าไปในเครื่องทั้งหมด
"สิ่งที่ผมเป็นห่วงอีกเรื่องคือ การทำจีทูจี (Government to Goverment) จัดซื้อแท็บเล็ตกับรัฐบาลจีนในราคาต่ำประมาณ 2,225 บาทต่อเครื่อง จะทำให้เด็กได้แท็บเล็ตคุณภาพต่ำใช้งานได้เพียงปีเดียวก็เสียเเล้ว ขนาดคอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊กราคาหลักหมื่น ใช้งานได้ไม่กี่ปียังเสียเลย ผมจึงมองว่าการเน้นปริมาณมากกว่าคุณภาพ สุดท้ายแล้วจะไม่เกิดประโยชน์อะไรกับผู้เรียนเลย นอกจากนี้ ผมยังอยากเห็นกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดแข่งขันการผลิตซอฟต์แวร์ ที่เน้นองค์ความรู้ที่จะทำให้เด็กอ่านภาษาไทยคล่อง พูดภาษาอังกฤษเก่ง คือ ทำอย่างไรให้เด็กฟังภาษาอังกฤษจากแท็บเล็ตได้ โดยให้บริษัทเอกชน มหาวิทยาลัย หรือนักวิชาการ ผลิตซอฟต์แวร์ที่ดีมีคุณภาพมานำเสนอ เพื่อคัดเลือกใส่ลงไปในแท็บเล็ต ไม่ใช่ใส่ 5 วิชาลงไปอย่างที่เสนอกัน ผมว่าถ้าเป็นอย่างนี้อ่านจากหนังสือยังง่ายกว่าเลย เพราะการแจกแท็บเล็ตให้กับเด็กป.1 ต้องเน้นพัฒนาการของเด็กเป็นสิ่งสำคัญ" อาจารย์ประจำคณะครุศาสตร์กล่าว
ที่มา ข่าวสดออนไลน์ วันที่ 03 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555
ถ้ายังจำกันได้เจ้าเครื่องคอมพิวเตอร์กระเป๋าหิ้วสีเขียวๆ (OLPC = One Labtop per Child) เมื่อหลายปีก่อน ตอนนี้มันไปถึงไหน ได้ผลหรือไม่อย่างไร? ลืมกันแล้วหรือ ทำไมไม่เห็นบทสรุปที่จะนำมาเป็นต้นแบบการพัฒนาต่อยอดเลยล่ะ
หรือเป็นเพราะผมชินมากับสมัยเรียนประถมศึกษา ที่บ้านนอกเมื่อหลายสิบปีก่อน คุณครูของผมให้ใช้แท็ปเล็ตเหมือนกัน มีแท่งหินเป็นอุปกรณ์สำหรับจิ้มขีดเขียน ใช้น้ำในการลบข้อความ บางทีไม่ทันใจก็ใช้น้ำบ่อน้อย (น้ำลายนี่แหละ) ลบมันทันใจดี รูปร่างมันเป็นแบบภาพข้างล่างนี่แหละครับ
ประหยัด ทนพอสมควร ทะเลาะกันทีไรเป็นแตกกระจาย....
เพิ่มเติมบทกวีจากพี่คนดี สะท้อนเรื่องราวของการแจกแท็ปเล็ตฟรี...
ขาวนา น้ำตาเล็ด เพื่อแท็บเล็ต ราคาถูก
ต้องแลก ข้าวที่ปลูก เพื่อให้ลูก มีของเล่น
ให้ลูก ได้เรียนรู้ ได้เลี้ยงหมู ปลูกผักเป็น
ล็อคเข้า ทั้งเช้าเย็น ได้แอดเฟรนด์ ได้เล่นเกม
เพียงหนึ่ง ถึงสองปี ให่เล่นฟรี จนปรีเปรม
เสียหาย ไม่ให้เคลม ของโนเนม ไม่นานพัง
ถึงวัน ซื้ออันใหม่ ถามว่าใคร ต้องเสียตังค์
ใช่ใคร ที่ปลูกฝัง ให้เด็กคลั่ง ของฟุ่มเฟือย
ต้องใช้ ข้าวทุกเม็ด แลกค่าเน็ต ไปเรื่อยเรื่อย
ผู้ใหญ่ ต้องเหน็ดเหนื่อย เด็กก็เปื่อย เมื่อยนิ้วมือ
ของเล่น เป็นหลักพัน ไยเชื่อมั่น ให้เด็กถือ
พังได้ ใช่หนังสืิอ ใครจะซื้อ มาเปลี่ยนให้
ไม่ต้อง แจกแท็บเล็ต แม้บิล เกตส์ ยังกล่าวไว้
เด็กนั้น จะดีได้ เพียงแค่ใช้ ครูที่ดี
เสริมสร้าง การศึกษา พัฒนา ให้ถูกที่
อย่าเสีย เงินฟรีฟรี ไม่กี่ปี ขยะบาน
ลองคิด ทบทวนใหม่ ฟังเสียงใคร เขาทัดทาน
ไตร่ตรอง ให้นานนาน รัฐบาล อย่าผลาญเงิน
พี่คนดี (P.khondee)
16 กุมภาพันธ์ 2555
เมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีได้มีข้อสรุปเกี่ยวกับเเนวทางการจัดหาเเท็บเล็ตเพื่อการศึกษา ซึ่งสเปคถือว่าอยู่ในระดับที่ดีเเละใช้งานได้ยาวนาน ส่วนการจัดซื้อนั้นจะทำกับบริษัทหัวเหว่ยของประเทศจีน โดยใช้การเเลกเปลี่ยนสินค้ากันระหว่างรัฐ ทางคณะรัฐมนตรีได้มีมติให้ใช้ข้าวไทย 4 ล้านตันเพื่อเเลกเเท็บเล็ตจำนวน 900,000 เครื่องจากประเทศจีน
เเต่ว่าโครงการเเท็บเล็ตเพื่อการศึกษานี้ ยังคงไม่มีหน่วยงานรับผิดชอบหลักว่าจะเป็นกระทรวงศึกษาธิการ หรือกระทรวงไอซีที โดยที่ผ่านมาเป็นไปในลักษณะของคณะกรรมการร่วม ไม่ใช่ของกระทรวงหนึ่ง ซึ่งวันที่ 14 กุมภาพันธ์จะมีการหารือถึงหน่วยงานรับผิดชอบหลักว่าจะเป็นกระทรวงใด
ประเด็นที่น่าสงสัยอยู่ที่ทางไทยใช้ข้าวถึง 4 ล้านตันซึ่งเป็นจำนวนมากเกินกว่าปกติ โดยราคาข้าวจากสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรได้ รายงานถึงราคาข้าวในช่วงวันที่ 30 มกราคมถึง 5 กุมภาพันธ์ว่าราคาข้าวต่อตันต่ำสุดนั้นอยู่เฉลี่ยตันละ 9,508 บาท เเต่เมื่อคำนวณจากที่ไทยต้องใช้ข้าวจำนวน 4 ล้านตันต่อเเท็บเล็ต 900,000 เครื่องนั้น ตกเเล้วไทยต้องใช้ข้าวถึง 4.44 ตันต่อเเท็บเล็ตเพียงเครื่องเดียว ซึ่งก่อนหน้านี้ราคาเเท็บเล็ตเพื่อการศึกษาถูกประเมินไว้เพียงเเค่ 2,400 บาทต่อเครื่องเท่านั้น
ผมตกคณิตศาสตร์ครับ ช่วยกันคำนวณหน่อยนะครับ ว่าจริงๆ แล้วมันราคาเท่าไหร่กันแน่ มีการหมกเม็ดงบประมาณผลาญแผ่นดินไปเท่าไหร่? ใครได้ประโยชน์ ใครเสียประโยชน์ รัฐบาลเห็นประชาชนคนไทยแค่ควายโง่ตัวหนึ่งหรือไร? อ่านที่มาจากข่าวนี้นะ คลิกอ่านเลย
ยินดีต้อนรับสู่เว็บไซต์ของเรา ที่นี่ใช้คุกกี้ (Cookies) เก็บข้อมูล เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น อ่านนโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (Privacy Policy) และนโยบายคุกกี้ (Cookie Policy)